เครือข่ายสลัม 4 ภาค แถลงใช้โอกาสวันที่อยู่อาศัยโลก 5 ต.ค. 2558 จัดขบวนรณรงค์จำนวน 2,000 คน ติดตามข้อเสนอ จี้รัฐบาลประกาศแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ส่วน 12 ต.ค.นี้ เตรียมจัดงานรณรงค์ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา เชิญสื่อมวลชนร่วมผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา
24 ก.ย. 2558 เครือข่ายสลัม 4 ภาค จัดแถลงข่าวสถานการณ์การสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง และกำหนดการการจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวทีประชุมวิชาการ “มองไปข้างหน้า สิทธิเพื่อความเป็นธรรมของการอยู่ร่วมกันในเมือง” ซึ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะทำงานวาระทางสังคมจัดขึ้นเพื่อสะท้อนความรุนแรงของปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองซึ่งกำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน อันเป็นผลจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ
นุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค อ่านแถลงระบุว่า ข้อมูลที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้รวบรวมมา ในเบื้องต้นมีชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อ จำนวน 86 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนกว่า 8,100 ครอบครัว ราว 34,000 คน อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ขอบข่ายทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
โครงการการจัดการน้ำ ที่เริ่มใน 9 คลองหลักในกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ได้รับอานิสงค์ทำให้พื้นที่เปิด เหมาะกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม และไม่เว้นแม้กระทั่งที่ดินของวัดที่ประชาชนอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ก็ถูกวัดไล่รื้อ เพื่อจะนำที่ดินไปทำประโยชน์อื่น
นุชนารถ ระบุด้วยว่า เครือข่ายสลัม 4 ภาค มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาใน 4 เรื่อง คือ
1.ให้มีการแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกไล่รื้อ เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อเป็นกลไกในการลดความรุนแรง และคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้น
2.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่กระทบต่อคนจน และคนจำนวนมาก รัฐบาลต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการกำหนดการพัฒนา และการแก้ปัญหา และต้องมีการอนุมัติงบประมาณแก้ปัญหาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
3.ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชุมชน และเดินหน้าทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมานตรีเพื่อจัดโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านที่ต้องการแก้ปัญหาเพื่อสร้างหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
4.กรณีคนเร่ร่อนไร้บ้าน ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความยากลำบากในการใช้ชีวิต เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ใน 2 ระยะ คือ ศูนย์พักชั่วคราว และบ้านมั่นคงสำหรับคนไร้บ้าน ที่ดำเนินการโดยภาคประชาชน
ทั้งหมดนี้ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมมนุษย์แจ้งว่ากำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะใช้โอกาสเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ต.ค. 2558 จัดขบวนรณรงค์จำนวน 2,000 คน ในการติดตามข้อเสนอ เพื่อให้รัฐบาลประกาศแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ไปที่ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 09.00 น. นอกจากนั้นในวันจันทร์ที่ 12 ต.ค.นี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะจัดงานรณรงค์ในภูมิภาคพร้อมกันที่ จ.ขอนแก่น และ จ.สงขลา จึงอยากขอเชิญสื่อมวลชนร่วมทำข่าว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา
นุชนารถ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 24 ก.ย. 2558 ภาคประชาชนโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค เริ่มจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสมทบจัดซื้อที่ดินให้กับชุมชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เนื่องจากไม่สามารถรอการแก้ปัญหาของรัฐบาลได้
นอกจากนี้ ในการแถลงข่าว แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค จากพื้นที่ต่างๆ ได้ร่วมแถลงถึงปัญหาที่ประสบและเสนอแนวทางออกเพื่อความเป็นธรรม ดังนี้
“ถึงแม้เป็นคนสลัม แต่ไม่ได้อยู่แบบสลัม แต่อยู่แบบคนมีความคิด” สมพร ศรีจำนงค์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง จ.ขอนแก่น กล่าว
ตัวแทนฯ จาก จ.ขอนแก่น กล่าวว่า รัฐบาลพูดถึงผลกระทบการพัฒนาระบบรางในทุกที่ของประเทศไทย แต่ไม่เคยเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบ ประชาชนกว่า 1,000 หลังคาในพื้นที่ยังยืนอยู่ที่เดิม พร้อมเสนอว่า หากมีโครงการพัฒนา ต้องพัฒนาควบคู่กับคนหรือประชากรของประเทศ เช่น หาพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้กับคนขอนแก่น อย่างสนามกอล์ฟซึ่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่ากว่า 62 ไร่ ทำให้เป็นพื้นที่ของพี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบดีกว่าให้นายทุนไปทำสนามฟุตบอล
บุปผา ตัวแทนจากชุมชนโรงช้าง รามคำแหง 60 แยก 3 ซึ่งได้รับผลกระทบจากที่ดินทำกินกล่าวถึงปัญหาในพื้นที่ว่า พบเห็นกลุ่มนายทุนนำแม็คโครเข้ามาไถต้นไม้ ถึงแม้ด้านนายทุนพูดว่าไม่ได้เป็นการไล่ที่อยู่อาศัยของประชาชนในพื้นที่ แต่ต้นไม้ของคนในพื้นที่ถูกทำลาย จึงอยากข้อเสนอว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงตรวจสอบพื้นที่ เพราะประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนและมีความหวาดกลัวจากการข่มขู่
ส่วน ตัวแทนชุมชนวัดใต้ ย่านอ่อนนุช ที่ประสบปัญหาไล่รื้อ กล่าวว่า กรณีการแบ่งปันที่ดินระหว่างชุมชนกับวัดนั้น ความทุกข์ในปัจจุบันของประชาชนวัดใต้ได้รับผลกระทบ คือ การมีหมายศาล ที่โดนฟ้องร้องในด้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีความเดือดร้อนมาก จึงเสนอแนะ ให้ร่วมภาคี เครือข่าย มาเจรจาพูดคุย เกี่ยวกับปัญหาชุมชนวัดใต้ เรื่องการแบ่งปันที่ดินเพื่อหาทางออกของชุมชนจะเป็นไปในทิศทางไหน
สำหรับตัวแทนจากกรณีชุมชนริมคูคลอง 4 ชุมชนนำร่องที่ยื่นขอโฉนดชุมชนในเขตเมือง ได้รับผลกระทบจากการถูกไล่รื้อจากนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาล เสนอให้การแก้ปัญหาเพื่อสร้างหลักประกันด้านที่อยู่อาศัย และให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเรื่องโฉนดชุมชน
นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ปัญหาของคนจนเมืองตอนนี้คืออะไร? สถานการณ์ตอนนี้ของคนจนเมือง ปัญหาหลักจะเป็นปัญหาการถูกไล่รื้อถอนที่อยู่อาศัยจะเยอะมากในตอนนี้ ไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าทั่วประเทศเลย เป็นผลมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ได้ลงมาทำการพัฒนาในพื้นที่ เช่น โครงการการปรับปรุงการขนส่งระบบรางรถไฟนำไปสู่การปรับปรุงในระบบทางคู่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รวมทั้งเรื่องการพัฒนาคลอง ที่ต้องขยับคนออกจากคลอง อันนี้ก็จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ส่งผลให้ชาวบ้านต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่ ตอนนี้กำลังเป็นปัญหาหนัก เพราะว่าการย้ายที่ การไร้บ้าน การไร้ที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่มากที่ทำให้ชุมชนและครอบครัวต้องล่มสลาย นอกจากนั้นแล้วในกรณีที่เอกชนที่อยู่ในแผนการพัฒนาของรัฐก็พื้นที่อยู่ทางรถไฟ พื้นที่เอกชนก็เป็นพื้นที่เปิด มีโครงการที่จะนำมาสร้างอสังหาริมทรัพย์ คอนโดมิเนียม อะไรแบบนี้จะเกิดขึ้นเยอะ ซึ่งก็จะกระทบกับที่อยู่อาศัยเหมือนกัน เครือข่ายได้ขับเคลื่อนอะไรไปบ้าง? เสนอปัญหาไปกับทางรัฐบาลกับกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงให้มีกลไก คณะกรรมการในการคลี่คลายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือภาคประชาชนตอนนี้ที่ทำกันได้คือใช้ประสบการณ์ที่ชาวบ้านแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยกันมายาวนาน ได้แต่ลงไปช่วยให้คำแนะนำต่างๆ เพื่อที่จะคลี่คลายปัญหาเบื้องต้น แต่ว่าเราทำลำพังฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะว่าเป็นปัญหาขนาดใหญ่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐในการมามีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหา คือในเบื้องต้นต้องมีคณะกรรมการในการไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น โดยที่เจ้าของที่ดินจะไล่ที่ชาวบ้านก็เกิดปัญหา มันจะต้องมีตัวกลางที่เหมาะสมที่สุดโดยเป็นรัฐบาลที่มาไกล่เกลี่ยก่อนในเบื้องต้น การแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ตรงจุดจะต้องทำอย่างไร? ถ้าเป็นโครงการขนาดใหญ่จริงๆ แล้วก็รับฟังการมีส่วนร่วมประชาชนในพื้นที่ คืออับดับแรกต้องรับฟังประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบว่าเขาคิดอย่างไร ต้องการ การพัฒนาแบบนี้ไหม หรือถ้าเขายินยอมก็ต้องฟังเขาว่าเขามีการเสนอการแก้ไขหรือทางออกยังไง เช่น กรณีที่ขอนแก่นที่โดนโครงการทั้งรถไฟความเร็วสูงและการขยายรางรถไฟ เขาก็ไม่ได้ขัดขวางถ้าอยากจะสร้างความเจริญตรงนั้น แต่ว่าต้องมีที่รองรับที่ใกล้เคียงกัน ที่ไม่ต้องกระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเขา ก็มีการเสนอว่า เขาอยากมีที่รองรับที่บริเวณใกล้เคียงซึ่งเป็นสนามกอล์ฟ คือ ชาวบ้านไม่ได้ขัดขวาง แต่ว่ามีข้อเสนอว่ารัฐก็ต้องแก้ปัญหาให้เขาด้วย แล้วถ้ารัฐเข้ามาแก้ให้ตรงจุดก็คือใช้ที่ดินผืนนั้นมารองรับ เรื่องก็จบ ปัญหาก็จะไม่เกิดและก็ได้กันทั้งคู่ รัฐก็ได้ทำโครงการชาวบ้านก็ได้อยู่อาศัยระยะยาว อันนี้เป็นตัวอย่าง ก็ต้องคุยกันว่าจะหาทางออกที่ดีร่วมกันแบบไหน
ปัญหาที่มีเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยตอนนี้คืออะไร ปัญหาที่ประสบตอนนี้คือการถูกไล่ลื้อที่ทวีคูณความรุนแรง ผลเนื่องมาจากโครงการพัฒนาของรัฐ ซึ่งการขยายรางรถไฟ การสร้างรถไฟฟ้ารางคู่ และรถไฟฟ้าแรงสูง การจัดการน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่จะทำให้ประชาชนถูกไล่รื้อมากขึ้น โดยที่รัฐไม่มีนโยบายแก้ไขและมารองรับ และนี่คือสิ่งที่เรากำลังผจญอยู่ ตอนนี้กำลังคลับเคลื่อนอะไรไปบ้าง? การพัฒนาของรัฐควรที่จะให้ชุมชนเป็นคนที่ได้รับผลกระทบ มีการตัดสินใจกับองค์การนั้น และมีการตั้งกองทุนสำหรับแก้ไขปัญหาเหล่านี้ สองก็คือการตั้งคณะกรรมการและกลไกปัญหาการไกลเกลี่ย สร้างความเข้าใจชุมชนและเอกชน ส่วนรัฐเองที่ผ่านมาก็ใช้กฎหมายมาคุกคามชาวบ้าน สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดในยุคนี้ เราอยากสะท้อนให้เห็นว่า เราอยากให้รัฐมองการแก้ปัญหา เป็นคนกลางเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างรัฐเอกชนและชุมชน การแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดควรทำอย่างไร? นโยบายการแก้ไขปัญหา การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยต้องชัดเจน และสิ่งสำคัญที่ต้องชัดเจนคือความสอดคล้องถ้านโยบายเปิด ที่ดินไม่เปิด การเข้าถึงที่ดินก็ยาก ที่ดินอยู่อาศัยก็ยังถูกไล่อยู่ แต่ควรมีนโยบายแก้ไขที่ปัญหาดิน ถ้าที่ดินแพงเป็นเพราะการเก็งกำไรราคาก็ซื้อไม่ได้ ราคาแพงชนชั้นกลางที่มีเงินเดือนก็ซื้อคอนโดไม่ได้ แล้วทำไมที่ดินถึงมีราคาแพงในที่ดิน เพราะที่ดินถือว่าเป็นการตีราคาสินค้าอย่างหนึ่ง ถ้าที่ทำกินมีราคาถูกประชาชนก็ซื้อได้ ไม่ใช่กระจุกอยู่ที่ใครคนหนึ่ง |