8 เม.ย. 2559 เพจเฟซบุ๊ก Irrawaddynews ของสำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (8 เม.ย. 2559) ในเมียนมาได้เริ่มการปล่อยตัวนักโทษทั่วประเทศ โดยที่เรือนจำอินเส่ง ในย่างกุ้ง มีนักโทษได้รับการปล่อยตัวกว่า 108 คน รวมถึง Thet Wai นักโทษการเมือง ซึ่งถูกจับกุมตามมาตรา 18 ของกฏหมายการชุมนุมอย่างสงบ จากการประท้วงเดี่ยวเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวเพื่อนนักกิจกรรม
ในมัณฑะเลย์มีนักโทษกว่า 400 คนได้รับการปล่อยตัว แต่ยังมีนักโทษทางความคิดที่ยังไม่ถูกปล่อยตัว
นอกจากนั้น คาดว่านักศึกษาและนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมจากการประท้วงต้านกฎหมายด้านการศึกษาที่พวกเขามองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2558) จะได้รับการปล่อยตัวในวันนี้ด้วย
Prisoners have been released around the country, starting Friday morning. Most of them have already served their terms….
Posted by Irrawaddynews on Thursday, April 7, 2016
ทั้งนี้ ความคาดหวังในการปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวมีสูงขึ้น หลังจากอองซานซูจีประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (7 เม.ย. 2559) ว่าเธอจะเดินหน้าปล่อยตัวนักโทษทางความคิด
ประกาศของสำนักงานมนตรีแห่งรัฐ ลงนามโดย อองซานซูจี เรื่องการปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษาเป็นวาระเร่งด่วน (ที่มา: president-office.gov.mm)
ประชาไท รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2559 ภายหลังจากที่มีการแต่งตั้งอองซานซูจีเป็นมนตรีแห่งรัฐ อองซานซูจีได้ออกคำประกาศว่าจะมีแผนปล่อยตัวนักโทษการเมืองและนักกิจกรรมที่ถูกจองจำ “เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
โดยช่วงเย็นวันที่ 7 เม.ย. 2559 สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า เว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดีเมียนมาได้เผยแพร่ประกาศฉบับแรกของสำนักงานมนตรีแห่งรัฐ ลงนามโดย ออง ซาน ซูจี กำหนดให้ การปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษา เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลประชาชน
ทั้งนี้ ในประกาศระบุว่ามียุทธศาสตร์ 3 ด้านที่รัฐบาลสามารถนำไปปฏิบัติได้ประกอบด้วย กลไกแรก ภายใต้มาตรา 204(a) รัฐธรรมนูญ 2008 และ ภายใต้มาตรา 401(a) ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจ “อภัยโทษ” แก่ผู้ถูกจองจำ
กลไกที่สอง ในมาตรา 204(b) ของรัฐธรรมนูญเมียนมา กำหนดให้ประธานาธิบดีออกคำสั่งนิรโทษกรรมตามที่สภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ให้คำเสนอแนะ ทั้งนี้สภากลาโหมและความมั่นคงเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ
กลไกที่สาม ที่ระบุคือ มาตรา 494 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ระบุว่า ด้วยความเห็นชอบของศาล รัฐบาลสามารถถอนข้อกล่าวหาในคดีที่อยู่ในกระบวนการฟ้องร้อง โดยการถอนข้อกล่าวหาทำโดยผ่านเจ้าหน้านิติกรในระดับอำเภอ
“ในวาระปีใหม่ของชาวเมียนมา พวกเราจะปล่อยตัวนักโทษการเมือง นักกิจกรรม และนักศึกษา ที่เผชิญกับการดำเนินคดีให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ โดยใช้กลไกแรกและกลไกที่สาม” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้จากข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา (AAPP) ระบุว่าขณะนี้มีนักโทษการเมืองเหลืออยู่ 100 คน และมีอีกกว่า 400 คนที่ถูกดำเนินคดี รวมทั้งนักศึกษาเมียนมากลุ่มใหญ่ที่ถูกดำเนินคดีเมื่อปีที่แล้ว หลังเคลื่อนไหวเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษา
อนึ่ง ประกาศฉบับแรก ภายหลังจากที่อองซานซูจีได้รับตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐดังกล่าว ผ่านชั้นสภาชนชาติเมื่อ 1 เม.ย. และผ่านสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 5 เม.ย. ก่อนที่รัฐสภาแห่งสหภาพจะส่งกลับมาให้ประธานาธิบดีถิ่นจ่อลงนามเมื่อ 6 เม.ย. และมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการอภิปรายทั้งในชั้นสภาชนชาติ และสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาโควตาแต่งตั้งจากกองทัพได้อภิปรายคัดค้านโดยให้เหตุผลว่ากฎหมายตั้งมนตรีแห่งรัฐจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะตำแหน่งมนตรีแห่งรัฐ เข้าไปมีส่วนทั้งนิติบัญญัติและบริหาร ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ในหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลเมียนมา เมื่อ 7 เม.ย. ได้ลงคำสัมภาษณ์ของ พลจัตวา หม่องหม่อง ส.ส. โควตากองทัพเมียนมา ที่ให้สัมภาษณ์หลังร่างกฎหมายมนตรีแห่งรัฐผ่านสภาว่าเป็นการ “รังแกด้วยประชาธิปไตย” ของเสียงข้างมาก
ขณะที่ ทุนทุนเฮง ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์แย้งว่า ร่างกฎหมายมนตรีแห่งรัฐนั้นเพื่อเป็นหลักประกันให้กับระบอบประชาธิปไตยแบบพหุพรรคการเมือง สหภาพที่เป็นสหพันธรัฐ และเพื่อสันติภาพและการพัฒนาของสหภาพเมียนมา