กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เดินหน้ายื่นหนังสือ ต่อ กกพ. และ กสม. กรณีรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

กลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม เดินหน้ายื่นหนังสือ ต่อ กกพ. และ กสม. กรณีรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

6 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มปราจีนเข้มแข็งร่วมกับกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ อ. ปลวกแดง จ. ระยอง และกลุ่มผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมใน จ. ชลบุรี ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ของตน

พร้อมกับร้องเรียนกรณีการดำเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็นของโครงการต่าง ๆ ซึ่งมีการปฏิบัติที่ไม่ชอบตามระเบียบของ กกพ. และละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยชาวบ้านทั้ง 3 กลุ่มได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย

นอกเหนือจากการยืนยันถึงข้อห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม อีกประเด็นที่ชาวบ้านเน้นย้ำก็คือเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการจัดเวทีรับฟังความเห็นประกอบการขออนุญาตประกอบกิจการ ในทั้ง 3 พื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่กำหนดจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ จำนวนถึง 3 โรง ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค กบินทร์บุรี อ. กบินทร์บุรี ซึ่งจะดำเนินการโดยบริษัท กรีน แคร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด บริษัท มี พรีม เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท พราวฟ้า พาวเวอร์ จำกัด โดยที่ทั้งสามบริษัทมีบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่แห่งเดียวกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 โครงการดังกล่าวโดยบริษัท ทีแอลทีคอลซัลแตนส์ จำกัด ที่เป็นบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งกลุ่มปราจีนเข้มแข็งได้นำเสนอภาพเหตุการณ์ในวันดังกล่าวที่ได้บันทึกไว้ พร้อมกับระบุว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่มีความจริงใจ ไม่เปิดกว้าง และไม่เท่าเทียม อีกทั้งยังมีการละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนด้วย

สุนทร คมคาย ตัวแทนกลุ่มปราจีนเข้มแข็ง หนึ่งในผู้ที่อยู่ในเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าวว่า การมีชายชุดดำที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยสกัดกั้นมิให้คนเข้าร่วม เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ ถือว่าเป็นเหตุการณ์ไม่ปกติ ถ้า กกพ. ยอมรับให้เกิดภาพแบบนี้ได้ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ ๆ ในเวทีรับฟังความคิดเห็นเวทีอื่น ๆ ในอนาคต

ด้าน ดร.วัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตัวแทน กกพ. ผู้มารับหนังสือ ได้กล่าวว่า ตามขั้นตอนการศึกษาและจัดทํารายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) โครงการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม มีการแบ่งเป็นหลักการบันได 5 ขั้น ขณะนี้อยู่ในช่วงบันไดขั้นที่ 2 ไป 3 ก่อนทำรายงานขั้นสุดท้าย คือช่วงเปิดโอกาสให้ประชาชนท้วงติง

“ขอเรียนแบบนี้ว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีการพิจารณาก่อนเข้าบันไดขั้นที่ 3 ส่วนใหญ่แล้วบริษัททำรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) ขั้นสุดท้าย จะมีการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการ แต่ในระหว่างทางก่อนถึงบันไดขั้นที่ 3 ถามว่ามันมีช่องไหม มี ก็คือวันนี้แหละ ที่มีหนังสือยืนยัน เอกสาร และภาพประกอบ ผมจะเอาเข้าบอร์ด ผมไม่ได้รอยกที่ 3 อย่างเดียว ผมถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนอย่างต่อเนื่อง แล้วมันมีข้อห่วงกังวลเยอะแยะมากมาย”

ดร.วัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ตัวแทน กกพ.

ในส่วนของการยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชาวบ้านทั้ง 3 กลุ่ม ได้ร้องขอให้ตรวจสอบการเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิ และการปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการรับฟังความเห็นในโครงการผลิตและจําหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรม โดยมี 3 ประเด็นหลักคือ

1. ตรวจสอบความชอบธรรมของการออกประกาศสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากที่ได้รับการคัดเลือก ลงวันที่ 5 เมษายน 2566

2. กรณีมีความจงใจหลีกเลี่ยงการทํารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และหลีกเลี่ยงการตั้งคณะกรรมการกํากับการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย

3. การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิ การปิดกั้นการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 58 การรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตามระเบียบคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นตัวแทนที่มารับเรื่อง กล่าวว่า “ถ้ามีการข่มขู่คุกคาม จะเร่งทำหนังสือประสานด่วน ช่วยเหลือแบบเร่งด่วน ไปกรมคุ้มครองสิทธิ ถ้าเป็นความเร่งด่วนที่อยู่ในช่วงการรับฟังความเห็น เราก็สามารถจะเชิญ กกพ. มาพูดคุย เพราะถ้าดูจากหลักฐาน จากคลิป เป็นหลักฐานที่ชัดเจน จริงๆ ก็มีหลายกรณีที่การรับฟังความคิดเห็นมักจะทำแบบให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน”

ส่วนกรณีจะตั้งไม่ตั้งโรงงานอย่างไร ทาง กสม. ชี้แจงว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณา ต้องขอลงพื้นที่ และต้องไปคุยกับผู้เชี่ยวชาญอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลงไปนิคมอุตสาหกรรมด้วย

ภาพและเนื้อหา : มูลนิธิบูรณะนิเวศ


author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ