ความพยายามติดตามหาตัว นาย พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) ผู้นำชุมชน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน วัน 30 ปี ที่หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เวลาประมาณ 14.00 น. ขณะเดินทางมายังอ.แก่งกระจาน เพื่อเตรียมดำเนินการช่วยเหลือชาวบ้านฟ้องศาลปกครองและทำหนังสือถวายฎีกา ภายหลังเกิดข้อขัดแย้งกรณีหัวหน้าอุทยานฯ เผาบ้านกะเหรี่ยง นั้น
ล่าสุด Wut ฺBoonlert แกนนำชาวกะเหรี่ยงอีกคนหนึ่ง โพสต์เฟศบุ๊ค ถึงสำเนาเอกสารลายมือของบิลลี่จำนวน 2 แผ่น โดยเขียนบรรยายว่า “……นี่คือสำเนาเอกสาร ที่เตรียมจะถวายฎีกา ที่ บิลลี่เขียนด้วยลายมือของตนเอง มีด้วยกัน 2 หน้า กระดาษ บิลลี่คงจะเตรียมเอกสารนี้ เพื่อจะถวายฎีกา เอกสารชิ้นนี้บิลลี่เอามาให้ดู และเชื่อว่าเอกสารต่างพร้อมทั้งข้อมูลในแฟลสไดร้ฟ ที่บิลลี่นำติดตัวเสมอในการเดินทางคงจะหายไปพร้อมกับตัวของบิลลี่ในวันพฤหัสบดีที่17 เมษายน ช่วงเวลาประมาณ บ่าย 3 โมงที่ลงมาจากบางกลอยและถูกจนท.อุทยานกักตัวไว้”
ถอดข้อความในจดหมาย
” พวกเราชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน บ้านบางกลอย จึงเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรมจากท่าน เนื่องจากพวกเราชาวบ้านบางกลอยบนอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่บรรพบุรุษหลายร้อยปีแล้ว แต่ป่าไม้ก็ยังอุดมสมบูรณ์อยู่ พวกเราประกอบอาชีพทำไร่หมุนเวียน อยู่กันแบบพอมี พอกิน ไม่เดือดร้อน พอถึงปี พ.ศ. 2539 ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานได้ขึ้นไปที่บางกลอยบนแล้วบอกกับพวกเราว่า “พวกเราต้องลงไปอยู่บางกลอยล่าง” โดยอ้างว่า ป่าไม้ ต้นน้ำถูกทำลาย เขาจะจัดสรรพื้นที่ทำกินครอบครัวละ 7-8 ที่ และช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน 3 ปี ในตอนนั้นชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เชื่อจึงได้ลงไปอยู่บางกลอยล่าง แต่อีกส่วนหนึ่งก็ไม่ได้ลงไป พวกเขายังอยู่บางกลอยบนเหมือนเดิม ส่วนชาวบ้านที่ลงไปนั้นมีทั้งหมด 57 ครอบครัว
พอลงไปถึงเจ้าหน้าที่อุทยานไม่มีที่จัดสรรให้ เจ้าหน้าที่อุทยานจึงจัดสรรแบ่งที่ทำกินของคนบ้านโป่งลึก ให้กับคนบ้านบางกลอยที่ลงไป ทำให้คนบ้านโป่งลึกมีพื้นที่ทำกินน้อยลง ไม่เพียงพอให้กับลูกหลานและพื้นที ที่เจ้าหน้าที่อุทยานจัดให้คนบ้านบางกลอยนั้น ก็ได้ไม่ครบทุกครอบครัว ส่วนคนที่ได้ พื้นที่บางแปลงก็ทำกินไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากมีหิน มาก ส่วนเรื่องที่เจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่า จะช่วยเหลือเรื่องอาหารการกิน 3ปี ให้กับชาวบ้านที่ลงมานั้น พอชาวบ้านลงมาจริง ก็ช่วยเหลือไม่ถึง 3เดือน จึงทำให้ชาวบ้านลำบากมาก ต้องดิ้นรนทำงานรับจ้างข้างนอก พอออกไปทำงานรับจ้างในเมืองก็ถูกโกงค่าแรง แถมยังถูกจับกุมจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากชาวบ้านยังไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนต่างด้าว
พวกเราที่ลงมานั้นพอได้ 2ปีกว่า ก็ต้องกลับขึ้นไปยังบางกลอยบนที่เคยอยู่ เพราะบางกลอยบนมีพืชผักผลไม้ที่บรรพบุรุษและพวกเราปลูกไว้ อุดมสมบูรณ์เพียงพอ ไม่ต้องลำบากมากอย่างบางกลอยล่าง แต่กลับขึ้นไปครั้งนี้ เราก็ต้องกลับไปอาศัยอยู่กินกับญาติพี่น้องที่ไม่ได้ย้ายลงบางกลอยล่าง ส่วนทางเจ้าหน้าที่อุทยานก็ผลักดันพวกเราที่อยู่บ้านบางกลอยบนเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยบอกว่าให้พวกเรา ย้ายลงไปอยู่กับญาติพี่น้องที่อยู่บ้านบางกลอยล่าง ถ้าไม่ย้ายลงไป ก็ให้ไปอยู่ฝั่งพม่า “พวกเราทุกคนที่อยู่บ้านบางกลอยบน ไม่ได้มาจากฝั่งพม่า พวกเราจะไม่ไป เราจะไม่ไปอยู่ประเทศพม่า” เราจะขออยู่บ้านบางกลอยบน เพราะบ้านบางกลอยล่างเราก็เคยลงไปอยู่มาแล้ว พวกเราตัดสินใจอยู่บ้านบางกลอยบนต่อไป แต่การผลักดันของเจ้าหน้าที่อุทยานก็หนักขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้น “เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ตัด ฟัน ทำลายพืชผักผลไม้ที่พวกเราปลูกไว้ และไล่จับกุมพวกเราทุกคนที่เขาพบเห็น”
ตอนนี้พวกเราลำบากมาก “เพราะ ข้าวของ พิธีกรรม ตามความเชื่อของชาวบ้านถูกทำลาย ทุกอย่างที่เขาพบเห็นจนหมด ” ทำให้ชาวบ้าน บ้านบางกลอยบนใช้ชีวิตลำบาก ไม่ว่าจะเป็น “เด็ก คนแก่ คนป่วย หรือคนท้อง ต้องทุกข์ทรมานมาก ต้องอดอยาก ไม่มีข้าวกิน ถึงขั้นมีคนตายและคนท้องแท้งลูก” “ขณะหลบหนีเจ้าหน้าที่ เราต้องนอนอยู่ในป่า ในถ้ำ โดยไม่มีผ้าห่ม เสื้อผ้าสำรอง ต้องทนฝน ทนยุง ทนหนาว” ส่วนเรื่องอาหารการกิน “พวกเราหาหัวกลอย หัวเผือก หัวมัน หน่อไม้หรือของในป่า ที่กินได้เอามากินเพื่อแก้หิว” พวกเราเดือดร้อนเช่นนี้ พวกเราก็เคยบอกผู้นำหมู่บ้าน ทั้งบ้านโป่งลึก – บ้านบางกลอยล่าง รับรู้ แต่ไม่มีใครกล้าช่วยเหลือพวกเรา เพราะพวกเขากลัวเดือดร้อน เพราะกลัวเจ้าหน้าที่จะรังแกพวกเขา ถึงแม้ว่าชาวบ้านและผู้นำหมู่บ้าน บ้านโป่งลึก – บ้านบางกลอยล่าง เป็นลูกหลานญาติพี่น้องของพวกเราจริงๆ
พวกเราจึงขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าขอ
1. ให้พวกเราได้มีสิทธิ์ อยู่ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน โดยที่เจ้าหน้าที่อุทยานต้องไม่ไปรังแก ขับไล่ จับกุม เผาบ้าน เผายุ้งข้าว ทำลายพิธีกรรมทางความเชื่อ ของพวกเราที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และไม่ทำลายทรัพย์สินของพวกเรา พวกเราจะได้อยู่กันเป็นหลักแหล่ง เพื่อความมั่นคงในคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพจิตใจที่ดี
2. กันเขตพื้นที่ทำกินให้ชัดเจน จะได้ไม่ต้องอดอยาก ทนทุกข์ทรมาน อยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ และกระจัดกระจายอยู่ในป่าใช้ชีวิตเหมือนคนป่า และเพื่อป้องกันปัญหา การบุกรุกป่าพื้นที่อุทยาน
พวกเราขออยู่บ้านบางกลอยบนใช้ชีวิตอย่างสงบสุขเหมือนเดิม และเราจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ ในการดูแลป่า เพื่อความมั่นคงของประชาชนและประเทศชาติในอนาคต พวกเราจึงขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รีบดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยด่วน เพราะตอนนี้พวกเราเดือดร้อนมาก “
ขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมออกแถลงการณ์เรียกร้องผู้เกี่ยวข้องชี้แจงกรณี ‘บิลลี่’ หายตัวไป โดยเนื้อหาแถลงการณ์ระบุว่าสืบเนื่องจากกรณีมีรายงานข่าวว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 เม.ย. 57 นายบิลลี่ หรือ นายพอละจี รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี ได้หายตัวไปขณะเดินทางจากหมู่บ้านลงมายังตัวอำเภอแก่งกระจาน
ต่อมานายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมายอมรับว่าได้ควบคุมตัวนายบิลลี่ไปเพื่อสอบสวน โดยอ้างความผิดซึ่งหน้าว่าค้นตัวนายบิลลี่เจอรังผึ้งและน้ำผึ้ง 6 ขวด แต่ได้ปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว โดยไม่มีหลักฐานพยานถึงข้อกล่าวหาและการปล่อยตัวแต่อย่างใด
ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่านายบิลลี่อยู่ที่ใด ไม่มีใครพบเห็นนายบิลลี่ และไม่ได้รับการติดต่อกลับผิดวิสัยนักกิจกรรม ขณะนี้ชาวบ้านมีความห่วงกังวลในเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมากจึงได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ไว้แล้วเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2557
ปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 นายบิลลี่หายตัวไปขณะเดินทางมาเพื่อเตรียมข้อมูลและเตรียมการนำชาวบ้านไปร่วมการพิจารณาคดีของศาลปกครองในคดีที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ และนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จากกรณีที่การเข้ารื้อทำลาย เผาบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้านกะเหรี่ยงกว่า 20 ครอบครัวที่บ้านบางกลอยบนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554
ซึ่งปรากฏผลการศึกษายืนยันต่อมาว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบนมานับแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่า 100 ปี ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับชาวบ้านชนเผ่าพื้นเมืองเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้เกิดการฟ้องร้องคดีในชั้นศาล รวมทั้งการลอบสังหารนายทัศน์กมล โอบอ้อม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกรายหนึ่งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2554 และการตั้งข้อกล่าวหาจ้างวานฆ่าต่อนายนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ ซึ่งขณะนี้คดีกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาล
หากแต่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษรยังคงปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีการสั่งพักราชการหรือสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนตามระเบียบที่เคยปฏิบัติในกรณีที่ข้าราชการถูกฟ้องคดีอาญาร้ายแรง
แถลงการณ์ ยังระบุต่อว่า เหตุการณ์หายตัวไปของนายบิลลี่ สร้างความวิตกกังวลว่าอาจน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ซึ่งนายบิลลี่และชาวบ้านต้องร่วมเป็นพยานในคดีดังกล่าวด้วย การหายตัวไปของนายบิลลี่จึงอาจส่งผลต่อคดีและการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมของกลุ่มชาวบ้านด้วย
การบังคับให้บุคคลสูญหาย หรือ การอุ้มหาย เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่ร้ายแรงที่สุดเป็นการละเมิดสิทธิต่อชีวิต ร่างกาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่รัฐมีหน้าที่ตามกฎหมายภายในและพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องให้การเคารพและคุ้มครองสิทธิดังกล่าว
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้บังคับบัญชาชี้แจงเรื่องการหายตัวไปของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน แกนนำชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยทันที รวมทั้งขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่และสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวนายบิลลี่ อย่างโปร่งใส เป็นอิสระและนำตัวกลับมาโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ รัฐจะต้องไม่ยินยอมต่อการกระทำอันเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายและต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้พบและช่วยเหลือเหยื่อและนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้หากมีข้อมูลที่เชื่อได้ว่าเป็นการบังคับให้สูญหายจริง บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำการบังคับให้บุคคลสูญหายนั้นพึงถูกพักจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในระหว่างเวลาที่มีการสอบสวนด้วย ตามที่ระบุในปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลให้พ้นจากการถูกใช้กำลังบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2535
อนึ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย อาศัยอยู่บริเวณป่าแก่งกระจานบริเวณลำห้วยของลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำบางกลอย จนกระทั่งในปีพ.ศ.2524 กรมป่าไม้ได้ประกาศพื้นที่นี้เป็นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานครอบคลุมเนื้อที่ 1,821,687.84 ไร่ ซึ่งเป็นอุทยานที่มีพื้นที่มากที่สุดของประเทศไทย ผลจากการประกาศดังกล่าวนี้ ทำให้ในปีพ.ศ.2539 ได้มีโครงการอพยพ ผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณใจแผ่นดิน-พุระกำ มาอยู่อาศัยบริเวณบ้านบางกลอยหมู่ 1 และบ้านโป่งลึกหมู่ 2 จำนวน 192 หลังคาเรือน ประชากร 1,048 คน โดยราชการระบุว่าได้จัดหาที่ดินทำกินพร้อมที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวกะเหรี่ยง แต่ในสถานการณ์จริงพบว่า ที่ดินที่ราชการให้นั้นมีผู้อื่นทำกินอยู่แล้ว หรือไม่ก็ที่ดินเหล่านั้นไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก จึงเป็นเหตุให้ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้อพยพกลับไปอยู่ในบริเวณเดิมที่ตนเองเคยอาศัย
ต่อมาอีก 10 ปี รัฐบาลไทยมีโครงการลาดตระเวนเชิงรุก และขับไล่ชาวบ้านอีกครั้ง หากจะยังพอนึกถึงข่าวกลางเดือนกรกฎาคม 2554 เกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกติดต่อกันถึง 3 ลำ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ศพ ในระหว่างที่เจ้าหน้าที่จากกรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สนธิกำลังร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี เข้าผลักดันชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ที่บ้านบางกลอยบน บริเวณต้นน้ำห้วยใหญ่ ห่างจากบ้านบางกลอย-โป่งลึก ระยะทางเดินเท้าร่วม 2 วัน
การผลักดันชาวกะเหรี่ยงในครั้งนั้น มีการเผาทำลายยุ้งข้าวที่เก็บข้าวเปลือกร่วม 400 ถัง เผาข้าวฟ่าง ข้าวโพด ยาสูบ พริกและงา ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ชาวกะเหรี่ยงเก็บไว้ปลูกในฤดูฝน และยังผลักดันให้ชาวกะเหรี่ยงย้ายลงมาอยู่ที่บ้านบางกลอย อีกหลายคนก็ถูกจับกุมว่าเป็นพวกบุกรุก ทำไร่เลื่อนลอย ทำลายผืนป่าต้นน้ำ เป็นสาเหตุให้ป่าแห้งแล้งและเกิดไฟไหม้ป่า อีกหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่าครอบครองอาวุธ ทั้งที่ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ต่างอาศัยอยู่ในพื้นที่มานานนับร้อยปี มีทะเบียนราษฎรชาวเขาถูกต้อง และยังถูกกล่าวหาว่า ชาวกะเหรี่ยงเหล่านี้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยไม่ใช่คนไทย
ผลจากปฏิบัติการดังกล่าว ทำให้ชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอยต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ไม่มีข้าว และอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการ เครือข่ายกะเหรี่ยงทั่วประเทศได้ระดมความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง
–เชิญคลิกอ่านและชมคลิปเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง—