เวทีสัมมนาวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี ๒๕๕๕
“เกษตรพันธสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด?”
วันที่ ๒๖-๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและเหตุผล
การพัฒนาสู่ความเป็นอุตสาหกรรมของประเทศไทย ได้รวมถึงการพัฒนาในด้านการเกษตรเข้าไว้ด้วย แบบแผนการผลิตของอุตสาหกรรมได้มุ่งเน้นการผลิตขนาดใหญ่และประสิทธิภาพของการลงทุน ในช่วงการเปลี่ยนผ่านของการเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรนี้ ระบบเกษตรพันธสัญญาคือ การชักชวนให้เกษตรกรรายย่อยเข้าร่วมทำการผลิตโดยมีข้อผูกพันกับบริษัท ผู้ประกอบการได้ใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนที่ครอบคลุมหลายสาขาการผลิตทางการเกษตร นับตั้งแต่การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก เลี้ยงปลา เป็นต้น
ระบบการผลิตดังกล่าว ถูกนำเสนอผ่านการรับรู้ของสาธารณะ ที่นับได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การแก้ปัญหาตลาดสินค้าการเกษตรกรของประเทศ ไปจนถึงการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งระบบดังกล่าวมีการขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมในระบบนี้เป็นจำนวนมาก ขณะที่ความเป็นจริงพบว่า ระบบเกษตรพันธสัญญายังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร และคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมถึงความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากทั้งกลไกภาครัฐ กฎหมายและนโยบายที่จะกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตในระบบนี้ และข้อมูลดังกล่าวยังไม่เป็นที่รับรู้ทั่วไปของสังคม ปัจจุบันพบว่า ระบบการผลิตในระบบพันธสัญญาครอบครองสัดส่วนของผลผลิตอาหารที่ตอบสนองการบริโภคของประชาชนในสัดส่วนที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ระบบห่วงโซ่อาหารของสังคม ถูกรวมศูนย์ภายใต้การผลิตของบริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ขณะที่ข้อเท็จจริงของการผลิต ทั้งในมุมที่เป็นมูลค่าและคุณค่าทางเศรษฐกิจและมุมที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตของผู้เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้นำมาพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการบริโภคอย่างเป็นธรรม
เวทีสัมมนาวิชาการนี้จะเป็นการระดมผลการศึกษาจากแง่มุมทางวิชาการ ทั้งทางด้านกฎหมายและผลกระทบเชิงสังคม สิ่งแวดล้อม และข้อเท็จจริงจากวิถีชีวิตของเกษตรกร ที่เกิดภายใต้ระบบการผลิตแบบพันธสัญญา เพื่อนำเสนอสู่การรับรู้ของสาธารณะและร่วมกันแสวงหาทางออกที่อาจจะเป็นทั้งจุดต่างและจุดร่วมสำหรับเป็นทิศทางการทำงานร่วมกันในอนาคตของผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องในทุกระดับ รวมถึงข้อเสนอทั้งระดับปฏิบัติและนโยบายเพื่อการสร้างระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม และมีความสมดุลระหว่างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้ผลิตและผู้บริโภค
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง ของระบบเกษตรพันธสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และ ความสมดุลของระบบนิเวศน์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความมั่นคงทางอาหาร
๒. เพื่อพัฒนาความร่วมมือกับภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ สื่อมวลชน ผู้บริโภค ในการหาแนวทางการสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นธรรม
๓. เพื่อจัดทำข้อเสนอทางนโยบายที่เป็นรูปธรรมในการนำไปดำเนินการ เพื่อการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมในระบบพันธสัญญา และการพัฒนาระบบความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
กลุ่มเป้าหมาย
๑. เกษตรกรพันธสัญญา ๕ กรณี จำนวน ๓ ภาค (ภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้)
๒. นักวิชาการ
๓. ตัวแทนภาครัฐ
๔. ตัวแทนภาคเอกชน
๕. องค์กรพัฒนาเอกชน
๖. สื่อมวลชน
๗. นักกฎหมาย
๘. องค์กรผู้บริโภค
๙. นักการเมือง
๑๐. นักศึกษา
๑๑. ประชาชนที่สนใจ
รูปแบบและกิจกรรม
๑. การแสดงปาฐกถานำ
เพื่อนำเสนอทัศนะจากนักวิชาการอาวุโส ต่อทิศทางการพัฒนาประเทศ สู่ความเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะนโยบายการสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญา
๒. การสัมมนาวิชาการ
๒.๑เกษตรพันธสัญญา: ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ กับความเป็นธรรมต่อเกษตรกร เกษตรกรเป็นองค์ประกอบที่ต้องแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุน
๒.๒ ข้อเท็จจริงและผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกรที่เข้าร่วมการผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา
๒.๓ วงจรเกษตรพันธสัญญา ความหวังของเกษตรกรกับความเป็นจริง ในมุมมองทางวิชาการข้อเท็จจริงของเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาของเกษตรกรที่เข้าสู่ระบบการผลิตในแต่ละสาขาการผลิต จากการศึกษาของนักวิชาการ จากความคาดหวังในช่วงเริ่มต้นกับข้อเท็จจริงที่เผชิญเมื่อเข้าสู่ระบบพันธสัญญา
๒.๔ มองเกษตรพันธสัญญาผ่าน CSR ความจริงหรือการบิดเบือน ความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility) ถูกกล่าวถึงอย่างมากว่า ในระบบการผลิตยุคใหม่ ภายใต้การลงทุนระบบพันธสัญญา ปรากฏความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการมีหรือไม่ อย่างไร
๒.๕ ปฏิบัติการพันธสัญญาอย่างสร้างสรรค์ ระหว่างเกษตรกร ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่มีการผูกขาดสูง เนื่องด้วยผู้ประกอบการเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตและกำหนดราคา ได้มีความพยายามของเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อการจำหน่าย โดยการสานความสัมพันธ์ระหว่างกันในฐานะผู้ผลิตปัจจัยการผลิตและผู้ผลิต เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกร ที่ได้ริเริ่มขึ้น และรอความหวังที่จะพัฒนาให้เติบโตขึ้นให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคมโดยใช้ฐานชุมชน/ท้องถิ่น
๒.๖ ปฏิบัติการเพื่อ สร้างความธรรมและความยั่งยืนในระบบการผลิตระดับปฏิบัติการ ผ่านกลไกศูนย์คุ้มครองสิทธิเกษตรกรระดับท้องถิ่น การลงทุนในระบบเกษตรพันธสัญญา เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำ ระหว่างบริษัทเกษตรขนาดใหญ่กับเกษตรกรรายย่อยครอบครัวหนึ่ง โดยกลไกของภาครัฐ สังคม และผู้บริโภคที่เข้ามาตรวจสอบถ่วงดุลยังมีข้อจำกัด เกษตรกรที่เข้าสู่ระบบนี้จึงเผชิญปัญหาท่ามกลางความไม่พร้อมทั้งในแง่ข้อมูล ความรู้ที่จำเป็น การจัดตั้งศูนย์คุ้มครองสิทธิเกษตรกรระดับท้องถิ่นเป็นความพยายามที่จะคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ภายใต้กระบวนการยุติธรรมชุมชน ที่เน้นการทำงานเชิงป้องกันและให้คำปรึกษา โดยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รวมทั้งแกนนำเกษตรกร
๒.๗ ทางออกและคุณภาพชีวิตของชาวไร่อ้อย การพึ่งพิงปัจจัยการผลิตประเภทสารเคมี และผลกระทบจากการใช้สารเคมีต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เป็นสถานการณ์ปัญหาที่ชาวไร่อ้อยรายย่อยต้องเผชิญ การแสวงหาทางออกเพื่อการลดต้นทุนในการปลูกอ้อยโดยการลดใช้สารเคมีและการพัฒนารูปธรรมความมั่นคงทางด้านอาหารร่วมกันกับการปลูกอ้อย จึงเป็นทางเลือกที่เป็นรูปธรรม ท่ามกลางความไม่เป็นธรรมในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล
๒.๘ ข้อเสนอเชิงนโยบายและระดับปฏิบัติ ร่วมกันหาทางออกและนำเสนอข้อเสนอระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติ โดยการพัฒนาความร่วมมือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรกร ภาครัฐ ภาคธุรกิจ นักวิชาการ และผู้บริโภค ในการหาแนวทางการสนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นธรรม
๓. การแสดงนิทรรศการ
วันเวลา ๒๖ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
องค์กรร่วมจัด
๑. เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา
๒. เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน
๓. ไบโอไท (มูลนิธิชีววิถี)
๔. คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
๕. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
๖. คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๗. สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน
๘. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
๙. แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
กำหนดการ
เวทีสัมมนาวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี ๒๕๕๕
“เกษตรพันธสัญญา: ใครอิ่ม ใครอด?”
วันที่ ๒๖-๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕
๐๘.๐๐ – ๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๐๐ – ๐๙.๒๐ น. กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม และชมวีดีทัศน์
๐๙.๒๐ – ๑๐.๓๐ น. เกษตรพันธสัญญา: ประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ VS ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร
โดย ดร. เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร. สมพร อัศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ
อ. ไพสิฐ พานิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตัวแทนบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)
ตัวแทนบริษัทเบทาโกร
ดำเนินรายการโดย
คุณอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน
๑๐.๓๐ – ๑๐.๔๕ น. พักรับประทานอาหารว่าง
๑๐.๔๕ – ๑๒.๐๐ น. รายงาน “ชีวิตจริง เกษตรกรในระบบพันธสัญญา” ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชีวิตเกษตรกร ที่เข้าร่วมการผลิตในระบบพันธสัญญา
โดย คุณโชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู
คุณทองเจือ เขียวทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่
คุณพันธ์ จันทรัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
คุณสันต์ ละครพล เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง
ดำเนินรายการโดย
คุณสุเมธ ปานจำลอง เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ภาคอีสาน
๑๒.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ -๑๔.๓๐ น. วงจรเกษตรพันธสัญญา ความหวังของเกษตรกรกับความเป็นจริง
โดย อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา มูลนิธิชีววิถี
ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ดำเนินรายการโดย
ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๑๔.๓๐-๑๖.๐๐ น. มองเกษตรพันธสัญญาผ่าน CSR: ความรับผิดชอบต่อสังคม ความจริงหรือการบิดเบือน
โดย
คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคม
รศ. บำเพ็ญ เขียวหวาน สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
คุณสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการและนักเขียนอิสระ
คุณศุภวดี มนต์เนรมิต นักวิชาการอิสระ
ดำเนินรายการโดย
ดร. ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
๑๖.๐๐- ๑๗.๐๐ น. เวทีประมวลข้อเสนอเชิงนโยบายระดับประเทศและท้องถิ่น
ดำเนินรายการโดย
คุณสุเมธ ปานจำลอง และ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล
วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
๐๙.๐๐ – ๐๙.๓๐ น. ฉายสารคดี “หมูกินโฉนด: เกษตรกรพันธสัญญาการเลี้ยงหมู”
๐๙.๓๐ – ๑๐.๐๐ น. ปาฐกถานำ เรื่อง ความเป็นอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย กับชะตากรรมของผู้บริโภคและความอยู่รอดของเกษตรกร โดย อ. สุลักษณ์ ศิวลักษณ์
๑๐.๐๐ – ๑๑.๓๐ น. จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: การยื่นข้อเสนอนโยบายเพื่อการนำไปปฏิบัติจริง
โดย ตัวแทนเกษตรกรพันธสัญญา
พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
คุณพิทยา จินาวัฒน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
คุณวีระยุทธ เอี่ยมอำภา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
คุณชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ดำเนินรายการโดย
คุณอุบล อยู่หว้า และอาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล
๑๑.๓๐-๑๒.๐๐ น. การประกาศเจตนารมณ์ภาคประชาชน โดย คุณโชคสกุล มหาค้ารุ่ง
** กำลังอยู่ระหว่างการติดต่อ