คดีที่ดินลำพูน ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ชาวบ้านเข้าคุกทันที 7 คน!

คดีที่ดินลำพูน ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ชาวบ้านเข้าคุกทันที 7 คน!

 

รายงานโดย: อนุชา  ตาดี

วันนี้ (25 พ.ค. 2559) เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบุกรุกที่ดินเอกชนบ้านแพะใต้ โดยโจทย์คือ นายศราวุฒิ แซ่เตียว ยื่นฟ้องนายสุแก้ว ฟุงฟู ชาวบ้านแพะใต้ ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน และพวกรวม 10 คน ซึ่งระหว่างดำเนินคดี มีผู้เสียชีวิต 3 คน

ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญาฐานความผิดบุกรุกที่ดิน โดยก่อนหน้า ทนายของชาวบ้านทั้ง 10 คน ยื่นของเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป แต่ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีเหตุให้ต้องเลื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2549 โดยพิพากษาว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 10 พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาและศาลอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2554 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10  มีความผิดตามมาตรา 356 (3) ประกอบมาตรา 362 จำคุกคนละ 1 ปี

ต่อมา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 9 และที่ 10 ฎีกา ศาลจังหวัดลำพูนนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2558

คดีดังกล่าวมีการขอเลื่อนอ่านคำพิพากษาในชั้นฎีกามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปลายปี 2558 และครั้งที่สองเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวกับโจทย์ เนื่องจากกรณีปัญหาพื้นที่บ้านแพะใต้ กำลังอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินตาม “โครงการนำร่องธนาคารที่ดิน” ที่ทางสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) กำลังดำเนินการในระดับนโยบาย แต่กระบวนการแก้ปัญหาดังกล่าวมีความล่าช้า ยังไม่สามารถจัดซื้อที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้

หลังศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในวันนี้เวลา 17.00 น.จะมีส่งตัวชาวบ้านทั้งหมด 7 คน ไปยังเรือนจำจังหวัดลำพูน ทั้งนี้ จำเลยในคดีทั้งหมด 10 คน มี 3 รายเสียชีวิตระหว่างการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

อ่านต่อเรื่องราวทั้งหมดที่ : http://www.landjustice4thai.org/news.php?id=276

ข้อมูลกรณีชุมชนบ้านแพะใต้

ที่มา: ประชาธรรม

สำหรับความเป็นมาของการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนกรณีแพะใต้นั้นต้องย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2497 รัฐไทยมีความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูปที่ดินโดยในหมวดหมู่หนึ่งมีใจความสำคัญคือ การจำกัดการถือครองที่ดินโดยให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน ซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ของผู้ปกครองประเทศในสมัยนั้นเพื่อจะจัดการทรัพยากรของประเทศใหม่ ดังข้อมูลส่วนหนึ่งใน บทความบางเรื่อง (อนุสรณ์ในพิธีเปิดอาคารใหม่ในกรมที่ดิน,  2511) ของนายศักดิ์ ไทยวัฒน์ อธิบดีกรมที่ดิน สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ชี้แจงถึงหลักคิดของกฎหมายฉบับนี้ว่า กฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญอยู่หลายประการและลึกซึ้ง จะเป็นผลให้มีการจัดระเบียบการปกครอง การเศรษฐกิจ และระเบียบสังคมของชาติในอนาคตใหม่ แม้ว่ากฎหมายนี้จะหนักหรือเบาไปบ้างในบางประการก็ตาม แต่ก็เป็นบันไดขั้นต้นที่จะนำไปสู่จุดหมายปลายทาง เพื่อสวัสดิภาพของสังคมและเพื่อการกินดีอยู่ดีของราษฎรชาวไทยอันเป็นชาวกสิกร 90% โดยทั่วหน้า

ภายหลังที่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ไม่นาน ด้วยข้อกฎเกณฑ์ที่แข็งและขัดแย้งกับสภาวะทางสังคมในขณะนั้น ซึ่งอาจจะเหมือนกับปัจจุบันนี้ด้วย คือที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศถูกถือครองโดยผู้มีอำนาจ ในที่สุดจึงมีการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไปในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ แล้วนับตั้งแต่นั้นมาเมื่อประเทศเดินหน้าเต็มสูบเพื่อพัฒนาจากระบบการเกษตรกรรมไปสู่ระบบอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ดินก็หลุดมือจากเกษตรกรไปรวดเร็วดั่งใบไม้ร่วง

หลายสิบปีผ่านไป ปัญหาซ้ำเดิมยังคงเกิดขึ้นอย่างไม่ลดอัตราเร่ง แล้วปัจจัยของยุคสมัยก็ยิ่งเพิ่มไฟที่สุมปัญหาให้หนักหนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเร่งออกโฉนดในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เมื่อปี 2532 ธนาคารโลกได้สนับสนุนงบประมาณกว่า 200 ล้านบาทให้มีการเร่งรัดออกโฉนดที่ดิน เป็นผลให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า

การถือครองโดยระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกชนนำมาสู่ความเปราะบางในการสูญเสียที่ดินของเกษตรกร กล่าวคือที่ดินหลุดมือได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ถือครองมีกรรมสิทธิ์เบ็ดเสร็จ ขาดการควบคุมโดยระบบเครือญาติและชุมชนที่ใช้ความเชื่อจารีตประเพณีเป็นการควบคุม

ดังนั้น แนวคิดทำที่ดินเป็นสินค้าจึงสุ่มเสี่ยงมากที่จะทำให้ที่ดินกลายเป็นของนายทุน เหมือนเช่นนโยบายที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุน วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่ล้มยักษ์ใหญ่ทางธุรกิจหลาย ๆ แขนง มีคนตกงานมากมายมหาศาล จำนวนมากในนั้นคือลูกหลานที่ต่างละทิ้งภาคการเกษตรมาเพื่อที่จะแสวงหาโภชย์ผลจากการพัฒนาภายในเมือง แต่เมื่อความฝันล่มสลายลงอย่างไม่เป็นท่า บ้านในชนบทที่เขาจากมาก็คือหลังอิงสุดท้ายเพื่อการดำรงชีวิตอยู่

ทว่าพวกเขาเหล่านั้นก็หารู้ไม่ว่าที่นา ที่ไร่ ที่สวน และแปลงผักเหล่านั้นที่เคยเป็นฐานหล่อเลี้ยงครอบครัวถูกมือที่มองไม่เห็นจากระบบเศรษฐกิจใหม่ ๆ อุตสาหกรรมตัวใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ดูดกลืนเอาไปจนหมด ซ้ำที่ดินที่เคยใช้สอยมาแต่เก่าก่อนในนามที่ดินสาธารณะก็ถูกมือที่มองเห็นไม่ว่าจะเป็นนายทุน เจ้าหน้าที่รัฐส่วนต่าง ๆ ช่วยกันอุ้มหายไปต่อหน้าต่อตาพวกเขา คำถามที่มากมายก็ประดังเข้ามาในหัวว่า เมื่อปราศจากที่ดินทำกิน พวกเขาเหล่านั้นจะดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างไร

ลำพูน ปฐมบทชุมชนชำแหละกระบวนการฮุบที่ดิน

ดังกล่าวเอาไว้ข้างต้น เมื่อไม่มีที่ดินทำกินก็หมายความว่าไม่มีรายได้ ไม่มีข้าว ซึ่งก็คือไร้ชีวิต ในกรณีของชาวบ้านกลุ่มปัญหาที่ดิน จ.ลำพูน ปัญหาที่ดินบ้านแพะใต้ อ.เวียงหนองล่อง นับเป็นหมู่บ้านแรก ๆ ที่ริเริ่มเข้าปฏิรูปที่ดินโดยชุมชนด้วยแนวคิดที่ว่าที่ดินแปลงเหล่านั้นเป็นที่ดินสาธารณะ

ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันในการทำการเพาะปลูกได้ แต่ทว่าเมื่อลงมือปฏิรูปที่ดินกลับมีนายทุนมาแสดงความเป็นเจ้าของ กรณีที่เกิดขึ้นชุมชนบ้านแพะใต้จึงร่วมกันตรวจสอบการถือครองที่ดินเหล่านั้นของนายทุนและพบว่า กระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินเหล่านั้นมิชอบด้วยกฎหมาย

กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2533 กลุ่มนายทุนจาก จ.เชียงใหม่ในนามบริษัทอินทนนท์การเกษตร จำกัด ได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวตามโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินโดยการเดินสำรวจ ทั้งนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรซื้อที่ดิน สค.1 และนส.3 จากชาวบ้านบางส่วนประมาณไม่กี่สิบไร่ แต่ฉวยโอกาสนำไปออกโฉนดที่ดินครอบคลุมพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของบ้านแพะใต้ทั้งหมดกว่า 600 ไร่ โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีส่วนรู้เห็นการซื้อขายที่ดินแปลงดังกล่าว

หลังจากนั้น บริษัทอินทนนท์การเกษตรนำพื้นที่ทั้งหมดไปจัดสรรเป็นรีสอร์ท สวนเกษตรขนาดใหญ่เพื่อแบ่งแปลงขาย และยังมีการมอบที่ดินที่กว้านซื้อนี้ให้ก่อตั้งศูนย์ราชการคือ อ.เวียงหนองล่องเพื่อกระตุ้นการซื้อที่ดินในแปลงจัดสรรของบริษัท นอกจากนี้บริษัทอินทนนท์การเกษตรยังนำโฉนดที่ดินเข้าจำนองกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และธนาคารกรุงไทยมูลค่าอย่างน้อย 40 ล้านบาท จนเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะวิกฤต ที่ดินดังกล่าวก็ถูกปล่อยทิ้งรกร้างว่างเปล่า

ดังนั้นปี 2540 ชาวบ้านแพะใต้จำนวน 99 ครอบครัวจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่บริษัทปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ เนื่องจากที่ดินไม่เพียงพอ หลายครอบครัวยากจน และไม่มีที่ดินทำกิน และจากการเข้าทำการปฏิรูปที่ดินครั้งนั้นจึงนำไปสู่การค้นพบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

มีการประเมินกันว่า ภายหลังจากที่ชาวบ้านแพะใต้เข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 พบว่ามีการเพิ่มตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินขึ้นเป็นมูลค่านับแสนบาทจากที่เคยทิ้งร้างไว้ ทั้งนี้จากผลการวิจัยเรื่องการจัดการที่ดินในระดับท้องถิ่น(เขตพื้นที่ภาคเหนือ)ซึ่งทำการศึกษาระหว่างเดือน พ.ค.2545 เม.ย.2547 โดยมูลนิธิสถาบันที่ดิน พบว่า ที่ดินจำนวน 600 ไร่ที่ชาวบ้านแพะใต้เข้าใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2540 นั้นสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ชุมชนโดยรวมถึง 442,950 บาท

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ