กทม./(วันนี้) เครือข่ายที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมการปฏิบัติการจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง นำโดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยในงานมีการแสดงนิทรรศการ “การขับเคลื่อนแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองกรุงเทพมหานคร การขับเคลื่อนงานที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย และนโยบายหน่วยงานเพื่อการแก้ไปัญหาที่อยู่อาศัย” ภายใต้แนวทางของสหประชาชาติ วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ศาลเจ้าปึงเถ่ากง แยกประเวศ เฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 81 แขวงประเวศ
กว่า 20 ปีที่ผ่านมากับปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ประเวศชุมชนชานเมือง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงเทพฯ มี 54 ชุมชน การพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคงเมืองแล้ว จำนวน 2 ชุมชน 295 ครัวเรือน ชุมชนที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม จำนวน 3 ชุมชน 277 ครัวเรือน และชุมชนที่มีแผนการพัฒนา จำนวน 5 ชุมชน 662 ครัวเรือน และชุมชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย จำนวน 13 ชุมชน โดยเป็นผู้บุกรุก และผู้เช่าอยู่ในที่ดินรัฐ และเอกชน รวมถึงความซับซ้อนของที่ดิน ทำให้การพัฒนาในพื้นที่ชุมชนเป็นไปอย่างไม่ครอบคลุม ซึ่งเครือข่ายที่อยู่อาศัยเขตประเวศ ได้มีการเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคงในที่ดินในการอยู่อาศัย พร้อมทั้งเกิดแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองในรูปแบบ ภาคประชาชน และหน่วยงานท้องถิ่น และเกิดการขยายผลการทำแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเมืองในพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานครที่เพิ่มมากขึ้น จึงจะจัดงานเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกในปี 2567 โดยมีแนวคิดหลัก “คน กรุงเทพมหานคร ทำทั้งเมือง” เพื่อแสดงเชิงสัญลักษณ์ในการจัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยอย่างเป็นรูปธรรมขยายผลการพัฒนาทั้งเมืองในพื้นที่หลากหลายเขตในกรุงเทพมหานคร และร่วมผลักดันการขอใช้ที่ดินกรุงเทพมหานครในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง
นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า บทบาทของ พอช. ทำอย่างไรให้พี่น้องสามารถทำได้จริงตามที่ประกาศเจตนารมณ์ การวางแผนการแก้ไขปัยหาที่อยู่อาศัยร่วมกับสำนักงานเขต พื้นที่รูปะรรมที่ 13 เขต พอช.จะสนับสนุนงบประมาณในการขับเคลื่อนกระบวนการ ปรึกษาหารือวางแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 50,000 บาท โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ได้แก่ โครงการบ้านมั่นคงเมือง ทั้งในที่ดินเดิม และการพัฒนาในที่ดินใหม่ รวมทั้งการพัฒนาในแนวสูง การแก้ปัญหาชุมชนริมคลองลาดพร้าว และชุมชนริมคลองเปรมประชากร โครงการบ้านพอเพียง สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านที่ทรุดโทรมซึ่งมีการเปิดพื้นที่นเขตเมืองด้วย โครงการบ้านเช่าราคาถูก กรณีชุมชนที่ยังไม่มีกำลังในการออมทรัพย์เข้าสู่กระบวนการบ้านมั่นคงได้ ได้เช่าบ้านในราคาถูกในการตั้งต้นพัฒนาชีวิต พัฒนาอาชีพรายได้ก่อน ที่จะสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยต่อไป และมีโครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราวกรณี ไฟไหม้ ไล่รื้อ พอช.ยังมีกองทุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้แก่ สินเชื่อเพื่อปรับปรุงที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อชุมชนที่ประสบภัยพิบัติ ที่สำคัญที่สุด พอช.มีเพียงเครื่องมือที่จะหนุนเสริมต้องอาศัย กรุงเทพมหานครเป็นกำลังในการร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร
นายกฤตภาส โพธิ์นิ่มแดง ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตประเวศ กล่าวถึง สภาองค์กรชุมชนเองเราก็ทําหน้าที่เชื่อมโยงพี่น้องเรา มาพูดคุยกัน มาพูดถึงปัญหาและแนวทางการพัฒนา ซึ่งเวทีการประชุมที่ผ่านมาหลายๆ ครั้ง หลายๆท่านก็ได้มีโอกาสได้เข้าร่วม แต่วันนี้ก็เป็นการเชื่อมโยงของพี่น้องทั้งสิบสามเขตด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะเขตประเวศแล้ว ซึ่งวันที่อยู่อาศัยโลกนี้เขาจัดทุกปี ปีนี้จัดที่แรกใน กทม.ที่จัดก็คือเขตจตุจักรเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 67 เพราะว่าเขตประเวศเราเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของที่อยู่อาศัย ตอนนี้ก็เป็นกระบวนการของนักคิดจะมาช่วยกันคิดมาวางแนวทางร่วมกัน ภายใต้ธีม “คน กรุงเทพมหานคร ทำทั้งเมือง”
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ดีใจที่เรายังพูดคุยกันเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีคนให้ความสำคัญน้อย และต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการร่วมกันแก้ปัญหาให้สำเร็จ เริ่มจากการมีแหล่งเงินทุนในการเข้าถึงที่ดิน และสร้างบ้าน จาก สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และการเคหะแห่งชาติ ซึ่งต้องเริ่มจากการเก็บออมเงินร่วมกันก่อน บ้านและที่ดินภาคเอกชนเป็นสินค้าที่ซื้อขายกัน แต่ในภาคชุมชน เป็นเรื่องที่ยากมาก เนื่องจากหลายชุมชนอยู่อาศัยในที่ดินที่ถูกประกาศเป็นของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งการเจรจากับหน่วยงานภาครัฐเจ้าของที่ดินเป็นเรื่องแรกที่กรุงเทพมหานครจะดำเนินการในการสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย โดยกรุงเทพมหานครมีสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนผู้มีรายได้น้อย สำนักการคลังได้แจ้งว่ากรรมสิทธิ์ที่ดินกรุงเทพมหานครที่สำนักสิ่งแวดล้อมถือครอง ข่าวดีก็คือ สามารถให้ชุมชนเฟื่องฟ้าเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ แต่อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมต้องทำหนังสือแจ้งว่าไม่ได้ใช้ประโยชน์ที่ดินแล้ว จึงจะสามารถดำเนินการให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ ซึ่งหลายๆชุมชนก็ยังมีปัญหาเรื่องที่ดินในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เราต้องช่วยกัน เราจะเดินหน้าเพื่อสนับสนุนให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่ต่อไป
นอกจากนี้ยังมีเวลาเวทีเสวนาในหัวข้อ “นโยบายการสนับสนุนและการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของหน่วยงาน” ร่วมกันกล่าวถึงแนวทางการสนับสนุนเครือข่ายองค์กรชุมชน
นอกจากนี้เครือข่ายที่อยู่อาศัยกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยเครือข่ายกรุงเทพมหานคร ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงกรุงเทพมหานคร อีกทั้งมีการยื่นข้อเสนอการพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายที่อยู่อาศัยเขตประเวศเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567 (World Habitat Day 2024) กรุงเทพมหานคร “คน กรุงเทพมหานคร ทำทั้งเมือง” ดังนี้ ให้กรมธนารักษ์ทำสัญญาเช่าใหม่ให้แก่ชุมชนหลัง สน.ประเวศ ภายในเดือนธันวาคม ปี 2567 ให้สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร พิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินในการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายในเดือนธันวาคม ปี 2567 ให้กรุงเทพมหานครอนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยบริเวณชุมชน อ่อนนุช 86 โดยคงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครสีเหลืองไว้ หากยังไม่สามารถเปลี่ยนผังสีในการพัฒนาได้ กรุงเทพมหานครต้องอนุญาตให้ชุมชนสามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ ขอให้แก้ไขวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินของชุมชนมหาดไทย 1-5 เพื่อให้สามารถพัฒนาที่อยู่อาศัยและให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และขอให้หน่วยงานปรับลดการจัดเก็บภาษีที่ดินสำหรับชุมชนผู้มีรายได้น้อย และเรียกเก็บภาษีเป็นรายแปลงเฉพาะพื้นที่อยู่อาศัย
สำหรับ การประกาศเจตนารมณ์ “คน กรุงเทพมหานคร ทำทั้งเมือง ” มีเนื้อหา ดังนี้ ร่วมกันรวบรวมฐานข้อมูลชุมชนแออัด ผ่านกระบวนการสำรวจข้อมูลชุมชนอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำฐานข้อมูลที่ได้ บูรณาการวางแผนการทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขต ร่วมกันเป็นเครือข่ายเชื่อมร้อยชุมชนแออัด เพื่อเป็นเครือข่าย ทีมทำงานในการขับเคลื่อนงาน สนับสนุนงานการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยร่วมกับกรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขต เชื่อมโยงการทำงานในส่วนของภาคประชาชน ผ่านกลไกคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาระดับเขต เพื่อวางแผนการทำงานอย่างมีส่วนร่วม ผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยในรูปแบบที่หลากหลาย ในที่ดินรัฐ และที่ดินกรุงเทพมหานคร เพื่อให้คนจนได้พัฒนาที่อยู่อาศัยในเมือง ร่วมกันรักษาที่อยู่อาศัยที่เราร่วมกันสร้างเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืน ส่งต่อคนรุ่นใหม่สู่การพัฒนาเมืองสืบไป