“ครูเอ๊ด” ดนตรีสร้างสุข ป้องกันอัลไซเมอร์เพื่อผู้สูงอายุ
“ หลังจากเกษียณราชการในปี 2551 ผมก็เริ่มประสบปัญหาเรื่องความจำเสื่อม จึงได้พยายามศึกษาว่าต้นเหตุของโรคความจำเสื่อมคืออะไร จะป้องกันหรือแก้ไขอย่างไร ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังนานกว่า2เดือน จึงพบ ความเครียด เหงา เศร้า ซึม เป็นส่วนหนึ่งหรือตัวเร่งให้เป็นโรคความจำเสื่อม และพบว่าดนตรีสามารถจะบำบัด รักษาและป้องกันการเป็นโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุได้ จึงคิดต่อไปว่าแล้วเครื่องดนตรีอะไรที่ผู้สูงวัยจะสามารถเรียนรู้และปฏิบัติได้จริงเป็นหมู่คณะ ในที่สุดคำตอบมันคือ “ อังกะลุง “ เครื่องดนตรีที่เล่นง่าย มีความไพเราะ เล่นกันเป็นหมู่คณะและเหมาะสมกับผู้สูงอายุ “
ครูเอ๊ด อังกะลุง หรือนายพัฒนา สุขเกษม วัย 76 ปี อดีตข้าราชการครู เปิดใจถึงที่ไปที่มาของการเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุ จ.พะเยา ซึ่งมีกิจกรรมมากมายที่เน้นส่งเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต ของผู้สูงอายุ แต่ที่สร้างชื่อเสียงให้ครูเอ๊ดคือ “ อังกะลุง “ เนื่องจากอังกะลุงของครูเอ๊ด มีองค์ประกอบการมีส่วนร่วมของนักดนตรี วาทยากร นักแสดงร่วม และที่สะดุดตา สะดุดใจ กระตุ้นความรู้สึกคือ ท่าทางประกอบการส่งสัญญาณบอกตัวโน้ตและคอร์ดในเพลงของครูเอ๊ด ซึ่งไม่มีอยู่ในสารบบสากล แต่สามารถทำให้นักดนตรีเกือบ20-30ชีวิต เขย่าอังกะลุงได้อย่างเสนาะเพราะพริ้ง
แต่กว่าที่จะได้ออกมาแบบนี้ ครูเอ๊ดต้องประดิษฐ์ คิดค้น ดัดแปลง เครื่องดนตรี เพื่อใช้ในการประกอบเป็นวงอังกะลุงที่ไม่ใช่แค่นั่งเขย่าอังกะลุง ตลอดจนต้องคิดประดิษฐ์ท่าทางเพื่อบอกตัวโน้ตและคอร์ด เพื่อให้เสียงดนตรีที่ไพเราะยิ่งขึ้น เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น โดยการใช้สัญญามือ และสีบอกตัวโน้ต -คอร์ด เพราะผู้สูงอายุมีความจำที่สั้นลงให้จำโน้ตทั้งหมดไม่ได้ จึงต้องใช้สีประจำ 7 วัน มาแทนค่าตัวโน้ต เช่น สีแดง แทนเสียงโด, สีเหลือง แทนเสียง เร, สีฟ้า แทนเสียง มี, และ สีชมพู แทนเสียง ฟา, เป็นต้น
ส่วนเครื่องดนตรีที่ประดิษฐ์และดัดแปลง ส่วนใหญ่เป็นการนำเศษวัสดุที่หาได้ในพื้นถิ่นนำมารีไซเคิลใช้ เช่น “ อังกะลุงสุขเกษม “ ก็อาศัยไม้เก่าที่มีอยู่ในบ้านมาทำเป็นโครง ซึ่งมีลักษณะคล้ายเปียโน ข้างในแขวนอังกะลุงไว้ 3-7ตัว ใช้เป็นคอร์ดและเมโลดี้ได้ ทำให้ใช้คนน้อยแต่ใช้พื้นที่มาก ใช้ร่วมบรรเลงอยู่กับที่ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้ายหรือขนย้าย ซึ่งครูเอ๊ดจะใช้การเขย่าเป็นกลุ่มคอร์ดจากนักดนตรีโดยตรง นั่นก็เท่ากับว่า ผู้สุงอายุทั้งวงจะได้ฝึกประสาท กล้ามเนื้อ การทำงานเป็นกลุ่ม การเข้าสังคม ทำให้มีสุขภาพกาย จิตดีและมีความจำดีขึ้น
นอกจากการสอนให้กับโรงเรียนผู้สูงอายุแล้ว ครูเอ๊ดยังเป็นวิทยากรสอน เให้ผู้สูงอายุ นักเรียน นักศึกษา เป็นวาทยากรหรือผู้อำนวยเพลง เพื่อเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้เป็นวิทยาทานกับสังคม และเดินสายไปสอนทั่วประเทศ จนมีองค์กรต่างๆ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา เข้ามาทำวิจัย และส่งเสริมสนับสนุนงานของครูเอ๊ด เพื่อขยายต่อยอดองค์ความรู้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
แม่ครูไพลิน ประทุมชัย ศิษย์เอกผู้รับการถ่ายทอดการเป็นวาทยากร จากครูเอ๊ด จนมีฝีมือและความสามารถทัดเทียมครูเอ๊ด เป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการพัฒนาวงอังกะลุง และเพิ่มเติมสีสันให้กับวงด้วยการออกแบบท่าฟ้อนรำ ที่ทันสมัย อ่อนช้อย สวยงาม ที่เข้าจังหวะกับดนตรีที่ครูเอ๊ดแต่งขึ้นหรือเลือกที่จะนำมาบรรเลงตามเวลาหรือโอกาส แม่ครูฯได้กล่าวถึงครูเอ๊ดว่า ท่านเป็นผู้เสียสละ สอนกลุ่มผู้สูงวัย หรือแม้กระทั่งยุชวชน เยาวชน ที่สนใจทางดนตรี ด้วยความสนุกสนานไม่เครียด ทำให้เกิดการเรียนรู้เร็วขึ้น
นายถนอม นาแพร่ อดีตข้าราชการครูเกษียณ ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งที่มีฝีไม้ลายมือจัดจ้าน ที่คอยติดตามครูเอ๊ดไปสอนในที่ต่างๆ ตามคำร้องขอของหน่วยงาน องค์กรหรือสถานศึกษา ได้พูดถึงครูเอ๊ดไว้อย่างน่าฟังว่า ครูเอ๊ดไม่เคยปฏิเสธการสอนลูกศิษย์ ถ้ามีเวลาครูเอ๊ดไปหมด ครูเอ๊ดมีลีลาการสอนที่ไม่เหมือนใคร ไม่เครียด สนุกสนาน แต่ได้ความรู้และแนวทางในการบริหารกาย จิตและเล่นอังกะลุงได้อย่างดี
ครูเอ๊ด บอกว่าแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงานเพื่อผู้สูงวัย ตลอดจนยุวชน เยาวชน ก็คือ เหรียญพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงร.9 ที่ครูเอ๊ด ห้อยคอไว้ตลอดเวลานั่นเอง