เครือข่ายยุวชนสร้างสรรค์ฯ จ.สุราษฎร์ธานี นำบทเรียนภัยพิบัติเดือนเม.ย. ปรับใช้ พร้อมสื่อสารข้อมูลในพื้นที่ เตรียมตั้งรับสถานการณ์
ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึง ธันวาคมนี้เป็นช่วงที่จังหวัดทางด้านตะวันออกของภาคใต้จะมีฝนตกมากอีกช่วงหนึ่งด้วย เพราะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ในปีนี้หลายพื้นที่ได้เตรียมการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้น เช่นเดียวกับ ต.กรูด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา
อรอุมา ชูแสง เครือข่ายกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี บอกว่า เดือนเมษายนที่ผ่านมา ต.กรูด อ.พุนพิน จ.หวัดสุราษฎร์ธานี มีฝนตกหนัก ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่มาก ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเช่น แม่น้ำตาปีและแม่น้ำสายย่อยอื่นๆเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน้ำทะลักล้นตลิ่ง มีตะกอนดิน หินและเศษไม้ไหลลงมากับน้ำตามความลาดเทของพื้นที่ท่วมเป็นบริเวณวงกว้าง ลำน้ำหลายสายตื้นเขินจากการทับถมของตะกอนทำให้น้ำท่วมในพื้นที่และเจอกับปัญหาน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์นั้นมา ทำให้คนในพื้นที่ มาคุยกันและเตรียมการรับมือหากเกิดเหตุขึ้นอีกครั้ง
“ทุกๆเดือนจะมีการติดตามความก้าวหน้าจะวางแผนการเตรียมการ นอกจากเตรียมเรื่องบ้านแพหรืออาหารที่ศูนย์แล้วจะทำอะไรกันได้อีกบ้าง เช่นปรับปรุงที่ศูนย์ใช้พื้นที่ที่ยังว่างมาปลูกผักหรือปลูกข้าว สร้างแหล่งผลิตในชุมชนให้ชาวบ้านได้พออยู่พอกินในขณะที่รอผลผลิตเพราะส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำสวนปาล์มแต่พอน้ำท่วมยอด ปาล์มก็ไม่ออกผลผลิตต้องรอจากช่วงที่น้ำท่วมตอนเดือน เม.ย.นับไปอีก 8 เดือน กว่าชาวบ้านจะได้ผลผลิต เมื่อเสร็จสิ้นการพูดคุยทุกคนสามารถนำความรู้กลับไปทำกันเองได้แล้วมาพบปะพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกันดูว่าใครมีปัญหาอะไรบ้าง มีข้อเสนออะไร”
ช่องทางการสื่อสารระหว่างกันของคนในพื้นที่ไม่ได้มีแค่วงสนทนาเท่านั้นเพราะกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ยังมีรายการเวทีสำหรับประชาชนส่งเสียงผ่านคลื่นวิทยุประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นอีกสื่อหนึ่งในการนำเสนอประเด็นเรื่องภัยพิบัติ การเตรียมความพร้อมและข้อมูลสำหรับรายงานพยากรณ์อากาศ และมีโอกาสได้เข้าร่วมการอบรมนักข่าวพลเมือฝึกทักษะในการสื่อสารเพื่อเฝ้าระวังภัยพับัติ ว่าได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ภัยพิบัติกับเพื่อนๆ ในหลายพื้นที่ รวมถึงนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้กับช่วงมรสุมในพื้นที่ภาคใต้ด้วย
“ตอนไปอบรมนักข่าวพลเมืองได้ไปในนามของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ไปพบกับกลุ่มอื่นๆที่ให้ความสำคัญเรื่องภัยพิบัติเช่นกัน ได้ไปเจอกลุ่มถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มบางสะพานน้อย กลุ่มตัวแทนจาก จ.สตูล เป็นต้น พอได้ไปเจอกันแล้วเหมือนเป็นการหนุนเสริมซึ่งกันและกันแต่ละคนก็มีบทเรียนมาไม่เหมือนกัน เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้เราได้เห็นว่าที่อื่นเขามีการตั้งรับอย่างไรบ้างได้เห็นวิธีการของแต่ละคนที่น่าสนใจเช่น พื้นที่ทับชันมีแนวทางการแก้ไขด้วยการสร้างบ้านแพการสร้างอาชีพในขณะที่กลุ่ม อ.บ้านนาเดิมทำเรื่องการจัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ มีการจัดโซนและจัดอาสาสมัคร โดยความรู้ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนนี้เราก็จะนำมาศึกษาบริบทของแต่ละที่ด้วยก่อนนำมาปรับใช้กับตัวเอง”