วันนี้ (24 ก.พ. 2558 ) สื่อมวลชนเผยแพร่ คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558 เรื่อง ลงโทษ ไล่ออกจากราชการ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนื่องจากกระทำผิดข้อบังคับมหาวิทยาลัย ลงนามโดย สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ วันที่ 23 ก.พ. 2558
เนื้อหาของเอกสารดังกล่าว มีดังนี้
คำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 356/2558
เรื่อง ลงโทษไล่ออกจากราชการ
ด้วยอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลขที่อัตรา 2793 อัตราค่าจ้าง 37,480 บาท ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง โดยมีพฤติการณ์เมื่อได้รับบันทึกฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2557 จากหัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ แจ้งให้ทราบถึงการพิจารณาอนุมัติการลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม 2557 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2558 ว่าการพิจารณาเป็นไปด้วยความล่าช้าและระยะเวลาได้ล่วงเลยไปถึง 6 เดือนแล้วยังไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติจากมหาวิทยาลัย และแจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการ และรับมอบหมายภาระงานสอนในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2557 ให้จำนวน 2 วิชา คือ ประวัติศาสตร์ไทย 3 และประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังปี 2475
แต่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่กลับมาปฏิบัติราชการตามที่ภาควิชาได้แจ้งดังกล่าว ต่อมาเมื่อคณะศิลปศาสตร์ได้มีบันทึกลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 แจ้งให้อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลับมาปฏิบัติราชการโดยด่วน อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ยังเพิกเฉยไม่กลับมาปฏิบัติราชการแต่อย่างใด โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ไม่ได้ยื่นเรื่องขอลาประเภทอื่นแต่อย่างใด นอกจากการยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการโดยขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2557 ต่อมามหาวิทยาลัยได้พิจารณาไม่อนุมัติการลาไปปฏิบัติงานในประเทศเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางวิชาการของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
พฤติการณ์การกระทำของอาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ดังกล่าวถือเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามระเบียบ แบบแผนของทางราชการ ในเรื่องการลาและการปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และทรัพย์สินซึ่งเป็นเงินเดือนและเงินสวัสดิการอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัย และคณะศิลปศาสตร์ ได้จ่ายให้แก่อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ในระยะเวลาระหว่างนั้น เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 39 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 และเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามข้อ 55(6) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 ด้วย สมควรได้รับโทษไล่ออกจากราชการ
ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2547 ข้อ 54 ข้อ 57 และข้อ 61 (2) (8) ของข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ พ.ศ.2551 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย การอุทธรณ์ และการร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 จึงให้ลงโทษไล่ อาจารย์ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ออกจากราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี
หลังมีการเผยแพร่เอกสารคำสั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมศักดิ์เจียม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Somsak Jeamteerasakul เมื่อเวลาประมาณ 21.30 น. ระบุเป็นหนังสือชี้แจงที่ส่งให้ทางมหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนทางวินัย
นี่เป็นหนังสือชี้แจงของผม ที่ส่งให้ทางมหาวิทยาลัย เมื่อต้นเดือนนี้ เมื่อทราบว่ามีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบสวนทางวินัย
…………..
(1) ดังที่ทราบกันแล้วว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีคณะทหารกลุ่มหนึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครอง ล้มรัฐธรรมนูญ อันเป็นการกระทำผิดกฎหมายที่ร้ายแรงที่สุด หลังจากนั้นไม่กี่วัน คณะทหารที่ทำการโดยมิชอบและผิดกฎหมายนั้น ได้สั่งให้บุคคลจำนวนมากเข้าไปรายงานตัว รวมทั้งผมด้วย เมื่อผมไม่ไปรายงานตัว ก็ส่งกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือ 2 คันรถไปที่บ้านผม เมื่อไม่พบ ก็ได้ให้เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจติดตามรังควาน (harassment) ต่อภรรยา แม่ และพี่ชายของผมถึงบ้านและที่ทำงานของพวกเขา โดยที่ญาติของผมเหล่านั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นในการกระทำใดๆของผมเลย ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันนับเดือน พร้อมกันนั้น คณะทหารดังกล่าวยังได้ทำการยกเลิกหนังสือเดินทางของผม และออกหมายจับตัวผมที่ไม่ยอมไปรายงานตัว
ผมไม่เคยคิดหรือเรียกร้องให้ใครจะต้องมีท่าทีต่อการยึดอำนาจในลักษณะกบฏครั้งนี้แบบเดียวกับผม แต่ในส่วนตัวผมเอง ในฐานะพลเมืองและข้าราชการคนหนึ่ง และในฐานะสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ ผมถือเป็นหน้าที่สูงสุดที่จะไม่ยอมทำตามการกระทำที่ผิดกฎหมายร้ายแรงที่สุดดังกล่าวของคณะทหารนั้น (แม้แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ก็มีบทบัญญัติให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของประชาชนไทยที่จะต่อต้านการล้มรัฐธรรมนูญอย่างสันติ) ผมจึงไม่สามารถที่จะอยู่ปฏิบัติราชการเพื่อให้คณะบุคคลที่ทำการกบฏดังกล่าวมาจับกุมตัวอย่างไม่ชอบธรรมได้ ผมถือว่านี่คือการปฏิบัติหน้าที่สูงสุดที่ในฐานะพลเมืองหรือข้าราชการคนหนึ่ง หรือ “ชาวธรรมศาสตร์” ผู้หนึ่ง จะพึงปฏิบัติได้ ในการต่อต้านการกระทำผิดกฎหมายอันร้ายแรงที่สุดของคณะทหารดังกล่าว
(2) คณะทหารที่ทำการยึดอำนาจดังกล่าว หลังการยึดอำนาจแล้ว ก็ได้ดำเนินการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ที่เรียกกันว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) อย่างขนานใหญ่ ดำเนินการจับกุมคุมขังบุคคลต่างๆ ในเวลาสั้นๆ จนถึงขณะนี้รวมแล้วเกือบ 30 คน หรือโดยเฉลี่ยกว่า 3 คนต่อเดือน (หรือประมาณ 1 คนทุกๆ 10 วัน) โดยที่ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า “ระบบยุติธรรม” ของคณะยึดอำนาจนั้น แทบทุกคนที่ถูกจับไป ถูกปฏิบัติในลักษณะที่ถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีความผิด ไม่มีการให้ประกันตัว แม้กระทั่ง ในกรณีที่เป็นนักศึกษาชั้นปีสุดท้ายที่กำลังจะจบการศึกษา จนแทบทุกคนดังกล่าวถูกบีบบังคับให้จำเป็นต้องเลือกวิธี “สารภาพ” เพื่อจะได้หาทางย่นเวลาของการต้องถูกจองจำให้สั้นลง การใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวของคณะทหารผู้ยึดอำนาจ ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการใช้กฎหมายนี้อย่างผิดๆมากขึ้นไปอีก ถึงขั้นที่แม้แต่การพูดถึงพระมหากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์ไปกว่า 100 ปีแล้ว ก็ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างฟ้องร้องได้
ดังที่ทราบกันดีว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมเป็นผู้หนึ่งที่เรียกร้องและสนับสนุนให้มีการปฏิรูปแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เพราะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อยุคสมัยและไม่ชอบด้วยหลักการปกครองประชาธิปไตย โดยที่ผมได้ทำการเรียกร้องนั้นอย่างสันติ และภายใต้กรอบของกฎหมายที่มีอยู่นั้นเอง แต่คณะทหารกลุ่มเดียวกับที่ทำการยึดอำนาจในขณะนี้ ได้มุ่งที่จะทำร้ายผมโดยไม่คำนึงถึงแม้แต่กรอบของกฎหมายที่มีอยู่ ดังกรณีสำคัญ 2 กรณีซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป คือ ในปี 2554 คณะทหารกลุ่มนี้ได้แจ้งความฟ้องร้องผมในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จากการที่ผมเขียนบทความพาดพิงถึงพระดำรัสชองสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ทั้งๆที่พระองค์หาได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด และในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 หลังจากผมได้เขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียวิจารณ์การที่คนไทยกลุ่มหนึ่งมีลักษณะนิยมเจ้าอย่างงมงาย (ที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า ultra-royalism) ซึ่งเป็นข้อความที่ไม่ได้พาดพิงถึงแม้แต่พระราชวงศ์พระองค์ใด อย่าว่าแต่พระราชวงศ์ที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายดังกล่าว แต่ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น (หรือผู้นำคณะยึดอำนาจในปัจจุบัน) ได้ให้โฆษกของเขาออกมาข่มขู่ว่า จะ “ใช้มาตรการทางสังคมเพื่อกดดัน” ต่อผม หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วัน ก็มีบุคคลลึกลับไปยิงผมถึงบ้าน จนเกือบจะทำร้ายถึงชีวิตและร่างกายของผม หลังการยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคมและหลังจากการมีหมายจับผมที่ไม่ยอมไปรายงานตัวกับคณะผู้ยึดอำนาจแล้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 คณะผู้ยึดอำนาจดังกล่าว ยังได้ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายจับผมอีกหมายจับหนึ่งในข้อหา “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” โดยอ้างการเขียนข้อความทางโซเชียลมีเดียดังกล่าวอีกด้วย
ตลอดเวลานับ 10 ปี ที่ผมทำการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์รวมถึงการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ผมได้กระทำภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่มีอยู่ โดยไม่คิดที่จะใช้วิธีการอื่นใดหรือหลบลี้หนีหน้าไปไหน ไม่ว่าจะถูกผู้ไม่เห็นด้วยข่มขู่คุกคาม หรือใช้วิธีนอกกรอบของกฎหมายมาพยายามทำร้ายอย่างไร แต่ภายใต้การปกครองของคณะยึดอำนาจชุดปัจจุบัน ที่ไม่เพียงแต่ได้ขยายปัญหาที่มีอยู่แล้วในกฎหมายดังกล่าวออกไปอีกอย่างมากมายไม่เคยปรากฏมาก่อน (การฟ้อง-การจับอย่างเหวี่ยงแห, การสันนิษฐานล่วงหน้าว่ากระทำผิด, การห้ามประกันอย่างผิดนิติธรรม และการตัดสินคดีในลักษณะครอบจักรวาลมากขึ้นๆ) แต่ยังได้แสดงให้เห็นชัดเจนมาตลอดตั้งแต่ก่อนการยึดอำนาจว่า มุ่งจะทำร้ายผมโดยเฉพาะเจาะจง – ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เป็นสิ่งแน่นอนว่า ผมจะไม่มีโอกาสโดยสิ้นเชิงที่จะได้รับการปฏิบัติต่ออย่างยุติธรรมตามหลักกฎหมาย ผมจึงมีความจำเป็นและมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะรักษาชีวิต ร่างกาย และอิสรภาพของตน ด้วยการไม่ยินยอมให้คณะทหารที่ยึดอำนาจอย่างกบฏจับกุมและทำร้ายด้วยข้ออ้างเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” หรือข้ออ้างใดๆ
ตลอดเวลา 20 ปีที่ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมได้พยายามปฏิบัติงานอย่างสุดความสามารถตามหน้าที่โดยไม่ละเว้น (เช่น ผมแทบจะไม่เคยขาดการสอนเลย) ทั้งยังได้พยายามปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองที่ดีของประเทศ และสมาชิกที่ดีของประชาคมธรรมศาสตร์ แต่ในภาวการณ์ที่มีผู้ทำผิดกฎหมายร้ายแรง ตั้งตนเป็นผู้ปกครองประเทศและหัวหน้าระบบราชการอย่างผิดกฎหมาย แล้วอ้างอำนาจที่ตัวเองไม่มีอยู่ มุ่งจะทำอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และอิสรภาพของผมโดยตรงเช่นนี้ ผมถือเป็นทั้งสิทธิและหน้าที่ในฐานะข้าราชการ ในฐานะพลเมือง และสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ ที่จะไม่ปฏิบัติตาม และต่อต้าน ปฏิเสธการพยายามจับกุมคุมขังและทำร้ายผมของพวกเขาดังกล่าว