‘อลงกรณ์ อรรคแสง’ เสนอเลิกรัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจตัดสินใจให้ถึงชาวบ้าน ‘สามชาย ศรีสันต์วิเคราะห์’ ชี้การเคลื่อนไหวชาวบ้านอีสานต่างตรงที่เดิมพันด้วยชีวิต ‘เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว’ ถามหากไม่มีสิทธิเลยเราจะมีความสุขได้อย่างไร พร้อมเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทันทีไม่สามารถรอได้ ส่วน ‘สุรชัย ตรงงาม’ เปิดแนวการตีความใหม่ ชี้กฎอัยการศึกก็มีขอบเขต กฎหมายไม่ได้เพียงให้อำนาจ แต่ยังจำกัดอำนาจรัฐด้วย
รายงานโดย: อิทธิพล โคตะมี
20 มี.ค. 2558 เวทีข้อเสนอทางวิชาการในช่วงบ่ายของ “สัมมนาวิชาการ ‘อีสานกลางกรุง’ ลมหายใจผู้คนท่ามกลางการพัฒนา” ณ ห้องโครงการปริญญาเอกคณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สามชาย ศรีสันต์ จากสำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อลงกรณ์ อรรคแสง จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สุรชัย ตรงงาม นักกฎหมายจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
วงเสวนานี้จัดขึ้นในรูปแบบข้อเสนอทางวิชาการต่อประเด็นปัญหาของชาวบ้าน ที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ภายใต้กฎอัยการศึกของรัฐบาลทหาร ภายหลังจากช่วงเช้าที่มีการอภิปรายประเด็นในพื้นที่ของตัวแทนชาวบ้านจากอีสานกว่า 10 พื้นที่ปัญหา
“ถึงแม้ว่าทำงานพัฒนามา ก็ไม่ได้ติดตามเคลื่อนไหวใกล้ชิดกับประเด็นชาวบ้าน แต่งานวันนี้ถือเป็นการเปิดหูเปิดตาเราในฐานะคนกรุง สิ่งหนึ่งที่คนกรุงรับทราบคือมีการจัดระเบียบพื้นที่จริง แต่เราไม่ได้รับทราบว่าพี่น้องในพื้นที่ก็คุกคามเช่นกัน และทำให้ทราบว่าปัญหาระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านเกิดขึ้นมานาน แต่การรัฐประหารทำให้การต่อรองในพื้นที่สิ้นสุดลง” ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ดำเนินรายการเริ่มด้วยการโยนคำถามลงกลางวงว่าทางออกจะเป็นอย่างไร และมีข้อเสนออะไรอีกบ้าง
วิธีคิดของทหารคือ ‘ราชการ’ มีความน่าเชื่อถือกว่า ‘ประชาชน’
อลงกรณ์ อรรคแสง ในฐานะนักวิชาการผู้คลุกคลีปัญหาชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน เริ่มต้นด้วยการฉายภาพให้เห็นประเด็นปัญหาในพื้นที่อีสาน โดยพิจารณาในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาชาวบ้านกับสภาวการณ์ภายใต้กฎอัยการศึก เขาเสนอว่าคนอีสานในปัจจุบันเปลี่ยนเป็นชนชั้นกลางใหม่
“เมื่อผมมาเรียนที่ธรรมศาสตร์แล้วกลับไปบ้านที่มหาสารคาม ผมรู้สึกว่าผมไม่รู้เรื่องอีสานเลย ทั้งๆ ที่มีวิชาเท่ๆ อย่างวิชาการเมืองเรื่องการพัฒนาในอีสาน ผมจึงลงไปสัมผัสปัญหากับพี่น้อง และพบว่าภาคอีสานไม่ได้เป็นภูมิภาคที่แห้งแล้ง แร้นแค้นหากเต็มไปด้วยทรัพยากรอันมีค่า แต่ก็มาพร้อมๆ กับการที่รัฐและทุนบุกรุกเข้าไปช่วงชิงทรัพยากรในชุมชนด้วย”
อลงกรณ์เสนอว่า เรื่องปัญหาที่ดินและป่าไม้ มี 2 ประเด็น คือ 1.การประกาศพื้นที่ป่าไม้ทำให้ชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก และ 2.การบุกรุกใหม่ อันมีรากฐานมาจากการถือครองที่ดินไม่เป็นธรรม และการจำกัดการถือครองที่ดิน เราจะพบว่ามีบางคนถือครองที่ดินมากกว่าคนหนึ่งอย่างมหาศาล ขณะที่วิธีแก้ปัญหาของรัฐมี แต่รัฐก็พยายามแก้ปัญหาแบบรัฐในอดีต ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด หรือเรื่องการขุดและขนถ่ายก๊าซ เช่น พื้นที่คำไผ่ พื้นที่หนองแซง พื้นที่สตึก พบว่าเมื่อบริษัทข้ามชาติเข้ามาแล้วรัฐเอื้อ เป็นปัญหาจากเรื่องผลพวงพัฒนา และตามมาด้วยที่รัฐมีวาทกรรมเรื่องส่วนรวมเพื่อชาติ แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ส่วนรวมหรือชาติคืออะไร ขณะที่ชุมชนถูกบุกรุกก็ดำเนินไป
“กรณีของ อ.คำไผ่ เป็นตัวอย่างของผลพวงจากก๊าซที่ทำลายระบบประสาท เมื่อผลกระทบที่ชาวบ้านได้รับเทียบเคียงแล้ว ชาวบ้านหลายคนอย่างไรก็ตาม กรณีที่คำไผ่ก็ถือว่าเป็นข้อยกเว้น เพราะชาวบ้านสามารถเล่นการเมืองโค่นนายกฯเก่าได้ เพราะการเมืองชาวบ้านเข้มแข็ง แต่ที่สตึกต่างออกไป ทั้งๆ ที่เห็นได้ชัดว่าการเจาะก๊าซแบบนั้น ทำให้ตัวบ้านแตกร้าว เห็นเป็นช่องเลย คำถามก็คือว่า “ทำไมเราต้องทนกับเรื่องพวกนี้ทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่ได้อะไร” หันมาที่กระนวน สถานการณ์คือ บริษัท ได้ทำการขุดเจาะๆ ไปเรื่อย หลายๆ ที่ แล้วต่อท่อแก็ส แล้วไปแยกแก็สที่น้ำพอง ฉะนั้นการทำ EIA จึงเป็นการทำพอกระเทิน (ทำแบบขอไปที) บริษัทมักอ้างว่าท้องถิ่นได้ประโยชน์”
จากการติดตามของอลงกรณ์ เขาพบว่ามีข้อสังเกตใน 2 ประเด็น คือ 1. อีสานทรัพยากรเยอะมาก 2.รัฐรวมหัวกับทุนจัดการชาวบ้าน
“เราจะพบว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐ นายทุน และชาวบ้านต่างๆ มีมานานแล้ว การรัฐประหารทำให้รัฐและทุน ใช้ทหารเป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐ โดยวิธีคิดของทหารคือ ราชการมีความน่าเชื่อถือกว่าประชาชน ส่งผลให้ไม่ได้มองว่า ประชาชนที่รุกป่ามี 2 กรณี ที่ผมกล่าวไปแล้ว”
“ทหารถูกใช้เป็นเครื่องมือของกลุ่มทุนเพื่อเล่นงานประชาชน ตัวอย่างที่ดีคือ กรณี นามูน-ดูนสาด ทหารเข้าไปเคลียร์พื้นที่ให้บริษัท ผมเห็นว่าการประกาศกฎอัยการศึกใช้กับชาวบ้านไม่ได้ใช้กับประชาชน ที่ในความหมายของรัฐบาลหมายถึงมวลมหาประชาชนของกลุ่มใดหรือไม่” ถ้าเรามีสำนึกเสรีภาพเราจะรู้สึกเชื่อมโยงได้ว่าเรากำลังถูกละเมิดสิทธิ
เขาชี้ว่า สำหรับคนที่ไม่รู้สึกต่อการประกาศกฎอัยการศึกจะเหมือน “หมาที่ถูกล่ามแต่วิ่งไม่สุกโซ่” (คำเปรียบเปรยของสื่อมวลชนท่านหนึ่ง) เพราะว่าเขาไม่ได้ใช้สิทธิเต็มที่ในการต่อสู้ แต่ชาวบ้านที่เราพบคือใช้สิทธิเต็มที่ จนชาวบ้านรู้ว่ามันไม่สำเร็จ สุดท้ายต้องกลับมาหาอาวุธชิ้นสุดท้ายของภาคประชาชนคือการชุมนุม
อลงกรณ์เสนอว่า การชุมนุมถือเป็นเครื่องมือที่สามารถต่อรอง และยืดเวลาให้กับชาวบ้านได้ เช่นการชุมนุมจนตั้งคณะกรรมการ มันมีประสิทธิภาพมากที่สุด เช่น การไล่ออกจากป่า และการต่อสู้ของสมัชชาคนจน แต่ภายใต้กฎอัยการศึกมันทำไม่ได้ ในความเห็นของเขาเป็นเครื่องมือจัดการฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล หรือจัดการกับชาวบ้าน
เสนอเลิกรัฐรวมศูนย์ กระจายอำนาจตัดสินใจให้ถึงชาวบ้าน
ในส่วนสาเหตุที่ชนชั้นกลางเรียกร้องรัฐประหาร อลงกรณ์เห็นว่าหนึ่งเป็นเพราะว่าชนชั้นกลางได้สูญเสียการชี้นำทิศทางในการพัฒนาประเทศ หลังรัฐธรรมนูญ 2540 การเกิดพรรคการเมืองพรรคเดียวคุมประเทศ สามารถออกนโยบายได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เทคโนแครตไม่มีความหมาย สิ่งนี้สร้างความแค้นเคืองให้กับชนชั้นกลางและข้าราชการ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเช่นนี้ ทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถควบคุมได้
“ประเด็นคือมันไม่ใช่เรื่องทักษิณคอร์รัปชั่น คนเหล่านี้หมั่นไส้เพราะเขา (ชนชั้นกลาง) สูญเสียความชอบธรรมในการชี้นำ” อลงกรณ์กล่าว
นอกจากนี้อลงกรณ์ได้วิเคราะห์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาภายใต้กฎอัยการศึกหลังจากนี้คือ กฎหมายการชุมนุมจะถูกนำมาจัดการกับการชุมนุมเล็กๆ ของชาวบ้านเช่นนี้ ไม่ใช่ถูกนำมาใช้จัดการการชุมนุมใหญ่ๆ ประเด็นต่อมาชนชั้นกลางจะรักษาโครงสร้างที่ธำรงอยู่ ในแง่นี้รัฐประหารไม่ได้แก้อะไรเลย เขาเสนอว่า ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นเกิดมาจากรัฐรวมศูนย์ การออกแบบเลือกตั้งจึงไม่ได้ไปแตะประเด็นปัญหาใจกลาง สิ่งที่ต้องแก้ไขคือการกระจายอำนาจ กระจายอำนาจในที่นี้ไม่ใช่เพิ่มอำนาจให้ปกครองท้องถิ่นแต่กระจายการตัดสินใจไปให้กับประชาชน เช่น อำนาจในการตัดสินใจเจาะก๊าซของชุมชน ไม่ใช่ให้เป็นอำนาจของหน่วยงานส่วนกลาง การออกกฎหมายเล็กๆ อาจจะเป็นทางออกหนึ่ง
“เป็นไปได้ไหมว่าแต่ละ อบต. จะตราข้อบัญญัติตำบลว่าขุดก๊าซ ข้อบัญญัติเรื่องโฉนดชุมชน เรื่องเหมืองทอง ฯลฯ สิ่งที่เราจะเล่นได้จากตรงนี้ คือเราสร้างเครื่องมือให้กับชาวบ้านเท่าที่สามารถทำได้ในตอนนี้” อลงกรณ์ให้ความเห็น
เปรียบการเคลื่อนไหวคนอีสานกับการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง
สามชาย ศรีสันต์ เริ่มต้นว่า รู้สึกตื่นเต้น ในฐานะที่เป็นอาจารย์ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่บนหอคอยงาช้างและสอนในวิชาที่เกี่ยวกับการพัฒนา และได้มาพูดต่อหน้าชาวบ้านที่ต่อสู้เพื่อทรัพยากรของตัวเอง ในระหว่างที่เตรียมข้อมูล พบว่ายิ่งค้นไปผมยิ่งรู้สึกหดหู่ จนมาพูดในวันนี้ยิ่งรู้สึกเศร้าใจ กลับไปที่ทหารทำอะไรไว้บ้าง ผมพบสิ่งเหล่านี้ ขณะเตรียมข้อมูลเมื่อวาน เตรียมเรื่อยๆ น้ำตาจะไหล รู้สึกซาบซึ้งวีรกรรมที่ทหารทำ โครงสร้างสถานการณ์สังคมไทยปัจจุบัน ปี 2553 มีการสลายการชุมนุมประชาชนเสียชีวิตไป 93 คน บาดเจ็บนับพัน กระสุนและอาวุธ งบประมาณสามพันล้าน พอๆ กับการทำสงครามขนาดใหญ่ และเมื่อดูงบกลาโหม 58 เทียบปีที่แล้ว ได้เพิ่มอันดับหนึ่งเข้าไป ไล่รื้อทำลายพื้นที่การเกษตร ใน 12 จังหวัด 22 ชุมชน เมื่อเอาการปฏิบัติต่อชาวบ้านไปเปรียบเทียบกับงบประมาณมันมีความหมายอย่างไรกัน
สามชาย อภิปรายในประเด็นชนชั้นกลางมองประเด็นการต่อสู้ในหลายพื้นที่ของอีสานว่าเป็นอย่างไร เขาเสนอใน 2 ประเด็น 1.คนอีสาน ภาคอีสานเกิดอะไรขึ้น 2.การต่อสู้เคลื่อนไหวปัจจุบันของชาวบ้านอีสานแตกต่างอย่างไรกับการต่อสู้เคลื่อนไหวของชนชั้นกลาง
ประเด็นแรก มีงานวิชาการจำนวนหนึ่งเสนอว่าคนอีสานตื่นรู้ทางการเมืองมานานมาก สังเกตได้จากการที่ผู้แทนอีสานอภิปรายคัดค้านรัฐบาลอำนาจนิยมในอดีต หรือประวัติศาสตร์การต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการที่เกิดขึ้นเป็นระยะ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองผูกพันกับคนอีสานมานาน แต่ภาพที่ถูกสื่อออกมาในสังคมไทย กลับเป็นภาพลักษณ์ “คนอีสานต้องเป็นคนรับใช้ เช่นเดียวกับหญิงชาวเหนือที่ต้องทำอาชีพประเภทหนึ่งเท่านั้น”
ประเด็นต่อมา รัฐไทยมีกระบวนการนับรวมอีสานมาเพื่อที่จะไม่นับรวม เช่น การรวมอีสานมาตอนแรกคือเรื่องปัญหาคอมมิวนิสต์ การรวมอีสานเข้ามาแต่เป็นเหตุผลทางการเมือง การสร้างเขื่อนที่เสนอมานาน คือการเอาทรัพยากรมาใช้ในตัวเมืองหลวง สะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรอีสานถูกใช้มาสนับสนุนคนส่วนกลาง อีสานจึงเป็นพื้นที่นับรวมเพื่อเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์ในส่วนกลางเรื่อยมา
“นอกจากนั้นแล้ว ผมคิดว่าวัฒนธรรมอีสานเป็นวัฒนธรรมที่เย้ายวน เช่น คนกรุงเทพฯ ชื่นชมคนอีสาน อดทน ซื่อสัตย์ ขณะเดียวกัน แต่มันก็กระอักกระอ่วนต่อวัฒนธรรมอีสาน เมื่อคนอีสานแสดงบทบาททางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคไทยรักไทย หรือเป็นศัตรูเบอร์หนึ่งของชนชั้นนำในกรุงเทพ ซึ่งไม่ต้องการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนหน้าใหม่เช่นนี้ ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่หลังรัฐประหาร พื้นที่ชนบทอีสานถูกจัดการเป็นเรื่องแรกๆ”
สามชายเปรียบการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกับการเคลื่อนไหวของชนชั้นกลางว่า 1.ชนชั้นกลางสนใจการเคลื่อนไหวในประเด็นอะไรที่ถือเป็นความดีหรือความงาม โดยการเคลื่อนไหวนั้นไม่ต้องลงแรง สามารถถ่ายรูป เร็ว หวังผลได้เร็ว การเป็นคนดีเร็วๆ และการเคลื่อนไหวนั้นต้องดูเหนือกว่า มีความรู้กว่า เช่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสิทธิสัตว์ ดังนั้นเรื่องที่ชาวบ้านกำลังเผชิญอยู่ปัจจุบันนี้จึงไม่สำคัญสำหรับชนชั้นกลาง 2.ตรรกะของชนชั้นกลาง เป็นตรรกะที่อิงอำนาจหลัก (คนดี) ในแง่นี้คนดี จึงหมายถึงสิ่งที่ดีจะเกิดจากคนดีบอก คนดีบอกอะไรดีอะไรไม่ดีได้ ซึ่งแตกต่างกับตรรกะการเคลื่อนไหวของคนอีสาน
สามชายวิเคราะห์ลักษณะของการเคลื่อนไหวของคนอีสาน คือ 1.เดินพันของการเคลื่อนไหวชาวบ้านคือชีวิต 2.เจตจำนงของชาวบ้านคือมีอิสระที่จะเลือก แต่การเคลื่อนไหวของคนดี เป็นการเดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด และต้องเคลื่อนไหวที่ส่วนกลาง สามเหลี่ยมเขยื้อนประชาธิปไตยออกไป ได้แก่ สื่อมวลชน ข้าราชการ คนดี ฯลฯ ในแง่นี้การเคลื่อนไหวของชาวบ้านจะถูกทำให้เป็นผู้ร้าย ซึ่งกฎหมายหรือองค์กรของรัฐไม่ได้ยืนข้างชาวบ้าน
ตั้งคำถามถามหากไม่มีสิทธิเลยเราจะมีความสุขได้อย่างไร
“เลิกกฎอัยการศึกทันที แล้วนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย” เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว เปิดฉากการอภิปรายด้วยข้อเรียกร้อง เธอเห็นว่า ตอนนี้ประชาชนไม่สามารถที่จะรอได้หากเราฟังการอภิปรายปัญหาในพื้นที่ของชาวบ้าน เรารอกระบวนการตามโรดแม็ปตาม คสช.ไม่ได้
เบญจรัตน์ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของสถานการณ์ปัจจุบันกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน เธอชี้ว่า หลังรัฐประหารเจ้าหน้าที่รัฐได้เลือกข้างชัดเจน คือเลือกข้างบริษัทเอกชน และไม่ได้ถือข้างปกป้องสิทธิพลเมือง พิสูจน์ว่าประเด็นทรัพยากรกับประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้ เรามักจะพบว่าชาวบ้านชอบถูกเรียกร้องให้เสียสละเพื่อความมั่นคง คำถามคือ ความมั่นคงเหล่านี้ เป็นความมั่นคงของใคร
ประเด็นที่เกิดมาในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ไม่ได้เพิ่งเกิด มีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน แต่มันเปลี่ยนอย่างสำคัญจากเหตุการณ์รัฐประหาร และในปัจจุบันความหมายสิทธิมนุษยชนกลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม หรือเป็นสิ่งที่ไม่ได้ยินหรือรับรู้
“การที่เราอยู่ภายใต้รัฐทหาร เราเห็นความเด็ดขาดของรัฐในประเด็นทรัพยากรจากคำสั่ง คสช.เยอะมาก ภาวะคุกคาม ข่มขู่ ปรากฏชัดเจนมากในรอบ 10 เดือน ยิ่งหากเราเปรียบเทียบกับก่อนหน้านั้น และในปัจจุบันเราไม่สามารถเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งมันถูกพรากออกไปโดยกฎอัยการศึก”
ในส่วนประเด็นบทบาทของทหารในปัจจุบัน เธอเสนอว่า “ถ้าหากเราย้อนไปประวัติศาสตร์ เราจะพบว่าทหารพยายามเข้าไปแทรกแซงหรือแย่งยึดทรัพยากรของชาวบ้านมาโดยตลอดเสมอ มีการจัดการโยกย้ายประชาชน ตัวอย่างคือ คำสั่งคณะปฏิวัติที่ 81/2516 เรื่องการจัดการป่าไม้ ของจอมพลถนอม ที่เป็นตัวอย่าง การปราบปรามชาวบ้าน และไล่ยึดที่ทำกิน ลักษณะนี้เหมือนกับมาตรา 17 ของสฤษดิ์ ที่คนที่ตัดไม้ทำลายป่าต้องถูกจับประหารชีวิต และในปัจจุบันหากไปดู ภารกิจของ กอ.รมน. ได้ระบุให้ประเด็นป่าไม้กลายเป็นเรื่องความมั่นคงพิเศษ เป็นการให้อำนาจตัวเอง
“ความเห็นทำนองว่า ถ้าไม่ได้ทำความผิดอะไรก็ไม่ต้องกลัว แต่ถ้าเราดูการเสวนาของกลุ่มชาวบ้านเมื่อเช้านี้ เราจะพบว่าขณะที่ชาวบ้านทำไร่ ทำสวนอยู่ดีๆ ในที่ดินของเขา ยังถูกทำร้ายด้วยการอ้างกฎอัยการศึก เพราะฉะนั้นข้ออ้างนี้ไม่ใช่แล้ว คนที่เสนอความเห็นนี้มองเห็นกฎอัยการศึกแล้วมันดูดี แต่สิ่งที่เลือกมองไม่เห็นคือ เรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียม เรามักจะยินยอม ให้กับผู้รู้ดี จัดระเบียบสังคมในนามของความสุข”
ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างกฎอัยการศึก กับสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน มีคำถามว่าการบังคับกฎอัยการศึกแปลว่า สิทธิต่างๆ ไม่หลงเหลือเลยหรือไม่ เบญจรัตน์เสนอให้มองใน 2 ประเด็นคือ 1.พิจารณาจากที่มาของความชอบธรรมที่ถูกนำมาใช้ และ 2.พิจารณาการนำมาใช้ว่าชอบธรรมหรือไม่
หากดูกฎอัยการศึก จะพบว่ามันถูกใช้มานานกว่า 100 ปี เนื้อหาสาระก็คือ เป็นเรื่องกฎหมายความมั่นคง ใช้ในสถานการ์พิเศษไม่ใช่สถานการณ์ปกติ กฎหมายบังคับใช้ได้เฉพาะต่อความอยู่รอดของรัฐเท่านั้น เท่าที่จำเป็นจริงๆ ปัญหาคือ อะไรที่เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลนี้อ้างการใช้กฎอัยการศึกได้ หรือ ใครนิยาม ตอนที่ คสช. ใช้คือ “เพื่อให้การรักษาความเรียบร้อยให้เป็นประสิทธิภาพ…” ดังนั้นตอน คสช.ใช้ไม่ได้มีความชอบธรรม ชาวบ้านทำมาหากินเป็นปัญหาต่อความอยู่รอดของรัฐได้หรือ ฉะนั้น แค่ที่มาความชอบธรรมก็ตกไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงการบังคับใช้ เราต้องเสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก
กฎอัยการศึกให้อำนาจทหารครอบคลุม เช่น กรณีขึ้นศาลทหารของพลเรือน ซึ่งหากพิจารณารายละเอียด ตามหลักสากล เราจะพบว่ารัฐไม่อาจลิดรอนสิ่งนี้ได้ สิทธิในกระบวนการยุติธรรมรัฐต้องประกันไว้ให้พลเมือง และกรณีทหารมีอำนาจเต็มในการจัดการประชาชน เราเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้ เผาบ้านในชุมชนได้ เพราะกฎอัยการศึกเขียนไว้ ท้ายที่สุดความผิดอาญา เกือบทุกมาตรา อยู่ในขอบเขตของกฎอัยการศึก เป็นความผิดตามความมั่นคงของรัฐ เช่น การกวาดล้าง จับกุมประชาชนในหลายเดือนที่ผ่านมา กฎอัยการศึกถูกเอามาอ้างใช้ อย่างไรก็ตามในทางสากลยังมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการ เสรีภาพในการคิด สิทธิในทางการถูกบังคับใช้กฎหมาย ไม่อาจถูกลิดรอนได้ในทางใดๆ ประชาชนต้องถูกประกัน เธอทิ้งท้ายว่าเราไม่มีสิทธิเลยจะมีความสุขได้อย่างไร
เปิดแนวการตีความใหม่ ชี้กฎอัยการศึกก็มีขอบเขต
สุรชัย ตรงงาม กล่าวใน 3 ประเด็น 1.คำสั่ง คสช. ตอนนี้มีขอบเขตหรือไม่อย่างไร 2.สิทธิชุมชนตั้ง 2540 ที่จะได้รับประโยชน์ มีส่วนร่วมกับการอนุรักษ์ยังมีอยู่หรือเปล่า 3.แล้วเราจะทำอะไรกันดี
สุรชัยเห็นว่า ปัญหาร่วมกันของทุกประเด็นปัญหาในพื้นที่อีสานประการหนึ่งคือ ข้อขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องทรัพยากรนั้นมีการเลือกข้าง เลือกปฏิบัติ มีการใช้กฎหมายพิเศษกับชุมชน หรือเรียกว่ามีการใช้อำนาจอย่างกว้างขวาง ไม่มีขอบเขตอย่างชัดเจน แต่ขึ้นกับการตีความของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ปัญหาหนึ่งของการใช้อำนาจอย่างกว้างขวางนี้ อ้างกฎอัยการศึก หรือคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7 เรื่องชุมนุม 5 คน หรือ ฉบับ 64 เป็นหลัก แต่ที่สำคัญกว่าคือไม่อ้างอะไร อยู่ดีๆ “มาขอความร่วมมือ” การอ้างอำนาจแบบนี้ อย่างที่อาจารย์เบญจรัตน์ว่าคือเป็นกฎหมายโบราณ ย่อมไม่สอดคล้องกับหลักเสรีประชาธิปไตย
อย่างไรก็ดี ก็มีคำถามว่าแล้วมันมีขอบเขตไหม ผมพบว่ามันมีการตีความแบบนี้อยู่ ดังที่เรียกว่ากฎหมายมีชีวิตของมันอยู่ โดยประชาชน ดังนั้น การใช้อำนาจอย่างกว้างขวางมีหลักอย่างหนึ่งอยู่คือ ในยุครัฐสมัยใหม่ การใช้อำนาจไม่ต้องอ้างอะไรเลยทำไม่ได้ แม้กฎหมายจะเป็นที่มาของอำนาจ แต่ก็เป็นที่มาของการจำกัดอำนาจด้วย ไม่ใช่ใช้อำนาจโดยไม่มีขอบเขต เช่น กฎอัยการศึกยังมีขอบเขตอยู่ เช่น กรณีมาตรา 15 ทวิ ที่ให้อำนาจในการกักตัว ดังนั้นเราจะพบว่ามันมีเงื่อนไขอยู่
ประเด็นที่สอง สิทธิชุมชนยังมีอยู่หรือไม่ เรายังพบว่ากฎหมายอื่นๆ เช่น รัฐธรรมนูญ ยังคงรับรองสิทธิประชาชน เมื่อวันที่ 7 ที่ผ่านมา มีการฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ กรณีบุกรุกป่าดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู ศาลชั้นต้นบอกว่า ประชาชนยังไม่เสียหาย ชาวบ้านก็อุทธรณ์ไป ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุดบอกว่า “ประชาชนเสียหาย โดยศาลอ้างสิทธิชุมชน มาตรา 66-67 ตามรัฐธรรมนูญ 50 สิทธิชุมชนยังดำรงอยู่ ตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ชั่วคราวมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 มาตรา 7 ใน รัฐธรรมนูญ 50 ตรงนี้มันมีนัยว่าสิทธิชุมชนยังไม่จบสิ้นไปตามคำสั่งคณะรัฐประหาร
“ผมเสนอว่าทหารต้องสำเหนียกหรือสำนึกว่าสิทธิของประขาชนยังมีอยู่ การใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและสิทธิชุมชน ไม่ละเมิดสิทธิของประชาชนจนเกินควร”
ต่อกรณีเมื่อทหารหรือหน่วยงานรัฐเห็นว่า ไม่สามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ตามรัฐธรรมนูญที่ตัวเองเขียนขึ้น (มาตรา 16 กฎอัยการศึก) ทางออกจะเป็นอย่างไร สำหรับกฎอัยการศึก ความจริงพี่น้อง 3 จังหวัดภาคใต้ เผชิญกับเรื่องนี้มานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ และพบว่าในอดีตที่ผ่านมามีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ ดังตัวอย่าง การซ้อมทรมานชาวบ้านของเจ้าหน้าที่ที่ปัตตานี ชาวบ้านก็ไปฟ้องต่อศาล ว่ากฎอัยการศึกเป็นการใช้อำนาจทางปกครองในทางหนึ่ง
ดังนั้นต้องขึ้นศาลปกครอง หมายเลขคดีที่ 14/2555 คดีแดง ศาลปกครองสงขลา ศาลวินิจฉัยว่า “ตามบทบัญญัติ มาตรา 16 เพียงคุ้มครองเจ้าหน้าที่ทหารที่ใช้อำนาจไปโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายรวมถึงทหารที่จะอำนาจไปในทางละเมิดสิทธิในร่างกายของประชาชน” อย่างไรก็ตามต้องมีความรับผิด เช่น หน่วยงานเป็นผู้จ่าย ความรับผิดในทางอาญาด้วย เช่น ไปฟ้องต่อศาลทหาร ศาลทหารปัตตานี 21ก/2553 ทหาร (จำเลย) รับสารภาพ ทำร้ายร่างกาย ศาลก็เห็นว่าจำเลยรับสารภาพ รอการลงโทษ ตรงนี้ยืนยันว่าในพื้นที่มีกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่ก็สามารถรับผิดในทางอาญาได้เช่นกัน กฎหมายไม่ได้ให้เพียงอำนาจ แต่ยังจำกัดอำนาจไปด้วย การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่มีขอบเขตอยู่
“สิทธิมนุษยชนของเรายังอยู่ ปัจจุบันชาวบ้าน 3 จังหวัดภาคใต้แก้ไขด้วยการต่อรอง เจรจาให้เกิดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น การควบคุมตัว ญาติ มีหนังสือรับรอง แนวปฏิบัติ การใช้อำนาจต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน” สุรชัย กล่าว