ประวัติและสถานการณ์ในปัจจุบันของ “เวิ้งนาครเขษม” ศูนย์การค้าที่ยิ่งใหญ่แห่งแรกในอดีต

ประวัติและสถานการณ์ในปัจจุบันของ “เวิ้งนาครเขษม” ศูนย์การค้าที่ยิ่งใหญ่แห่งแรกในอดีต

เรียบเรียงโดย อ.วิศิษฎ์ เตชะเกษม

……….

ในอดีตตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ย้ายเมืองหลวงจากพระราชวังเดิมฝั่งธนบุรีมาฝั่งตะวันออก และสถาปนาเมืองหลวงขึ้นใหม่ พระราชทานนามของราชวงศ์ใหม่ว่า “ราชวงศ์จักรี” พระองค์ได้อพยพประชาราษฎร์จำนวนมากมาช่วยกันสร้างเมืองหลวงใหม่ด้วย โดยเฉพาะชาวจีน และชาวมอญซึ่งมีความสามารถในการสร้างอาคารและการปั้นดิน รวมถึงเครื่องปั้นดินเผา

ชาวมอญส่วนมากที่มีฝีไม้ลายมือในการปั้นเครื่องปั้นดินเผา โดยเฉพาะหม้อ ไห จะอาศัยอยู่รายรอบนอกคูเมืองที่ล้อมรอบบริเวณพระบรมมหาราชวังอยู่เรียกว่า “คลองรอบกรุง” ปัจจุบันเรารู้จักกันในนามของ “บ้านหม้อ” ส่วนชาวจีนที่ชอบการค้าพาณิช ทำมาค้าขายเก่ง เป็นชุมชนที่อยู่กันป็นกลุ่มที่หนาแน่น อีกทั้งขยายตัวเร็วมาก ได้รับพระราชทานพื้นที่อยู่รายรอบคูเมืองรอบนอก (ปัจจุบันเรียกชื่อคลองว่า “คลองโอ่งอ่าง” เพราะในอดีตเป็นคลองที่ใช้ขนส่งโอ่ง อ่าง ไห เครื่องปั้นดินเผาจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน) อันเป็นพื้นที่วังเก่าสำหรับพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ (อาทิ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรพิทักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ ฯ)ที่ได้รับมอบหมายให้มารักษาพระนครด้านทิศตะวันออก ประทับดูแล

จวบจนปี พ.ศ. 2418 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ห้า)ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้าง “วังบูรพาภิรมย์” ขึ้นเพื่อพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี  และพระราชทานนามวังใหม่ว่า วังบูรพาภิรมย์ ซึ่งหมายถึง "วังที่อยู่ทางทิศตะวันออก" คือ วังบูรพา ในปัจจุบัน

บริเวณตรงข้ามวังบูรพาภิรมย์แห่งนี้ข้ามคลองโอ่งอ่างไป มีที่ดินผืนงามขนาดใหญ่อีกผืนหนึ่งอันเป็นที่ดินในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้นเกล้าล้นกระหม่อม รัชกาลที่ห้า ที่ได้มีพระราชประสงค์และพระมหากรุณาธิคุณเปี่ยมล้น พระราชทานให้แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต(ทูลกระหม่อม บริพัตร)เป็นทรัพย์สินมรดก เพื่อสำหรับใช้ให้บังเกิดคุณประโยชน์การทำมาหากินแก่ไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์สืบไป บริเวณนี้ มีบึงเก็บน้ำใสสะอาดขนาดกว้างใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจสรวลสราญของพระบรมวงศ์และเหล่าข้าราชบริพาร ชาวจีนเรียกบึงขนาดใหญ่นี้ว่า “วังน้ำทิพย์” สำเนียงจีนแต้จิ๋วว่า “จุ้ยเจียเก็ง”

เมื่อมีชุมชนหนาแน่นจึงเป็นที่ที่ชาวจีนที่ชอบทำมาค้าขายอยู่แล้ว เข้ามาจับจองพื้นที่ขายของสารพัด(เหมือนแผงลอยสนามหลวงในปัจจุบัน) เมื่อชุมชนเจริญขึ้น รูปแบบแผงแบกับดินก็เปลี่ยนเป็นซุ้มสร้างด้วยสังกะสี มีการจับจองกันอย่างหนาแน่น ครั้นเมื่อมีการประกาศเลิกทาสขึ้น ระบบศักดินาก็ค่อยเสื่อมสลายลง พระบรมวงศ์และขุนนางเริ่มขยับขยายไปตามที่ต่างๆ บ้างก็เสด็จไปประทับในต่างประเทศเพราะอิทธิพลของอารยธรรมตะวันตกกำลังเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ข้าราชบริวารบางส่วนได้อิสรภาพจึงเริ่มแสวงหาแนวทางชีวิตใหม่ออกมาทำมาหากิน บางส่วนได้รับ ประทาน เครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ ต่างๆมากมาย เพื่อเป็นสมบัติติดตัวไปสร้างเนื้อตั้งตัว จึงนำสิ่งของต่างๆนั้นออกมาขาย บางส่วนก็ถูกลักลอบขโมยออกมาขายที่บริเวณวังน้ำทิพย์แห่งนี้ จึงทำให้สถานที่ “วังน้ำทิพย์” แห่งนี้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “ตลาดโจร” หรือ ในภาษาอังกฤษเรียกกันติดปากว่า “Thief Market”

จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต(ทูลกระหม่อม บริพัตร)ที่ได้ทรงเห็นว่าผืนที่ดินบริเวณนี้มีความผูกพันกับประชาราษฎร์ชาวจีนจำนวนมาก จึงมีดำริให้ถมบึงเป็นที่เนิน “เวิ้ง”กว้างใหญ่ที่จะจัดเป็นพื้นที่ให้ประชาชนชาวจีนที่อาศัยจับจองอยู่เดิม ได้อาศัยเป็นที่ทำมาหาเลี้ยงชีพสร้างฐานะตน สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงให้กับครอบครัวสืบต่อจนลูกหลานในตระกูลหลายชั่วคน เป็นการสร้างรากฐานทางทรัพยากรอันมีค่าของแผ่นดินและมีความเจริญรุ่งเรืองตามความศิวิไลซ์อย่างตะวันตก จัดสร้างขึ้นเป็นสถานที่ทำการค้าเป็นอาคารสองชั้นรูปทรงแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นตามวงกรอบประตูหน้าต่าง มีช่องระบายความร้อนและความชื้นที่แกะสลักด้วยไม้อย่างสวยงาม หลังคากระเบื้องว่าว รอบสถานที่มีซุ้มประตูไม้สักฉลุลวดลายสวยงามมาก(ปัจจุบันได้ถูกคนบางคนที่ไม่เห็นคุณค่าของศิลปที่ไม่อาจจะหาดูได้ที่ใดอีกแล้ว รื้อทิ้งแล้วสร้างแทนที่ด้วยซุ้มประตูเหล็กอัลลอยด์ เป็นงานอันอุดจาดต่อทัศนียภาพของเมืองอย่างยิ่ง) เป็นศิลปสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่กำลังนิยมมากในขณะนั้น

การขยายตัวของเวิ้งนาครเขษมในอดีตขยายตัวไปอย่างธรรมชาติจนมีการถมคูคลองบางส่วน(เป็นที่มาของคำว่าคลองถมด้วย) อีกทั้งเพราะด้วยที่ทรงเล็งเห็นว่าระบบศักดินาได้ถูกยกเลิกไปแล้วค่าใช้จ่ายในตระกูลก็มีมากขึ้น และเพื่อให้ผืนแผ่นดินของพระองค์ท่านสามารถเป็นมรดกตกทอดเพื่อสร้างผลประโยชน์เก็บเกี่ยวสำหรับทายาทในตระกูลรุ่นต่อๆไปอีกด้วย จึงเป็นที่มาของการสร้างย่านการค้า “เวิ้งนาครเขษม” อันมีความหมายถึง “นครแห่งความเบิกบานอันกว้างใหญ่” จากนั้นมาเป็นเวลานานถึงเกือบศตวรรษ (ส่วนพื้นที่ดินในวังบูรพาภิรมย์ หลังจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคต ในปี พ.ศ.2471 วังนี้ก็ซบเซาลง ทายาทของท่านจึงให้เช่าวังเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเมื่อหลังสงครามสงบลง ก็ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร เมื่อ พ.ศ.2495  ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ได้ขายวังบูรพา แล้ววังบูรพาก็ถูกรื้อออกเพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ ในปีพ.ศ.2497)

เวิ้งนาครเขษมถูกจัดเป็นศูนย์การค้าที่มีรูปแบบเป็นห้องแถว แรกเริ่มเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีการปรับปรุงเป็นอาคารสองชั้นและสามชั้นตามลำดับ เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี และเนื่องจากเดิมอาคารส่วนมากเป็นอาคารไม้ ครั้งหนึ่งเมื่อเกิดเพลิงไหม้ในเวิ้งนาครเขษม อาคารหลายส่วนถูกทำลายไปเกือบสิ้น จึงมีการสร้างอาคารทันสมัยขึ้นมาแทนที่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กผสมโครงสร้างไม้คานและตงแบบเดิมอยู่ด้วย อีกทั้งมีการสร้างตลาดขึ้นใหม่ เป็นตลาดสดซึ่งค้าขายสินค้าอาหารที่สดและมีคุณภาพมาก แม้คนที่อยู่ในบริเวณที่อื่นๆในช่วงเวลาเช้าและเวลาเย็น จะต้องมาจับจ่ายอาหารกับข้าวที่ตลาดแห่งนี้ไม่เว้น เพราะกล่าวขวัญกันว่าเป็นตลาดที่คัดเลือกเฉพาะของที่ดี สด มีคุณภาพที่สุดเท่านั้น จึงเป็นที่มาของแหล่งอาหารที่อร่อยมากมาย และตลาดนี้มีชื่อว่า “ตลาดปีระกา” เพราะสร้างเสร็จในปีระกานั่นเอง มีการสร้างโรงภาพยนต์ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น ชื่อโรงภาพยนต์ “เวิ้งนาครเขษม” เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กทันสมัยสองชั้น มีโถงบันไดที่ดูสง่างามมาก เป็นศิลปะแบบ “อารต์เดโก”(Art Deco) แบบขึ้นสองฝั่ง ต่อมาถูกเพลิงไหม้จนราบเรียบในปี พ.ศ. 2508 และสร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารสี่ชั้น ห้าชั้นด้วยโครงสร้างสมัยใหม่ เวิ้งนาครเขษมมีร้านจำหน่ายอาหารรสชาติเยี่ยมยอดหลายร้าน ที่มีชื่อเสียงมากคือร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อวัว ร้านผลไม้ดอง ร้านน้ำดื่มผสมโซดาด้วยเครื่องกดโบราณ ร้านน้ำผลไม้ น้ำแข็งใส ก๋วยเตี๋ยวราดหน้าลือชื่อ ขนาดเข้าคิวยืนคอยซื้อกันเป็นชั่วโมง มีทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืนสลับกันหลากหลายชนิด ทำให้เวิ้งนาครเขษมเปรียบ เสมือนเมืองที่ไม่มีเวลาหลับไหล ในช่วงเวลากลางวัน

เวิ้งนาครเขษมจะเป็นแหล่งที่คนจากภายนอกสามารถมาจับจ่ายซื้อสินค้าได้เกือบทุกชนิด เรียกว่ามาที่เวิ้งนาครเขษมเพียงที่เดียวสามารถซื้อของได้ครบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องทองเหลืองสำหรับประกอบอาหารหลากหลายแบบที่สุด เครื่องไฟฟ้าทุกๆชนิด ร้านเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุด ร้านจำหน่ายตู้เซฟ ยิ่งถ้าเป็นวัตถุโบราณแล้ว เวิ้งนาครเขษมถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นนักดนตรีทุกคนไม่มีใครไม่รู้จักเวิ้งนาครเขษม เพราะมีร้านจำหน่ายเครื่องดนตรีทันสมัยที่สุด และมีหลายร้านให้ได้เลือกอย่างถูกใจ ร้านหนังสือก็ถูกจัดเป็นร้านที่เก่าแก่ในระดับต้นๆของเมืองไทย เป็นต้นกำเนิดของหนังสือสารคดี หนังสือโหราศาสตร์(เวิ้งนาครเขษมถือเป็นต้นน้ำแห่งตำราโหราศาสตร์ไทยเลยก็ว่าได้) ตำรากฏหมาย คู่มือการทำการค้า นวนิยายรักและผจญภัยเช่น เสือดำเสือใบ และสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน โดยนักประพันธ์อัจฉริยะนามอุโฆษที่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีผู้ใดมีฝีปากกา(พิมพ์ดีด)เทียบเท่าได้(ควรหาอ่านให้ได้ครั้งหนึ่งในชีวิตก่อนตาย) และสินค้าอีกนับร้อยนับพันชนิดที่หาซื้อที่ใดไม่ได้ เมื่อมาหาซื้อในเวิ้งนาครเขษมก็จะไม่ผิดหวังกลับไปทุกครั้งทุกคน รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศเช่นอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น(ในสมัยนั้นนิยมสินค้าจากตะวันตกมาก

ในขณะที่สินค้าจากประเทศญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นสินค้าตามอย่าง นอกจากไม่ทันสมัยยังถือเป็นสินค้าเกรดรองมากๆ ผิดกับสมัยปัจจุบันแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือทีเดียว) มีการจัดงานเทศกาลตามประเพณีจีนที่ยิ่งใหญ่ ตามความเชื่อของชาวจีนที่จะต้องจัดงานขอบคุณสวรรค์ ฟ้า ดิน ที่ได้ประทานความอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลทุกๆปี เรียกประเพณีนี้ว่า “เซี่ยซิ้ง” หรือขอบคุณพระเจ้านั่นเอง นอกจากนั้นยังเป็นที่จัดงานไหว้เจ้าเทศกาลสำคัญอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระจันทร์ การไหว้บรรพชน จนเป็นที่เลื่องลือว่า เวิ้งนาครเขษมสามารถจัดงานตามประเพณีและเทศกาลแบบจีนได้อย่างสมเกียรติมาตลอด กล่าวได้ว่า เวิ้งนาครเขษมนั้นเป็นแหล่งที่รวมที่สุดของเมืองไทยไว้มากมายเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ แม้จวบจนปัจจุบันเวิ้งก็ยังคงถูกกล่าวขานในนิยามนี้อยู่ไม่มีวันสลาย ถึงแม้นว่ารูปแบบการค้าจะแปรเปลี่ยนไปเท่าใดก็ตาม แต่จิตวิญญาณและประวัติศาสตร์ของเวิ้งนาครเขษมนั้นยังคงยิ่งใหญ่ตลอดกาลไม่มีวันจางหายลบเลือนไปจากความทรงจำ และยังคงเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่ง เทียบได้ว่าเป็นหัวใจของประวัติศาสตร์ของเมืองไทยได้เลยทีเดียว

แม้กาลเวลาจะผ่านเลยไปนานเท่าใดก็ตาม ลูกหลานชาวจีนที่บรรพชนได้อาศัยทำมาหากินสร้างตระกูลอยู่ในย่านการค้าเวิ้งนครเขษม ยังคงปฏิบัติตนด้วยจิตวิญญาณและปรัชญาการดำเนินชีวิตของบรรพชนชาวจีนมาตลอด ด้วยความยึดมั่นในความกตัญญูต่อผืนแผ่นดินและด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้นเกล้าล้นกระหม่อมและสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต (ทูลกระหม่อม บริพัตร) ที่ได้พระราชทานและประทานให้ประชาชนชาวจีนมีโอกาสอาศัยบนผืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ได้พำนักพักอาศัยและทำการค้าขาย สร้างความมั่นคงมั่งคั่งสร้างครอบครัว ตลอดจนอบรมสั่งสอนและสืบทอดกิจการไปยังบุตรหลาน ให้ได้สร้างสานตระกูลต่อไปประสบความสำเร็จ จนสามารถขยายครอบครัวและกิจการออกสู่ภายนอกอย่างสง่างามมามากมาย จนแม้อนุชนที่ขยับขยายตระกูลออกไปสร้างขยายรากฐานไปยังถิ่นฐานอื่นๆภายนอกแล้ว ยังคงไม่เคยลืมแผ่นดินแม่ที่ให้ทั้งที่อาศัยถือกำเนิดเติบโตเติบใหญ่ ให้ได้รับการศึกษาจนสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวเองได้ ยังคงกลับมาแสดงความกตัญญูกตเวทิตาต่อบรรพชนผู้ยังคงอาศัยอยู่ด้วยความผูกพันอยู่อย่างมิเคยขาด

เพราะชาวจีนถือว่าหากอพยพไปถิ่นฐานใด จะต้องสร้างตนให้ประสบความสำเร็จมีความมั่นคงโดยมีวลีว่า “จ๊อซัว” หมายถึงความหนักแน่นดังขุนเขา อันเป็นที่มาของคำว่า “เจ้าสัว” และเมื่อบุคคลมีความมั่นคงแล้ว จะต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดินแม่ด้วยการกลับมาทำนุบำรุงแผ่นดินให้มั่นคงสืบไป เปรียบเสมือนบุตรที่คอยปรนิบัติเลี้ยงดูบุรพการีบิดามารดาในยามแก่ชราให้ได้มีความสุข อันเป็นมหากุศลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเหนือกว่ากุศลใดๆทั้งปวงในโลก วลีที่เอ่ยว่า “ตึ้งซัว” อันหมายถึงการหวนกลับมาตอบแทนแผ่นดินดั้งเดิมที่กำเนิดของตน และหากมีโอกาสวาสนาในชีวิตก็จะขอกลับมามอบร่างกายอันสงบปราศจากวิญญาณแล้วไว้ในแผ่นดินแม่นี้ในที่สุด เรียกว่า “หงีซัว” ต้นถั่วย่อมออกผลเป็นฝักถั่ว

ลูกหลานชาวเวิ้งนครเขษมหลายครอบครัวที่ขยายความเจริญมั่นคงออกไปสู่อาณาจักรภายนอกแล้ว ยังคงกลับมากราบเท้าล้างบาทาแสดงความรักความเคารพต่อบุรพการีบิดามารดาที่ยังผูกพันอาศัยอยู่โดยยังไม่ยอมที่จะจากผืนแผ่นดินแม่ที่แสนรักแสนหวงแหนนี้ไปไหน ถึงแม้จะไม่ได้มีสิทธิเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในทางนิตินัยเลยก็ตาม เปรียบจะขอฝากดวงวิญญาณ ณ แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แม้สังขารจะลาลับไปแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น

กาลเวลาลุล่วงผ่านไปเกือบศตวรรษ ณ วันนี้ สำนักงานบริพัตร ผู้ดูแลประโยชน์ที่ดินเวิ้งนครเขษมของทายาทในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต(ทูลกระหม่อม บริพัตร) แสดงเจตจำนงประกาศจะขายขาดที่ดินบริเวณเวิ้งนครเขษมรวมทั้งแปลงขนาดสิบสี่(14)ไร่ หนึ่ง(1)งาน เก้าสิบเอ็ด(91)ตารางวา ให้แก่เอกชน นายทุน และผู้สนใจ ด้วยการเสนอซื้อในราคาสูงสุดไปเป็นเจ้าของ และสามารถนำไปพัฒนาเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนต้นทุนมหาศาล และสามารถทำให้มีมูลค่าการสร้างผลกำไรที่สูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว หรืออาจจะนำไปปรับปรุงปรับเปลี่ยนแปลงสถานที่เดิมจัดโครงสร้างการเช่าทางธุรกิจขึ้นใหม่ เพื่อสร้างผลตอบแทนกำไรระยะยาวอย่างมหาศาลต่อไป อันเป็นรูปแบบการพัฒนาในเชิงธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไรตอบแทนมหาศาลได้

จากการณ์ดังกล่าว สร้างความหวั่นวิตกว่า ผืนแผ่นดินแม่อันเป็นที่รักผูกพันหวงแหนของชาวเวิ้งนครเขษมเดิมที่อาศัยอยู่มาหลายชั่วคน จะต้องตกไปเป็นทรัพย์สินของบุคคลใดๆก็ตามที่มิได้เป็นหน่อสืบสันตติวงศ์ในพระราชวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าล้นกระหม่อมของชาวเวิ้งนครเขษม ที่อาจไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์ในพระมหากรุณาและพระราชประสงค์ในพระหฤทัยอย่างลึกซึ้งถึงการพระราชทานผืนแผ่นดินให้เป็นที่ทำกิน เป็นประวัติศาสตร์จารึกแห่งการสร้างรากฐานทรัพยากรบุคคลของชาวจีนในประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมายาวนาน จะต้องสูญสิ้นจิตวิญญาณและวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ของเวิ้งนครเขษมแห่งนี้ไปในสถานการณ์นี้ด้วยอีกทั้งอาจมีผู้ที่เคยอาศัยอยู่ที่ผูกพันแผ่นดินเกิดดังกล่าว ที่ยังไม่มีศักยความสามารถที่จะขยับขยายย้ายถิ่นออกไปสถานที่อื่นได้ด้วยเพราะสถานภาพทางเศรษฐกิจ อาจจะต้องประสบกับปัญหากลุ่มทุนใหม่กำหนดค่าสิทธิในการเช่าและค่าเช่าใหม่ อันจะเป็นปัญหาต่อเนื่องทางสังคมต่อไป

โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจของโลกที่กำลังผันผวนอย่างรุนแรงในขณะนี้ และคงจะมีจำนวนไม่น้อยที่พร้อมจะดิ้นรนเพื่อให้ได้สิทธิของตนอยู่คงเดิมต่อไป แม้จะมีทุนจากภายนอกมหาศาลเข้ามาซื้อไปรื้อถอนสร้างใหม่  ชาวเวิ้งนครเขษมที่ยังรักผูกพันและยังปรารถนาอย่างมั่นคงที่จะดำรงอาศัยผืนแผ่นดินแม่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ก็ยังมีจิตมั่นคงที่จะรักษาดินแดนนี้ไว้ จึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อแสวงหาแสงสว่างปลายอุโมงค์ ทางออกที่เหมาะสมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่ให้กระทบต่อคุณประโยชน์และผลประโยชน์ในผืนดินศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ฯ อีกทั้งเพื่อการอนุรักษ์รักษาเวิ้งนครเขษม ซึ่งเคยเป็นสถานที่สูงค่าทางประวัติศาสตร์ควรค่าแก่การรักษาไว้เป็นอนุสรณ์และเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และจิตวิญญาณได้จารึกไว้ในสำนึกและหัวใจของอนุชนลูกหลานรุ่นหลังได้ศึกษาและภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์สืบไป

ชาวเวิ้งนครเขษมมีความคิดเห็นร่วมกันเป็นส่วนมากว่า จะร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวเปรียบเสมือนการรวมมัดกิ่งไม้ให้เป็นท่อนซุง จัดตั้งกองทุนรวมนิติบุคคลเพื่อระดมทุน และขอความสนับสนุนจากสถาบันการเงินที่มั่นคงและมีศักยภาพ ร่วมกันจัดหาทุนทรัพย์สำหรับขอซื้อผืนแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ที่รักนี้ไว้ เพื่อนำมาจัดสรรแบ่งขนาดที่ดินตามเลขที่สำมะโนครัว อาคาร ร้านค้า ตามที่เป็นอยู่เดิม ให้โอกาสและสิทธิขั้นแรกแก่ผู้ที่ยังอยู่อาศัยและประกอบธุรกิจการค้าอยู่ในปัจจุบัน มีโอกาสได้รับสิทธิในการดำรงอยู่ต่อไป อีกทั้งวางแผนการพัฒนาปรับปรุงแบบบูรณาการ อนุรักษ์สภาพอาคารทั้งหมดที่ได้เป็นทรัพย์สินของครอบครัวตระกูลแล้ว ให้มีความสง่างาม เพิ่มคุณค่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการปรับภูมิทัศน์ ปรับปรุงการจราจรสัญจร สถานที่จอดจอดรถ ระบบขนส่งที่เป็นระบบระเบียบเรียบร้อยสวยงาม จัดการการใช้สอยส่วนกลาง การปกป้องอาคารและชุมชนจากสภาพธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ

รวมถึงปรับปรุงระบบสาธารณสุข สุขาภิบาล และระบบสาธารณสุขอย่างรัดกุม เพื่อให้ชาวเวิ้งนครเขษมและบุคคลภายนอกที่ได้เข้ามาติดต่อทำธุรกิจ ใช้สอย มีคุณภาพชีวิตที่ดี อัตราตอบแทนรายได้ทางการค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนการลงทุนที่มั่นคงยั่งยืน สมกับการที่ได้สิทธิครอบครองแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาเป็นของตระกูล อีกทั้งยังสามารถรับผลประโยชน์จากการบริการส่วนกลางเพื่อมาเป็นทุนในการพัฒนาและจัดการการบริหารการเงินในด้านต่างๆต่อไปได้ด้วย อีกทั้งผู้อาศัยและผู้ร่วมซื้อทั้งหมด จะได้อิสรภาพจากสัญญาสิทธิการเช่าเดิม มาเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคารของตนเอง ตกทอดทรัพย์สินที่มีแนวโน้มที่มูลค่าจะสูงขึ้นไปอย่างต่อเนื่องส่งผ่านต่อไปยังชั่วลูกหลานได้อย่างยั่งยืนต่อไป

อีกทั้งการได้ครอบครองในปัจจุบัน ยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหลานอาจไม่มีโอกาสหรือศักยภาพในการครอบครองในอนาคตได้ ทั้งนี้มูลค่าในที่ดินและอาคารแต่ละหลังคาเรือนจะได้รับการประเมินมูลค่าตามมาตรฐานสากลและสถาบันการเงินอย่างเป็นธรรมที่สุด

เป็นเพียงโอกาสนี้เท่านั้นที่ชาวเวิ้งนครเขษมจะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ และร่วมกันจัดสร้างพระบรมอนุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้นเกล้าล้นกระหม่อม และพระอนุสาวรีย์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรควรพินิต(ทูลกระหม่อม บริพัตร)ทั้งสองพระองค์ เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นอย่างมิรู้ลืม ที่ ณ ผืนแผ่นดินแห่งนี้เคยเป็นต้นตาน้ำ เป็นรากฐานของตระกูลให้ลูกหลานทั้งหลายได้สร้างทะเลสาบมหึมา มีชีวิตที่ดีงาม มีความสุข มีความมั่นคง มั่งคั่ง ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ และจะต้องจารึกเป็นประวัติศาสตร์ของความสามัคคี ร่วมมือกันเพื่อให้ได้มาของเวิ้งนครเขษมผืนแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ตลอดไป.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ