“ผักแปลงรวม”: ว่าด้วย “สิทธิ” และการใช้ประโยชน์ “ที่ดิน” ของครัวเรือนยากจน จังหวัดบุรีรัมย์

“ผักแปลงรวม”: ว่าด้วย “สิทธิ” และการใช้ประโยชน์ “ที่ดิน” ของครัวเรือนยากจน จังหวัดบุรีรัมย์

เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า, ธีรนันทร์ ขันตี, สันติ ศรีมันตะ

บทนี้กล่าวถึง “สิทธิชุมชน” ของครัวเรือนยากจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน “ที่ดิน” รกร้างว่างเปล่าของชุมชน การเข้าถึงสิทธิที่ดินเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในสถานการณ์วิกฤติและความเปราะบาง รวมทั้ง “สิทธิคนจน” โดยการเปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์ หรือ “สิทธิเชิงซ้อน” ที่สะท้อนผ่านการจับสลากแบ่งแปลงปลูก กำหนดขอบเขตแปลงรวม และการดูแลร่วมกัน หรือการเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ “โอกาส” ของครัวเรือนยากจนและผู้ผลิตผักรายย่อย ตลอดทั้งการเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ผู้เขียนใช้ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนาม บ้านนาเกียรตินิยม ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และใช้ข้อมูลจาก “โมเดลแก้จน” และนวัตกรรมยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางสังคมแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ภายใต้การสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

สิทธิชุมชน : ครัวเรือนยากจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใน “ที่ดิน” รกร้างว่างเปล่าของชุมชน

คุณเอกปริญญ์ รักษา (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านนาเกียรตินิยม กล่าวสะท้อน “สิทธิชุมชน” (community right) ว่า จุดเริ่มต้นการปรับพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสู่การเปิดเป็น “พื้นที่โอกาส” ของครัวเรือนยากจนบ้านนาเกียรตินิยม จากการเข้าร่วมในกระบวนการของโครงการวิจัยเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนฯ ร่วมกับทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ทำให้มองเห็น “โอกาส” ในการทำงานเชิงพื้นที่ด้วยพลังหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีด้านวิชาการ และทำการ “ประชาคม” ครัวเรือนยากจน พบว่า แต่เดิมครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่เคยอยู่แต่บ้าน (ต่างคนต่างอยู่/ต่างเก็บตัว) จึงดำเนินการประสานขอความรู้และความช่วยเหลือจากทีมวิจัยฯ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเชิงพื้นที่ และนำความรู้ต่างๆ เข้ามาถ่ายทอดให้กับครัวเรือนยากจนอย่างเหมาะสม กล่าวคือ กระบวนการทำงานของทีมนักวิจัยฯ ลงมาพื้นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องแตกต่างจากหลายๆ หน่วยงานก่อนหน้าที่เข้ามาระยะสั้น โดยทีมวิจัยฯ เข้าร่วมกระบวนการตั้งแต่การวางแผน หารือ ประชาคม และออกแบบต่างๆ พร้อมกับร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนเป็นระยะ ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงรูปธรรมที่ครัวเรือนยากจนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) เข้าถึงกระบวนการอย่างตรงเป้าและแม่นยำผ่านฐานข้อมูล TPMAP จากการลงสำรวจเชิงพื้นที่ เพื่อทลายข้อจำกัดเดิมเกี่ยวกับที่ดินและการใช้ประโยชน์จากที่ดินให้กับครัวเรือนยากจน ซึ่งพบประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับที่ดินและการใช้ประโยชน์ของครัวเรือนยากจนอย่างน้อย 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่หนึ่ง ครัวเรือนยากจนมีที่นา/ที่ดินทำกินแต่ประสบปัญหาภาระหนี้สิน บางรายนำที่ดินไปเป็นหลักค้ำประกันกับธนาคาร (ธกส.) เพื่อให้ตนเองเข้าถึงเงินทุน และลักษณะที่สอง เป็นครัวเรือนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีที่ดินอย่างจำกัดไม่เหมาะกับการต่อยอดประกอบอาชีพ จากนั้นมีการนำ “เสียง” ของข้อเสนอและความต้องการของครัวเรือนยากจนจากการประชาคมเข้าหารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางในการจัดการปรับเปลี่ยนที่ดินเดิมที่เคยเป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของครัวเรือนยากจน และเป็นการออกแบบการใช้ประโยชน์จากที่ดินโดยครัวเรือนยากจนและชุมชนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแบบ “ล่างขึ้นบน” (bottom up) แตกต่างจากการทำงานที่ผ่านๆ มาของหน่วยงานฟังก์ชั่นที่มักกำหนดโครงการต่างๆ จากบนลงล่าง (top down) และเป็นการสร้างความตระหนักด้าน “สิทธิ” (right) และ “สิทธิชุมชน”(community right) ให้กับครัวเรือนยากจนผ่าน “ปฏิบัติการปลูกผัก”

คุณเอกปริญญ์ รักษา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านนาเกียรตินิยม ตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ : ขออนุญาตถ่ายภาพแลพเผยแพร่ (ด้วยวาจา)

การเข้าถึงสิทธิที่ดินเป็น “ทางเลือก” และ “ทางรอด” ในสถานการณ์วิกฤติและความเปราะบาง

การลงพื้นที่ภาคสนามพบความน่าสนใจ คือ การเข้าถึงสิทธิที่ดินของครัวเรือนยากจนเป็น “ทางเลือก” ในการประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งผลเชิงบวกต่อความมั่นคงทางอาหาร (food security) ของครอบครัว และเป็น “ทางรอด” ของครัวเรือนยากจนหรือคนที่ตกอยู่ในสภาวะวิกฤติและความเปราะบาง เนื่องจากครัวเรือนยากจนจำนวนหนึ่งไม่มีรายได้ประจำ การเก็บผักแต่ละวันช่วยลดต้นทุนในการซื้อหาอาหารและสร้างรายได้ “ระยะสั้นรายวัน” ให้กับครัวเรือนยากจนได้ ซึ่ง คุณสุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าสะท้อนว่า “แต่ก่อนไปทำงานที่กรุงเทพฯ 20 กว่าปี พอถึงช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาประสบปัญหาเศรษฐกิจ การจ้างงาน และปัญหาสุขภาพจึงกลับมาอยู่ที่บ้าน” การกลับบ้านท่ามกลางสภาวะลุ่มๆ ดอนๆ ไม่มีเงินก้อนติดตัวเป็นทุน ว่างงานระยะยาว และไม่มีรายได้ประจำ สุรศักดิ์ ประกอบอาชีพปลูกผักเนื่องจากเป็นอาชีพที่ลงแรงในการดูแลเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ กระทั่ง หมู่บ้านเล็งเห็นความสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่าของหมู่บ้านซึ่งสะท้อนการเข้าถึงสิทธิชุมชนด้านที่ดิน กล่าวคือ ครัวเรือนยากจนบ้านเกียรตินิยมจำนวนหนึ่งไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง การเปิดพื้นที่ได้ช่วยให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์ในการปลูกผักร่วมกัน ซึ่งพบว่า สมาชิกในแปลงผักส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง (สมาชิดในครอบครัวผลัดกันมาช่วยงานตามความเหมาะสม) สุรศักดิ์ นอกจากจะร่วมปลูกผักกับครัวเรือนยากจนในหมู่บ้านกับคนอื่นๆ แล้ว ยังมองเห็น “ทางรอด” ช่องทางอื่นในการเพิ่มรายได้และการช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิง (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ) ในการนำผักไปออกวิ่งขายในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง

คุณสุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ : ขออนุญาตถ่ายภาพแลพเผยแพร่ (ด้วยวาจา)

อบต. อยากขยายให้พื้นที่เพิ่มเติมสำหรับครัวเรือนที่ต้องการปลูกผักเพิ่ม เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมประสบความสำเร็จต่อเนื่องเรื่อยมา มีการขุดปรับพื้นที่รอบสระน้ำ และทำรั้วกันวัว-ควายไม่ให้เข้ามารบกวน ทางมหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุนกระบวนการปลูก การดูแล การทำปุ๋ย การเรียนรู้และเทคนิคต่างๆ ร่วมกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ

สิทธิคนจน : เปลี่ยนที่รกร้างว่างเปล่าให้ครัวเรือนยากจนได้ใช้ประโยชน์

สุรศักดิ์ มุมทอง ได้เน้นย้ำถึงกระบวนการผลักดันและการก่อเกิดกลุ่มปลูกผักบ้านนาเกียรตินิยมต่ออีกว่า แรกเริ่มเกิดขึ้นจากผู้ใหญ่บ้าน ได้มีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จึงเกิดไอเดียว่าอยากปรับเปลี่ยนที่ดินจากที่รกร้างว่างเปล่าที่มีหญ้าและวัชพืชไร้ประโยชน์ให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกผักให้กับครัวเรือนยากจนและครัวเรือนที่สนใจได้เข้าร่วมกันใช้ประโยชน์ “ผู้ใหญ่บ้านไปคุยกับทีมอาจารย์จากมหาวิทยาลัยว่าอยากผลักดันพื้นที่ให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ ทางอาจารย์ก็ลงมาช่วยกันจนเกิดเป็นแปลงผักในวันนี้ ต้องขอบคุณทางอาจารย์ที่มองเห็นพื้นที่ของพวกเราและเข้ามาช่วย” สุรศักดิ์ กล่าว และสะท้อนให้เห็นอีกว่า ครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมปลูกผักทั้งสิ้น 41 ครัวเรือน มีทั้งครัวเรือนยากจนและคนในชุมชนที่อยากปลูกผัก (ครัวเรือนยากจนจำนวน 35 ครัวเรือน) และเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการปลูกผักว่าครัวเรือนยากจนกลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกินได้เข้ามาร่วมใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ชาวบ้านเรียกว่า “หนองน้ำสาธารณะ” นอกจากนั้น การสนทนากับ คุณธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ สมาชิก อบต. ได้ฉายภาพมิติ“สิทธิที่ดิน” และ “สิทธิคนจน” ด้านการเข้าถึงที่ดินว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องทำงานโดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาคีต่างๆ ด้วยการเปิดพื้นที่และให้บทบาทกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญทำงานผลักดันสิทธิที่ดินผ่าน “แปลงผัก” ซึ่งมีครัวเรือนยากจนจากฐานข้อมูลสำรวจที่ตรงเป้าและแม่นยำโดยสถาบันทางวิชาการ กระทั่งครัวเรือนยากจนเข้าถึงสิทธิที่ดิน หรือ “สิทธิคนจน” หมายความว่า การให้ความช่วยเหลือครัวเรือนยากจนในการเข้าถึงสิทธิที่ดินที่ตรงเป้าช่วยให้ครัวเรือนยากจนที่ถูก “พล่าเลือน” ได้ปรากฏตัวในชุมชน และเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญในการช่วยกันผลักดันให้ครัวเรือนเหล่านั้นหลุดพ้นออกจาก “กับดักความยากจน” โดยใช้ศักยภาพของครัวเรือนยากจนตามความแตกต่างและข้อจำกัด และพลังหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่มีความหลากหลาย “อยากให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานตามความเชี่ยวชาญและสามารถบอกได้เต็มปากร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ” ธิติวุฒิ กล่าวสะท้อน

คุณธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ สมาชิก อบต. สะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ : ขออนุญาตถ่ายภาพแลพเผยแพร่ (ด้วยวาจา)

สิทธิเชิงซ้อน : จับสลากแบ่งแปลงปลูก กำหนดขอบเขตแปลงรวม และการดูแลร่วมกัน

สุรศักดิ์ มุมทอง เล่าว่า ปัจจุบันมีสมาชิกปลูกผักจำนวน 41 ครัวเรือน ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่าปลูกผักร่วมกัน โดยหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) ได้เข้ามาร่วมบริหารจัดการที่ดินให้ครัวเรือนยากจนเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกันครอบครัวละ 4 แปลง โดยใช้กระบวนการจับสลากแบ่งแปลง จากนั้นสมาชิกกลุ่มได้ร่วมกันทำความสะอาดและจัดเตรียมแปลงผักของตัวเองเพื่อปลูกพืชผักตามความต้องการ พบว่า แปลงผักมีการเลือกปลูกผักตามความชื่นชอบ ส่วนใหญ่เป็นพืชผักสายพันธุ์ท้องถิ่นที่ใช้ประกอบอาหารในครัว เช่น พริก มะเขือ หอม กระเทียม ผักกาด ผักบุ้ง ผักชีลาว หอมเป (ผักชีฝรั่ง) ถั่วฝักยาว ถั่วพู เผือก ข้าวโพด ตะไคร้ ข่า  ฯลฯ กระทั่งได้ผลผลิตผักจากแปลงที่มีคุณภาพ จากนั้นเริ่มได้รับความสนใจจากพ่อค้าแม่ค้าคนกลางนอกหมู่บ้านที่เดินทางมาซื้อถึงแปลง ปัจจุบันผักแปลงรวมที่ปลูกโดยครัวเรือนยากจนถูกยกระดับสู่มาตรฐาน GAP โดยความร่วมมือกับหน่วยงานด้านเกษตร ซึ่ง ธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ ได้สะท้อนถึงความพยายามในการเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงการทำงานพัฒนาเชิงพื้นที่ “ผักแปลงรวม” กับหน่วยงานภาคีต่างๆ นอกชุมชน เนื่องจากมองว่าหน่วยงานภาคีที่มีความรู้และศักยภาพสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและเติมเต็มความรู้ให้กับครัวเรือนยากจนได้ ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านและครัวเรือนยากจนสามารถปลูกผักในที่ดินเอกสาร นสล. จำนวน 4 ไร่ และอยู่ระหว่างการปรับพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 2 ไร่ จากที่ดินรวมทั้งหมด 23 ไร่ ซึ่งส่วนที่เหลือนั้นเป็นสระน้ำ ป่าไม้ และโครงสร้างอาคารศาลาประชาคมของหมู่บ้าน ธิติวุฒิ กล่าวว่า “การให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชนแบบนี้เป็นการจัดการที่ดี ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไร้ประโยชน์ หรือให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุน” พบอีกว่า การจัดการที่ดินผักแปลงรวมสะท้อนมิติสิทธิเชิงซ้อน กล่าวคือ ที่ดินจำนวน 23 ไร่ยังคงเป็นที่ดิน นสล. ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของชุมชนที่แบ่งให้ครัวเรือนยากจนมีสิทธิในการจัดการแปลงของตัวเอง 4 แปลง ผักที่ปลูกในแปลงแม้จะอยู่ในพื้นที่แปลงรวมสมาชิกในแปลงรวมจะไม่ละเมิดลักขโมยผักในแปลงของคนอื่น หากต้องการผักจะใช้วิธีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน หรือซื้อจากเจ้าของแปลง ขณะที่แปลงส่วนที่ไม่ได้ถูกแบ่งจะร่วมกันดูแลผัก ภายหลังจากการทำงานมาได้ระยะหนึ่งเริ่มมีผลตอบรับที่ดีจากชุมชน มีแนวโน้มในการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกแปลงผักเพิ่มขึ้นโดยครัวเรือนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายครัวเรือนยากจน ชุมชนและสมาชิกแปลงผักไม่ได้กีดกันแต่เปิดพื้นที่แปลงเพิ่มโดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลที่เข้ามาปรับพื้นที่เพิ่ม 2 ไร่ ขณะที่น้ำในสระยังคงใช้ประโยชน์ร่วมกันในชุมชนได้ปกติ  

การให้คนจนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชนแบบนี้เป็นการจัดการที่ดี ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่างไร้ประโยชน์ หรือให้ที่ดินหลุดไปอยู่ในมือของนายทุน อยากให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันทำงานตามความเชี่ยวชาญและสามารถบอกได้เต็มปากร่วมกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานของหน่วยงานนั้นๆ

คุณธิติวุฒิ นนพิภัคดิ์ สมาชิก อบต. สะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

การเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ “โอกาส” ของครัวเรือนยากจนและผู้ผลิตผักรายย่อย

การเข้ามารับซื้อผักของผู้ค้าภายนอกชุมชนทำให้ สุรศักดิ์ และสมาชิกผู้ปลูกผัก 41 ครัวเรือน เริ่มปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผักคุณภาพที่ปลูกได้ถูกกดราคาจากภายนอก สุรศักดิ์ จึงเกิดแนวคิดในการเป็นผู้ขายเองโดยการนำเงินดิจิทัลที่ได้รับจากรัฐบาลไปใช้ในการต่อเติมรถจักรยานยนต์เป็น “รถพุ่มพวง” สุรศักดิ์ เล่าว่า “ได้เงินจากรัฐบาลมาปุ๊บก็ตัดสินใจเอามาต่อดัดแปลงรถของตัวเอง และได้ไอเดียมาจากรถพุ่มพวงของชาวบ้านหมู่ 16” แต่ความแตกต่างของรถพุ่มพวงของสุรศักดิ์กับของหมู่ 16 คือ สุรศักดิ์จะรับซื้อสินค้าเฉพาะจากสมาชิกในแปลงเท่านั้น ไม่ได้วิ่งรถออกไปรับสินค้าจากตลาดใหญ่เหมือนกับรถพุ่มพวงคันอื่น “แต่ละวันสมาชิกจะเก็บผักรวมมาให้ และจะได้ส่วนแบ่งหลังจากขาย 3 บาทต่อกำ/ถุง ถือว่าเป็นค่าน้ำมันรถและวิ่งขาย” รายได้รวมๆ ตามปริมาณผักต่อวันอยู่ที่ราวๆ 2,000-3,000 บาท “พ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อถึงที่ เขาซื้อเยอะ แต่เขากดราคาถูกมากกว่าเราเอาไปวิ่งขายเอง” สุรศักดิ์ กล่าว และปัจจุบันเริ่มมีคนสนใจดำเนินการรถพุ่มพวงแบบเดียวกับสุรศักดิ์เพิ่มขึ้นอีก 2 คัน คือ กิตติ บุญอาจ อายุ 58 ปี และ สมพร สุมหิรัญ อายุ 37 ปี

ไม่อยากขายผักตลาดเพราะคนบริโภคจะเปรียบเทียบคุณภาพได้ว่าอันไหนน่ารับประทานมากกว่า อยากให้หมู่บ้านที่ไม่มีรถพุ่มพวงแบบนี้ลองคิดหาสินค้าพื้นบ้านของตัวเองนำไปขาย

สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ

การเข้าถึงสิทธิที่ดินนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship)

 การปลูกผักไม่ใช่เพียงได้ผลผลิตผักที่สามารถนำไปทำอาหารในครัวเรือนหรือสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนยากจนเท่านั้น แต่ยังเปิดพื้นที่ความสัมพันธ์ทางสังคม (social relationship) ให้กับครัวเรือนยากจนซึ่งส่วนใหญ่เป็น “คนปลูก” กล่าวคือ ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมปลูกผักได้มีโอกาสพบปะปฏิสัมพันธ์สังสรรค์กัน แลกเปลี่ยนเทคนิค ทักษะ ความรู้เรื่องการดูแลผักให้ได้คุณภาพ รวมทั้งรับประทานอาหารร่วมกัน พูดคุยระบายอารมณ์ (emotion) ความทุกข์สุขกันและกัน “ผู้เฒ่าบางคนอยู่บ้านไม่มีอะไรทำ บางคนว่างงาน บางคนอยู่ลำพังไม่มีลูกหลาน พอมาปลูกผักก็ได้ผ่อนคลายจากการพูดคุย” สุรศักดิ์ กล่าว นอกจากนั้น พบว่า การริเริ่มไอเดียต่อรถพุ่มพวงของสุรศักดิ์ได้รับการพูดถึงกันในชุมชนว่าเป็น “รถพุ่มพวงคันแรก” ของหมู่บ้าน และเป็นรถพุ่มพวงที่พิเศษกว่าคันอื่นๆ ที่เคยพบเห็นในละแวกนี้ เนื่องจากเป็นรถพุ่มพวงที่เพิ่มโอกาส ไม่กดราคา และเป็นสมาชิกของกลุ่มปลูกผัก ที่รับสินค้าพืช ผัก และผลไม้ท้องถิ่นตามฤดูกาลวิ่งขาย ซึ่ง สุรศักดิ์ กล่าวว่า “ไปขายวันแรกรู้สึกอายเพราะไม่เคยทำมาก่อน พอขายวันที่สองก็เริ่มมีคนพูดคุยด้วยมากขึ้น จนตอนนี้เริ่มมีลูกค้ารู้จักพูดคุยเป็นกันเองและไม่รู้สึกอายแล้ว ผักที่เอาไปขายแต่ละวันไม่เหลือกลับมา มีอะไรไปขายก็ขายได้หมดทุกวัน เพราะผักของเราปลอดสารพิษแตกต่างจากผักตลาดทั่วไปลูกค้าเขามองและเขารู้”

การปลูกผักเห็นเขาสนุกสนานเฮฮาเพราะมาปลูกผักด้วยกัน ห่อข้าวมากินที่แปลงผัก ทำส้มตำกินด้วยกัน หลังจากปลูกผักค่าใช้จ่ายลดลง มีผักรับประทานเอง ไม่ต้องซื้อผักจากที่อื่นและมีความมั่นใจในการรับประทานผักปลอดภัยของตัวเอง ถ้าผักมีเยอะเราก็มีโอกาสได้นำผักไปขาย ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางจากในเมือง ตื่นเช้ามาสุขภาพร่างกายของตัวเองก็สดชื่น

สุรศักดิ์ มุมทอง ครัวเรือนยากจนที่เข้าร่วมโครงการฯ

หมายเหตุ : นำเสนอประเด็นโดย หน่วยบริหารจัดการข้อมูลเพื่อสื่อสารและเผยแพร่ (นขส.), ข้อมูลจากการลงพื้นที่ภาคสนามในโครงการ “การพัฒนาระบบกลไกกระบวนการสื่อสารฯ”, มูลนิธิปัญญาวุฒิ, ภายใต้การ สนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.), และขอขอบคุณโครงการการบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยโมเดลรถพุ่มพวง, ดำเนินการโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ