สมาชิก สกน.ในนามพีมูฟรวมตัวขอเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ ‘สุแก้ว ฟุงฟู’ และชาวบ้านแพะใต้ที่ต้องโทษจำคุกข้อหาบุกรุกที่ดินเอกชน ออกแถลงการณ์ “คุก ตะราง ไม่ใช่การแก้ไขมัญหาของคนจนและเกษตรกรรายย่อย” เร่งดันร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร เข้าสู่ สนช. – เร่งตรากฎหมาย พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ตามร่างของภาคประชาชน เผย 25 มิ.ย.นี้ ครบรอบ 1 เดือน เตรียมเยี่ยมและให้กำลังใจอีกครั้ง
รายงานโดย: ตาล วรรณกูล
ภาพโดย: สร้อยแก้ว คำมาลา
จากกรณีที่ศาลอาญาจังหวัดลำพูน อ่านคำพิพากษาตัดสินให้นายสุแก้ว ฟุงฟู และชาวบ้าน บ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน รวม 7 คน ต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ข้อหาบุกรุกที่ดินเอกชน เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2559
วันนี้ (10 มิ.ย. 2559) เวลา 09.00 น. สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้รวมตัวกันบริเวณเรือนจำกลางจังหวัดลำพูน เพื่อขอเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจ ชาวบ้านทั้ง 7 คน และได้มีการอ่านแถลงการณ์ “คุก ตะราง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของคนจนและเกษตรกรรายย่อย”
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องให้ 1.เร่งรัดให้เกิดแนวทางการรับรองอุดมการณ์สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร 2.เร่งรัดการดำเนินการโครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่ จ.ลำพูน-เชียงใหม่ และ 3.ทบทวนและแก้ไขกฏระเบียบการเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขัง
ดิเรก กองเงิน ในฐานะตัวแทนของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) อ่านแถลงการณ์หัวข้อ “คุก ตะราง ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาของคนจนและเกษตรกรรายย่อย” เนื้อหาดังนี้
แถลงการณ์สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เรื่อง “คุก ตะราง ไม่ใช่การแก้ไขมัญหาของคนจนและเกษตรกรรายย่อย” ปัญหาที่ดินเป็นปัญหาที่หมักหมมมาอย่างยาวนานหลายยุคหลายรัฐ การเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขของภาคประชาชนให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างจริงจังผ่านมาหลายชั่วอายุคน บ้างเสียชีวิต บ้างถูกขับไร่ บ้างถูกดำเนินคดี บ้างถูกจองจำ ปัญหาที่ดินก็ไม่เคยถูกแก้ไขแล้วเสร็จสักที มาถึงวันนี้สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จำนวน 7 ราย ได้ถูกตัดสินให้จำคุกเป็นเวลา 1 ปี พวกเขาถูกจองจำผ่านมาแล้วกว่าครึ่งเดือน อิสรภาพที่ถูกลิดรอน ครอบครัวต้องดิ้นรนทำงานมากขึ้น สุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอ สิ่งเหล่านี้หรือคือสิ่งที่พวกเขาต้องได้รับจากการที่ลุกขึ้นมาปกป้องที่ดินทำกินของบรรพบุรุษ ที่ดินของชุมชน จากเหล่านายทุน เนื่องจากที่ดินบริเวณพิพาทที่นำมาสู่การจองจำนั้น เดิมเมื่อปี 2509 รัฐมีโครงการจัดสรรที่ดินผืนใหญ่ 15,000 ไร่ บ้านโฮ่ง-ป่าซาง แต่โครงการดังกล่าวดำเนินไปได้ไม่กี่ปี เกิดปัญหาการแจกใบจองให้เกษตรกรที่ผิดพลาด จึงมีการเรียกใบจองคืน เพื่อจัดสรรใหม่ แต่แล้วเมื่อปี 2533 โครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินดำเนินการเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ สุดท้ายเอกสารสิทธิ์ส่วนใหญ่กลับตกไปอยู่ในมือของเอกชน และเอกชนบางกลุ่มกลับเอาเอกสารสิทธิ์จำนองต่อสถาบันการเงินและปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ชาวบ้านในชุมชนจึงรวมตัวกันเข้าปฏิรูปที่ดิน ซึ่งแต่เดิมเป็นของบรรพบุรุษทำกินมาก่อน จึงเกิดการฟ้องร้องและจำคุกชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ นับเป็นเวลาหลายปีที่สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือเรียกร้องและต่อสู้ จนเกิดการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ออกโดยชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยรัฐบาลหลายชุดหลายคณะ การแก้ไขปัญหาก็ยังไม่เป็นรูปธรรม สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือหลายรายที่เคยต้องจำคุก บางรายเสียชีวิตในคุก บางรายต้องสูญเสียครอบครัว ดังนั้นพวกเราสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจึงมีข้อเสนอ ดังต่อไปนี้ 1.เร่งรัดแนวทางนับรองอุดมการณ์สิทธิชุมชนในการดูแลจัดการที่ดินและทรัพยากร ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” โดยการผลักดันร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยเร็ว 2.เร่งรัดการดำเนินงาน “โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน” ในพื้นที่นำร่อง 4 พื้นที่ ในจังหวัดลำพูน-เชียงใหม่ และเร่งผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ตามร่างของภาคประชาชน ให้ตราเป็นกฏหมายโดยเร็ว 3.ให้ทบทวนและแก้ไขกฏระเบียบการเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขัง เนื่องจากมีการจำกัดการเข้าเยี่ยมได้เพียง 5 รายต่อผู้ต้องขัง 1 คน ถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ผู้ต้องการเข้าเยี่ยม เราในฐานะประชาชนผู้ทุกข์ยากจึงจำต้องแสดงเจตนารมณ์ให้สังคม และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า “คุก ตะราง ไม่ใช่การแก้ปัญหาของคนจนและเกษตรกรรายย่อย” โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล “คืนความสุขให้ประชาชน” ของรัฐบาล ด้วยจิตคารวะนักต่อสู้เพื่อการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) |
นอกจากนั้นตัวแทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมยังกล่าวอีกว่า ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ ถือเป็นการครบรอบ 1 เดือนของการถูกจองจำของผู้ต้องขัง ทั้ง 7 คน จะมารวมตัวกันเพื่อเข้าเยี่ยมและให้กำลังใจอีกครั้ง ณ เรือนจำจังหวัดลำพูนแห่งนี้อีกครั้ง