ชาวบ้านหลายจังหวัดรุมให้ข้อมูลสื่อมวลชน คนภูพานทุกข์หนักจากแผนจัดการป่าไม้ เผยถูกหลอกเซ็นชื่อสุดท้ายฟ้องดำเนินคดี 34 ราย ด้านเครือข่ายคอนสาร ร่วมร้องทุกข์สื่อฯ ถูกรัฐเหมารวมเป็นนายทุน เข้าไล่รื้อ-ทำลายพื้นที่เกษตร ปล่อยปล่อยรีสอร์ทนายทุนลอยนวล
บรรยายภาพ: สื่อมวลชนจากส่วนกลางหลายสำนักข่าวร่วมกันเก็บข้อมูลชาวบ้านในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
11 ก.ค. 2558 เมื่อเวลา 09.00 น.สื่อมวลชนหลายสำนักร่วมลงสำรวจพื้นที่ยางพารารอบป่าสงวนภูพาน ที่บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผนจัดการทรัพยากรป่าไม้ตั้งแต่ยุคประกาศเขตป่าสงวน จนถึงยุคปัจจุบันที่มีแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และยุทธการทวงคืนผืนป่า
สมชัย ทองดินนอก ตัวแทนชาวบ้านจัดระเบียบ กล่าววว่า หมู่บ้านจัดระเบียบก่อตั้งมาได้ 22 ปี เดิมทีประชากรในหมู่บ้านอาศัยกระจัดกระจายกันในป่าที่ปัจจุบันเป็นเขตป่าสงนแห่งชาติภูพาน ตั้งแต่สมัยพลเอกเปรม ติณละสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีการเพาะปลูกทำการเกษตร รวมทั้งร่วมอนุรักษ์ป่าไม้โดยรอบตลอดมา
ต่อมาเมื่อมีการสำรวจพื้นที่ป่าของรัฐบาล มีนายทหารเข้ามาขอความร่วมมือให้ชาวบ้านได้ย้ายออกจากป่า ให้มาตั้งหมู่บ้านใหม่แล้วตั้งชื่อว่าหมู่บ้านจัดระเบียบในปี 2536 แล้วมีการจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านโดยออกเป็นที่ดินในรูปแบบภาษีบำรุงท้องที่ หรือ ภบท. 5 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2522 โดยขณะนั้นมีชาวบ้านได้รับการจัดสรรที่ดินที่เข้าเกณฑ์ผู้มีสิทธิทำกินใน ภบท. 5 ก่อนปี 2545 จำนวน 62 ครอบครัว
หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการแจกที่ดินแบบสำนักปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)
สมชัยกล่าวว่า จากนั้นชาวบ้านก็ทยอยแจ้งความจำนงในการครอบครอง แต่ปรากฏว่าในภายหลังงบประมาณ สปก.หมดลงในปี 2544 ภาคท้องถิ่นจึงได้ให้ชาวบ้านแจ้งครอบครองที่ดินใหม่เป็นแบบเดิม คือ ภบท. 1 ซึ่งจ่ายเงินภาษีการทำกินแก่ภาคท้องถิ่นทุกปี ตามจำนวนไร่ที่ครอบครอง
ต่อมาในปี 2555 กรมป่าไม้ก็เข้ามาสอบถามข้อมูลการครอบครองที่ดินใหม่ มีการตรวจสอบสิทธิ์เกิดขึ้น โดยมีเงื่อนไขว่าชาวบ้านที่มี ภบท. 5 ก่อนปี 2545 นั้นสามารถทำกินต่อไปได้ แต่คนครอบครองหลังปี 2545 นั้นไม่มีสิทธิ์ทำกินต่อต้องยุติการทำเกษตรในพื้นที่ทั้งหมด และห้ามใช้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องทำต่อไป
“พื้นที่ป่าภูพานนั้นมันกว้างมาก เรารู้ว่าป่ามีรอบๆ แต่เราชาวบ้านจัดระเบียบใช้แค่พื้นที่แกนกลางของป่า 841ไร่ เพื่อทำกิน เมื่อก่อนปลูกพริก หวาย ปอ กล้วย ต่อมามีการส่งเสริมปลูกยางพาราเมื่อปี 2547 เราเลยหันมากู้เงินปลูกยาง แต่กรมป่าไม้กลับมาทวงคืน แผนของราชการที่น่ากลัวคือตอนปี 2557 กรมป่าไม้เข้ามาถามสิทธิ์อีก แล้วบอกชาวบ้านว่าใครที่มีที่ดินเกิน 25 ไร่ให้แจ้งการครอบครองสิทธิ์เพื่อเตรียมออกเอกสารเป็นกรรมสิทธิ์ประเภท นส.3 โฉนดที่ดิน เขาให้ชาวบ้านเซ็นชื่อในกระดาษเปล่า แล้วพาชาวบ้านไปถ่ายรูปกับแปลงที่ปลูกยาง จากนั้นก็แจ้งความดำเนินคดี” สมชัยกล่าว
สมชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีชาวบ้าน 34 ราย ถูกแจ้งความดำเนินคดี โดยแบ่งออกเป็น คดีสิ้นสุดชาวบ้านรับสารภาพ 4 ราย อยู่ระหว่างรอลงอาญา 4 ราย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจำนวน 26 ราย
“ผมเองก็อยู่ในขั้นรอศาลพิจารณาคดีเช่นกัน ข้อหาบุกรุกที่ดินป่าสงวน 16 ไร่ และเข้าไปทำการเกษตรในพื้นที่ที่เป็นคดีอยู่ไม่ได้ ทำให้เมียถึงกับป่วยทางจิตใจอย่างรุนแรง เพราะมีที่ดินเหลืออยู่แค่นั้น เป็นแปลงสุดท้ายที่ไว้เลี้ยงลูก” สมชัย กล่าว และว่าตอนนี้เมียของเขายู่ระหว่างรักษาด้านจิตใจและกินยาระงับอาการ
ในช่วงบ่ายคณะสื่อมวลชนได้ลงพื้นที่สำรวจป่ายางและป่ามันสำปะหลังของชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งถูกดำเนินคดี จากนั้นร่วมพูดคุยกับตัวแทนชาวบ้านจาก ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ และ อ.สามชัย จ.กาฬสินธุ์
นิด ต่อทุน ชาวบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่า ช่วง คสช.ประกาศใช้แผนแม่บทฯ ในเขตสวนป่าเพื่อทวงคืนผืนป่าในเขตสวนป่าและเขตป่าสงวนภูซำผักหนาม ช่วงปี 2557 ชาวบ้านโคกยาวและชาวบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งลุยลายได้รับผลกระทบต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ทำกินที่ชาวบ้านบุกเบิกมานาน ซึ่งมีเพียง 1,500 กว่าไร่ จากพื้นที่ป่าทั้งหมด 4,401 ไร่
ที่ผ่านมาชาวบ้านขอยื่นเพื่อทำโฉนดชุมชนในกรณีพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครอง และเสนอนโยบายสาธารณะ แต่กลับถูกรัฐใช้แผนทวงคืนผืนป่ามารื้อถอนที่อยู่อาศัยและทำลายพืชผลการเกษตรก่อน
นิดกล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านบางส่วนถูกฟ้องคดีบุกรุกเขตป่าสงวนฯ โดยพื้นหมู่บ้านบ่อแก้วมีชาวบ้านถูกฟ้อง 33 ครอบครัว โดยรัฐระบุว่าพื้นที่ที่ทวงคืนได้นั้นเป็นที่ดินของนายทุน 800 กว่าไร่ ทั้งๆ ที่ส่วนมากเป็นชาวบ้านที่ลงทุนปลูกยางพาราโดยกู้เงินมาลงทุน บางรายรับจ้างปลูกยางที่ภาคใต้หลายปี กว่าจะมีเงินมาลงทุนก็นาน
“ผมอยากให้รัฐบาลเข้าใจเรา และเชื่อมั่นในข้อเสนอของชาวบ้าน ยอมรับวิธีการทำโฉนดชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร และสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสม ไม่ใช่การทวงคืนโดยเหมารวมและพิสูจน์สิทธิอย่างไม่เป็นธรรม การทำเช่นนี้จะส่งผลให้คนจนเพิ่มขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา ทั้งๆ ที่รอบเขตสวนป่าและป่าสงวนแห่งชาติรีสอร์ทหลายแห่งไม่ได้ถูกทำลายหรือถูกฟ้องร้องแม้แต่รายเดียว” นิด กล่าว
ที่มา: transbordernews