โพลล์สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรสวนปาล์ม ไม่เห็นด้วยหากรัฐนำเข้าน้ำมันปาล์มต่างประเทศ แก้ไขปัญหาปาล์มขาดตลาด เพราะจะส่งผลต่อราคาน้ำมันปาล์มที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
เมื่อพลังงานน้ำมันที่มีความจำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมมีราคาสูงขึ้น อุตสาหกรรมหลายแห่งจึงต้องปรับตัวจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่ละปีมีมูลค่านำเข้าหลายแสนล้านบาท จึงหันมาใช้พลังงานทดแทนที่มาจากปาล์มน้ำมัน แต่ในปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะน้ำมันปาล์มขาดตลาด เนื่องจากปัญหาภัยแล้งส่งผลให้มีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย ขณะนั้นราคาน้ำมันปาล์มชนิดบรรจุขวดมีราคากระโดดขึ้นเป็น 47 บาท จากเดิม 38 บาท ทำให้ผู้บริโภคและเกษตรกรได้รับผลกระทบตามๆกัน ทางคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติจึงมีนโยบายนำเข้าผลปาล์มดิบจากประเทศมาเลเซียเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเมื่อไหร่ที่น้ำมันปาล์มมีน้อยและสต็อกคงเหลือไม่เพียงพอ ก็จะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาในระยะสั้น จนกว่าจะได้เก็บเกี่ยว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) จึงสํารวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคใต้ มีชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง พังงา และกระบี่ จำนวน 450 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-12 มีนาคม 2558 เพื่อสำรวจแนวโน้มการเกิดปัญหาปาล์มน้ำมันขาดตลาด ความเห็นเกี่ยวกับการนำปาล์มมาใช้ และข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมัน หัวข้อ “เกษตรกรกับการนําเข้าน้ำมันปาล์ม ป้องกันน้ำมันปาล์มขาดตลาดจริงหรือ?”
พบว่า ส่วนใหญ่ทราบว่ามีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ และส่วนใหญ่มั่นใจว่าน้ำมันปาล์มจะได้ขาดตลาดเหมือนที่ผ่านมา แต่ไม่เห็นด้วยกับการเอาน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศมาแก้ไขปัญหา ซึ่งต้องการให้รัฐสนับสนุนการปลูกปาล์มมากขึ้นมากกว่า เพราะยังกังวลว่าจะกระทบราคาน้ำมันปาล์มที่กำลังจะเก็บเกี่ยว
ทั้งนี้หากให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยไม่ถูกแทรกแซง ผู้บริโภคก็จะปรับตัวได้เอง