ขบวนการอีสานใหม่ หนุน “ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” จี้หยุดทุนนิยมถือปืน

ขบวนการอีสานใหม่ หนุน “ปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” จี้หยุดทุนนิยมถือปืน

22 ก.ค. 2558  ขบวนการอีสานใหม่ Neo E-Saan Movement เผยแพร่แถลงการณ์ลงวันที่ 21 ก.ค. 2558 “หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หยุดทุนนิยมถือปืน” สนับสนุนความเคลื่อนไหวของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งเดินหน้ากิจกรรมอดอาหารคัดคัานการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา (คลิกอ่านข่าว) พร้อมระบุข้อสังเกตุถึงธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจพลังงานที่มุ่งแสวงหาผลกำไรและผลักภาระให้กับประชาชน

20152207144611.jpg

ที่มาภาพ: หยุดถ่านหินกระบี่

“กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่นี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจนว่า ในระบอบทุนนิยมถือปืน ประชาชนก็ยังคงต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยากลำบากเช่นเดียวกับในระบอบทุนนิยมประชาธิปไตย ต่างกันตรงที่มีคนคอยถือปืนยืนจี้หัวและผู้ถือปืนไม่ต้องระมัดระวังรับฟังเสียงประชาชนมากเท่า” ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

20152207145647.jpg

ที่มาภาพ: หยุดถ่านหินกระบี่

ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอีด ดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการอีสานใหม่
หยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หยุดทุนนิยมถือปืน

ตามที่เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้ทำการอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องคัดค้านให้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ยุติการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มาตั้งแต่วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ล่าสุดเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินได้เดินเท้าจากหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ได้เข้าพบ สุดท้ายกลับถูกไล่ไปนอนวัดโสมนัสฯ โดยยังยืนยันที่จะปักหลักรอคำตอบจนกว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยกเลิกโครงการ

ขบวนการอีสานใหม่มีความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

๑. เรา “ขบวนการอีสานใหม่” สนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ ดังนั้น เราจึงสนับสนุนการต่อสู้ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่ของ กฟผ.

๒.. โครงการนี้ ยังไม่ผ่านการอนุมัติ รายงาน EIA และ EHIA จากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (คชก.) ซึ่งเป็นการลัดขั้นตอนผิดต่อหลักธรรมาภิบาลของสังคมอารยะ ส่งผลต่อการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสู่สาธารณะ

๓. โครงการฯ นี้ คือราคาที่คนในสังคมไทยทั้งหมดเกือบ ๗๐ ล้านคน ต้องร่วมกันจ่ายผ่านภาษี แทนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อชีวิตและสังคมโดยรวม กลับนำมาใช้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ไร้ความจำเป็น เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณสำรองของกระแสไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็นแล้ว แม้ไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ ประเทศไทยก็มีไฟฟ้าใช้ไม่ขาดแคลน มิหนำซ้ำยังจะเป็นการซ้ำเติมสังคมด้วยการก่อมลพิษจากการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและการเผาไหม้ถ่านหินที่ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชน เพราะถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่มีคุณสมบัติสกปรกที่สุด

นอกจากภาษีของประชาชนที่นำมาใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ที่ไร้ความจำเป็นแล้ว ยังมีค่าเอฟที (Ft) ในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟรายเดือนที่ประชาชนต้องแบกรับให้แก่โครงการของรัฐบาล กฟผ. และข้าราชการ ที่ร่วมกันผลักดันโครงการนี้ เหตุเพราะว่าการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่ที่ไร้ความจำเป็นเพิ่มเข้ามาในระบบพลังงานนั้น เงินทุกบาททุกสตางค์ในการก่อสร้างการดูแลรักษาและการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นหลังจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่เดินเครื่องล้วนถูกผลักเข้าไปอยู่ในค่าเอฟทีในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟรายเดือนของพวกเราทั้งสิ้น

๔. การผลักดันโครงการฯ ที่ไม่มีความจำเป็นต่อการใช้ไฟฟ้าของประชาชน และไม่มีความจำเป็นต่อการกล่าวอ้างถึงความมั่นคงในระบบพลังงานนั้น คงมีเพียงเหตุผลเดียวเท่านั้นที่อยู่เบื้องหลังในการผลักดันโครงการนี้ นั่นคือ ผลประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจถ่านหินเท่านั้นเอง

จึงเป็นเหตุให้น่าสงสัยว่ากลุ่มทุนธุรกิจถ่านหินที่เป็นเจ้าของแหล่งสัมปทานถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ ที่ครอบครองสัมปทานถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย เวียดนาม จีน และอื่น ๆ เช่น บ้านปู ปตท. กฟผ. เป็นต้น อยู่เบื้องหลังรัฐบาลเผด็จการทหาร คสช. ที่ประสงค์ผลักดันโครงการดังกล่าวหรือไม่ เพราะได้ผลประโยชน์จากธุรกิจถ่านหินกันถ้วนหน้า

หากข้อสงสัยนั้นเป็นความจริง แสดงว่าอิทธิพลของกลุ่มทุนธุรกิจถ่านหินสามารถเข้าไปแทรกแซงกลไกรัฐด้วยการปรับแผนพัฒนาพลังงาน หรือ PDP ให้เพิ่มสัดส่วนถ่านหินเข้ามาในระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากประมาณร้อยละ ๑๔ เป็นประมาณร้อยละ ๒๕ – ๔๐ ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อความมั่นคงของระบบพลังงานที่พยายามพึ่งพาก๊าซธรรมชาติให้น้อยลงตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่เป็นความมั่นคงของรายได้หรือผลประโยชน์ของกลุ่มทุนธุรกิจถ่านหินที่ผูกขาดการขายถ่านหินให้กับรัฐไทยมากกว่า

ดังนั้นแล้ว จึงเห็นได้ว่าธุรกิจถ่านหิน และธุรกิจพลังงาน ไม่เคยขาดทุน มีแต่ได้กับได้ มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่เป็นฝ่ายแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการ การดูแลรักษาและการบริหารจัดการที่ไร้ความจำเป็น ล้มเหลวและผิดพลาดของรัฐ ราชการ และ กฟผ. ที่ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจังหวัดกระบี่เข้ามาในระบบพลังงานที่มีปริมาณสำรองล้นเกินความจำเป็นอยู่แล้ว

๕. กรณีโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่นี้ เป็นตัวอย่างอันชัดเจนว่า ในระบอบทุนนิยมถือปืน ประชาชนก็ยังคงต้องต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยากลำบากเช่นเดียวกับในระบอบทุนนิยมประชาธิปไตย ต่างกันตรงที่มีคนคอยถือปืนยืนจี้หัวและผู้ถือปืนไม่ต้องระมัดระวังรับฟังเสียงประชาชนมากเท่า

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมด ขบวนประชาชนอีสานใหม่จึงขอสนับสนุนและเป็นกำลังใจในการต่อสู้คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนส่งถ่านหินจังหวัดกระบี่ของเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินให้ประสบผลสำเร็จ ได้รับชัยชนะในเร็ววัน

‪#‎เพราะเราคือเพื่อนกัน‬

ขบวนการอีสานใหม่
๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ