หลังมีการประชุมระดมความคิดเห็นจากนักวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศ เรื่อง กิจการโทรทัศน์บริการชุมชน เมื่อวันที่ 11-13 พฤศจิกายน 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของแผนงาน กสทช. นอกจากทีวีบริการธุรกิจ และทีวีบริการสาธารณะ อะไรคือข้อท้าทายในการเดินหน้าทีวีชุมชน วันนี้พูดคุยกับ “คุณสุภิญญา กลางณรงค์” คณะกรรมการ กสทช.
การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นสัญญาณเริ่มต้น “ทีวีบริการชุมชน” อย่างเป็นทางการ
ตามแผนแม่บท กสทช. เรื่องการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดินจากแอนะล็อกเป็นดิจิตอล และเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตในครั้งนี้ ได้ออกแบบไว้ว่าให้มี 3 ภาคส่วนด้วยกัน คือ จะต้องมีทีวีสาธารณะ ทีวีบริการธุรกิจ และทีวีบริการชุมชน
ที่ผ่านมาทีวีบริการธุรกิจมีการประมูลไปแล้ว คราวนี้ก็เหลือโจทย์ทีวีสาธารณะช่องที่เหลือ และเหลือทีวีชุมชนซึ่งยังไม่ได้เริ่มเลย สรุปคือมีการเขียนไว้แล้วในกฎหมาย ในประกาศ แต่รูปธรรมในวันนี้ น่าจะเป็นจุด Kick Off เริ่มต้นนับหนึ่งอย่างเป็นทางการที่ กสทช. เปิดประเด็นนี้กับสังคม ด้วยการทำงานร่วมกับสหภาพโทรคมนามคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการที่จะพัฒนาเป็นกรอบ กฎ กติกา มารยาท เพื่อนำไปสู่การประกาศจัดสรรคลื่นความถี่ต่อไป
เนื่องจากว่าทีวีบริการชุมชน ไม่ได้ใช้เกณฑ์การประมูลเหมือนทีวีบริการธุรกิจ เพราะฉะนั้นการที่จะคัดเลือกจึงละเอียดซับซ้อนมากกว่า หรือ ที่เราเรียกกันว่า Beauty Contest หรือ ว่าเกณฑ์การประกวดคุณสมบัติ ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่เรามีการประชุมกลุ่มย่อยเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2558 ผลที่ได้จะนำไปสู่การพัฒนาเป็นกรอบนโยบายในการออกใบอนุญาตต่อไป รวมไปถึงการพัฒนา การแสวงหาความร่วมมืออื่นๆเพื่อให้ทีวีชุมชนเกิดขึ้นได้จริง อีกส่วนคือ ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม กรอบงบประมาณต่างๆที่อาจจะมาจากกองทุน หรืออื่นๆ เป็นต้น เป็นการค่อยๆหาแนวร่วม แต่ก็เป็นการ Kick Off ประเด็นนี้อย่างเป็นทางการ
อะไรคือข้อท้าทายสำหรับการเกิด “ทีวีบริการชุมชน”
อันดับแรกเลย คือ จุดยืนความคิดที่ตรงกันของคณะกรรมการ กสทช. เพราะแม้จะมีการวาง Road Map มาแล้ว แต่หลายท่านอาจจะมองกรอบของทีวีบริการชุมชนต่างกัน เหมือนที่มอง Concept ของทีวีสาธารณะต่างกัน เพราะฉะนั้นเราคงต้องฝ่าฟันภายในให้ได้แนวคิดที่ตรงกันก่อน
ข้อท้าทายข้อที่สอง คือ เรื่องเทคโนโลยี และคลื่นความถี่ เพราะทีวีชุมชนต้องรอความพร้อมของสัญญานออกอากาศที่ต้องไปให้ทั่วถึงก่อน ไม่เช่นนั้นก็ยังรับชมไม่ได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงครึ่งทางของการวางโครงข่ายเหลืออีกครึ่งทางในพื้นที่ห่างไกล รวมไปจนถึงการรอรับคืนคลื่นแอนะล็อกที่ยุติการออกอากาศ เพื่อนำมาจัดสรรทีวีบริการชุมชน
ข้อท้าท้ายข้อที่สาม เป็นเรื่องของความพร้อมของตัวชุมชนเอง ทั้งในแง่ของงบประมาณ และอื่นๆที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง และอยู่อย่างยั่งยืน เป็นไปตามปรัชญา เพราะหลายคนก็มองว่าเดี๋ยวจะถูกครอบงำจากการเมืองจากธุรกิจไหม นี่ก็เป็นอุปสรรคอีกอันหนึ่งที่กลัวว่าจะผิดเพี้ยนไปในอนาคตเหมือนที่เคยมีการวิพากษ์วิจารณ์วิทยุชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอันนี้เราต้องสรุปบทเรียนพัฒนาการเรื่องวิทยุชมชนมาต่อยอดเรื่องทีวีชุมชน เพื่อให้เดินไปได้ถูกทางมากที่สุด
จากการพูดคุยอะไรเป็นจุดแข็งที่จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของทีวีชุมชน
จุดแข็ง คือ กสทช. ได้มีการเริ่มต้นเรื่องดิจิตอลทีวีแล้ว และเราก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการหลายส่วน เช่น การวางโครงข่ายที่ยังคงต้องเดินหน้า และภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญทำให้คนหันมาสนใจทีวีภาคพื้นดินระบบดิจิตอลของเรา ซึ่งจะเป็นตัวหนุนเสริมการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในเรื่องระบบทีวีดิจิตอลให้ไปได้ทั้งประเทศในเวลา 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะนำไปสู่ความพร้อมในการให้บริการทีวีบริการชุมชนได้ นั่นคือความพร้อมของเทคโนโลยีและโครงข่ายต่างๆ
ส่วนจุดอ่อนก็จะมีเรื่องของโมเดล หรือรูปแบบในการประกอบกิจการทีวีชุมชนที่ยั่งยืน และก็ยังมีเงื่อนไขทางการเมือง และสังคมในสิติอื่นๆ ทั้งจาก กสทช. เอง รวมทั้งจากรัฐบาล และผู้บริหารประเทศชาติบ้านเมือง ซึ่งตอนนี้ก็อาจจะมีความกังวลว่าทีวีชุมชนจะถูกกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือเปล่า จะปลุกระดมไหม เหล่านี้เป็นการต่อสู้ทางความคิดที่ต้องฟันฝ่ากันต่อไป ในเรื่องของการกระจายอำนาจการถือครองคลื่นความถี่ และการประกอบกิจการในระดับท้องถิ่นที่ต้องควบคู่ไปกับระดับชาติที่เราต้องวางกติการ่วมกัน