เข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) แล้ว นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยมาเยือนแม่ฮ่องสอน และซูตองเป้ยังคงเป็นหนึ่งในหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการมาเช็คอิน
บทความชิ้นนี้ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว (ตอนจบ) ว่าด้วยการเกิดขึ้นของปัญหาน้ำท่วมสะพานซูตองเป้และแนวทางการแก้ไขในอนาคต
ซูตองเป้ : บทเรียนสายน้ำเปลี่ยนทิศกับแนวทางแก้ไขในวันข้างหน้า
สถานการณ์น้ำท่วมหนักปีนี้ในหลายจังหวัดและหลายประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อันเนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนอย่างหนักจากภาวะโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งการยืนยันว่าทำไมแม่น้ำสะงาริมสะพานซูตองเป้ปีนี้ถึงท่วมหนักกว่าทุกครั้ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปริมาณน้ำของแม่น้ำที่มีมากกว่าครั้งก่อนๆ จะคือสาเหตุหลักสาเหตุเดียว เพราะการจัดการน้ำเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญที่จะพลิกสถานการณ์หนักให้กลายเป็นเบาได้ ตรงกันข้าม หากจัดการไม่ดี จะทำให้ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กกลับลุกลามได้เช่นกัน
น้ำท่วมนาข้าวสะพานตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ด้วยเหตุนี้การประชาคมหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมรับฟังและชี้แจงปัญหาจึงเกิดขึ้น โดยตัวแทนจากท้องที่ท้องถิ่น อาทิ อบต.กุงไม้สัก อบจ.แม่ฮ่องสอน สำนักงานชลประทานจังหวัดแม่ฮ่องสอน, รพสต.กุงไม้สัก ทหาร กองร้อย 1743 ฯลฯ และหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงาน
การประชาคมของเกษตรกรบ้านกุงไม้สัก ได้สะท้อนปัญหาแต่ในอดีต ทั้งระบบการจัดการฝายและการจัดการน้ำ โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนเส้นทางการไหลของแม่น้ำสะงาที่มีผลทำให้แม่น้ำทะลักท่วมทุ่งนา โดยนายณัฐพล อภินันทโน หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม สำนักงานชลประทานจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชี้แจงถึงโครงสร้างทางธรณีของแม่น้ำซึ่งเป็นธรรมดาของแม่น้ำในระยะเริ่มต้น ที่ร่องน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางตามกาลเวลา จึงต้องมีการติดตามสภาพแวดล้อมของแม่น้ำอยู่เสมอ แนวทางหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วมที่กรมชลประทานพยายามทำมาตลอดคือ การสร้างฝายเพื่อชะลอความแรงของกระแสน้ำไม่ให้เกิดความเสียหายฉับพลัน
ในขณะที่ทางชาวบ้านกุงไม้สักเอง ในช่วงประมาณ 2-3 ปีมานี้ก็ได้มีการปรึกษาหารือ จัดวงประชุม ต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนมาแล้ว โดยทุกคนเห็นตรงกันว่า ต้องมีการขุดลอกแม่น้ำเผื่อเปลี่ยนทางน้ำไม่ให้ไหลเข้าทุ่งนา หากแต่ว่าปัญหาที่ทำให้ทุกฝ่ายหาที่ยุติไม่ได้คือ ตรงจุดไหนแน่ที่ควรขุดลอก เพราะการขุดลอกอาจจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของที่นาบริเวณใกล้เคียง จึงไม่อาจหาบทสรุปต่อการชี้จุดการขุดลอกได้ นั่นจึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ช่วงเวลาที่ควรแก้ไข ต้องถูกปล่อยผ่าน กระทั่งทำให้น้ำท่วมยาวนานจนไม่สามารถปลูกข้าวได้เลยในปีนี้
ตัดสินความจริงด้วยข้อมูล ภาพถ่ายมุมสูง แผนที่อดีต-ปัจจุบัน
แม้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-กันยายนจะยังคงมีฝนตกหนัก แต่กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่ม มีความเห็นว่า หากเปลี่ยนสายน้ำได้บ้าง อย่างน้อยน่าจะช่วยให้สายน้ำไม่ไหลท่วมนายาวนานมากเกินไป อย่างน้อย ขอต้นข้าวได้ฟื้นขึ้นมาบ้าง หรืออย่างน้อยที่สุด ขอให้ผืนดินได้มีโอกาสปรับสภาพเพื่อเตรียมเพาะปลูกพืชรอบที่ 2 ในช่วงหน้าหนาว ซึ่งปกติจะปลูกถั่วลายเสือ ซึ่งให้ผลผลิตและราคาที่ดี
สมดี ยินดี เกษตรกรวัย 67 ปี หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบปัญหาน้ำท่วมที่นา โดยที่นาของแม่สมดีนั้น อยู่ตรงปากทางน้ำเข้ามาพอดี (เนื่องจากคันดินตลิ่งแม่น้ำแตก) ได้กล่าวว่า ตนเองทำใจแล้ว ไม่คิดว่าจะได้ข้าวเหมือนคนอื่นแล้ว
“อย่างน้อยเราแค่เสียข้าว แต่คนอื่นอย่างคนที่อยู่เชียงราย เขาเจอน้ำท่วมหนักกว่าเรา เสียทั้งรถทั้งบ้าน”
แม่สมดีกล่าวยิ้มๆ พยายามคิดว่า ตนเองโชคดีแล้วที่เสียหายเพียงเท่านี้
แต่ลึกๆ ก็ยังมองไปถึงอนาคต หวังว่า อย่างน้อยปลายปีนี้จะได้ปลูกถั่วลายเสือบ้าง
ดังนั้น การไม่นิ่งเฉยดูดาย ปล่อยให้น้ำท่วมไร่นา โดยไม่คิดทำอะไรเลย จึงเป็นไปไม่ได้
หลังจากที่มีสื่อ (ภาคพลเมือง ไทยพีบีเอส) ได้นำโดรนบินเพื่อแสดงภาพถ่ายเส้นทางน้ำทะลักเข้าไร่นา และเห็นสิ่งกีดขวางเส้นทางน้ำ หลายคนที่เห็นภาพถ่ายดังกล่าวจึงมีความเห็นว่า หากมีการขจัดสิ่งกีดขวางเหล่านี้ออกไปบ้าง อย่างน้อยน่าจะทำให้กระแสน้ำไหลกลับสู่เส้นทางเดิมได้
ในขณะเดียว จังหวัดแม่ฮ่องสอนและศูนย์ War room อุทกภัยฯ แม่ฮ่องสอน ได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่น้ำท่วมบริเวณบ้านกุงไม้สัก โดยเป็น 3 ระดับคือ
- การแก้ไขปัญหาระยะฉุกเฉิน จะมีการปิดกั้นไม่ให้น้ำทะลักเข้าไร่นาด้วยการวางกระสอบทราย บิ๊กแบค ปั้นคันดินและเนื่องจากแม่น้ำสะงาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำในนาจึงจะมีการเปิดคันดินเพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำ
- การแก้ไขเร่งด่วน กรณีน้ำลดระดับลง จะมีการขุดเปิดลำน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ และเสริมความมั่นคงของคันดินไปจนถึงฝาย
- การแก้ไขปัญหาระยะกลาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาทั้งแนวทางการใช้สิ่งก่อสร้าง และไม่ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อรับมือฤดูฝนปี 2568 ต่อไป
ไทม์ไลน์ ความพยายามต่อสู้ของเกษตรกรกุงไม้สักกับน้ำท่วมซูตองเป้
1 สิงหาคม 2567 คันดินแม่น้ำสะงาแตก น้ำท่วมไร่นารอบสะพานซูตองเป้
27 สิงหาคม 2567 การประชาคมของเกษตรกรบ้านกุงไม้สัก ภาครัฐ ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง
31 สิงหาคม 2567 กลุ่มของเกษตรกรบางส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำแม่สะงาท่วมไร่นา ได้รวมตัวกันร่วมกับทหาร ร. 1743 และพระ เณร วัดภูสมะณาราม เพื่อจะเคลียร์สิ่งกีดขวางทางน้ำไหล และสามารถทำได้ระดับหนึ่งที่น่าพอใจอย่างมาก กระแสน้ำได้ไหลกลับตามร่องน้ำเดิมอย่างเห็นได้ชัด แต่ว่าก็ยังไม่สามารถจะทำให้แม่น้ำหยุดไหลลงไร่นาได้ หากแต่ก็ช่วยผ่อนบรรเทาจากหนักให้เป็นเบา ช่วยให้ไร่นาที่ต้นข้าวพอจะฟื้นตัวได้ ได้หลุดพ้นจากการจมน้ำได้หลายสิบไร่
13 กันยายน 2567 เจ้าอาวาสวัดภูสมณาราม บ.กุงไม้สัก ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน นำพระ-สามเณรและลูกศิษย์ ราว 40 คน ร่วมด้วย ขจัดเศษซากไม้ขนาดใหญ่ที่ถูกซัดมากับกระแสน้ำ ก่อนจะถึงสะพานซูตองเป้ ซึ่งอาจทำให้สะพานเสียหายได้
20-26 กันยายน 2567 ชาวบ้านกุงไม้สักทั้งหมด ได้ร่วมกับอบจ.แม่ฮ่องสอน ทำการขุดลอกเส้นทางน้ำเดิมเพื่อให้กระแสน้ำไหลไปตามร่องน้ำเดิม โดยใช้เวลาทำงานกับร่วมอาทิตย์ โดยเป็นการทำงานของเครื่องจักร (รถแบคโฮ) และการทำฝายแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งมีผลทำให้กระแสน้ำลดลงจากการท่วมไร่นาแบบฮวบฮาบ ได้ผลอย่างชัดเจนมากที่สุด ที่ดินในนาหลายแห่งได้โผล่พ้นน้ำ จะเหลือก็เพียง เส้นทางแม่น้ำใหม่ในไร่นา ที่ยังคงไหลข้ามไร่นาไปอีกไม่กี่สิบเมตรก่อนจะไหลรวมกับแม่น้ำสะงาในร่องน้ำเดิม ทำให้เกษตรกรที่หวังไว้ว่าจะได้ปลูกถั่วลายเสือ ใจชื้นขึ้นมากแต่อย่างไรก็ดี การทำฝายด้วยไม้ไผ่ของชาวบ้านไม่ประสบความสำเร็จนัก เนื่องจากช่วงนั้นพายุเข้าอีกระลอกทำให้ปริมาณน้ำสะงามีจำนวนมากและพัดพาแผงกั้นไม้ไผ่ของชาวนาหลุดไป
กลางเดือนตุลาคม 2567 แม่น้ำในไร่นาใต้สะพานซูตองเป้แห้งสนิท เหลือเพียงกราดหินดินทราย ให้เกษตรกรคิดหาวิธีเพื่อจะเพาะปลูกต่อไป
ซูตองเป้ กับการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน
นายภานุเดช ไชยสกุล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวได้กล่าวถึงผลกระทบและความเสียหายจากน้ำท่วมไร่นาบริเวณสะพานซูตองเป้ว่า ซูตองเป้ คือ สถานที่ท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ของแม่ฮ่องสอนที่นักท่องเที่ยว นิยมมาเที่ยวและเช็คอิน เนื่องด้วยเป็นทางผ่านไปยังบ้านรักไทย น้ำตกผาเสื่อ และศูนย์อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าปางตอง ปีหนึ่งๆ สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนนับร้อยล้าน ซึ่งแน่นอนว่า ปีนี้ซูตองเป้ก็อาจไม่สวยงามเหมือนทุกปีซึ่งมีนาข้าวเป็นฉากสีเขียว อย่างไรก็คงต้องเร่งฟื้นฟูและสนับสนุนการปลูกพืชรอบใหม่ให้กับเกษตรกรโดยไว เพื่อให้ท้องนาได้กลับมามีสีเขียวดังเดิม กลับมาเป็นจุดเช็คอินให้นักท่องเที่ยวอย่างน่าประทับใจอย่างในอดีตอีกครั้ง
ในขณะที่พระปลัดจิตตพัฒน์ อัคคปัญโญ เจ้าอาวาสวัดภูสมณาราม ผู้ริเริ่มสร้างสะพานซูตองเป้ ได้กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมไร่นารอบสะพานซูตองเป้ว่า ผลกระทบต่อวัดคงไม่มี ถึงมีก็ไม่เป็นไร เพราะญาติโยมที่ศรัทธายังคงมาทำบุญตามปกติ แต่เป็นห่วงความเดือดร้อนของเกษตรกรมากกว่า เพราะปีนี้จะไม่ได้ข้าว และหวังว่าระยะยาวหนทางการแก้ไขอย่างยั่งยืนคงจะสำเร็จ