19 เม.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทางหลวงน่าน เข้าตัดแต่งต้นไม้บริเวณอุโมงค์ต้นไม้ ถนนสายท่าวังผา บางส่วน หลังจากเมื่อ 2 วันก่อนมีพายุฝน ลมแรง ทำให้กิ่งไม้ฉำฉาหักร่วงหล่นลงบนทางหลวง เพราะเป็นไม้ที่กิ่งเปราะหักง่าย ผู้สัญจรบางส่วนเกรงว่าจะเกิดอันตรายจึงแจ้งกรมทางหลวงให้มาตัดแต่งกิ่งไม้ ทั้งนี้มีการอ้างด้วยว่าเป็นคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
แต่จากสภาพต้นไม้ที่ถูกตัด ทำให้ชาวบ้านบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะตัดแต่งกิ่งไม้ตามรูปแบบของกรมทางหลวง เพราะเป็นการตัดแทบทั้งต้น จึงเสนอวิธีการตัดแต่งแบบที่กลุ่มหมอต้นไม้เคยมาดำเนินการที่ จ.น่าน เพื่อให้สามารถอนุรักษ์อุโมงค์ต้นไม้ไว้ได้ โดยกิ่งต่างๆ ไม่ร่วงหล่นกีดขวางการจราจร หรือเป็นอันตรายกับผู้สัญจร
ในส่วนเพจเฟซบุ๊กอุโมงค์ต้นไม้เมืองน่านก็มีการโพสต์คลิปวีดิโอสภาพสองข้างทางของอุโมงค์ต้นไม้ในสภาพที่ถูกตัดแต่งแล้ว และตั้งคำถามต่อแขวงการทางซึ่งเคยให้สัญญากับทางกลุ่มอนุรักษ์อุโมงค์ต้นไม้ไว้เมื่อปีที่แล้วว่าจะทำการตัดแต่งต้นไม้ให้มีความปลอดภัยต่อผู้สัญจร โดยยังคงลักษณะอุโมงค์ต้นไม้ไว้
ต่อมารายงานข่าวแจ้งว่า นายสุวัฒน์ พรมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ยืนยันว่าได้มอบหมายให้มีการตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณดังกล่าวจริง เพื่อให้สะดวกแก่การสัญจรและไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ใช่ให้ตัดต้นไม้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (20 เม.ย.2559) กลุ่มชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยได้ประสานขอเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อเสนอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าว และหาแนวทางการจัดการบริเวณอุโมงค์ต้นไม้ร่วมกัน และเกิดผลดีกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ทางผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้รองผู้ว่าฯ รับเรื่องแทนเนื่องจากติดภาระกิจ
ทั้งนี้ กรณีการอนุรักษ์อุโมงค์ต้นไม้กับการขยายถนนสายน่าน-ท่าวังผา ต.ผาสิงห์ อ.เมืองน่าน จ.นาน เป็นกระแสข่าวต่อเนื่องเมื่อปีที่แล้ว โดยผู้อำนวยการแขวงการทางน่านที่ 2 ได้ชี้แจงถึงโครงการขยายถนนดังกล่าวว่า เป็นการขยายถนนจาก 9 เมตร เป็น 12 เมตร ตั้งแต่ ก.ม.1 + 900 – 9 + 300 ระยะทาง 138 กิโลเมตร ถึงชายแดนห้วยโก๋น ซึ่งเชื่อมต่อกับแขวงไชยะบุรี สปป.ลาว
สำหรับช่วงที่กำลังดำเนินการและถูกกระแสคัดค้านคือบริเวณ กม.9+300 บ้านผาสิงห์-กม.24+300 บ้านหาดปลาแห้ง รวมระยะทาง 15 กิโลเมตร ซึ่งมีช่วงที่ต้นไม้ใหญ่หนาแน่นสองข้างทาง และประชาชนเรียกกันว่าถนนสายอุโมงค์ต้นไม้ รวมระยะทาง 800 เมตร
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2558 จังหวัดน่านได้จัดเวทีรับความเห็นในประเด็นดังกล่าว ซึ่งจากการพูดคุยร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 2 ชั่วโมง ได้ข้อสรุปสรุปว่า จะเก็บรักษาอุโมงค์ต้นไม้ระยะทาง 800 เมตร คือ เริ่มช่วง 13+600 ไปถึงช่วง 14+400 โดยให้กรมทางหลวงรับผิดชอบด้านความปลอดภัยทั้งหมด ตั้งแต่การปรับผิวจราจรให้เรียบ ติดป้ายและไฟเตือนก่อนถึงทางเข้าอุโมงค์ต้นไม้ รวมทั้งป้ายจำกัดความเร็ว และตามต้นไม้สองข้างทางต้องติดเป้าสะท้อนแสงให้เห็นได้ชัดเจน เพื่อความความปลอดภัย
ส่วนข้อเสนอของกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ต้องการให้ทำถนนเบี่ยงด้านซ้ายและขวาในช่วงอุโมงค์ต้นไม้จะศึกษาพิจารณาเพิ่มเติม และระยะทางอีก 14 กิโลเมตร กรมทางหลวงจะดำเนินการตามโครงการต่อ แต่จะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด
……….
ที่มาภาพและคลิป: ชายหลวง ดิษฐะบำรุง
เรียบเรียงข้อมูลบางส่วนจาก:
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9580000027083
http://www.thairath.co.th/content/486938
http://www.tnamcot.com/content/142597