วันที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 08.00 น. ณ โรงแรมชาเทรียม กอล์ฟรีสอร์ท สอยดาว จังหวัดจันทบุรี นายสันติ รังษิรุจิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานในพิธีกล่าวปราศรัยต้อนรับ โดยมี คุณเจอรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสํานักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน สํานักงานประเทศไทย UN MIGRATION (IOM) กล่าวเปิดการประชุม การหารือว่าด้วยการรับรู้ของสาธารณชนต่อผู้ย้ายถิ่นฐาน (IOM) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับความเข้าใจสาระสําคัญเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐในระดับจังหวัด องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ สื่อมวลชน และ ตัวแทนผู้ย้ายถิ่น ที่ทำงานในพื้นที่ แนวชายแดนกัมพูชา หรือ จังหวัดที่มีชุมชนผู้ย้ายถิ่นจำนวนมาก ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมความร่วมมือ การลดทอนการเลือกปฏิบัติ และ เสริมสร้างทัศนคติเชิงบวกของสาธารณชนผู้ย้ายถิ่น การดําเนินการการหารือจะจัดขึ้น 2 ครั้ง ซึ่งมีกําหนดการในเดือนตุลาคม 2567 ณ จังหวัดตาก ซึ่งมีชายแดนติดประเทศเมียนมา และ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีชายแดนติดประเทศกัมพูชา
ในฐานะประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 3 ล้านคนอาศัยอยู่ ณ ปัจจุบันการโยกย้ายถิ่นฐานถือเป็น หนึ่งในประเด็นเชิงสาธารณะที่สําคัญของสังคมไทย เนื่องจากการโยกย้ายถิ่นฐานมีบทบาทที่สําคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย การสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในเรื่องการย้ายถิ่นจึงมีความจําเป็นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายถิ่นฐาน กลับกลายเป็นประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงบนหน้าสื่อไปในทางที่ปลุกเร้าและแบ่งขั้วความคิดเห็น ซึ่งบ่อยครั้งเกิดจากการละเลยข้อเท็จจริงที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความขัดแย้งสูง ผู้ย้ายถิ่นจํานวนมากตกเป็นเป้าของการถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ ประกอบกับการรับรู้ของสาธารณชนในวงกว้างเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน ที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และ สื่อมวลชนเผชิญข้อจํากัดในการทําความเข้าใจและรายงานเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างรอบด้าน ทําให้เกิดการให้ข้อมูลที่ผิดไปจากความจริงและเป็นเหตุให้เกิดทัศนคติเหมารวมเชิงลบต่อผู้ย้ายถิ่น ซึ่งแม้การโยกย้ายถิ่นฐานจะเป็นประเด็นสําคัญบนหน้าสื่อและการถกเถียงของสาธารณชน แต่ประเทศไทยขาดแหล่งข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถถกเถียงในประเด็นปัญหาดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ครอบคลุมและแม่นยํา
หน่วยงานรัฐในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจคนเข้าเมือง การจัดการพรมแดน การบังคับใช้กฎหมายและการดูแลคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน มีบทบาทที่สําคัญต่อการสร้างการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับการ โยกย้ายถิ่นฐาน เจ้าหน้าที่เหล่านี้ทปฏิบัติงานโดยตรงกับผู้ย้ายถิ่นและเป็นแหล่งข้อมูลหลักสําหรับประเด็นการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งท้ายที่สุดการรับรู้ของสาธารณชนจากแหล่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลโดยตรงกับทัศนคติของสังคมต่อผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงบริการพื้นฐานและสิทธิของผู้ย้ายถิ่น เนื่องจากการขับเคลื่อนแนวทางการขับเคลื่อนแบบทั้งภาครัฐ (Whole-of-government approach) และ การมีส่วนร่วม ของสังคมทุกภาคส่วน (Whole-of-society approach) เป็นกําลังสําคัญในการส่งเสริมทัศนคติและการรับรู้เกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน ในการนี้กระทรวงการต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (ไอโอเอ็ม) จึงได้ร่วมกันจัด “การหารือว่าด้วยการรับรู้ของสาธารณชนต่อผู้ย้ายถิ่น”
การหารือในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีในการเสริมสร้างธรรมาภิบาลการโยกย้ายถิ่นฐานในระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการเน้นยํ้าคํามั่นสัญญาของประเทศไทย ที่จะพัฒนาการรับรู้เรื่องการย้ายถิ่น ในฐานะที่ทําหน้าที่เป็นประเทศต้นแบบสําหรับการ ดําเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ ปลอดภัย เป็นระเบียบ และ ปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM) และ เป็นไปตามถ้อยแถลงของรัฐบาลไทยที่ให้ไว้ในการประชุมทบทวนผลการปฏิบัติการในระดับโลก (International Migration Review Forum – IMRF) เมื่อปี 2565 ที่จะ “ส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณชน ที่มีต่อบทบาทเชิงบวกของผู้ย้ายถิ่นและยุติการเลือกปฏิบัติและการตีตราผู้ย้ายถิ่น” และขับเคลื่อนการดําเนินการตาม GCM ใน ระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายที่ 16. เสริมสร้างพลังผู้ย้ายถิ่นและสังคมเพื่อการนับรวมและอยู่รวมกันในสังคม และ เป้าหมายที่ 17 : ยุติการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบและส่งเสริมวาทกรรมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์เพื่อสร้างทัศนคติของสังคมต่อการโยกย้ายถิ่นฐาน