Komol Young Talk : “เสียงคนรุ่นใหม่” และนวัตกรรมความเป็นธรรมทางสุขภาพ

Komol Young Talk : “เสียงคนรุ่นใหม่” และนวัตกรรมความเป็นธรรมทางสุขภาพ

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า

การขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาพอาจเริ่มต้นจาก “โอกาส” และ “พื้นที่ปลอดภัย” ผลักดันเยาวชนและคนรุ่นใหม่เป็น “นวัตกรด้านสุขภาพ” และเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตนเอง รวมทั้งการทำงานที่ไม่ละเลยเสียงของคนที่เกี่ยวข้อง บางครั้งคนที่อยู่คนละจุดยืนมักมีมุมมองแตกต่างกัน แต่เมื่อได้รับโอกาสและพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก ความหลากหลายเหล่านั้นได้กลายเป็น “พลังสร้างสรรค์” ที่สามารถผลักดันชีวิตและสังคมที่เป็นธรรมทางสุขภาพ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2567 ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิโกมลคีมทอง และ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการ “นักนวัตกรรมสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ” จัดกิจกรรมเพื่อบอกเล่าสะท้อนเกี่ยวกับเรื่องราว บทเรียน และประสบการณ์จากการทำงานเชิงพื้นที่ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ระยะ โดยเครือข่ายคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศร่วมกับขับเคลื่อนประเด็น “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ” ในงานประกอบด้วยกิจกรรม ได้แก่ Komol Young Talk “เสียงเยาวชน” เรื่องเล่า สิ่งที่พบเจอจากการลงพื้นที่จริง,  สานสนทนา “ฟัง ทวน ถาม : พื้นที่ปลอดภัยในใจเยาวชน” โดยผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง, บูธนิทรรศการนำเสนอนวัตกรรมด้านสุขภาพในมิติที่หลากหลายที่ค้นพบจากการทำงาน, Workshop และร่วมเล่นบอร์ดเกมสนุกๆ จากหลายๆ บูธ, ชมหนังสารคดีที่ผลิตเองตั้งแต่ต้นจนจบด้วยฝีมือของน้องๆ เยาวชน และละครเวทีกับดนตรีโดยชาว Komol Young

“นวัตกรรมความเป็นธรรมทางสุขภาพ” เป็นการเน้นการทำงานกับเยาวชนและคนรุ่นใหม่ในประเด็น “ยาสูบ” และ “อุบัติเหตุ” การเรียนรู้ความหลากหลายของชุมชนและการสร้างนวัตกรรมจากพื้นที่ที่ซับซ้อน ผลลัพธ์ช่วยออกแบบแนวทางที่ตอบโจทย์ความหลากหลายและดึงเสียงคนรุ่นใหม่มาใช้ในมาตรการสุขภาพ

ว่าด้วย “นวัตกรรมความเป็นธรรมทางสุขภาพ”

พี่หนุ่ย: พนิดา บุญเทพ มูลนิธิโกมลคีมทอง/หัวหน้าโครงการฯ กล่าวสะท้อนว่า การทำงานเริ่มต้นจากคำถามต่อ “มาตรการทางสุขภาพ” ว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนที่หลากหลาย หรือในบริบททางสังคมที่แตกต่างหรือไม่…? อย่างไร…? จึงได้มองหากิจกรรม/โครงการฯ กระทั่งเกิดการทำงานในโครงการที่ว่าด้วย “นวัตกรรมความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ที่จะนำไปสู่แนวทางที่ตอบโจทย์ความหลากหลาย ซึ่งเน้นกระบวนการทำงานกับ “เยาวชน” และ “คนรุ่นใหม่” หรือที่เรียกว่า “นวัตกร” (Innovator) ที่จะเข้ามาร่วมกันทำงานภายใต้บริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงสู่การทำงานในประเด็น “ยาสูบ” กับ “อุบัติเหตุ” พี่หนุ่ย สะท้อนให้เห็นอีกว่า การทำงานของโครงการฯ ดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 2 ระยะต่อเนื่อง กล่าวคือ ระยะแรก เน้นการทำงานเชิงแนวคิด การเรียนรู้ ทักษะ และความเข้าใจผู้คนในชุมชน/พื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย และระยะสอง เน้นการทำงานเชิง “นวัตกรรม” (Innovation) หลังจากที่ได้ลงไปร่วมเรียนรู้ปฏิบัติการเชิงพื้นที่มาแล้ว การเรียนรู้ในพื้นที่ซึ่งพบความสลับซับซ้อนได้นำไปสู่การหาแนวทางและออกแบบนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชิงประเด็น รวมทั้งการทำงานต่างๆ ทั้งสองระยะไปนำไปสู่การค้นพบเรื่องราวต่างๆ มากมาย “ทั้งทุกข์ ทั้งสุข ทั้งท้อแท้ ทั่งน่าชื่นชมยินดี” และจะเป็นประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการทำงานระยะต่อไป “การทำงานทำให้เห็นภาพนำร่องที่ตอบโจทย์ผู้คนและได้นำเสียงของคนรุ่นใหม่ไปใช้ออกแบบเกี่ยวกับมาตรการทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ”

การสร้างเสริมสุขภาพเป็นการปรับเปลี่ยน “พฤติกรรม” และ “สิ่งแวดล้อม” เน้นพฤติกรรมส่วนบุคคลและการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางสังคมควบคู่กัน และสะท้อนถึงการมุ่งส่งเสริมบทบาทของเยาวชนและภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหาสุขภาพ การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ การมีส่วนร่วมทางสังคม และการพัฒนานวัตกรด้านสุขภาพ

เยาวชนและคนรุ่นใหม่ คือ “นวัตกรด้านสุขภาพ”

ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ ได้กล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ความพยายามและการทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ส่วนหนึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสทำงานทางสังคม “การสร้างเสริมสุขภาพ เป็นกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม” หรือมองเชิงพฤติกรรม 2 แบบ ได้แก่ พฤติกรรมที่อยู่ข้างในตัวบุคคล หรือความรู้ หรือความเชื่อต่างๆ และพฤติกรรมที่อยู่ภายนอก เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า หรือออกกำลังกาย การเข้าใจสิ่งเหล่านั้นยังไม่เพียงพอจึงต้องเน้น “การทำงานเรื่องสุขภาพทางสังคม” หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมทางสังคม “การสร้างกายภาพต่างๆ ของมูลนิธิโกมลคีมทอง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมและสร้าง “นวัตกรด้านสุขภาพ” ซึ่งเป็นคนที่มีความรู้ ความเชื่อเรื่องสุขภาพ และเน้นมิติสิทธิส่วนบุคคลและการเข้าถึงความเป็นธรรม อีกทั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีหน้าที่หนุนเสริม “พลังของเยาวชน” และ “ภาคประชาชน” ให้การทำงานแก้ไขปัญหานั้นได้ ฉะนั้น เหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานที่สามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายคนรุ่นใหม่อื่นๆ ผ่านกิจกรรมที่น่าสนใจ เรียนรู้ต่อ หรือขยายให้กว้างมากขึ้นต่อไปได้

“เสียง” ของผู้หญิงในพื้นที่ชายแดนใต้ จากความเงียบสู่การยอมรับและความเปลี่ยนแปลง จากการขับเคลื่อน “สิทธิ” และ “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ” ในพื้นที่ชายแดนใต้ นวัตกรรมทางสังคมที่นำไปสู่การสร้างพื้นที่สะท้อนความสัมพันธ์กับการจัดปรับทัศนคติและความเท่าเทียม

เสียงของ “ผู้หญิง” กับการขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านสุขภาพ

นัง: อิมตีนัน เกือเจ ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม “Wanita for change: WTC” ได้กล่าวถึงประเด็นการทำให้ “เสียง” ของทุกคนถูกนับโดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ในบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า “สังคมบ้านเราผู้หญิงได้รับการยอมรับยาก มองไม่เห็นผู้หญิง และผู้หญิงมักถูกมองข้าม” เพราะบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ของ “ความขัดแย้ง” และ “เชิงอำนาจ” ของ “รัฐ” ผู้หญิงตกอยู่ภายใต้การ “กดทับ” จากความเป็นชาย (ปิตาธิปไตย) ส่งผลให้ “เสียง” ของผู้หญิงไม่ถูกนับ นำมาสู่การรวมตัวของผู้หญิง ในนาม “สตรีเพื่อการเปลี่ยนแปลง” หรือ Wanita for change โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ “เสียงของผู้หญิง” ได้รับการยอมรับมากกว่าที่ผ่านๆ มา ใช้กระบวนการทำงานผ่านการลงพื้นที่ภาคสนาม (field work) และหยิบยกประเด็น “บุหรี่” ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน “ความเป็นธรรมทางสุขภาพ” พบว่า การสูบบุหรี่ของ “เยาวชนชายเกิดขึ้นต่อหน้าเยาวชนหญิง” บางครั้งกลายเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นในบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ผู้หญิงจะไม่ชอบแต่ก็มีโอกาสได้บอกเล่าความรู้สึกของตัวเองน้อย WTC จึงทำหน้าที่เป็น “กระบวนกร” จัดกระบวนการ “เรื่องเล่า” (narrative) ผ่านเส้นเรื่องใน “กราฟชีวิต” ที่สะท้อนให้เห็นว่า การสูบบุหรี่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนชายมากกว่าเยาวชนหญิง การทำความเข้าใจต้นเหตุของการสูบผ่านกราฟชีวิตทำให้เห็นถึงเหตุผลของการสูบบุหรี่ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวที่ไม่ค่อยดีนัก กล่าวคือ บางคนมีปัญหาครอบครัว บางคนไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว บางคนไม่ผูกพันกับสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ นอกจากนั้น การเรียนรู้เกี่ยวกับกราฟชีวิตยังทำให้ผู้หญิงที่เข้าร่วมกระบวนการได้ได้รับรู้ มองเห็น และเข้าใจผู้ชายมากขึ้น ได้มี “พื้นที่” และ “โอกาส” ในการระบายความอึดอัดของผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ อย่างไรก็ดี การทำงานได้นำไปสู่การใช้ “นวัตกรรม” ที่เรียกว่า “การแบ่งโซน” คือ ป้ายสีขาว ป้ายสีเทา และป้ายสีดำ ออกแบบนวัตกรรมทำให้เกิดการรับรู้และเข้าใจซึ่งกันในชุมชนและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ กระบวนการได้นำไปสู่การพบปะกันระหว่าง “ผู้ชาย” กับ “ผู้หญิง” ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น

คุณค่าและความไว้วางใจกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเยาวชนชายแดนใต้ พลังของความเข้าใจและการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงผ่าน “สายตา” และ “หัวใจ” ของเยาวชนสู่กำไรทางสังคม

การขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาพเริ่มต้นจาก “โอกาส” และ “พื้นที่ปลอดภัย”

สปาย: รุจิรดา วงศ์แก้ว ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม “ต้นกล้าพันธุ์ใหม่” กล่าวถึงประเด็น “คุณค่าและความไว้วางใจ” โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า ปัจจุบันสังคมเรามีพื้นที่สาธารณะมากมาย แต่ทำไมเราถึงไม่รู้สึกปลอดภัยสักที…? จึงนำไปสู่การออกแบบกระบวนการทำงานในพื้นที่ที่มองว่า เด็กและเยาวชนคือ “พลัง” ของการผลักดันให้โลกเปิดกว้าง อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่แสดงออกของเยาวชนและคนรุ่นใหม่ยังหาได้น้อย เนื่องจากบริบทพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสไม่เหมือนคนอื่น ทั้งการศึกษา การยอมรับ การพูดคุย หรือพื้นที่ปลอดภัยต่างจากที่อื่น สปาย เล่าถึงการทำงานที่พบว่า บริบทการทำงานเห็นแต่ละครอบครัวมีความแตกต่างและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางพฤติกรรมของเยาวชน หรือการแสดงออกเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในครอบครัวและความอบอุ่น กล่าวคือ เยาวชนที่ขาดความอบอุ่นในครอบครัว หรือไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวจะนำไปสู่ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ หรือบางคนเป็นพี่คนโตต้องหยุดเรียนเพราะจะต้องส่งน้องเรียนต่อให้จบ “เขาถูกกดดันตั้งแต่ยังเด็กบนความคาดหวังของครอบครัวท่ามกลางแรงกดดันว่าจะต้องทำให้ครอบครัวตัวเองดีพอ” บางครั้งความคาดหวังและแรงกดดันที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่ “ปมในใจ” ที่ไม่สามารถพูดกับใครได้เลย โอกาสของเด็กและเยาวชนลักษณะนี้กลายเป็น “ความเสี่ยง” ที่เขาอาจหันหา “บุหรี่” เพราะเขาต้องการผ่อนคลายตัวเองจากความคาดหวังและแรงกดดันนั้น อีกทั้ง การเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้มองเห็นปัญหาของเด็กและสุขภาพเพิ่มมากขึ้น “เรามองเห็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้ใจมอง เห็นในสิ่งที่เด็กเห็น ได้ยินในสิ่งที่เด็กได้ยิน และใช้ใจในการมองเหมือนกันกับเด็ก” เพราะบางครั้งเขาอาจจะอยากพูดเพียงเขาหาคนรับฟังไม่ได้ เราจึงเป็นเหมือน “โอกาส” และ “พื้นที่ปลอดภัย” ให้กับเด็กคนหนึ่งได้ จากคนที่ตีตรา ด้อยค่าตัวเอง และมองว่าตัวเองไม่ดีพอ หลังจากที่เราได้เห็นและเข้าใจเขา เขาเริ่มปรับพฤติกรรมของตัวเขาเอง อีกทั้งได้สร้างโอกาสและมอบสิ่งดีๆ ให้กับคนต่อๆ ไป แต่กระบวนการที่ผ่านมาได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับ “บุหรี่” และ “ปัญหาด้านสุขภาพ” เข้าไปเสมอ สปาย กล่าวทิ้งท้ายว่า “กลุ่มต้นกล้าพันธุ์ใหม่ได้ร่วมกันออกแบบการทำงานที่นำไปสู่การสร้างคน การทำงานต่อยอด การส่งต่อ การปลุกกระตุ้น และสร้างเกาะคุ้มกันให้กับเยาวชน เหล่านั้นถือเป็น “กำไรทางสังคม” ที่สามารถส่งต่อให้กันได้โดยไม่ต้องลงทุน

เสียงแห่งการเปลี่ยนแปลงจากนักศึกษาที่ร่วมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน และพลังและเครือข่ายของการขับเคลื่อนงานลดอุบัติเหตุ สะท้อนความหวังของการร่วมกันสร้างถนนที่ปลอดภัยกว่าที่ผ่านมา

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจในการขับเคลื่อนความเป็นธรรมทางสุขภาพ

มด: จิราพร เวชกุล ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม “TO THE MOON” กล่าวถึงประเด็น “เสียง” จากนักศึกษาเชื่อมผู้คนร่วมสร้างความปลอดภัยบนท้องถนน ว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่แย่ที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย บริบทพื้นที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นประจำจากหลายสาเหตุ เช่น การย้อนศร หรือโครงสร้างถนนที่ไม่ได้ออกแบบให้เหมาะกับการใช้งาน “การเกิดอุบัติเหตุไม่ใช่เรื่องปกติ” จึงรวมกลุ่มกันทำงานโดยที่ไม่ได้มีเครือข่ายมาก่อน ทั้งเชิญชวนคนที่รู้จักเข้าร่วมกระบวนการและแลกเปลี่ยนมุมมอง วิธีการแก้ไขปัญหา การทำงานช่วงแรกที่เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าของเพื่อนๆ มาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว “วัยรุ่นย้อนศร” เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เรื่องราวนี้เป็นพลังหนึ่งในการสร้างความเปลี่ยนแปลง “สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องราวที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แต่เป็นความตั้งใจในการขับเคลื่อนงานด้านอุบัติเหตุ เราไม่อยากให้เพื่อนที่เหลือต้องสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า” มด สะท้อนอีกว่าการทำงานของกลุ่มได้ใช้ข้อมูลต่างๆ ประกอบและมองว่า เราอาจไม่สามารถขับเคลื่อนเพียงลำพังได้จึงต้องเชื่อมโยงผู้คน เครือข่าย ทั้งในและนอกสถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง “เพราะการทำงานของเรามองถึงความหวังและความเปลี่ยนแปลงจึงทำงานก้าวต่อไป” กระทั่ง ขับเคลื่อนสมาชิกและเครือข่ายทำงานด้านอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ “เจอกับผู้ใหญ่ใจดีเขาเชิญให้เข้าไปร่วมทำงานเชิงนโยบายและเชื่อมเครือข่ายรวมทั้งยกระดับการทำงาน รวบรวมเสียงของนักศึกษาร่วมออกแบบเสนอวิธีการลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนนและยื่นข้อเสนอถึงมหาวิทยาลัย” อย่างไรก็ตาม การทำงานตามโครงการฯ แม้จะจบไปแล้ว แต่กลุ่มยังคงทำงานต่อเพราะเชื่อใน “พลัง” “ความหวัง” และ “เครือข่าย” ที่ตั้งใจทำงานเพื่อไม่ให้เสียเพื่อนๆ เพิ่มจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

การค้นพบและเติบโตจากบทเรียนระหว่างการทำงานที่เชื่อมโยงถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ความท้าทายกลายเป็นโอกาส จากอุปสรรคกลายเป็นความสำเร็จผ่านนวัตกรรมเล็กๆ ที่สร้างผลลัพธ์ยิ่งใหญ่

“คนที่อยู่คนละจุดยืนมักมีมุมมองแตกต่างกัน”

แสตมป์: ชัชวาล โยชุ่ม ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม “Area Citizenship 57th กล่าวถึงประเด็น “ข้อค้นพบที่ทำให้ผมเติบโต” ว่า บางคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการสูบบุหรี่เสมอมาแต่ไม่เคยได้ทำงานจริงจัง กระทั่งครูที่ปรึกษายื่นโอกาสและโครงการฯ ให้ได้ทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย “เราได้ทำงานกับคนที่สูบบุหรี่ คนไม่สูบ และคนที่เลิกสูบร่วมกัน” ซึ่ง แสตมป์ ได้กล่าวถึงการพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายคนหนึ่งทำให้เห็นว่า “พื้นที่ของการสูบบุหรี่หลังห้องน้ำเป็นพื้นที่ยอมรับเล็กๆ ของเขา และการสูบบุหรี่ทำให้พวกเขาเกิดการยอมรับในกลุ่มเพื่อน” แสตมป์ สะท้อนต่อว่า “เราอาจทำให้กลุ่มเป้าหมายเลิก 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ แต่การทำงานผ่านสารคดีทำให้เรามองเห็นแนวทางสร้างความเปลี่ยนแปลง” รวมทั้งมีข้อค้นพบบางอย่าง “การสูบบุหรี่ถูกเปรียบเทียบกับ “มีด” มีทั้งด้านคมและด้านไม่คม การทำกิจกรรมร่วมกันหลังเลิกเรียนต่อเนื่องได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มเป้าหมาย เหมือนการทำงานของเรากำลังจะผ่านไปด้วยดีแต่พบกับปัญหา คือ ครูที่ปรึกษาย้ายโรงเรียนและการย้ายของครูทำให้พวกเราเคว้ง หมดกำลังใจ เริ่มเกิดการใช้อำนาจบังคับกันในกลุ่ม รุนแรงมากขึ้น ใช้คนที่ไม่เคยทำงานบางอย่างต้องรับผิดชอบงาน กลายเป็นปัญหาที่ไม่พวกเราอยากทำงานด้วยกัน หลังจากนั้น มีการล้อมวงพูดคุยถึงปัญหา หมดกำลังใจ และไม่อยากไปต่อ แต่สุดท้ายเราทำมันออกมาได้สำเร็จ และเป็นนวัตกรรมที่นำไปใช้เปลี่ยนมุมมองของคนในโรงเรียน (ได้ไม่มากก็น้อย) ถึงแม้จะน้อยแต่เราก็ผ่านมาได้และต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้มาถึงวันนี้”

โอกาสสร้างชีวิตใหม่และพลังใจจากพื้นที่ปลอดภัย บางครั้งความสุขและการชื่นชมก็เป็นกุญแจสู่การเปลี่ยนแปลงของเด็กและเยาวชน เป็นการเปลี่ยนแปลงด้วยหัวใจที่เปิดสู่สร้างคุณค่าและเป้าหมายเพื่อชีวิตที่ดีกว่า

“โอกาส” เป็นพลังสำคัญที่อาจทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งดีขึ้นได้

เกด: ชมพูนุช แสงสว่าง ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่จากกลุ่ม“Dumbledore” กล่าวถึงประเด็น “โอกาสเป็นพลังงานผลักดันให้คนๆ หนึ่งมีชีวิตที่ดีขึ้นได้” ว่า “เราจะสร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตัวเอง และไม่ทำให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกไม่ปลอดภัย แปลกแยก หรือโดนตัดสิน หลักการสร้างพื้นที่ปลอดภัยของเราเน้นความสนุกสนาน” เมื่อเด็กได้เหนื่อยกับสิ่งที่ชอบ สิ่งที่มีความสุข สิ่งที่สนิทใจ การทำงานที่เป็นทางการจะทำให้เขาเปิดใจ การทำงานผ่านการตั้งคำถามในตัวเอง การทำงานเขาตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้รู้ว่าเก่ง ชอบ ถนัด หรือสามารถพัฒนาอะไรได้ “เด็กรู้และเห็นเป้าหมายของตัวเองจะทำให้เขารักชีวิตตัวเขามากขึ้น ถ้าเขารักชีวิตได้เขาเลิกแน่นอน” เกด สะท้อนต่อว่า วันหนึ่งมีเด็กมาพูดด้วยและหลังจากนั้นมีความเปลี่ยนแปลง จากคนผมปกตา หน้าดำ ปากแห้ง แต่งตัวโทนมืด หลังจากอยากเปลี่ยนแปลงมีความเปลี่ยนแปลงตัวเองและการแต่งกายจนตกใจ รวมทั้งมีความเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ การลองลูกอมไม่ได้ผล จึงลดจำนวนสูบลง น้องคนนั้นคอยส่งข้อความมาบอกตลอดว่าแต่ละวันสูบเท่าไหร่ จาก 5 มวลลดลงเหลือครึ่งมวล “การชื่นชมทำให้เด็กเห็นว่าเขาเจ๋ง เท่ห์ หล่อ เพราะเด็กชอบการชื่นชม” ครั้งหนึ่งพบกรณีน้องคนหนึ่งอยากสูบบุหรี่และอยากสูบหนักมากเพราะหักดิบจึงกลับไปสูบ แต่หลังจากนั้นน้องร้องไห้มาโทษในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ซึ่งเกดและเพื่อนๆ ได้กล่าวปลอบโยนให้กำลังใจ กระทั่งห่างหายกันไปและทราบภายหลังว่าน้องเลิกบุหรี่ได้แล้ว “เด็กบางคนเขาไม่พูดมากแค่สายตาก็รับรู้ได้” และบางแววตาบ่งบอกถึงความน่าสงสาร การทำงานจึงเน้นการชวนมองถึงคุณค่าตัวเอง ประโยชน์ และโอกาสของการมีชีวิตที่ดีได้ กระทั่งเขาเกิดการยอมรับกันและ ต้องเปิดใจ “น้องมีความสุข อยากเปลี่ยนแปลง และอยากให้ตัวเองมีชีวิตที่ดีขึ้น” และเกด กล่าวทิ้งท้ายว่า “โอกาสทำให้เราเติบโต พัฒนา และเห็นว่าชีวิตน่าภาคภูมิในมากแค่ไหน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ