ศาลจังหวัดเลยนัดอ่านคำพิพากษาพร้อมกัน 2 คดี คดีกลุ่มชายชุดดำปิดล้อมชุมชนขนแร่-คดี บ.ทุ่งคำฯ ฟ้องผู้นำชุมชนละเว้นหน้าที่ติดป้ายไม่เอาเหมือง ด้านคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลร่วมโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล ออกแถลงการณ์ ระบุคำพิพากษาคดีฟ้องนายทหารนำกำลังคนเข้าทำร้ายชาวบ้าน เป็นบททดสอบสำคัญเรื่องสิทธิของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
31 พ.ค. 2559 ศาลจังหวัดเลยนัดอ่านคำพิพากษา 2 คดีสำคัญเหมืองทองคำเลย กรณีชายชุดดำบุกทำร้ายชาวบ้านในชุมชนเพื่อขนถ่ายแร่ และกรณี บ.ทุ่งคำฟ้องผู้นำชุมชนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่และติดป้ายไม่เอาเหมือง ในวันอังคารที่ 31 พ.ค. 2559 เวลา 09.00 น. ณ ศาลจังหวัดเลย อ.เมือง จ.เลย
คดีแรก คดีหมายเลขดำที่ อ. 5440/2557 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ นายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้องพันโท ปรมินทร์ ป้อมนาค และพล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ในความผิดอาญาข้อหาทำร้ายร่างกาย กักขัง หน่วงเหนี่ยว ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
สืบเนื่องจากคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 ในพื้นที่บ้านหนองนาบง อ.วังสะพุง จ.เลย กลุ่มชายชุดดำราว 200 คนได้เข้ามาในชุมชน ทำลายกำแพงกั้นทางเข้า-ออกเหมืองของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดผู้คัดค้านการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เพื่อขนถ่ายแร่ และมีการจับชาวบ้านเป็นตัวประกัน กักขัง ข่มขู่ และทำร้ายร่างกายชาวบ้าน
โจทก์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดเลยในความผิดอาญา และศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2557 และต่อมาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ศาลจังหวัดเลยนัดอ่านคำพิพากษา แต่เมื่อถึงวันนัดศาลฯ สั่งให้มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไปโดยให้เหตุผลว่าสำนวนคดีดังกล่าวยังอยู่ที่สำนักอธิบดีภาค 4 และยังไม่ส่งกลับมา
คดีต่อมาคือ คดีหมายเลขดำที่ อ. 2991/2558 หมายเลขแดง อ.3992/2559 ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เป็นโจทก์ฟ้องนายสมัย ภักดิ์มี ประธานสภาอบต.เขาหลวง และนายกองลัย ภักมี ผู้ใหญ่บ้านบ้านนาหนองบงหมู่ที่ 3 เป็นจำเลย ในข้อหาเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเกี่ยวกับการก่อสร้างซุ้มประตูและติดป้าย ‘หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง’
คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นตัดสินยกฟ้องเพราะคดีไม่มีมูล แต่โจทก์ยื่นอุทธรณ์
ด้านคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ (International Commission of Jurists) และโพรเท็คชัน อินเตอร์เนชั่นแนล (Protection International) ซึ่งส่งตัวแทนเดินทางไปร่วมสังเกตุการณ์คดีของกลุ่มชาวบ้าน ออกแถลงการณ์ร่วม ถึงกรณีที่เกิดขึ้น
แถลงการณ์ระบุว่า คำพิพากษาของศาลจังหวัดเลยที่จะออกมาในวันพรุ่งนี้ (31พ.ค. 2559) ในคดีที่มีจำเลย คือ พล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และพ.ท.ปรมินทร์ ป้อมนาค จะเป็นบททดสอบสำคัญต่อความยึดมั่นของประเทศไทยเรื่องการนำตัวผู้กระทำความผิดทางอาญาต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาลงโทษ
จำเลยทั้งสองถูกกล่าวหาในคดีอาญาว่ามีส่วนร่วมในการใช้ความรุนแรง โดยใช้กลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธ กว่า 100 คน เข้าทำร้ายสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด รวมถึงชาวบ้านนอกเหนือจากกลุ่มดังกล่าวด้วย เหตุเกิดที่บ้านนาหนองบง จังหวัดเลย ในคืนวันที่ 15 พ.ค. 2557 โดยผู้เสียหายถูก ทำร้ายและกักขังไว้มากกว่า 7 ชั่วโมงระหว่างเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 20 ราย โดยในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 7 ราย
แซม ซารีฟี (Sam Zarifi) ผู้อำนวยการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล สำนักงานเอเชีย กล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย คดีนี้กลายมาเป็นคดีสัญลักษณ์ที่นักปกป้องเพื่อสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการที่พยายามคุ้มครองสิทธิชุมชนของพวกเขา” นอกจากนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีคนจำนวนมากกำลังติดตามคดีนี้ เพื่อจะดูว่ารัฐบาลไทยจะได้ทำตามความยึดมั่นของตนเองที่จะคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนหรือไม่”
ทั้งนี้ การบุกโจมตีบ้านนาหนองบงดังกล่าวเกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรวมถึงชาวบ้านในพื้นที่ตั้งสิ่งกีดขวางถนนเส้นในหมู่บ้านที่มุ่งไปทางเหมืองทองคำ ระหว่างการบุกโจมตี ได้มีการทำลายด่านกีดขวาง โดยมีรายงานว่ามีรถบรรทุกจำนวนอย่างน้อย 13 คัน เข้ามาขนแร่จากพื้นที่เหมือง
จากคำให้การบางส่วนของชาวบ้าน พันโททปรมินทร์ และ พล.ท.ปรเมษฐ์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในวันที่ 15 พ.ค. 2557 โดยบุคคลทั้งสองถูกตั้งข้อหาต่าง ๆ รวมถึงข้อหา ‘ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย’ และ ‘การกักขังผู้อื่นโดยมิชอบ หรือการลิดรอนเสรีภาพของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 และ มาตรา 309
แซม ยังได้กล่าวเสริมว่า “หากพิเคราะห์จากรายงานที่น่าเชื่อถือว่ามีกลุ่มชายฉกรรจ์ติดอาวุธมากกว่า 100 นาย เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ไอซีเจมีข้อห่วงใยในประเด็นว่ามีจำเลยเพียงสองรายเท่านั้นที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาจากการโจมตีดังกล่าว ดังนั้น เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยได้สืบสวนคดีใหม่และประกันว่ามีการนำบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมารับผิดชอบ รวมถึงมีการให้การเยียวยาเหยื่อที่เกี่ยวข้องด้วย”
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า คดีดังกล่าวหา มีเหตุเชื่อมโยงมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด โดยในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทางบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญากว่า 19 คดีต่อสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดและชาวบ้านอื่น ๆ จำนวน 33 ราย ซึ่งหนึ่งในการยื่นฟ้องคดีรวมถึงการฟ้องหมิ่นประมาททางอาญากับเด็กหญิงอายุ 15 ปี ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กล่าวข้อความอันไม่เป็นผลดีเกี่ยวกับงานของบริษัทฯ ในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้ (คลิกอ่าน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เลื่อนอ่านคำพิพากษา ‘คดีปิดล้อมชุมชนขนแร่’ ไป 31 พ.ค.นี้ ฟังผลพร้อม ‘คดีฟ้องอาญากรณีชาวบ้านทำซุ้มประตู’ https://thecitizen.plus/node/8757
ฅนรักษ์บ้านเกิดจัดงาน ‘2 ปี วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ’ คืบหน้าคดีฟังพิพากษา 2 นายทหาร 16 พ.ค.นี้ https://thecitizen.plus/node/8750
[คลิป] กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดรำลึก 1 ปี วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ วันที่ทรัพยากรถูกปล้นชิงไปจากแผ่นดิน https://thecitizen.plus/node/5420
รำลึกเหตุการณ์ “ครบรอบ 1 ปี 15 พฤษภา วันขนแร่เถื่อนแห่งชาติ” https://thecitizen.plus/node/5381
กลุ่มชายฉกรรจ์นับ 100 เข้าจับชาวบ้านวังสะพุง พร้อมขนแร่ทองคำยามวิกาล https://thecitizen.plus/node/4066