เรียบเรียง พงษ์เทพ บุญกล้า
รายการฟังเสียงประเทศไทย “อนาคตเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านกับความมั่นคงทางอาหาร” เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2567 จัดขึ้นที่ลานกิจกรรมตลาดกินสบายใจ ชั้น 1 สุนีย์ทาวเวอร์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย เครือข่ายกินสบายใจ เครือข่ายวิสาหกิจเมล็ดพันธุ์ภาคอีสาน เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กรรมการ PGS สภาเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานเกษตรจังหวัด ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และเครือข่ายประชาชนที่สนใจ อาทิ ไร่ภูผา อ.รินชำราบ จ.อุบลราชธานี ศูนย์เรียนรู้เครือข่ายปราชญ์จังหวัดร้อยเอ็ด กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด นักวิจัยมะเขือเทศเชอรีอินทรีย์ ม.อุบลราชธานี กลุ่มแม่หญิงเลือกข้าวปลูกสภา เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี โครงการกินสบายใจ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนทาม จ.ศรีสะเกษ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองจังหวัดยโสธร ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี และมูลนิธิสื่อสร้างสุข ฯลฯ
การจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทยได้แบ่งกิจกรรมหลักออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงการให้ข้อมูลพื้นฐานและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องรูปแบบต่างๆ เช่น การบรรยาย นิทรรศการ หรือคลิปเผยแพร่ และช่วงการมองภาพอนาคตข้างหน้า ผ่านการเลือกฉากทัศน์ในความคิดเห็นข้องผู้เข้าร่วม โดยมีผู้ร่วมสนทนาหลัก 3 ท่าน ได้แก่ คุณดาวเรือง พืชผล กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จังหวัดยโสธร ดร.สังวาลย์ สมบูรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี คุณขนัตยา ลลิตจรูญ นักวิชาการเกษตรชำนวญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี ดำเนินรายการโดย คุณกมล หอมกลิ่น มูลนิธิสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี
“ฟัง” ด้วยหัวใจที่เปิดรับและส่ง “เสียง” แลกเปลี่ยนด้วยข้อมูลที่รอบด้านเพื่อร่วมกันตัดสินใจให้ “ประเทศไทย” มีทางออก โครงการ “ฟังเสียงประเทศไทย” โดยไทยพีบีเอสที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้าง Citizen Dialogues หรือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ผ่านกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยน โดยใช้ข้อมูลที่รอบด้านในประเด็นที่เป็นความท้าทายของสังคมในระดับชาติและท้องถิ่น การสนทนาครั้งนี้อยากให้ทุกคนได้ฟังกันอย่างใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ฟังโดยไม่ตัดสิน ชวนรับฟัง แลกเปลี่ยน และร่วมระดมไอเดีย มองภาพอนาคต “เมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางอาหารในสถานการณ์ภัยพิบัติ” ในอีก 5 ปี
เราคิดว่าความหลากหลายของเมล็ดพันธุ์จะเป็นแบบไหน…?
คุณกมล หอมกลิ่น ผู้ดำเนินรายการอ่านฉากทัศน์ให้ผู้เข้าร่วมช่วยกันลงคะแนนว่าชอบฉากทัศน์ใด หลังจากที่โหวดเสร็จเรียบร้อยจะมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสนทนาและมีการลงคะแนนฉากทัศน์ซ้ำใหม่อีกรอบหลังจากได้รับรู้ข้อมูลด้านต่างๆ เพิ่มเติม อีกทั้ง การจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทย มองว่า เพราะ “เมล็ดพันธุ์” เป็นปัจจัยที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ท่ามกลางสถานการณ์ที่ภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง มีแนวโน้มความถี่และความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ การฟื้นฟู ดูแลความหลากหลาย และการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ประชาชนเข้าถึงได้มากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในการผลิตอาหารที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับทุกคนจึงเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบ ผ่านการตอบ 1 คำ เมือพูดถึง “เมล็ดพันธุ์กับความมั่นคงทางอาหาร”
ฉากทัศน์ A อาหารจานเดียว : เกษตรกรในฐานะผู้ผลิต ปลูก ขายพันธุ์ และจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไว้ในระดับครัวเรือน และชุมชน โดยวิถีเกษตรแบบอินทรีย์ คำนึงถึงการปลูกที่เหมาะสม สอดคล้องกับภูมินิเวศแต่ละชุมชนท้องถิ่น ผลิตเพื่อบริโภคในระดับครัวเรือนและแจกจ่ายแบ่งปัน “เมล็ดพันธุ์” ในฐานะอาหารของชุมชน ซึ่งมีข้อจำกัดของปริมาณการผลิต ความเสี่ยงจากการแปรปรวนของสภาวะภูมิอากาศ น้ำท่วม ฝนแล้ง ทำให้ได้ผลผลิตเมล็ดพันธุ์ ทั้งคุณภาพและปริมาณไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับปัจจัยและกำลังการผลิต
คุณดาวเรือง พืชผล (พ่อลาน) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จังหวัดยโสธร ขยายความเข้าใจเกี่ยวกับฉากทัศน์ A “อาหารจานเดียว” ว่า “การบริโภคเมล็ดพันธุ์ที่ดีต้องหาเมล็ดพันธุ์ที่ดีมานำพา” ขณะเดียวกันหากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมา การปลูกพืชจะมองหา “หิ้งไฟ” เป็นภูมิปัญญาการรมควันที่เก็บคาฝักและรักษาให้นาน แต่ปัจจุบันมองหาซองและมียี่ห้อกำกับ ตลาดเมล็ดพันธุ์สมัยใหม่ที่เข้ามาพร้อมกับความสะดวกสบายทำให้ความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิมหายไป แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร…? เช่น กรณีข้าวที่เคยปลูกในอดีตมีการปลูกในพื้นที่อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มากถึง 62 สายพันธุ์ในภูมินิเวศที่แตกต่าง คือ นาโคก/นาสูง นาลุ่ม/นาทาม แต่ปัจจุบันการสำรวจปี 2540 พบข้าวเพียง 3 สายพันธุ์ “ยิ่งมีพันธุ์น้อยยิ่งทำให้คนไปหาความสะดวกมากขึ้นและยิ่งอยู่ห่างจากการปลูกผลผลิตกินเอง” อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมหายไปเกิดจากความต้องการของตลาดน้อย แต่ระยะหลังเริ่มมีการชักชวนกันของกลุ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ และความตื่นตัวต่อกระแส GMO โดยเริ่มรวบรวมเมล็ดพันธุ์เท่าที่รวมได้และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวโดยศูนย์ไทบ้าน 100 กว่าสายพันธุ์ การเก็บการดูแลของไทบ้านมีการพัฒนาไปพร้อมกัน “สภาพอากาศเปลี่ยน เมล็ดพันธุ์ต้องปรับตัว มีความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันพัฒนาการผลิตและสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการตอบสนองด้านรายได้”
ทุกอย่างที่เว้ามาบ่ว่าสิเป็นข้าว หรืออาหารที่ประกอบอยู่กับข้าว บ่ว่าสิเป็นสัตว์ก็ล้วนมาจากเมล็ดพันธุ์ทั้งนั้น ฉะนั้น เมล็ดพันธุ์จะบ่งบอกถึงผลิตภาพ หรือผลิตพันธุ์ที่ดีก็มาจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี
คุณดาวเรือง พืชผล (พ่อลาน) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง จังหวัดยโสธร
ฉากทัศน์ B อาหารจานด่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป : สถาบันการศึกษาร่วมกับเกษตรกรททดลองพัฒนา ผลิต ปลูก ขยายและจัดเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน เมล็ดพันธุ์ที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างเป็นระบบ มีโอกาสได้ “เมล็ดพันธุ์” และพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาด มีคุณภาพ โดยเน้นแสวงหาทางออกเพื่อลดต้นทุนปัจจัยการผลิตที่ดิน แรงงาน และเงินทุนผ่านการศึกษาทดลองควบคู่กับการยกระดับศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิต ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นที่ปฏิบัติการเฉพาะเพื่อเป็นต้นแบบ แต่อาจมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณดำเนินการ การกระจายและส่งต่อความรู้ในสังคมวงกว้าง และความต่อเนื่องในการผลิต
ดร.สังวาลย์ สมบูรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สะท้อนเกี่ยวกับฉากทัศน์ B “อาหารจานด่วนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ว่า หากศึกษา “เมล็ดพันธุ์” อย่างเป็นระบบ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ “ชาวบ้านจะต้องเปิดใจยอมรับความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้น” เพื่อให้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่แข็งแรงและมีคุณภาพ การทำงานด้านเมล็ดพันธุ์จำเป็นต้องมีการทำงานเชิงวิชาการ โดยสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่และศูนย์วิจัยต่างๆ เนื่องจากการทำงานด้านเมล็ดพันธุ์อย่างจริงจังจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐาน และใช้ต้นทุนเดิมจากการทำ PGS ของเครือข่ายกินสบายใจที่มีอยู่แล้ว ความมั่นคงทางอาหารจะต้องมีหลายอย่างเข้ามาสนับสนุนต่อเนื่องกัน ทั้งคุณภาพและมาตรฐานที่เราพอจะทำได้และรับรองได้ “การรับรองแต่ปากไม่ได้จะต้องมีคนมาช่วย”
ผมอยู่ในส่วนทั้งการพัฒนา มาตรฐาน และการทำงานวิจัย ที่บริษัทใหญ่ๆ ทำเขาก็จ้างไทบ้านทำ แต่เราต้องเรียนรู้และปรับตัวด้านเมล็ดพันธุ์ ถ้าเราพบของดีเราจะต้องรักษาไว้ และทำให้คนอยากใช้ของเรา ทำอย่างไรไทบ้านจะได้ขาย โดยเฉพาะให้ได้ “คุณภาพ” และ “มาตรฐาน” การเก็บเมล็ดพันธุ์ และมีงานวิชาการ งานวิจัย และสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา
ดร.สังวาลย์ สมบูรณ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ฉากทัศน์ C พาข้าวแลงครัวกลาง : ภาครัฐโดยหน่วยงานท้องถิ่น และส่วนกลาง พร้อมด้วยภาควิชาการและเอกชน รวบรวมปัจจัยการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทั้งเมล็ดพันธุ์ ที่ดิน แรงงาน งบประมาณ และเทคโนโลยีการผลิต โดยคำนึงถึงความต้องการบริโภคพืช/อาหารของตลาดทุกระดับ ทั้งชุมชน ท้องถิ่น และนานาชาติเป็นสำคัญ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตและเข้าถึง “เมล็ดพันธุ์” ได้อย่างกว้างขวาง แต่อาจมีขั้นตอนกระบวนการที่ซับซ้อน และต้องใช้ระยะเวลาการขับเคลื่อนภาพรวมทั้งองคาพยพ รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎหมาย และสัดส่วนผลประโยชน์จากนักลงทุน
คุณขนัตยา ลลิตจรูญ นักวิชาการเกษตรชำนวญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี กล่าวสะท้อนฉากทัศน์ C “พาข้าวแลงครัวกลาง” ว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์จะต้องทำเป็นกลุ่ม มีความเข้าใจ มีหลักเกณฑ์ ได้มาตรฐาน เพราะสถานการณ์ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร การทำงานจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งในเกษตรกร เพื่อที่อนาคตเกษตรกรไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ “ถ้ามีพันธุ์ปนมามองเห็นได้ชัดเจน” อยากให้สมาชิกมีความเข้มแข็งภายใต้การดูแลของพี่เลี้ยง หน่วยงานราชการไม่ได้ทอดทิ้งเกษตรกร และเกษตรกรสามารถเข้าไปหาหน่วยงานในพื้นที่ได้ โดยการนำเมล็ดพันธุ์เข้าไปสู่ห้องทดลองเพื่อให้เห็นค่ามาตรฐานต่างๆ เกษตรกรเองจะต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวของเราออกสู่ท้องตลาด…? หน่วยงานรัฐพยายามเชื่อมต่อเกษตรกรผู้ผลิตกับตลาด เกษตรกรจะต้องมีความรู้พื้นฐาน รับผิดชอบ และตระหนักเองว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตที่ดี…? เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเชื่อมโยงกับตลาดระดับประเทศ
ในนามของเจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทโดยตรงด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์อยากบอกว่า “การผลิตเมล็ดพันธุ์มีมาตรฐานกำหนดที่จะต้องทำให้ได้”
คุณขนัตยา ลลิตจรูญ นักวิชาการเกษตรชำนวญ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี
เมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับเกษตรกร
ได้มีการประมวลข้อมูลจากงานวิจัยและนำเข้าข้อมูลประกอบการตัดสินใจการเลือกฉากทัศน์ พบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบภาพรวมกว่า 53 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นความเสียหายด้านประมง 25 จังหวัด ด้านปศุสัตว์ 14 จังหวัด และด้านพันธุ์พืช 40 จังหวัด โดยด้านพืชเกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 81,875 ราย ในพื้นที่จำนวน 657,701 ไร่ มูลค่าความเสียหาย 936.19 ล้านบาท แบ่งเป็นข้าว 597,186 ไร่ พืชไร่และผัก 52,926 ไร่ และผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 7,590 ไร่ ซึ่งเกษตรกรได้รับความช่วยเหลือแล้วจำนวน 2,252 ราย ในพื้นที่ 12,825 ไร่ รวมวงเงิน 18.86 ล้านบาท โดยหน่วยงานภาครัฐได้แจกพันธุ์พืชผักต่างๆ ให้กับเกษตรกรจำนวน 48,562 ราย กว่า 49,300 ซอง เพราะเมล็ดพันธุ์เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับเกษตรกร
นอกจากนั้น ได้นำเข้าเกี่ยวกับข้อมูลจากสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ระบุปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้ารายชนิดพืช ปี 2566 รวมปริมาณ 16,826.74 ตัน มูลค่ากว่า 1,929.84 ล้านบาท ส่งออก 41,217.04 ตัน มูลค่ารวม 9,878.99 ล้านบาท พบอีกว่า ความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในแต่ละปีสูงถึง 1.4 ล้านตัน โดยมีเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรเก็บเอง 7 แสนตัน อีก 7 แสนตันนั้นเป็นความต้องการซื้อและแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถผลิตได้เพียง 4.6 แสนตัน ขณะที่แหล่งจัดเก็บเมล็ดพันธุ์กระจายอยู่ตามหน่วยงานรัฐ บริษัทเอกชน มหาวิทยาลัย และบุคคล เช่น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว กรมการข้าว ธนาคารเชื้อพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย หรือภาคประชาชน ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง ศูนย์เมล็ดพันธุ์ มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนประเทศไทย เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน เมล็ดพันธุ์อินทรีย์อีสานวายฟาร์ม มูลนิธิสื่อสร้างสุข และเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยกลุ่มต่างๆ แต่เหล่านั้นยังไม่เพียงพอ ประชาชนจึงมีส่วนร่วมและสร้างความร่วมมือในการทำ “ผ้าป่าเมล็ดพันธุ์” ในสถานการณ์หลังน้ำท่วมใหญ่ เช่น สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่ปลายน้ำจังหวัดอุบลราชธานีและลุ่มแม่น้ำมูล ที่ได้รับผลกระทบมากถึง 63.86 ล้านไร่ “โจทย์ใหญ่ในสถานการณ์ภัยพิบัติมีแนวโน้มเกิดถี่มากขึ้น การฟื้นฟูและดูแลความหลากหลายและการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องหาคำตอบร่วมกัน”
อนาคตข้างหน้าสถานการณ์ “เมล็ดพันธุ์” และ “ความมั่นคงทางอาหาร” น่าเป็นห่วง เพราะเกษตรกรกว่าครึ่งยังคงพึ่งพาเมล็ดพันธุ์ เนื่องจากกระบวนการรักษาเมล็ดพันธุ์ค่อนข้างยาก อาจจะต้องเริ่มจากกลุ่มคนเล็กๆ “เป็นคนที่กำเมล็ดพันธุ์ที่ดีไว้ในมือตัวเอง”
พี่ปลา ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
เราไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากใครได้แล้ว เราต้องตื่นตัวด้านการทำงานและการเก็บเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งมีต้นทุน “ตลาดเขียว” ซึ่งเป็นพื้นที่ของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร “กระบวนการด้านการขยับเมล็ดพันธุ์จะทำให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิทางพันธุกรรมของตนเอง”
พี่นุช ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
ถ้าเราเก็บเมล็ดพันธุ์ของเราเองจะสามารถนำไปใช้ในยามวิกฤติได้ การพึ่งตนเองในระดับชุมชนเป็นส่งสำคัญ
พ่อวิทย์ ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
โลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในชุมชน สร้างความสะดวกสบายให้ชาวบ้านและเกษตรกร เด็กทุกวันนี้แทบไม่รู้จักชนิดของเมล็ดพันธุ์ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องธุรกิจเมล็ดพันธุ์น่าจะต้องมาช่วยชาวบ้านตัวเล็กๆ ให้ชาวบ้านในชุมชนได้ใช้เมล็ดพันธุ์ของท้องถิ่นตัวเองที่มีคุณภาพ
พ่อวัน ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
หน่วยงานไม่ได้ทำงานบูรณาการกัน การทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีคนมาซื้อกับชาวบ้านที่ทำเรื่องเมล็ดพันธุ์ ไม่มีการรองรับมาตรฐานของเกษตรกรรายย่อย การพัฒนาพันธุ์ข้าวจะสร้างความเข้มแข็งร่วมกันให้กับชาวบ้าน เช่น พื้นที่ราษีไศลได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วม และคาดว่าเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกและคัดแยกไว้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ผ่านการ “ดำต้นเดียวเกี่ยวด้วยมือ” การรับรองยังไม่ถูกส่งต่อและหน่วยงานรัฐยังไม่ลงมาทำงานร่วมกับพื้นที่ “คนแบบเราเป็นชาวบ้านที่ทำเองปลูกเองบางคนคนอื่นมองว่าเป็นคนบ้า แต่เราต้องทำต่อได้ ” และอยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาทำเรื่องการรับรองมาตรฐาน
แม่ศรี ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
“การเก็บเมล็ดพันธุ์ไม่ว่าจะยากหรือง่ายเราก็ต้องทำ” เพราะมันเป็นเมล็ดพันธุ์และวิถีชีวิต โดยการนำ “ความรู้” จากรุ่นพ่อแม่มาปรับใช้ มีการใช้งานวิจัยเข้ามาช่วย หรือ “ความรู้ของเกษตรกร” บวกกับ “งานวิจัย” รวมทั้ง ปัจจุบันสภาพภูมิอากาศมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเก็บเมล็ดพันธุ์ จึงต้องอาศัยความรู้และงานวิจัยเข้ามาทำงานร่วมกัน
พี่จุ้ก ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
“เมล็ดพันธุ์เป็นต้นทางของอาหาร” จะต้องดูว่าเมล็ดที่เก็บไว้มีคุณภาพมากแค่ไหน…? เก็บไว้ใช้เองหรือปลูกเอง…? แต่ถ้าจะเก็บเพื่อนำไปขายอาจจะไม่ง่ายและยังคงอีกนาน เพราะเทคโนโลยีบางอย่างที่ใช้จะต้องใช้ทุนค่อนข้างสูง อาจเริ่มจากพืชบางชนิดในท้องถิ่นค่อยๆ เก็บไว้เรื่อยๆ เพราะพืชท้องถิ่นมีโอกาสผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์น้อย
ลุงบุญส่ง ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย
“การเริ่มต้นด้วยตัวเองและสร้างมาตรฐานจะนำไปสู่ความเป็นไปได้” สถานการณ์ที่ผ่านมาด้านภัยพิบัติเห็นได้ว่ากระทบหนัก การมีเมล็ดพันธุ์จะช่วยเรื่องของ “ความมั่นคงทางอาหาร” ในพื้นที่มี “ตลาดเขียว” และ “กินสบายใจ” และมีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน PGS และความรู้ในการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน
พี่หน่อย ผู้เข้าร่วมเวทีฟังเสียงประเทศไทย