ครม.ไฟเขียว ‘ร่างก.ม.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’ ภาคประชาชนชื่นชมคนทำงานผลักดัน พร้อมจับตาต่อ สนช.

ครม.ไฟเขียว ‘ร่างก.ม.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’ ภาคประชาชนชื่นชมคนทำงานผลักดัน พร้อมจับตาต่อ สนช.

24 พ.ค. 2559 มติชนออนไลน์รายงานว่า ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สาบสูญ และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … 

จากการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม เมื่อปี 2550 และภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองการบังคับคนให้สูญหาย เมื่อปี 2554 แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ ดังนั้น ครม.จึงเห็นชอบการให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาดังกล่าว 

นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … เพื่อความสอดคล้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ โดย พ.ร.บ.ดังกล่าว มีใจความสำคัญคือ กำหนดบทลงโทษเกี่ยวกับการกระทำความผิดในการทรมานผู้ถูกจับกุม หรือการอุ้มให้สูญหาย ไม่ว่าจะโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ แต่หากได้รับความยินยอมจากเจ้าหน้าที่รัฐ จึงถือว่าการกระทำนั้นผิดกฎหมาย

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า กฎหมายนี้ครอบคลุมไปถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม สถานการณ์ความไม่มั่นคง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำมากล่าวอ้างเพื่อกระทำความผิดได้ และหากพบว่ามีการกระทำความผิดอายุความจะอยู่ที่ 20 ปี 

อีกทั้ง ยังมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน ทั้งนี้ยังให้สิทธิ์แก่ผู้ถูกจับกุมโดยต้องได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับญาติ ทนายความ หรือผู้ที่ไว้วางใจ มีสิทธิ์ที่จะแจ้งให้ผู้อื่นทราบถึงสภาพการคุมขังว่าเป็นอย่างไร ทั้งยังกำหนดมิให้หน่วยงานของรัฐ ส่งตัวบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกไปนอกราชอาณาจักร หากเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการทรมาน หรือถูกบังคับให้สูญหาย

“หลายคนคิดว่ารัฐบาลที่มาจากทหาร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งปกติ จะกล้าออกกฎหมายแบบนี้หรือ ดังนั้นวันนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เราเป็นรัฐบาลที่มาในช่วงจำเป็น เฉพาะกิจ แต่เราก็ออกกฎหมายเพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าสิ่งที่รัฐบาลทำ เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามหลักสากล ไม่ได้มีการลิดรอนสิทธิ์ประการใด ถ้าย้อนกลับไปในอดีตจะพบว่าเราไม่ได้ละเมิดสิทธิแต่อย่างใด และหากกฎหมายฉบับนี้มีผลประกาศใช้ การทำงานของ คสช.ก็ไม่ได้มีปัญหา เพราะเราไม่เคยทรมานใคร ไม่เคยอุ้มใครให้หายไป การไปเชิญพูดคุยทำความเข้าใจ ก็มีการแจ้ง บางคนบอกว่าเขาไม่รู้ จึงถามว่าเขานั้นใคร เพราะญาติเขารู้ แต่เขามาได้แจ้งท่าน” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

ด้าน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่หนังสือลงวันที่ 24 พ.ค. 2559 ถึงกรณีดังกล่าว โดยชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้บริหารประจำกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จัดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ให้มีการร่างกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้ทั้งการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา ที่มีบทลงโทษที่เหมาะสมต่อความร้ายแรงของการกระทำความผิด

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมข้อเสนอแนะว่า ให้ประเทศไทยเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้และดำเนินการให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามหรือเป็นรัฐภาคี และการแก้ไขปรับเปลี่ยนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีข้อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานสากลและไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาต่างไปจากร่างเดิมในเนื้อหาสาระสำคัญ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องและให้ได้ประสิทธิผลในการป้องกันทรมานและอุ้มหายได้จริง

การกำหนดการทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดอาญาเป็นกรอบทางกฎหมายเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยืนยันกับประชาคมระหว่างประเทศว่า “การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นการกระทำที่ห้ามโดยเด็ดขาดและผิดกฎหมายอาญา” ไม่ว่าสถานการณ์ใดใด 

ทั้งนี้ รายละเอียดหนังสือมูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีดังนี้

 ประเทศไทยจะให้สัตยาบันอนุสัญญาสากลห้ามอุ้มหาย
 ครม. มีมติรับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามทรมานและอุ้มหายส่งต่อสนช.
 ห้ามการทรมาน อุ้มหายโดยจนท.รัฐ มีความผิดอาญาแม้ในสถานการณ์ความไม่มั่นคง

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. และมีมติให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับขององค์การสหประชาชาติ โดยร่างฉบับนี้ยังต้องมีกระบวนการผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่รวมทั้งผู้บริหารประจำกระทรวงยุติธรรม โดยเฉพาะกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่จัดให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการและภาคประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยได้ริเริ่มให้มีการร่างกฎหมายเฉพาะที่กำหนดให้ทั้งการทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาที่มีบทลงโทษที่เหมาะสมต่อความร้ายแรงของการกระทำความผิด โดยการทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นที่ยุยง ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. …. ได้นำหลักการด้านสิทธิมนุษยชนสากลตามพันธกรณีที่ประเทศไทยพึงนำมาแก้ไขกฎหมายในประเทศ ให้สอดคล้องตามอนุสัญญาสำคัญ 2 ฉบับคือ อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกบังคับให้สูญหาย ขององค์การสหประชาชาติ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมาตรการสอดคล้องกับหลักสากลที่ทันสมัย เช่น ห้ามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์สงคราม สถานการณ์ฉุกเฉินและสถานการณ์ความไม่มั่นคง มีการกำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาและมีบทลงโทษที่เหมาะสมกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดโทษตั้งแต่ 5 ปี 15 ปี ส่วนในกรณีผู้ถูกทรมานเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุก 15-30 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยมีการกำหนดนิยามของความผิดทั้ง 2 สอดคล้องกับหลักการสากล อีกทั้งมีบทบัญญัติเรื่องการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ยุยง ยินยอมหรือรู้เห็นในฐานะผู้บังคับบัญชาในข้อหาดังกล่าวต้องรับผิดร่วมด้วย

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีมาตรการป้องกันการทรมานและอุ้มหาย โดยเฉพาะกำหนดข้อปฏิบัติในการควบคุมตัวบุคคลในสถานที่ควบคุมตัว ห้ามการควบคุมตัวลับ การจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนสวบสวนและรับเรื่องร้องเรียน ฯลฯ โดยมีความหวังว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แม้จะยังไม่สมบูรณ์และอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่นขาดความเป็นอิสระที่แท้จริง ความเชี่ยวชาญของคณะกรรมการฯ การมีส่วนร่วมของญาติและผู้เสียหาย ช่องทางการช่วยเหลือญาติและเหยื่อรวมทั้งการเยียวยาด้านจิตใจ การคุ้มครองพยานเป็นต้น

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมข้อเสนอแนะว่าให้ประเทศไทยเร่งพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้และดำเนินการให้การบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยลงนามหรือเป็นรัฐภาคี และการแก้ไขปรับเปลี่ยนโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหากมีข้อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานสากลและไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาต่างไปจากร่างเดิมในเนื้อหาสาระสำคัญ รวมทั้งการให้ความรู้เรื่องกฎหมายฉบับนี้ต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องและให้ได้ประสิทธิผลในการป้องกันทรมานและอุ้มหายได้จริง

การกำหนดการทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดอาญาเป็นกรอบทางกฎหมายเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยืนยันกับประชาคมระหว่างประเทศว่า “การทรมานและการบังคับให้สูญหายเป็นการกระทำที่ห้ามโดยเด็ดขาดและผิดกฎหมายอาญา” ไม่ว่าสถานการณ์ใดใด และประเทศไทยก็จะต้องจัดให้มีแนวทางนำกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะสะท้อนให้เห็นว่าบัดนี้ประเทศไทยจะเอาจริงเอาจังต่อการต่อต้านการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายและดำเนินการให้มีการสอบสวนและคลี่คลายคดีที่ยังหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ โดยร่างฉบับนี้ยังต้องมีกระบวนการผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

นิยามตามร่าง พ.ร.บ.ฯ
 

(1) “การทรมาน” หมายความว่า การกระทำที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมาน อย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำสารภาพจากบุคคลนั้นหรือจากบุคคลที่สาม เพื่อการลงโทษบุคคลนั้นสำหรับการกระทาซึ่งบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สามได้กระทำหรือ ถูกสงสัยว่าได้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อข่มขู่หรือขู่เข็ญบุคคลนั้นหรือบุคคลที่สาม หรือเพราะเหตุผล อื่นใดบนพื้นฐานของการเลือกปฏิบัติโดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดย การยุยงโดยความยินยอม หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยไม่รวมถึงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานที่เกิดจาก หรือสืบเนื่องมาจากการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย

(2) “การกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” หมายความว่า การกระทำ ที่ทำให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มิใช่การกระทำทรมาน โดยการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยการยุยง โดยความยินยอม หรือโดยการรู้เห็นเป็นใจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของบุคคลอื่นซึ่งปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทั้งนี้ไม่รวมอันตรายจากการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) “การบังคับบุคคลให้สูญหาย” หมายความว่า การจับกุมคุมขังลักพาหรือกระทำการด้วยประการใดที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายต่อบุคคลซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งการสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการปฏิเสธว่ามิได้มีการจับกุม คุมขังลักพาหรือกระทำการด้วยประการใดที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายของบุคคลนั้น หรือปกปิดชะตากรรมหรือที่อยู่ของบุคคลนั้น

เอกสารที่เกี่ยวข้อง
 
• ข้อเสนอของภาคประชาชนต่อร่างพ.ร.บ.ฯ (คลิกดู)
 
• ร่างพ.ร.บ.ฯ (คลิกดู)

 

20162505012539.jpg

ที่มาภาพ: ประชาไท

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ