แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ด้วยเสียงนุ่มละมุนและมีจังหวะจะโคน จริตจะก้านลื่นไหลในทำนองการพูดโดยเฉพาะเวลาออกเสียง S (เอส) ผู้กำกับภาพยนตร์ David Thorpe ดูเหมือนเกย์ในทุกขณะจิตที่เริ่มอ้าปากพูด
เขาเป็นชายหนุ่มอายุประมาณ 40 ต้นๆ เพิ่งเลิกกับแฟนไปแบบไม่ดีงาม และติดจะขมขื่นกับความที่ตัวเองมี “เสียงแต๋วแตก”
ก็ใช่ เขาเป็นมนุษย์เกย์ที่มีลักษณะการพูดอ้อนแอ้น จีบปากจีบคอ แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ปัญหาใหญ่
…หรือเปล่า?
หลังจากที่ Thorpe เลิกรากับแฟนหนุ่มของเขาไปได้ไม่นาน เขาก็เริ่มคิดหนักเรื่องวิธีการพูดจาของตัวเอง และวิธีการพูดจาของเพื่อนเกย์คนอื่นๆ ไม่รู้ทำไมเรื่องนี้ก่อกวนจิตใจเขาเสียเหลือเกิน อาจเป็นเพราะเวลาเขาพูด ผู้กำกับ Thorpe รู้สึก “แปร่งๆ” กับเสียงของตัวเอง
ตอนที่เขานั่งรถไฟไปเกาะไฟร์ (Fire Island) กลุ่มผู้ชายขี้เม้าข้างๆ ออกปากไล่ให้เขาไปที่อื่น และน้ำเสียงของพวกนั้นไม่ต่างอะไรกับ “พวกสติไม่เต็มเต็งที่มีเสียงแหบแห้ง” เลย
นักเคลื่อนไหวกลุ่มรักร่วมเพศจึงถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้ไว้ในภาพยนตร์สารคดี Do I Sound Gay? ซึ่งเปิดตัวในสัปดาห์นี้ที่สถาบัน IFC (IFC Center) ถึงแม้ประเด็นที่เขาหยิบยกมาเล่าจะดูเบาบาง แต่ Thorpe ก็ขุดค้นมันอย่างลึกซึ้ง ตั้งคำถามเรื่องการเหมารวม (stereotype) และการรังเกียจตัวเอง ที่ไม่ค่อยมีใครชูว่าเป็นปัญหาใหญ่
เขาเป็นตัวนำแสดง นั่งโต๊ะปรึกษากับนักอรรถบำบัด (Speech Therapist) ที่ชี้แจงเรื่อง “หางเสียงสูง” (upspeak), “เสียงขึ้นจมูก” (nasality) และ “ระดับเสียงขึ้นลง” (singsong pattern) ลึกไปกว่านั้น Thorpe แลกเปลี่ยนกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาศาสตร์, นักประวัติศาสตร์ด้านภาพยนตร์, และครูสอนร้องเพลงระดับฮอลลีวูดที่ช่วยนักแสดงให้ออกเสียงชัดเจนขึ้น
เซเลบเพศที่สามอย่าง David Sedaris, Tim Gunn, Don Lemon และ George Takei ก็ถูกสัมภาษณ์อย่างเข้มข้นว่า พวกเขาปลดปล่อยตัวเองอย่างไรจากความกลัวที่ตัวเองมีลักษณะการพูดเหมือนเกย์ แม้กระทั่งผู้คนที่เดินไปมาบนท้องถนน ก็ถูกถามว่า “Do I Sound Gay?” (คุณคิดว่าผมพูดเหมือนเกย์หรือเปล่า) ประโยคคำถามประโยคเดียวกับชื่อภาพยนตร์
และแล้วประเด็นนี้ก็รอคอยการตูมตามเหมือนอยู่ในเขตทุ่นระเบิด เพราะมันคือการตั้งคำถามว่าลักษณะการพูดจาบ่งชี้บุคลิกเราได้มากขนาดนั้นเลยหรือ โปรดิวเซอร์ Thorpe เพิ่มเติมว่า เกย์รุ่นเยาว์มักจะคิดว่าสุ้มเสียงของพวกเขาเปิดเปลือยเพศได้มากกว่าลักษณะภายนอกเสียอีก
ปรากฏการณ์การเกลียดตุ๊ดเกย์ (homophobia) ของโลกก็เริ่มกลายเป็นโฮโมโฟเบียภายใน (Internalized homophibia) เข้าไปทุกที แม้แต่สังคมการเดทในหมู่เกย์ (หรือในหนังโป๊เกย์) ก็ยังยกย่องความเป็นชายที่ดูรุนแรงดิบเถื่อน (Hyper masculinity) เหล่าเพศที่สามจึงกักเก็บความเป็นตัวเองเอาไว้และแสดงด้านที่ไม่ใช่ตัวตนออกมา การรังเกียจตัวเองจึงเป็นประเด็นที่โดนกดทับไว้อย่างไม่ต้องสงสัย
แน่นอนว่าไม่ใช่ประชากรชาวเกย์ทุกคนมีเสียงเหมือนกันหรือมีเสียงแบบ “เกย์” ที่เหมือนกัน สุดท้ายแล้วเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผู้คนเหมารวมกันไปเอง ผู้กำกับ Thorpe พูดคุยกับเพื่อนชายที่มีลักษณะการพูดเหมือน “เกย์” และเพื่อนเกย์ที่มีลักษณะการพูดเหมือน “ผู้ชาย” แล้วพบว่ามันก็มีประเด็นที่ชักจูงให้เหมารวมโดยที่เราเองไม่รู้ตัวเลย
สรุปแล้ว คนเลือกที่จะพูดจาคล้ายเกย์ หรือว่าลักษณะการพูดทำให้เขาเหมือนเกย์ไปเอง
“ผมรู้สึกอายมากเวลาบางคนพูดกับผมว่า “ฉันไม่รู้เลยนะเนี่ยว่าคุณเป็นเกย์” แล้วผมกลับรู้สึกดี ผมเกลียดตัวเองมากที่คิดแบบนั้น” David Sedaris นักเขียนชาวอเมริกันยอมรับในภาพยนตร์
“มันน่ารำคาญเพราะผมคิดว่าผมไปไกลกว่านั้นแล้ว มันจะมีปัญหาอะไร ถ้ามีคนคิดว่าผมเป็นเกย์ในวินาทีที่ผมอ้าปากจะพูด ผมจะมีปัญหาอะไรกับมันนักหนา” เขากล่าว
สำเนียงของภาพยนตร์ Do I Sound Gay? ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการแยก “เสียงแบบเกย์” ออกจากความอับอายและแทนที่มันด้วยความภาคภูมิใจแทน แต่คำถามคือความอับอายมาจากไหนตั้งแต่แรกล่ะ ทำไมชาวเกย์ถึงลดคุณค่าเพื่อนทันที เมื่อพวกเขาบางคนมีวิธีการสื่อสารที่อรชรอ้อนแอ้น
“พวกเขาต้องการที่จะพิสูจน์สังคมว่าพวกเขาไม่ใช่ ไม่ใช่ ผู้ชาย และพวกเขาเป็นคนดีได้ในขณะที่ไม่ได้เป็นผู้หญิง พวกเขาไม่เหมือนผู้หญิง ไม่ต้องการผู้หญิง ไม่ต้องการนอนกับผู้หญิง ไม่ต้องการมีท่าทางที่เหมือนผู้หญิง และจะลงโทษเกย์ทุกคนที่มีจริตจะก้านเหมือนผู้หญิง” Dan Savage นักเคลื่อนไหวกลุ่มรักร่วมเพศตั้งข้อสังเกต
เราอาจไม่คุ้นชิ้นกับความป่าเถื่อนโหดร้ายในภาพยนตร์สารคดีประเภทนี้ และทำให้ Do I Sound Gay? ดูเป็นหนังคนละม้วน แต่สำหรับชาวเกย์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นตัวของตัวเอง ต้องปะทะกับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างโหดร้ายจากพวกเดียวกัน พวกเขาก็เหมือนถูกโบยตีและทิ่มแทงอยู่ตลอดเวลา
Thorpe บอกว่า วิธีการพูดของเด็กผู้ชายคนหนึ่งอาจจะบอกเพศของเขาได้ก่อนที่เขาจะกล้าออกมายอมรับว่าตัวเองเป็นเกย์เสียอีก
“ผมคิดว่ามีโรงเรียนหลายแห่งที่เปิดรับและทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงตัวตนของพวกเขาออกมา แต่นั่นก็อาจจะไม่เพียงพอ ผมรู้สึกว่ามันเป็นภาระอันหนักหน่วงของเด็กๆ ที่จะต้องแบกรับเอาไว้” ผู้กำกับเองก็เคยเป็นเด็กในภาวะแบบนั้น
Do I Sound Gay? คือภาพยนตร์สารคดีที่พยายามจะสื่อสารว่า Thorpe จัดการกับความยุ่งยากในการแสดงตัวตนของเขาอย่างไร เขาซึมซับความสำคัญยิ่งของการมีส่วนร่วมใน “พลังเสียงเกย์”
“พูดจาเหมือนเกย์แล้วมันผิดตรงไหนหรอ” เขาถาม และหากคุณยอมรับคำตอบไม่ได้ เขาก็จะถามต่อว่า
“งั้นมันเป็นคำถามที่คุณต้องถามกับตัวเองแล้วมั้ง”
ตัวอย่างภาพยนตร์ Do I Sound Gay?: http://youtu.be/R21Fd8-Apf0
ที่มา:
- http://www.newyorker.com/culture/culture-desk/is-there-a-gay-voice?intcid=mod-latest
- http://www.huffingtonpost.com/entry/do-i-sound-gay-david-thorpe_559acad2e4b05d7587e21951?utm_hp_ref=gay-voices
ภาพ :
- http://www.newyorker.com/culture/culture-desk/is-there-a-gay-voice?intcid=mod-latest
- http://www.npr.org/2015/07/09/420909126/a-documentarian-wonders-do-i-sound-gay