ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ อีสานใต้ของประเทศไทย มีอาณาเขตติดกับประเทศกัมพูชาเป็นหลัก มีอาณาบริเวณยาวตามเทือกเขาพนมดงรัก (พนมดองแรก : ภูเขาไม้คาน) และในปัจจุบันมีการเปิดพื้นที่ให้สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ผ่านจุดผ่านแดนต่าง ๆ ตามจังหวัดนั้น ๆ และที่จังหวัดศรีสะเกษ ก็มีจุดผ่านแดนถาวรช่องสะงำ (ด่านช่องสะงำ) อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อข้ามแดนสู่ประเทศกัมพูชา เรียกว่าจุดผ่านแดน “ช่องจวม” อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย
ในช่วงหลังจากออกพรรษาเป็นต้นมา เป็นระยะเวลา 1 เดือน คือเทศกาลการทอดกฐิน โดยกฐิน จะต้องถูกทอดถวายประจำวัด ๆ หนึ่ง และวัดนั้น ๆจะสามารถรับกฐินได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น และวัดดังกล่าวจะต้องมีพระจำพรรษาตลอด 3 เดือนจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 รูปขึ้นไป นั่นคือประเพณีปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ที่ประเทศกัมพูชาเอง ก็มีการนับถือศาสนาพุทธ จึงมีการทอดกฐินเช่นเดียวกัน ซึ่งคนไทยสามารถเดินทางไปทอดกฐินเช่นเดียวกัน โดยเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศด้วย เรียกว่า กฐินสองแผ่นดิน
โดยครั้งนี้ ติดตามไปที่วัดท่าราช อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย สหราชอาณาจักรกัมพูชา โดยการประสานงานของศูนย์ประสานงานเพื่อความมั่นคงชายแดนไทยกัมพูชา ประจำพื้นที่ภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
เรามีกิจกรรมและโครงการมากมายเพื่อสานความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และทำกิจกรรมร่วมกันเสมอมา บุญกฐินก็คืออีกหนึ่งกิจกรรมที่พวกเราทั้งสองประเทศร่วมทำบุญด้วยกัน ซึ่งฝ่ายไทยก็เดินทางไปร่วมที่กัมพูชาและกัมพูชาก็จะมาร่วมที่ฝ่ายไทยเช่นกัน เพราะเรามีวัฒนธรรมวิถีที่เหมือนกัน ไปมาหาสู่กันอย่างดี สิ่งไหนที่เป็นสิ่งดีงามเชื่อความดีความงามให้กันนั่นคือหน้าที่ที่เราจะต้องทำร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้เรามีคณะจากฝ่ายไทยร่วมจากหลายพื้นที่และมีอาหาร เครื่องดื่มร่วมแบ่งปันคนกัมพูชาด้วย
มารุต โสภานนท์ : ศูนย์ประสานงานเพื่อความมั่นคงไทยกัมพูชา ประจำพื้นที่อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
และงานบุญกฐินครั้งนี้ คณะจากฝ่ายไทยมีคณะจากคณะสงฆ์วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ และคณะญาติโยมจากภูสิงห์ ขุขันธ์ ขุนหาญ และปรางค์กู่ ร่วมเดินทางมาทำบุญร่วมกันในครั้งนี้ด้วย
ดีใจทุกครั้งที่มีโอกาสได้เดินทางมาร่วมทำบุญและทำกิจกรรมที่ประเทศกัมพูชา ได้เห็นรอยยิ้มและสีหน้าผู้คนที่นี่ที่มีความอบอุ่นและเป็นกันเอง เรามีภาษาที่ใกล้เคียงกัน สื่อสารกันรู้เรื่อง แตกต่างกันแค่พื้นที่ที่เราอยู่เท่านั้น โดยครั้งนี้ได้นำส้มตำ น้ำหวาน ผลไม้และอาหารมาร่วมทำบุญด้วย
นิตยา วงค์ษา ชาวอำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
งานบุญประเพณีของที่ว่าท่าราช อำเภออัลลองเวง จังหวัดอุดรมีชัย กัมพูชา แห่งนี้ ได้เห็นกลุ่มคนทุกช่วงวัย ทั้งสูงอายุ วัยทำงาน หนุ่มสาว และเด็ก ๆ นักเรียน มาร่วมกิจกรรมกันอย่างอบอุ่นคับคั่ง ภายในศาลาการเปรียญก็ไม่ได้ประดับประดาอลังการนัก เป็นแบบเรียบง่าย ตั้งองค์กฐินแบบชาวพุทธ ไม่ได้ขึ้นป้ายใหญ่โตเหมือนกับประเทศไทยเรานัก
และเมื่อมีการถวายภัตตาหารเพลเรียบร้อยแล้ว “ติงโมง”หรือขบวนแห่ที่ประกอบด้วยดนตรีการตีด้วยกลองโทน ระฆังแบบบ้าน ๆ มีการแตกต่างสวมใส่หน้ากากสัตว์และมีหน้ากากตัวเอกเป็นชายและหญิงที่ทำใหญ่และสูงกว่าหน้ากากทั่วไป เดินตามจังหวะดนตรีที่เคาะตีไป เพื่อรับการบริจาคของผู้คนที่อยู่ภายในงาน นำเป็นรายได้ต่อยอดองค์กฐินไปด้วย หากเป็นบ้านเราคงเสมือน กัณฑ์หลอน เป็นแน่ แต่ที่กัมพูชาไม่ได้เน้นเปิดดนตรีเครื่องเสียง แต่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้คนและสนุกสาน ได้บุญไปด้วยกัน
ตนเองเป็นคนที่นี่ รู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้ทำงานกับคนไทย ครั้งนี้ได้รู้ว่าคนไทยเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยก็ยิ่งรู้สึกภูมิใจและดีใจเป็นอย่างมาก เพราะวิถีและวัฒนธรรมเราเหมือนกัน ใกล้เคียงกัน ขอขอบคุณมิตรภาพที่งดงามอย่างยิ่งที่คนไทยมาร่วมงานบุญกฐินในครั้งนี้ที่บ้าน
Sophol toun ชาวกัมพูชา