ชาวบ้านทำพิธีเรียกขวัญยายจันทรา หลังถูกทหาร-ป่าไม้ โค่นยางทิ้ง

ชาวบ้านทำพิธีเรียกขวัญยายจันทรา หลังถูกทหาร-ป่าไม้ โค่นยางทิ้ง

20152805154556.jpg

รายงานโดย : สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

28 พ.ค. 2558 ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในเรื่องที่ดินทำกิน ในนามเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร มา ร่วมผูกข้อต่อแขนเรียกขวัญให้นางจันทรา บังทอง วัย 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง หมู่ 19 ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ภายหลังจากเมื่อวันที่ 15 พ.ค.58  นายสนอง แก้วอำไพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก พร้อมด้วยกำลังทหารจากค่ายกฤษณ์สีวะรา บุกเข้าทำลายโค่นตัดฟันต้นยางพาราไปกว่า 2,000 ต้น ในเนื้อที่ 18 ไร่

นางจันทรา กล่าวด้วยน้ำเสียงปนสะอื้นและตื้นตันใจ ว่า ขอบใจลูกๆ หลานๆ ที่ยังเป็นห่วงและมาปลอบขวัญให้กำลังใจ แม้จะมีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด และสะเทือนใจที่มาถูกทหารและป่าไม้เข้ามาตัดฟันต้นยางทิ้งไปอย่างไร้ความปราณี สภาพตอนนี้ของยายก็ยังคิดอะไรไม่ออก เพียงแต่ห่วงที่สุดคือครอบครัวและหลานๆ ที่กำลังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ ยังไม่รู้ว่าจะหารายได้ทางไหนส่งไปให้เรียน เพราะพื้นที่สวนยางดังกล่าวเป็นผืนดินสุดท้ายที่เป็นแหล่งรายได้ของครอบครัว

20152805154838.jpg

นางจันทรา เล่าว่า ขณะนี้อาศัยอยู่กับครอบครัวของลูกชายคนที่ 8 (นายสาโรจน์ บังหอม) ซึ่งต้องไปหารับจ้างต่างจังหวัดแล้ว ส่วนสามีก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2539 มีลูกๆ ทั้งหมด 9 คน เสียชีวิตไปแล้ว 2 คน ลูกชายอีกคนก็หายสาบสูญไปตั้งแต่อายุ 14 ปี ลูกๆ ที่เหลือต่างก็แยกย้ายไปอยู่กับครอบครัวกันหมด 

“อายุยายล่วงเลยวัยมาถึงเพียงนี้แล้ว เป็นห่วงก็แต่ลูกๆหลานๆ เพราะก็เคยได้ยินมาเหมือนกันว่า จะมีพื้นที่อื่นที่จะถูกตัดต้นยางทิ้งเหมือนกับของยายอีก ยังไงก็ขอความคุ้มครองให้ลูกๆ หลานๆ และทุกๆ คน รอดพ้นปลอดภัยจากการถูกกระทำใดๆ ที่จะเกิดผลกระทบต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินด้วยเถิด” นางจันทรา กล่าวทิ้งท้าย

ล่าสุดวันนี้ (28 พ.ค. 2558) เครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนครได้เดินทางไป สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 จ.อุดรธานี  เพื่อร่วมพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวกับเจ้าหน้าที่รัฐ

20152805154758.jpg

ทั้งนี้ เมื่อวันที่16 พ.ค.58 ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบในนามเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ได้มาร่วมกันจัดประชุม เพื่อให้ขวัญกำลังใจกันและร่วมสรุปหาแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งเพื่อเตรียมยื่นหนังสือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าพื้นที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง นอกจากนี้เพื่อเป็นป้องกันการถูกทำลายที่จะเกิดขึ้นอีก เพราะได้รับทราบข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่มีเป้าหมายตัดฟันต้นยางชาวบ้านต่อไปอีก 

20152805154858.jpg

ด้านนายสวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านคนไร้สิทธิสกลนคร ให้ข้อมูลว่า ปัญหาข้อพิพาทกระทั่งเกิดเป็นปมสู่ความขัดแย้ง ที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านนับเรื่อยมานั้น สาเหตุเกิดจากการประกาศพื้นที่ป่าไม้เป็นอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2552 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ อ.ส่องดาว อ.วาริชภูมิ อ.นิคมน้ำอูน อ.กุดบาก อ.ภูพาน จ.สกลนคร อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี และ อ.สมเด็จ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ประมาณ 252,898 ไร่ หรือประมาณ 404 ตารางกิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านที่มีที่ดินทำกินมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ได้รับความเดือดร้อน จนต้องมีการเรียกร้องให้ตั้งคณะทำงานพิสูจน์สิทธิการถือครองที่ดิน และให้ชะลอดำเนินคดีต่อชาวบ้านไว้ก่อนจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิถือครองที่ดิน

สวาท บอกว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้ร่วมจัดตั้งเป็นเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร ในวันที่ 5 ม.ค. 2553  จากนั้นได้เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าฯ สกลนคร ให้ชะลอการจับกุม และตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อ 22 ม.ค. 2553 ผู้ว่าฯ สกลนคร มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ แก้ไขปัญหา โดยมีผู้ว่าฯ เป็นประธาน และคณะกรรมการประกอบด้วย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนชาวบ้านจากทุกอำเภอใน จ.สกลนคร  รวมทั้งตัวแทนจากคณะทำงานระดับอำเภอในจังหวัดอื่นที่อยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก

ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ บอกอีกว่า จากนั้นมีการประชุมของคณะทำงานระดับอำเภอ และจังหวัดติดต่อกันเรื่อยมาเพื่อพิจารณาแก้ปัญหา โดยมีข้อตกลงเป็นแนวทางแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1. ให้ชะลอการจับกุม ดำเนินคดีต่อชาวบ้าน 2. ให้ชาวบ้านสามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของตนได้ 3. ให้เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการถือครองในพื้นที่ทับซ้อน 

นอกจากนี้เครือข่ายฯ ได้เข้าร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ซึ่งหลังรัฐประหาร คสช. มีคำสั่งที่ 64/57  และแผนแม่บทป่าไม้ฯ  ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก โดยทาง พีมูฟ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล รวมทั้งมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง โดยทุกครั้งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน แต่ในภาคปฏิบัติเจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินตามมติข้อตกลง ใช้มาตรการทางกฎหมาย ข่มขู่ คุกคาม จับกุมดำเนินคดีต่อชาวบ้านจำนวนมาก รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุด ที่ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐกระทำเกินกว่าเหตุ ฝืนมติข้อตกลง บุกรุกทำลายต้นยางพาราที่ชาวบ้านปลูกไว้

“ส่วนกรณีแปลงของนางจันทรานี้ เริ่มปลูกยางพารา ปี 2548 ก่อนหน้านี้ปลูกมันสำปะหลัง และไม้ผลไม้ยืนต้น กระทั่งปี พ.ศ. 2551 มีการแจ้งความดำเนินคดี แต่ไม่พบผู้กระทำความผิด ต่อมาเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร มีการชุมนุม ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของสมาชิกเครือข่ายฯ กรณีอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก จำนวน 600 ราย โดยผลการประชุมมีข้อตกลงว่าจะไม่มีการคุกคามชาวบ้าน และผ่อนผันทำประโยชน์ต่อไป โดยแปลงที่ปลูกยางพารามาก่อนวันที่ 15 ก.ย. 2551 สามารถทำประโยชน์ต่อไปได้” สวาท กล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ