24 ปี พอช. ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง….สู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน

24 ปี พอช. ‘ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง….สู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน

1


นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ร่วมงาน ‘24 ปี พอช. 

พอช. / ‘อนุกูล  ปีดแก้ว’  ปลัด.พม. ร่วมงาน ‘24 ปี พอช.  กระทรวง พม.ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งรัฐและเอกชน  ด้าน พอช.ก้าวสู่ปีที่ 25 พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายภายในปี 2579 ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย “คิดถึงงานพัฒนา คิดถึง พอช.” 

            สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2543 ปัจจุบัน พอช. จะดำเนินงานครบ 24 ปี ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2567 นี้

2.
4a8a7621

ทำบุญตักบาตรเนื่องในวันครบรอบ ‘24 ปี พอช.’

โดยวันนี้ (25 ตุลาคม)   มีการจัดงาน ‘24 ปี พอช.’ โดยมีนายอนุกูล  ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน   นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษากรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน     นางปรีดา  คงแป้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช.     ผู้แทนหน่วยงานภาคี  ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ 300 คน ณ สำนักงาน พอช. ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ

3
Img 3888

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล 

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวเปิดงาน  มีใจความสำคัญว่า   พอช.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน มีองค์กรที่เข้มแข็ง  มีโครงการบ้านมั่นคง  สวัสดิการชุมชน  ป่าชุมชน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก  ซึ่ง พอช. มีอายุครบ 24 ปี และกำลังก้าวเข้าสู่วัยเบญจเพสที่กำลังมีแรง มีพลัง มีโครงข่ายนับหมื่นคน มีสถาบันการเงินชุมชนกว่า 3 หมื่นแห่ง กองทุนสวัสดิการกว่า 1 หมื่นแห่ง บ้านมั่นคงกว่า 1 แสนหลัง  เมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับต่อไม่มากนัก และมีข้อเสนอต่อจังหว่ะก้าวต่อไปของ  พอช. ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1) การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่เข้มแข็งให้มีจำนวนมากขึ้น เพราะการทำงานที่ชุมชนต้องเริ่มที่การมีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งเราก็มี CODI Academy ด้วยแล้ว ก็จะเครื่องมือในการโยงเครือข่าย ภาคีเข้ามาช่วยได้มากขึ้น 2) สานพลังเครือข่ายทั้งขบวนองค์กรชุมชนและภาคีหน่วยงาน เช่น เรามีสถาบันการเงินทั่วประเทศ แต่ละที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน เราต้องหลอมรวมเครือข่ายที่มีรูปธรรมดี ๆ มาเจอกัน มาแลกเปลี่ยน ด้วยความเชื่อที่บอกว่าเราทำได้ เราไม่รอ 3) การขยายผลรูปธรรมการทำงาน ซึ่งประเทศเรามักจะทำผ่านโครงการนำร่องเสมอ เมื่อไม่มีใครสนับสนุนก็จบ แต่เราต้องสร้างโครงการที่ชุมชนสามารถเดินไปได้ด้วยตนเอง ต่อให้เราไม่อยู่คนในชุมชนสามารถอยู่ได้ วางรูปแบบโครงการให้กระจายพื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ของประเทศไทย

ดร.กอบศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่า “ถ้าประเทศจะเปลี่ยน จะเปลี่ยนได้ด้วยมือของพี่น้องพลังองค์กรชุมชน มีพลังที่เข้มแข็งจากฐานรากที่ท่านอาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมได้วางรากฐานไว้ ด้วบความเชื่อและการปฏิบัติที่พี่น้องชุมชนทำได้ รวมไปถึง พอช. ก็มีหน่วยงานภาคีที่สำคัญมากมาย เช่น สช. และหน่วยงานภาคเอกชนอื่น ๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ ชำนาญการในเรื่องเฉพาะของเขา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ชุมชนอยู่ได้ มีรายได้มีความมั่นคง เราจะจับมือไปด้วยกัน ในโอกาสที่ดีที่ พอช. ครบรอบ 24 ปี ขออวยพรให้ พอช. มีอายุครบสองรอบในอีกต่อไปในอนาคต”

4

ผู้เข้าร่วมงาน 24 ปี พอช

ย้อนเส้นทาง 24 ปี พอช…สู่ปี 2579 “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน”

ในเดือนกรกฎาคม 2543  มี ‘พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)’ โดยโอนภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบทเข้าด้วยกัน   ต่อมาในวันที่  26  ตุลาคม 2543  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ  โดยในช่วงแรก พอช. สังกัดกระทรวงการคลัง  ต่อมาเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จนถึงปัจจุบัน

5

วันที่  26  ตุลาคม 2543  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

พอช. เป็นหน่วยงานรัฐรูปแบบ ‘องค์การมหาชน’  โดยมี ‘พ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ.2542’ รองรับ  (ปัจจุบันมีองค์การมหาชนรวม 45 แห่ง) ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะหรือพัฒนาด้านต่างๆ  เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัวแตกต่างจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

พอช. มีภารกิจต่างๆ ดังนี้  คือ 1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม  และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการ  และหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสําคัญ   เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม 2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน   ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   และ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น  จังหวัด  และระดับประเทศ

ส่วนโครงการที่ พอช. ดำเนินการสนับสนุนองค์กรชุมชน  เช่น  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย   โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  โครงการบ้านพอเพียง  โครงการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร   คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่   การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  ส่งเสริมการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล  การดูแลสิ่งแวดล้อม  การป้องกันและจัดการภัยพิบัติ  ฯลฯ

พอช.ยังได้เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน ผ่านโครงการต่างต่างตามยุทธศาสตร์ คือองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักพื้นที่เป็นตัวตั้ง  ภายใต้วิสัยทัศน์ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสู่การจัดการตนเอง ในปี 2567 พอช. ได้ดําเนินงานตามภารกิจ ภายใต้โครงการในมิติต่าง ๆ ดังนี้

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย  ในเมืองและชนบท เป็นการดําเนินงานตามแผนแม่บท การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี   ปี 2560-2579  ภายใต้วิสัยทัศน์ คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ประกอบด้วยแผนงาน/ โครงการที่สถาบันฯ รับผิดชอบ จำนวน 2 แผนงาน 4 โครงการ คือ แผนพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดและผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด “บ้านมั่นคง”  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มคนไร้บ้าน และ แผนที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยชนบท  โครงการบ้านพอเพียง   โดยในปี 2567 พอช. ได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ดังนี้

6

โครงการบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น

 โครงการบ้านมั่นคง เป็นการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ที่ไม่มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ทั้งในเมืองและชนบท โดยชาวชุมชนเป็นแกนหลัก ตั้งแต่การสํารวจข้อมูล จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ออกแบบ วางผัง และก่อสร้างบ้านพัฒนากลุ่มสหกรณ์ สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มากกว่าบ้าน อาทิ การจัดสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมอาชีพ ปรับปรุงสภาพแวดล้อม และสร้างแหล่งอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งในปี 2567  สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน   4,087 ครัวเรือน 144 ชุมชน ใน 30 จังหวัด  โครงการบ้านพอเพียง เป็นการซ่อมแซมปรับปรุง หรือสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส ส่งผลให้เกิดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งในปี 2567 มีการซ่อมแซมปรับปรุง สร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับผู้มีรายได้น้อย และด้อยโอกาส จำนวน 26,572  ครัวเรือน 3,148 ตำบลใน 77 จังหวัด  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร  เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยของประชาชนริมคลอง ที่ต้องรื้อย้ายบ้านออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ํา ป้องกันน้ําท่วม ดําเนินการนําร่องในพื้นที่คลองลาดพร้าว  และคลองเปรมประชากร ปัจจุบันดําเนินการแล้ว 7851 ครัวเรือน

นอกจากนี้ พอช. ยังได้ดำเนินการ โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566  เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่   เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบครอบคลุมชุมชนที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด  โดยมีการสำรวจข้อมูลความเดือดร้อน และใช้ข้อมูลในการรับรองสิทธิ์ผู้เข้าร่วมโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อวางแผนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่มีความหลากหลายในปี 2567 ดำเนินการไปแล้ว จำนวน 1,358 ครัวเรือน 23 ชุมชน

การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท  เป็นการต่อยอดการพัฒนาในพื้นที่ที่มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน”  โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนให้มีระบบการช่วยเหลือทางสังคมร่วมกันดูแลสมาชิกและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในชุมชน  ก่อให้เกิดรูปธรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการและบริบทของพื้นที่  ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนที่ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ในชุมชนดำเนินการในพื้นที่ 484 ตำบล/เมือง 77 จังหวัด

7

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่ฮี้ จ.แม่ฮ่องสอน

กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นการจัดสวัสดิการเพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคง ของคนในชุมชนตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งหนุนเสริม ในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ตามสภาพปัญหาของแต่ละท้องถิ่น โดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชน เพื่อให้การสนับสนุนปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชน จํานวน 5,977 กองทุน  สมาชิก 6,969,825 ราย โดยมีการจัดสวัสดิการพื้นฐานให้กับสมาชิกครอบคลุมตั้งแต่ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ในมิติต่าง ๆกว่า 13 ประเภท มีผู้รับสวัสดิการตรงสะสมรวม 8,633,755 ราย  เงินจ่ายสวัสดิการรวม 8,260,272,427.96 บาท

สภาองค์กรชุมชนตําบล เป็นการดําเนินงานตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พุทธศักราช 2551 ในการเป็นเวทีกลางเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันมีการจดแจ้ง จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตําบลแล้ว 7,785  แห่ง กลุ่มหรือองค์กรที่ได้รับรองสถานะ 156,497  องค์กร รวมทั้งสนับสนุนการดําเนินงานและพัฒนาคุณภาพสภาองค์กรชุมชนเพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในตําบลอย่างเป็นรูปธรรม 866 ตําบล

การส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับตำบลรูปธรรมการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงและสมดุล  เกิดการขยายผลการพัฒนาและยกระดับพื้นที่ปฏิบัติการเป็นพื้นที่รูปธรรมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,220 ตำบล  โดยมีการวิเคราะห์ศักยภาพตำบล  เพื่อจัดทำแผนพัฒนาชุมชนระยะ 5 ปี ครอบคลุมมิติต่างๆ ทั้งด้านการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม โดยชุมชนเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานพัฒนา เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  สามารถพึ่งพาและจัดการตนเองได้อย่างเป็นระบบ

การป้องกันและต่อต้านการทุจริตโดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายภาคประชาชนและองค์กรชุมชน ดำเนินการใน 132 ตำบล/เมือง 6 จังหวัด  ส่งผลให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการเฝ้าระวังและต่อต้านการทุจริต   สร้างวัฒนธรรมสุจริตควบคู่กับการต่อต้านการทุจริต สร้างการรับรู้และจิตสำนึกประชาชนในพื้นที่  ทำให้คนในชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสและช่องทางรับรู้ข้อมูล แสดงความเห็น และร่วมติดตามตรวจสอบ และเกิดรูปธรรมปฏิบัติการเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่

ตำบลต้นแบบชุมชนเข้มแข็ง  เป็นการยกระดับพื้นที่ปฏิบัติการเป็นพื้นที่ต้นแบบสู่ชุมชนเข้มแข็ง ในการจัดการตนเอง โดยมีประเด็นสําคัญที่บ่งชี้ความเข้มแข็งของชุมชนใน4 มิติ คือ คนมีคุณภาพ องค์กรชุมชนเข้มแข็ง มีธรรมาภิบาล คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และชุมชนมีความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย  สามารถแก้ไขปัญหาชุมชนได้ จำนวน 1,628 ตำบล ใน 77 จังหวัด  โดยกระบวนการมีส่วนร่วม จากทุกภาคส่วนในพื้นที่ สามารถขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม

8

ล้อมวงเล่าเรื่องรำลึกอุดมการณ์ สานพลังองค์กรชุมชนเข้มแข็ง

นี่คือตัวอย่างบทบาทของ พอช.ตลอดช่วง 24 ปีที่ผ่านมา  และเตรียมก้าวย่างสู่ปีที่ 25  “คิดถึงงานพัฒนา คิดถึง พอช.”    โดยมีวิสัยทัศน์ ภายในปี 2579 “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”  โดยยึดหลัก “องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  และพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์และเพจสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ codi.or.th)

4a8a7376
4a8a7480
10

Img 4136
4a8a7592
4a8a7722

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ