สายลมบาง ๆ พัดโบกหวิวเป็นฤดูกาลเข้าสู่ความหนาวของคนในพื้นที่ดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชาเช่นเดียวกันเพียงแต่กั้นกันเพียงแค่เทือกเขาพนมดงรักที่มองด้วยตาเปล่าเป็นเทือกเขาสีน้ำเงินที่ปลายสายตา
ทุ่งนาในช่วงนี้ เปลี่ยนจากสีเขียวขจีจากพืชที่เรียกว่า “ข้าว” เป็นสีเหลืองทองอร่ามทั่วทุ่งสุดลูกหูลูกตา นั่นคือสิ่งที่ชาวนาได้บรรจงหว่านเมล็ดพันธุ์เอาไว้เมื่อตั้งแต่เดือน 6 ที่เป็นฤดูการแห่งการเพาะปลูก กระทั่งสิ้นกาลพรรษาเข้าสู่เดือน 11 นี่คือฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีของเกษตรกร
ทุ่งรวงทอง ท้ายโรงเรียนและบ้าน “ตาจวน” ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง ติดไปทาง ต.โพธิ์กระสังข์ อ.ขุนหาญ และ ต.ตาอุด อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ นี่คือพื้นที่สามประสานความเป็นสามเหลี่ยมหนึ่งชายแดนไทยกัมพูชา รถนวดเกี่ยวข้าวทั้งขนาดเล็กและใหญ่ ต่างได้ส่งเสียงเครื่องจักรลงพื้นที่กันตามภาระที่ได้รับการว่าจ้างให้เก็บเกี่ยวผลผลิตของแต่ละเจ้าไป
เย็นพล้อยค่ำ กับแสงแดดบางๆ พาดผ่านทะลุก้อนเมฆเป็นสีสันสวยงามเป็นแบ็กกราวหลังให้รถนวดเกี่ยวข้าวคันใหญ่ที่เปิดประทุนไร้หลังคา มีพลขับสารถีควบคุมเครื่องจักรนั่งบนเก้าอี้บนที่สูง หลังตาข่ายเหล็กวงกลมที่รับดึงดูดรวมข้าวเข้าสู่ตัวเครื่อง โดยมีพนักงาน 3 รายยืนขนาบข้างเครื่องยนต์ คอยหยิบจับกระสอบเพื่อรองรับเมล็ดข้าวที่ผ่านการนวดเกี่ยวข้าวลงสู่กระสอบแล้วมัดวางเรียงกันข้างเครื่องจักรที่ทำงานเดินหน้าไปด้วยเสียงและแรงขับที่ดังเอาการ และทิ้งเศษฟางข้าวที่ถูกเครื่องปัดเอาเมล็ดออกแล้วทิ้งไว้ท้ายรถกลางรอยตีนตะขาบยักษ์ของรถจักรที่เดินไปข้างหน้า
อาหารการกินในการเก็บเกี่ยวแต่ละแปลงนา เจ้าของนาต่างดูแลให้บริการกับทีมงานรถอย่างเต็มที่ บ้างก็ลงทุนเป็นพิเศษให้ทีมงานได้กินอิ่น
หวานเย็น’ รถจักรนวดข้าวดังกล่าวของบ้านตาจวนคันใหญ่และใช้แรงงานญาติพี่น้องมาเป็นพนักงานในการมัดกระสอบข้าวประจำเช่นทุกปี
ธีรศักดิ์ จันคณา เจ้าของ “หวานเย็น” กล่าวเป็นภาษาถิ่นกวยตาจวน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
ปีนี้รถไม่ค่อยได้ซ่อมบำรุงอะไรมากมายนัก เพราะฤดูกาลที่ผ่านมาไม่ได้มีอะไรบกพร่อง แต่ก็ได้ดูแลและตรวจเช็คเครื่องยนต์และการทำงานให้พร้อมใช้งาน ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในปีนี้ก็ได้ญาติพี่น้องมาช่วยในการดูแลและมัดกระสอบข้าวเช่นเคย ยังไม่อยากต่อเติมให้เป็นรถอุ้มเหมือนคันอื่น ๆ เพราะถ้าทำอย่างนั้น เราอาจจะสะดวกสบายขึ้นแต่ทีมงานเราก็จะไม่ได้มีงานทำ เราทำแบบนี้ก็ถือว่าได้ให้ทุกคนได้มีงานทำร่วมกันด้วย ได้ดูแลกันไปด้วย และทีมงานทุกคนต่างก็รู้บทบาทหน้าที่และช่วยงานในทุกบทบาทอยู่แล้ว
ธีรศักดิ์ จันคณา เจ้าของรถนวดเกี่ยวข้าว “หวานเย็น”
ซึ่งปีนี้ ทีมงานหวานเย็น ค่อนข้างอบอุ่น คงเพราะญาติพี่น้องที่มาคอยเป็นลูกมือต่างมีลูกมีหลาน ทำให้ลูกหลานก็มาคอยรับบรรยากาศไปด้วย ประกอบกับทีมช่างที่พร้อม support อุปกรณ์เครื่องมือและการทำงานแบบสมัยใหม่ให้พร้อมซ่อมบำรุงโดยไม่ขาดช่วงและเสียเวลามากนัก
ทองแดง โพธิ์กระสังข์ ช่างบ้านตาจวน กล่าวว่า
เราต้องตามยุคสมัยให้ทัน เตรียมอุปกรณ์ด้านช่างที่ง่ายและพกพาสะดวก และมีเสถียรภาพด้วย อย่างตอนนี้ ได้ตัวเช็คความร้อนของเครื่องที่เล็กและกะทัดรัด แบบเลเซอร์ ยิงแสงเข้าไปยังการทำงานชิ้นส่วนไหน เครื่องก็จะบอกค่าความร้อนของสิ่งนั้น ๆ ได้ว่าเกินมาตรฐานหรืออยู่ในขีดความร้อนที่เครื่องทำงานได้มากน้อยแค่ไหนด้วย เพราะเครื่องจักรที่ทำงานล้วนแล้วแต่ต้องเรียนรู้และเข้าใจในทุกเรื่อง ยิ่งเรามีเครื่องมือที่ทันสมัยและใช้งานได้เลย ก็ต้องเอามาใช้งานและดูแลกันไป
ทองแดง โพธิ์กระสังข์ ช่างบ้านตาจวน
และในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตนี้ ข้าวของแต่ละเจ้าค่อนข้างได้ผลผลิตที่เต็มที่กว่าทุกปีที่ผ่านมา ข้าวเต็มเมล็ดและเต็มรวง
อำพา งอนสวรรค์ ชาวนาบ้านตาจวน ได้เล่าให้ฟังว่า
ปีนี้ข้าวสวยกว่าทุกปี เพราะฤดูกาลที่น้ำได้สมบูรณ์และไม่ได้มีพายุเข้ามาโดนด้วย แต่ก็มีบางช่วงที่ได้ข่าวว่ามีโรคเพลี้ยและภัยที่คุกคามข้าวเข้ามาเหมือนกันแต่ก็ดีที่นาเราไม่ได้โดนเหมือนใคร และอาศัยรถ “หวานเย็น” เป็นประจำทุกปี อีกอย่างลูก ๆ อยากให้รถมาเกี่ยวในวันหยุดเพราะลูก ๆ จะได้มาช่วยงานได้ด้วย แต่ปีนี้ได้เกี่ยววันธรรมดาแต่ได้เกี่ยวช่วงเลิกเรียนแล้ว ก็ถือว่าโชคดี ลูกได้มาสัมผัสและรับบรรยากาศของความเป็นลูกชาวนาและได้ช่วยเหลือพอสมควร แม้จะยังอยู่ในวัยเรียนก็ตาม
อำพา งอนสวรรค์ ชาวบ้านตาจวน
พล้อยค่ำเข้าทุกที จะได้เห็นภาพเด็ก ๆ วัยประถมและมัธยมต่างวิ่งบนคันนาหยอกล้อกัน เพื่อมารวมกันที่เสียงรถจักร พร้อมลุยเดินตามรอยตีนตะขาบยักษ์เมื่อรู้ว่าการนวดเกี่ยวข้าวในแต่ละแปลงเหลือข้าวที่เกี่ยวจวนจะหมดแปลง จะวิ่งไปดักหน้าแถวของข้าวที่จะรอเก็บเกี่ยวและใช้สายตาความเป็นลูกชาวนาในการตะคลุบและจับสัตว์สี่ตีนมีหางในหากินในทุ่งนา อย่าง หนูนาตัวใหญ่ ที่ภาษาถิ่นกวยจะเรียกว่า “กะนัย” เพราะนั่นคืออาหารชิ้นดีในฤดูกาลนี้เลยก็ว่าได้ แต่ใช่ว่าการจับสัตว์ชนิดนี้จะจับได้ง่ายเพราะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการจับพอสมควร หากพลาดหรือไม่พร้อมขึ้นมา การถูกงับกัดมือขึ้นมา ก็เท่ากับว่า เจ็บตัวหนักเลยทีเดียว จะเสียแผลและต้องไปทำแผล ฉีดยากันเลยทีเดียว บางคนถึงขนาดกับขยาดการจับและการกินเลยก็ว่าได้ เพราะมันจะเจ็บและทรมานไม่น้อยหากพลาดเสียทีให้กับหนู
แม้ว่าการจับสัตว์เช่นนี้ จะมีอันตราย แต่ทว่า เด็ก ๆ ในวัยนี้พวกเขากลับมองว่าเป็นบรรยากาศที่รอมาทั้งปีและเป็นความสามารถเฉพาะตัวที่แต่ละคนต่างชำนาญและเรียนรู้จากการสังเกตและเป็นทักษะที่ได้มีผู้ปกครองและผู้คนในชุมชนต่างบอกและแนะนำเป็นบทเรียนให้ได้รู้แล้วนั่นเอง