17 ก.ค. 2557 กลุ่มคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (คนปส.) เผยแพร่แถลงการณ์ “ปกป้องอันดามันจากถ่านหินและสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน” แสดงความห่วงใยกรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเปิดให้มีการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ในวันที่ 22 ก.ค.นี้ หวั่นผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ทั้งกระบวนการตัดสินใจขัดต่อกฎหมายและละเมิดสิทธิชุมชน
นอกจากนั้น แถลงการณ์ดังกล่าวยัง ระบุข้อเรียกร้องต่อสังคมไทยดังนี้ 1.ขอให้สังคมไทยร่วมกันกดดันให้ กฟผ.ยุติการเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยไม่มีเงื่อนไข เพราะรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และโครงการละเมิดสิทธิชุมชน
2.ขอให้สังคมไทย ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ดังกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง
และ 3.ขอให้สังคมไทยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยการร่วมกันปกป้องทะเลอันดามัน เพราะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและคนท้องถิ่นปีละหลายหมื่นล้าน
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ ปกป้องอันดามันจากถ่านหินและสนับสนุนการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ความขัดแย้งกรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเปิดให้มีการประมูลในวันที่ 22 กรกฎาคม นี้ และนำไปสู่การอดอาหารประท้วงของนักกิจกรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาเป็นวันที่ 8 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น กลุ่มคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (คนปส.) ได้ติดตามกรณีนี้มาโดยตลอดเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ แต่กระบวนการตัดสินใจกลับขัดต่อกฎหมาย และละเมิดสิทธิชุมชน ดังนั้น คนปส.จึงมีข้อเรียกร้องต่อสังคมไทยดังนี้ 1.ขอให้สังคมไทยร่วมกันกดดันให้ กฟผ.ยุติการเปิดประมูลการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่โดยไม่มีเงื่อนไข เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จากการที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ยังไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมา คนในท้องถิ่นได้แสดงเจตนารมณ์ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินมาโดยตลอด 2.ขอให้สังคมไทย ร่วมกันผลักดันให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน เนื่องจากเทคโนโลยีดังกล่าวได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ดังกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง และทั่วโลกก็ตระหนักถึงมลพิษจากถ่านหินเป็นอย่างดีจนหลายประเทศทั่วโลกเลิกการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยถ่านหิน และขอให้สังคมไทยร่วมกันผลักดันให้นโยบายด้านพลังงานของรัฐมุ่งเน้นไปที่พลังงานทางเลือกที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3.ขอให้สังคมไทยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืนโดยการร่วมกันปกป้องทะเลอันดามัน เพราะเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าทางสุนทรียภาพและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศและคนท้องถิ่นปีละหลายหมื่นล้าน บริเวณดังกล่าวยังเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (หรือ Ramsar site) และเป็นระบบนิเวศน์ที่ต่อเนื่องกับพื้นที่ชุ่มน้ำดังกล่าว ที่สำคัญก็คือ ชาวบ้าน นักวิชาการ และนักศึกษาได้ร่วมกันทำวิจัยมหาลัยเลและพบว่าบริเวณที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ท่าเทียบเรือ และเส้นทางเดินเรือขนถ่านหินมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงและเป็นฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตและสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่นหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยความสมานฉันท์ กลุ่มคณาจารย์ นิสิตนักศึกษา และประชาชนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (คนปส.) 17 กรกฎาคม 2558 ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ อาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม |