20 เม.ย. 2558 จากกรณีน้ำเสียของโรงแป้งบริษัทเอสซี อินดัสตรี้ จำกัด ไหลลงสู่แควระบม ต้นแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า โรงแป้งดังกล่าวเปิดดำเนินการในพื้นที่หมู่ 3 ต.เขาหินซ้อน มากว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มีชาวบ้าน 2 ฝั่งแควระบม ทั้งจาก อ.พนมสารคาม และ อ.สนามชัยเขต ร้องเรียนไปยังหน่วยราชการหลายครั้ง เนื่องจากก่อปัญหาน้ำเสียไหลลงแควระบมในช่วงฤดูฝน แต่ก็ยังปรากฏว่ามีน้ำเสียไหลลงแควระบมทุกปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สร้างความเสียหายหนักต่อชาวบ้าน และระบบนิเวศน์ เนื่องจากน้ำเสียจำนวน 30,000 ลบ.ม.หรือ 30 ล้านลิตร ไหลออกจากบ่อที่ 6 ของโรงงาน จนเหือดแห้งหมดบ่อ
พระอาทร ปัญญาปทีโป รองเจ้าอาวาสวัดท่าไม้แดง หมู่ 3 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทได้แจ้งให้ทราบในตอนสายของวันที่ 9 ว่า น้ำเสียเริ่มไหลออกจากบ่อในคืนวันที่ 8 เม.ย. เวลาประมาณ 5 ทุ่ม และเมื่ออาตมาเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุแล้วพบว่า น้ำเสียนั้นมีลักษณะหนืดมาก กลิ่นเหม็นรุนแรง ทั้งปลาเล็กปลาใหญ่ ขึ้นมาลอยตายเหนือน้ำ แม้กระทั่งปลากระทิงที่อยู่ก้นคลองและมีความอดทนสูงยังต้องตายในเหตุการณ์ครั้งนี้จำนวนมากมาย
พระอาทร กล่าวด้วยว่า เที่ยงวันของวันที่ 9 น้ำเสียเพิ่งเดินทางได้ระยะทางแค่เพียง 5 กิโลเมตร โดยมีคราบดำๆ ติดอยู่ตามริมตลิ่ง และพืชผักที่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านสองฝั่งแคว
“เหตุการณ์ครั้งนี้ นับว่ารุนแรงที่สุด ในประวัติศาสตร์ของแควระบมและลุ่มน้ำท่าลาด สร้างผลกระทบให้ประชาชน ระบบนิเวศน์ พันธุ์ปลา และพืชผักอาหารของคนในชุมชน อย่างใหญ่หลวง” พระอาทร กล่าว
พระอาทร ให้ข้อมูลต่อมาว่า มีชาวบ้านมาขอให้อาตมาพาเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตอบรับว่าวันนี้ (20 เม.ย. 2558) เวลา 13.30 น.ท่านจะให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ จำนวนประมาณ 50 คน เข้าพบที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้จะให้หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาให้ข้อมูลแก่ชุมชนอย่างเป็นเอกสารว่า ในระยะเวลา 10 ปี ที่บริษัทนี้เปิดดำเนินการ แต่ละหน่วยงานได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วอย่างไรบ้าง ผลการดำเนินการเป็นเช่นไร
พระอาทร กล่าวว่า ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดจะกรุณานำประชุม ระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งหมด กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่เข้าพบทั้งหมด เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและมาตรการในการป้องกันที่จะไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอย่างซ้ำซากได้อีกต่อไป