กลิ่นความตายที่นาบัว

กลิ่นความตายที่นาบัว

 227758_184639251583126_3616116_n

เรื่องเเละภาพ: ศรายุทธ ฤทธิพิณ

“หากหมุนเวลาย้อนไปสู่ช่วงปี 2501 นับแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาแก้ไขหวังคืนความสุขสงบให้บ้านเมืองด้วยวิถีการรัฐประหาร ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่ง ที่นำประเทศเข้าสู่เผด็จการอย่างเต็มขั้นที่สุด สั่งจับคนมาขัง สั่งประหารชีวิต โดยไม่ต้องมีการพิจารณาในชั้นศาล”

“หากเราไม่สามารถทำให้ความเหลื่อมล้ำคลายลงไปได้ นั่นถือว่ายังไม่บรรลุเป้าการปฏิวัติที่แท้จริง การปฏิวัติที่แท้จริง คือการกำจัดชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบ ที่อัดแน่นสุมในหัวใจของประชาชน…”

ลมร้อนปลายเดือนเมษา ระอุราวจะหลอมสรรพสิ่งให้ละลาย นานกว่าชั่วโมงที่ผมนั่งอยู่ใต้ศาลาผุๆ โทรมๆ  แดดยามบ่ายร้อนเปรี้ยง ไม่มีร่มไม้ใหญ่ให้พออาศัย ความร้อนอวดโฉม ระเหยขึ้นมาจากพื้นถนนลาดยาง มองเห็นเป็นเปลวไฟพล่านพลุ่ง

“โน่น..!!มาแล้ว” ผมคิดในใจ

รถสองแถวเก่าๆ วิ่งโขยกเขยกโผล่จากโค้งถนน นาแก – นครพนม ไม่กี่อึดใจ ผมขยับมือโบก รถชราคันนั้นวิ่งมาหยุดตรงหน้าพอดี

“ผ่านบ้านนาบัว หรือเปล่าครับ”

“อ๋อ..!! บ้านเสียงปืนแตก ขึ้นเลยจ๊ะ รูปหล่อ”

ผมรีบใช้ข้อมือจับเสาเหล็กท้ายรถ ก่อนเหวี่ยงตัวเองเข้าไปข้างใน ขณะเดียวกันก็แอบอมยิ้มจนแก้มปริ เมื่อนึกถึงเสียงใสๆ ของสาวน้อย ผู้ทำหน้าที่เก็บเงิน เอ่ยออกมาว่า ขึ้นเลย รูปหล่อ…

226727_184638818249836_7848746_n

กว่า 2 ชั่วโมงรถถึงนำมาสู่จุดหมาย ผมเดินตัดเข้าหมู่บ้าน ความร้อนที่แผ่ซ่านมาตลอดทาง ค่อยๆ บางเบา เมื่อแสงตะวันรอนเข้ามาปกคลุมไปด้วยบรรยากาศที่โชยเข้ามาเตะต้องกายอย่างเย็นเฉียบ

เมื่อมาหยุดหน้าบ้านเรือนไทย ยกเสาสูงทรงโบราณต้นฉบับชาวภูไท ผักหวานแตกยอดอ่อนตามริมรั้วไม้ไผ่ เสียงนกบนยอดไม้ร้องทัก ไม่กี่อึดใจ ผมจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด จากเจ้าของเรือนไม้ รวมทั้งคนในหมู่บ้านนี้ !!

“หากหมุนเวลาย้อนไปสู่ช่วงปี 2501 นับแต่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้ามาแก้ไขหวังคืนความสุขสงบให้บ้านเมืองด้วยวิถีการรัฐประหาร ถือเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่ง ที่นำประเทศเข้าสู่เผด็จการอย่างเต็มขั้นที่สุด สั่งจับคนมาขัง สั่งประหารชีวิต โดยไม่ต้องมีการพิจารณาในชั้นศาล”

เสียงห้าวๆ กังวาน มีพลังของผู้เฒ่าร่างเล็ก ใบหน้าคมสัน ริ้วรอยบนใบหน้าแสดงถึงประสบการณ์ชีวิตอันโชกโชน ที่น้อยคนจะเทียบได้ แม้อยู่ในวัย 84 ปี เจ้าของเสียง บ้านทรงไทยคนนี้ชื่อ นายชม แสนมิตร หรือสหายตั้ง ครั้นได้สนทนากับผู้มาเยือน ที่เดินทางมาตามรอยประวัติศาสตร์ ณ หมู่บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม

224647_184638518249866_8174925_n

สหายตั้ง เล่าว่า

“ต้นปี 2504 ลุงและชาวบ้านนาบัว ไปเรียนรู้ยุทธวิธีการต่อสู้ ในแขวงไชยะบุรี พร้อมเข้าร่วมกับกองทหารป่า ของเจ้าสุภานุวงศ์ ผู้นำขบวนการลาวรักชาติต่อต้านฝรั่งเศส เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพให้กับประเทศลาว ครั้นกลับมาบ้านนาบัวได้สามวัน ราวตี 3 ของคืนวันที่ 20 สิงหาคม 2504 ขณะที่ความมืดแผ่อำนาจปกคลุมไปทั่ว หลายชีวิตต่างซ่อนกายหลบอยู่ภายในบ้าน ไม่มีใครกล้าไปไหน มีเพียงลุง กับนายทอง แสงระมน หรือสหายจ่อย และสหายหนูทอง นั่งอยู่บนเขียงนาทางเข้าหมู่บ้าน

“ทันใดนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณ 10 นาย นำโดย ผู้กอง บุญถิ่น วงศ์รักมิตร (ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญ ยศนายพล อยู่โคราช) นำกำลังเข้ามาหวังล้อมจับ แล้วเสียงปืนก็กังวานทั่วท้องทุ่ง ลุงกับสหาย สู้พลาง ถอยพลาง ด้วยเสียเปรียบทั้งด้านกำลังและอาวุธ

“เย็นถัดไปอีกวัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ หลายร้อยนาย พร้อมอาวุธสงคราม มาไล่จับลุง พร้อมกับบุคคลอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ไปขังที่นครพนม,สกล, เรือนจำคลองไผ่, คุกลาดยาว, บางเขน และจบลงที่วังปารุกวัน กว่า 4 ปี ที่ถูกคุมขัง โดยข้อกล่าวหา มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

“เป็นเพราะรัฐบาลใช้อำนาจที่ไม่ถูก เพราะทหาร-ตำรวจ ที่เป็นผู้ถือปืน กลับกลายเป็นผู้ทำตัวอยู่เหนือกฎหมาย กดดันให้ชาวบ้านต้องจับอาวุธ กี่ครั้งแล้วที่คนไทยต้องฆ่ากันเอง กี่หนแล้วเล่าที่ไม่มีใครเรียนรู้จากบาดแผลของมันสักที ทั้งๆที่กงล้อประวัติศาสตร์วงนี้ มันหมุนซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า”

สหายตั้ง เล่าต่อไปว่า

แม้วันที่ 20 สิงหาคม 2504 ยังไม่ถือเป็นวันเสียงปืนแตก แต่นั่นก็เป็นเครื่องการันตีมาก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ ที่ทำให้ชาวบ้านแบกรับความหนักหน่วงไม่ไหว เพราะถูกรัฐบาลกลั่นแกล้ง รังแก พยายามสยบความเคลื่อนไหวผู้มีความคิดต่างทางการเมือง ด้วยวิธีป่าเถื่อน และบ้าคลั่ง

คนไม่ผิดมันก็จับไปขัง ตั้งข้อหาให้เป็นคอมมิวนิสต์ เหตุนี้ลุงและชาวบ้านนาบัว จึงเริ่มศึกษาถึงการที่ประชาชนถูกเอาเปรียบมาตั้งแต่ปี 2497 กระทั่งปี 2504 ไปเรียนรู้ยุทธวิธีการต่อสู้ ในแขวงไชยะบุรีและเข้าร่วมกับทหารป่า ของเจ้าสุภานุวงศ์ เพื่อขับไล่ฝรั่งเศส

หลังลุงกลับมาจากฝั่งลาว จึงเกิดการเสียลับ แล้วเสียงปืนก็ค่อยๆ กรีดกังวานขึ้น และเงียบหายไปในราวป่า เงียบเหมือนฝีเท้าของความตายที่กำลังมาเยือนหมู่บ้านแห่งนี้

7 ส.ค.วันเสียงปืนแตก

สี่ปีต่อมา ภายหลังสหายตั้งพ้นจากคุกมาไม่กี่เดือน เสียงปืนก็กังวานขึ้นอีกครั้ง ครานี้เป็นต้นกำเนิดแห่งสงครามประชาชน ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยประกาศเป็นวันเสียงปืนแตก ที่หมู่บ้านนาบัว 7 สิงหาคม 2508 เป็นจุดปะทะแรกที่ชาวบ้านนาบัวจับอาวุธสู้กับกองกำลังเจ้าหน้าที่รัฐบาล ขณะนั้นชาวบ้านพลีชีพไป 1 คนคือ นายเสถียร จิตมาตร์

“ตอนนั้นสหายเสถียร ถูกยิงล้มคว่ำจมกองเลือด สหายต่างพากันหามเข้าที่กำบัง แต่อาการของเขาตอนนั้นสาหัสมาก หายใจรวยริน พูดไม่ได้แล้ว จึงไม่มีทางจะแก้ไขอะไรได้” ลุงชมกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ผมสังเกตเห็นหยดน้ำใสๆ ขังอยู่ในดวงตาคู่นั้น

บทบันทึก ใต้ร่มโพธิ์

ผมกลับมานั่งใต้ร่มโพธิ์ลานวัดบัวขาวหรือวัดนาบัวที่ว่างเปล่า และเงียบเหงา ศูนย์รวมทางพุทธศาสนากลางหมู่บ้านนี้ ชาวบ้านนาบัวต่างบอกว่า ฝ่ายรัฐบาลเคยมาตั้งค่ายทหาร คอยจับชาวบ้านมากักขังรวมในคอกเหมือนหมู ไว้รอไปเชือด รอบข้างวัดจึงมักมีแต่เจดีย์เก็บอัฐิเรียงรายเป็นแถว

“ความตายคือการกลับบ้าน มันเป็นสัจธรรมแห่งธรรมชาติที่ไม่เคยหลีกทางให้ผู้ใด ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นไพร่ หรือราชา ความตายเกิดขึ้นได้หลายสถานะ ตายจากโรคภัย จากอุบัติเหตุ จากการถูกวิสามัญ ตายจากการรบ ตายอย่างวีรชน ความตายบางครั้งก็หนักแน่นกว่าขุนเขา บ้างก็เบาโหวงดุจขนนก” เคยมีคำกล่าวถึงความตายไว้เช่นนั้น

ลมยามเย็นโบกมาเบาๆ เสียงนกหลายตัวกระซิบกัน ฟังคล้ายดนตรีจากอีกโลกหนึ่ง เป็นบรรยากาศที่หายากขึ้นทุกวันในชนบท ซึ่งมักถูกความเจริญของเมือง รุกล้ำเข้ามามากขึ้นทุกที ผมนั่งนิ่ง นานเท่าใดไม่รู้ ราวว่าลืมกาลเวลาภายนอกไปหมดสิ้น ทำไมยามมานั่งลานวัดที่เบื้องหน้าเป็นเมรุเผาศพ จึงรู้สึกหดหู่ เงียบเหงา ความหลังมักจู่โจมเข้ามาให้ระลึกเป็นฉากๆ เสมอ ในใจหวนนึกถึงชาวบ้านและเจ้าหน้าที่รัฐมากมาย ที่ต้องมาตายเพราะสงครามประชาชน มันเป็นความตายของผู้บริสุทธิ์ ที่ตกเป็นเหยื่อท่ามกลางความบ้าคลั่งของผู้มีอำนาจ

ทุกสิ่งไม่ได้เกิดขึ้นในวันเสียงปืนแตก หากแต่สะสมพอกพูนบน 2 ไหล่ของประชาชนมานานแล้ว กระทั่งเมื่อแบกรับน้ำหนักต่อไปไม่ไหว ชาวบ้านจำต้องลุกฮือถือปืน

ลุงชมบอกว่า บ้านเมืองช่วงนั้นเต็มไปด้วยความวุ่นวาย มีคนตายไปเพราะแนวคิดต่างกันมากมาย ถูกอุ้มหาย ถูกฆ่าอย่างเงียบๆ ไม่มีพิธีรดน้ำศพ ไม่มีพวงหรีด ไม่มีดอกไม้จันทร์ ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่รัฐข่มแหง จับไปซ้อมเตะตี ไม่พอใจก็ฆ่าทิ้ง พร้อมทั้งกล่าวหา และบังคับให้ชาวบ้านเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์

229503_184638944916490_6041434_n

ทั้งๆ ชาวบ้านไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคอมมิวนิสต์หน้าตาเป็นอย่างไร ชาวบ้านรู้เพียงแต่ว่าพวกเขาต้องการอิสระเสรีภาพ ต้องการปลดแอกจากการถูกเอาเปรียบทางสังคม ที่สุดรัฐบาลก็ผลักดันให้ชาวบ้านต้องจับปืน ลุงชมเองไม่อยากจากบ้าน แต่จำใจต้องออกไปรบเป็นทหารป่า ไปพร้อมกับลูกชายและลูกสาว 2 คน ที่อยู่ในวัยเพียง 16 และ 17 ปี จำต้องพรากจากอกแม่ ลุงชมต้องฝืนจำลาภรรยาอันเป็นที่รัก

มันเป็นช่วงชีวิตที่ลำเค็ญของลุงชมและชาวบ้านมาก ข่าวการสูญเสียของพี่น้องที่ออกไปรบ บรรยากาศเต็มไปด้วยเสียงร่ำไห้ น้ำตารินไหลเป็นสายเลือด ช่วงที่ลุงชมเข้าป่า ภาระที่บ้านต้องตกอยู่กับภรรยา ทั้งทำนา ทั้งไถ ปัก ดำ เก็บ เกี่ยว สุดสาหัสกว่านั้นคือ ภรรยาของลุงชมไม่มีทั้งการสั่งเสีย ไม่ได้กล่าวแม้แต่คำลา ไม่มีโอกาสได้โอบกอดกราบไหว้ศพลูกสาวที่ต้องตายไปด้วยคมกระสุนของทหารรัฐบาล และพลัดตกหน้าผา หายสาบสูญไปบนเขาเทือกเขาภูพาน

ลานวัดยังคงว่างเปล่า และเงียบเหงา ได้ยินเพียงเสียงลมกรรโชกแกว่งกิ่งก้านใบโพธิ์ไปทางซ้ายที ขวาที ตามจังหวะ ตะวันหยาดสุดท้ายมองดูเยือกเย็น หม่นหมอง ความรู้สึกเหมือนถูกผสมไปด้วยความเงียบเพื่อไม่ให้ความเศร้าเข้ามาสะเทือนความรู้สึกมากกว่านี้ ผมลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบท ก่อนเดินกลับไปยังบ้านลุงชม พร้อมแหงนมองฝูงนกโผบินกลับสู่รัง ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นชุดสุดท้ายในเย็นนี้

พบเพื่อจาก พรากเพื่อเจอกันใหม่

อากาศต้นเดือนพฤษภาในช่วงสายยังคงร้อนระอุ ราวจะหลอมสรรพสิ่งให้ละลาย ใบไม้แห้งกร้านเป็นสีน้ำตาล หลังกลับจากนาบัว มาตามทางหลวงที่ตัดข้ามเขาภูพาน จากสกลนคร มุ่งสู่กาฬสินธุ์ ขณะรถวิ่งผ่านจุดช่วงโค้งคดเคี้ยวที่สุด ตรงนี้เคยเป็นสมรภูมิที่ทหารป่าพลีชีพไปหลายราย ผมสังเกตถนนช่วงนี้ ทางขึ้นลง สูงชัน คดเคี้ยว ซอกซอนไปตามขุนเขา เสมือนวิญญาณที่ล่องลอยของทหารป่า หรือทหารประชาชน ซุกซ่อนอยู่ในอ้อมอกของภูผา…. รอการทวงคืน

รถทิ้งโค้งผ่านพ้นสู่ทางเลียบตรงไม่นาน ผมนึกย้อนไปถึงชาวบ้านนาบัว และลุงชม แสนมิตร หรือสหายตั้ง ผู้เฒ่าที่ฟ้าลิขิตให้ผ่านชีวิตมานับครั้งไม่ถ้วน เคยติดคุกการเมือง เคยเป็นทั้งนักปฏิวัติ เคยเป็นทหารป่า ทุกช่วงชีวิตที่ลุงชมเป็นอยู่ คือความเป็นผู้มีอุดมการณ์ เพื่อการปลดแอกสังคมสู่โครงสร้างใหม่ ที่ดีงาม และทรงคุณค่าตามวิถีของประชาชน

คำเอ่ยลากลางแสงจันทร์เมื่อคืนนั้น คล้ายดั่งต้องมนต์… ครั้งเดียวคงยังไม่พอ และอีกครั้งก็ยังคงไม่พอเช่นกัน ผมเอ่ยคำมั่น สักวันหนึ่งจะมาเยือนที่นี่อีก ‘บ้านนาบัวเสียงปืนแตก’

ภูพาน อ้อมอกอีสานตอนกลาง

นับแต่ปี 2508 – 2526 ที่สงครามประชาชนแถบภาคอีสานจะปิดฉากลงอย่างหลวมๆ ด้วยแผนนโยบาย 66/23 สมัยรัฐบาล พลเอกเปรม ติณณูลานนท์ ให้ชาวบ้านที่มีความคิดเห็นต่างกับรัฐ ออกมามอบตัวมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท.

ทว่าเป็นเรื่องปฎิเสธได้หรือไม่ว่าประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ด้วยปลายกระบอกปืน จะถูกหลอมให้เลือนหายไปกับกาลเวลา ทั้งๆ ที่โครงสร้างสังคมไทยยังคงเป็น ประชาธิปไตยแบบที่กล่าวกันโดยทั่วไปว่า กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา และกึ่งทุน เป็นเรื่องที่ปฎิเสธได้หรือไม่ว่า ผ่านพ้นยุคสงครามประชาชนไปแล้ว สงครามที่ปะทะขึ้นมาอีกนั้น คือสงครามแย่งชิงทรัพยากร ระหว่างอำนาจรัฐที่ถือกฎหมายอยู่ในมือ จะเข้ามากระทำกับประชาชน

ฉะนั้น ตราบใดชนชั้นที่เอารัดเอาเปรียบ ยังคงซ่อนสุมอยู่ เราประชาชนจะทนอยู่กับสิทธิเสรีภาพที่มืดบอดทางแสดงความคิดเช่นนี้ได้อย่างไร

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ