จับตาคดีประวัติศาสตร์ ‘2 หนุ่มเมืองตาก’ ฟ้องรัฐทำกลุ่มชาติพันธุ์นับพัน ‘ไร้บัตร ปชช.’ 30 พ.ค.นี้

จับตาคดีประวัติศาสตร์ ‘2 หนุ่มเมืองตาก’ ฟ้องรัฐทำกลุ่มชาติพันธุ์นับพัน ‘ไร้บัตร ปชช.’ 30 พ.ค.นี้

จับตาศาลปกครองพิษณุโลกนัดไต่สวนคำฟ้องคดีประวัติศาสตร์ 2 หนุ่มคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ร้องศาลปกครอง ฟ้องหน่วยงานรัฐบันทึกประวัติการเกิดผิดแต่ไม่ยอมแก้ไข ทำชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์นับพันไร้บัตรประชาชน นักกฎหมายแนะ รมว.มท.-อธิบดี ปค.ดูข้อเท็จจริง  กสม. คาดคนที่ถูกบันทึกข้อมูลผิดพลาดจากความจริงมีจำนวนหลักหมื่น

20162905184052.jpg

เผยแพร่ครั้งแรก: สำนักข่าวชายขอบ

29 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 30 พ.ค. 2559 เวลา 14.00 น. ศาลปกครองพิษณุโลกนัดไต่สวนคำฟ้องคดีสำคัญที่จะส่งผลต่อชาวบ้านที่ประสบปัญหาด้านสถานะบุคคลอีกนับพันคน กรณีนายเบียะอ่อ ไม่มีนามสกุล และนายชนินทร์ ไม่มีนามสกุล คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่ได้ฟ้องหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คดีดังกล่าวมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 – นายทะเบียนจังหวัดตาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นายอำเภอท่าสองยาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และนายทะเบียนอำเภอท่าสองยาง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 

ทั้งนี้ นายเบียะอ่อและชนินทร์ เป็นลูกหลานคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ซึ่งในชั้นบรรพบุรุษอพยพหนีภัยความตายจากสงครามชายแดนเมียนมาร์เข้ามาในประเทศไทย ทั้ง 2 เกิดในประเทศไทย ณ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก (นายเบียะอ่อ เกิด 2528, นายชนินทร์ เกิด 2524) ซึ่งหมอตำแยประจำหมู่บ้านเป็นผู้ทำคลอดให้ เนื่องจากทั้ง 2 เกิดก่อนการตั้งโรงพยาบาลท่าสองยาง

ในปี พ.ศ. 2534 สำนักทะเบียน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ได้จัดทำทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง ครอบครัวของนายเบียะอ่อ (6 ขวบ) และนายชนินทร์ (10 ขวบ) ได้เข้ารับการบันทึกและจัดทำทะเบียนประวัติดังกล่าว ด้วยบุพการีของทั้ง 2 ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ เช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ๆ จึงต้องใช้ล่ามช่วยแปลภาษา และด้วยความเร่งรีบของการจัดทำทะเบียนประวัติของคนหลายร้อยคน ประกอบกับความไม่เข้าใจภาษาที่สื่อสาร ทั้ง 2 จึงถูกบันทึกทะเบียนประวัติหลายรายการผิดพลาดจากความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกบันทึกผิดพลาดจากความเป็นจริงว่า ‘เกิดพม่า’ 

20162905184123.jpg

นายชนินทร์ เปิดเผยว่า ตนเรียนจบสาธารณสุขศาสตร์ สาขาสาธารณสุขชุมชน และทำงานด้านนี้มานานกว่า 10 ปี แต่ไม่สามารถพัฒนาตนเองจากวิชาชีพที่ได้เรียน เพราะถูกปฏิเสธการรับรองสัญชาติไทย จึงประสบปัญหาความไร้สัญชาติซึ่งที่ผ่านมาพยายามหาทางแก้ไขมาโดยตลอด

“ผมได้ร้องขอความช่วยเหลือและเรียกร้องกระบวนการยุติธรรม เพื่อขอแก้ไขรายการในแบบพิมพ์ทะเบียนประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงที่ถูกระบุผิดว่าเกิดในพม่า ขอแก้ไขคำเป็น ‘เกิดในไทย’ ตามข้อเท็จจริง เพราะผมมีพยานรู้เห็นการเกิดมารับรอง ผมไปขอความช่วยเหลือและติดต่อที่อำเภอ แต่ถูกปฏิเสธทุกครั้งว่าทะเบียนประวัติฯ ไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่มีระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติ” นายชนินทร์ กล่าว

ขณะที่นายเบียะอ่อ หรือยาว กล่าวด้วยความน้อยใจว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 – 2546 ซึ่งเพิ่งจบชั้น ป. 6 เพราะเรียนช้า ได้รู้ว่าทะเบียนประวัติผิดพลาดจากความเป็นจริง จึงพยายามขอแก้ไขทะเบียนประวัติมาโดยตลอด แต่ถูกปฏิเสธว่าไม่รู้ ทำไม่ได้ ตั้งแต่ระดับผู้ใหญ่บ้าน ปลัดทะเบียน และนายอำเภอ ผ่านช่วงของนายอำเภอมา 3 รุ่น และปลัดอำเภอมา 3 รุ่น จนถึงป่านนี้เรื่องของตนเองยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาใด ๆ เลย จึงตัดสินในมาเรียกร้องความเป็นธรรมต่อศาลปกครองพิษณุโลก

“ผมเป็นเพียงชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง มันยากเหลือเกินกับการต้องต่อสู้ในระดับนี้ รู้สึกเหนื่อยและท้อเหลือเกิน ทำไมความยุติธรรมถึงไม่มีให้กับผมเลย ทั้ง ๆ ที่ผมเองก็เกิดในแผ่นไทย มีความรักชาติ รักแผ่นดิน รักประเทศไทยเหมือนกัน ผมจะทำอย่างไรดี ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนี้ ผมขอความเมตตาจากท่านได้โปรดมาช่วยทำเรื่องนี้ให้กับผมด้วยครับ เพื่อให้ผมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่นคนไทยทั่วไป สามารถพัฒนาองค์ความรู้ เป็นกำลังของประเทศชาติ ตลอดจนการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอน และพัฒนาสังคมในประเทศไทยต่อไปครับ” นายเบียะอ่อ กล่าว

ปัจจุบันนี้ ชนินทร์ และ เบียะอ่อหรือยาว ทำงานเป็นบุคลากรสาธารณสุขไร้สัญชาติแห่ง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ทั้งคู่ตัดสินใจลุกขึ้นมาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เรื่อง พิสูจน์การเกิดในประเทศไทย และแก้ไขทะเบียนประวัติที่ผิดพลาดจากความเป็นจริง เพื่อเข้าสู่สิทธิในการขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551 เรื่องราวของทั้ง 2 คนเป็นตัวแทนของหลากหลายคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ชายแดน หากการต่อสู้ครั้งนี้ได้รับชัยชนะในชั้นศาล จะเป็นมาตรฐานให้กับผู้คนอีกมากมายที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกัน

นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าเป็นที่ชัดเจนทางข้อกฎหมายและข้อนโยบายของกรมการปกครองเองว่า สิทธิในการแก้ไขเอกสารราชการให้สอดคล้องกับความจริงเป็นสิทธิของเจ้าของข้อมูล การปฏิเสธของอำเภอท่าสองยางจึงเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนั้น แนวคิดและวิธีการรับฟังพยานบุคคลในเรื่องนี้ก็มีทางปฏิบัติที่ชัดเจนทั้งในแนวคำพิพากษาในคดีปกครองตั้งแต่ในยุคที่ยังพิจารณาโดยศาลยุติธรรม จนมาถึงศาลปกครอง และอธิบดีกรมการปกครองก็เคยมีหนังสือสั่งการกำหนดวิธีการที่ชัดเจนมาแล้วหลายฉบับ เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา

“ที่น่าสังเกต ก็คือ ในอำเภออื่นในจังหวัดตากเอง ก็มีการพิจารณาให้ความยุติธรรมแก่ชาวบ้านที่ถูกบันทึกผิดในทะเบียนประวัติได้ตามเกณฑ์ที่วางเอาไว้โดยกรมการปกครองเอง จึงควรที่จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอธิบดีกรมการปกครองลงมาดูว่า เกิดอะไรขึ้นในสองเรื่องนี้ การอำนวยความยุติธรรมในระดับอำเภอจึงทำไม่ได้ ทั้งที่ควรทำได้ ความชัดเจนของท่าทีของฝ่ายบริหารของกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองในเรื่องอย่างนี้จะทำให้แก่ความชัดเจนในการจัดการปัญหาในลักษณะเดียวกันที่เกิดอยู่ตลอดแนวชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ท่านทั้งสองนี้ คงจะต้องลงมาสร้างความชัดเจนว่า การอำนวยความยุติธรรมในระดับอำเภอต่อคนที่ประสบปัญหาความไร้สัญชาติของมนุษย์ที่เกิดและอาศัยตลอดชีวิตบนพื้นที่อำเภอนี้ เป็นอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด หรือเป็นอำนาจตามอำเภอใจของผู้ดำรงตำแหน่งทั้งสองในพื้นที่” นางพันธุ์ทิพย์กล่าว

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวว่าหลักนิติธรรมในเรื่องของการรับฟังคำพยานของชาวบ้านยากจน น่าจะปรากฏชัดเจนทั้งกฎหมายของรัฐสภา ตลอดจนปกติประเพณีการปกครองของกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองเอง ดังนั้นการใช้ดุลพินิจแบบอัตวิสัยมากเกินไป ย่อมจะทำให้เกิดมนุษย์โชคร้ายที่ไม่อาจมีรัฐเจ้าของสัญชาติได้เลย คงถึงเวลาที่ศาลปกครองจะต้องออกมาอำนวยความยุติธรรมเสียแล้ว เมื่อฝ่ายบริหารไม่อาจอำนวยความยุติธรรมในสถานการณ์นี้ 

“สถานการณ์ด้านข้อเท็จจริงที่ผู้ฟ้องคดีประสบ ก็เป็นสถานการณ์เดียวกับชาวบ้านแม่อาย 1,243 คน ซึ่งเคยถูกถอนชื่อออกจาก ท.ร.14 เพราะทะเบียนประวัติระบุว่า เกิดในพม่า ทั้งที่ตามข้อเท็จจริงที่ยืนยันโดยคนในชุมชนว่า เกิดในประเทศไทย จึงเป็นเรื่องของคนที่ถูกบันทึกผิดในทะเบียนประวัติตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพบในทุกอำเภอชายแดน” นางพันธุ์ทิพย์ กล่าว 

ขณะที่นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การสำรวจประชากรอย่างเป็นทางการครั้งสำคัญสำหรับชาวเขา หรือบุคคลบนที่สูง มี 2 ครั้ง ครั้งแรกกรมประชาสงเคราะห์ โดยทีมสิงห์ภูเขา พศ.2528-2529 บัตรสีฟ้า และครั้งที่ 2 โดยใช้เงินกู้มิยาซาว่า บัตรเขียวขอบแดง ซึ่งทั้งผู้สำรวจและผู้ถูกสำรวจอาจสื่อสารกันไม่เข้าใจ เพราะในสมัยนั้นชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ห่างไกล ไม่มีโรงเรียน จึงไม่รู้ภาษาไทย และผู้ถูกสำรวจไม่ได้ตรวจสอบเอกสารทางทะเบียนราษฎรว่าตนถูกบันทึกข้อมูลไว้ว่าอย่างไร โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญที่เป็นหลักเกณฑ์ในการพัฒนาสถานะทางกฎหมาย คือสถานที่เกิด วันเดือนปีเกิด และปีที่พ่อแม่อพยพเข้ามาสู่ประเทศไทย
 
ตัวอย่างชาวเขาใน อ.แม่ฟ้าหลวง และอ.แม่จัน จ.เชียงราย ในยุค พศ.2529-2534 คนที่อายุ 30 ปีขึ้นไปมักพูดภาษาไทยไม่ได้ เจ้าหน้าที่จึงมักตั้งสมมุติฐานว่าไม่ได้เกิดในประเทศไทย จึงบันทึกในทะเบียนประวัติว่าเกิดพม่า ลาว หรือ จีน และบันทึกว่าลูกเกิดที่เดียวกับพ่อแม่ด้วย คนที่ถูกบันทึกข้อมูลผิดพลาดจากความจริงคาดว่าจะมีจำนวนหลักหมื่น เมื่อจะขอแก้รายการข้อมูลในทะเบียนประวัติมักถูกปฏิเสธ แม้จะมีคำสั่งจากอธิบดีกรมการปกครองให้ดำเนินการได้ แต่ก็เปิดให้ขึ้นกับดุลยพินิจของนายทะเบียนอำเภอ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ