เมืองแหง หรือเวียงแหง อำเภอที่หลายคนอาจจะไม่ค่อยได้ไปเยือนนัก ของจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากความห่างไกลจากตัวเมืองประมาณ 150 กิโลเมตร ที่ต้องใช้การเดินทางราวกว่า 3 ชั่วโมง เส้นทางหลักเชื่อมอำเภอเป็นถนนสองเลน ชันเป็นช่วงๆ บางช่วงก็ขรุขระบ้าง แต่ก็มีจุดให้ชมวิวสองข้างทางพอสมควร บรรยากาศเส้นทางก็เป็นป่าสนที่อุดมสมบูรณ์ ก่อนที่จะได้ไปถึงอำเภอที่มีติดชายแดนเมียนมายาว 30 กิโลเมตร ซึ่งมีผู้คนอยู่ร่วมกันหลายชาติพันธุ์ ทั้ง คนเมือง ไทใหญ่ ชาวไทลื้อ ลีซู กะเหรี่ยง มูเซอ ปะโอ ปะหล่อง จีนฮ่อ
นอกจากจุดชมวิวบ้านเลาวู ประตูสู่เวียงแหง ที่มีผลผลิตตามฤดูกาลให้ได้ชิม มีวิวสวยๆ แต่เสียดายที่วันนี้เราไม่ได้แวะ แต่เลือกที่จะเลยมายัง Akipu Coffee ร้านกาแฟสเล็ก ๆ เพื่อไปแวะทักทาย วุฒิ คนรุ่นหม่ลีซูที่กลับบ้าน และคนเดินเรื่องจากกสารคดี อีแมคัวะ เส้นทางเติมฝัน ฉัน พี่ชาย ได้คุยกันถึงความเปลี่ยนแปลงในชุมชน จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการจัดการชุมชนเพื่อให้คนอยู่ได้และทรัพยากรอยู่ได้อย่างยั่งยืน เป็นโจทย์สำคัญที่คนรุ่นใหม่กำลังขบคิดและช่วยกันทำงาน ผ่านการแฟดูแลป่า ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ ผ่านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่พวกเขายังคงต้องฟันฝ่าต่อไป
แน่นอนว่านี่เป็นการมาเวียงแหงครั้งแรก และไม่ได้มีแผนการเดินทางมาล่วงหน้า เราเลยขอไกด์เจ้าถิ่น ที่นี่เวียงแหง ช่วยแนะนำข้อมูลเบื้องต้น ได้ข้อมูลมาว่า เมืองแหง หรือเวียงแหง เป็นเมืองหน้าด่านตามเส้นทางเดินทัพและการค้าระหว่างล้านนากับเมืองอังวะ เมียนมา ทั้งของพระเจ้าบุเรงนอง (ข้ามผ่านแม่น้ำสาละวินมายึดเมืองเชียงใหม่เมื่อปี 2101) เส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเส้นทางยุทธศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่2 มีที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่ด้วยเวลาที่จำกัดเราเลยต้องเลือกเดินทางไปยังสถานที่ใกล้ ๆ เป็นหลัก โดยเริ่มจากข่วงอนุสรณ์สถานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง
จากนั้นก็ไปต่อที่จุดชมวิว ซีหลงซัง หรือ “หุบเขามังกรตะวันตก” ที่บ้านเปียงหลวง จุดนี้หากมาในช่วงเช้ามืดจะมีทะเลหมอกปกคลุม ด้านบนมีศาลเจ้าเงินทองเขามังกรตะวันตก ศาสนสถานที่คนในพื้นที่ไปกราบไหว้ขอพรในเรื่องโชคลาภ มองลงไปจะเห็นอ่างเก็บน้ำเกิ่งอิ่ง และชุมชนเปียงหลวง หมู่บ้านริมชายแดนไทย-เมียนมา ที่มีเพียงภูเขากั้นกลางระหว่างสองประเทศ
ลงมาต่อกับหมู่บ้านด้านล่าง จะพบชุมชนพหุวัฒนธรรมที่มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมไทใหญ่ ผสมกับจีนยูนนาน และวัดในรูปแบบศิลปะพม่า พวกเราจึงแวะรับประทานอาหารกลางวันที่มีทั้ง อาหารกึ่งจีน และไทใหญ่ อย่างเกี๊ยวซ่า ที่มีน้ำจิ้มขิงแบบจีนดั้งเดิม พร้อมบะหมี่ และอาหารไทใหญ่ อย่างข้าวฟืน ที่มีแบบน้ำและทอด อิ่มอร่อยและราคาสบายกระเป๋า
อิ่มแล้วก็ไปต่อกันที่วัดสองแผ่นดิน วัดฟ้าเวียงอินทร์ ที่พื้นที่วัดครอบคลุมทั้งสองประเทศ อยู่ตรงจุดเส้นชายแดน มีอุโบสถอยู่ในฝั่งเมียนมา และเจดีย์มารชินะเจดีย์ อยู่ในฝั่งไทย ตรงทางขึ้นมีจุดผ่อนปรนบ้านหลักแต่ง ที่เคยเป็นด่านการค้าของคนไทยกับเมียนมา ก่อนจะปิดตัวลงมากว่า 20 ปีแล้ว
วนกลับมาเส้นตัวอำเภอเวียงแหง จะผ่านตำบลแสนไห มาถ่ายรูปเช็คอิน Unseen SANSHAI พร้อมสักการะ พระธาตุแสนไห ที่เชื่อกันว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล และบูรณะภายหลังในรูปแบบปฏิมากรรมผสมระหว่างล้านนาและเมียนมา มีตลาดยามเย็น หรือ กาดแลง แสนไห ที่คนในพื้นที่บอกว่านอกจากผลิตภัณฑ์ อาหารท้องถิ่น ผลผลิตจากป่าชุมชนแล้ว ตอนนี้พื้นที่กำลังจะปรับให้ส่วนหนึ่งเป็นตลาดที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ โดยการนำตองตึงจากป่าชุมชนมาแปรรูปเป็นจาน และวัสดุใส่อาหาร ส่วนหนึ่งเป็นการลดขยะ อีกส่วนเป็นการแปรรูปวัสดุที่จะกลายเป็นเชื้อไฟของไฟป่ามาเป็นรายได้ให้ชุมชนด้วย
นี่เป็นเพียงหนึ่งวันในเวียงแหงที่มีสถานที่ท่องเที่ยวให้ชมมากมาย แต่ทราบหรือไม่ว่าเวียงแหงทั้งอำเภอ พื้นที่ทั้งหมดราว 705 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่อยู่อาศัยเพียง 52 ตารางกิโลเมตร คนในพื้นที่พยายามที่จะดูแลป่า และเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เพื่อพิสูจน์ว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ พยามใช้กฎหมาย คือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นตัวช่วยในการทำแผนของชุมชน เพื่อเป็นหนึ่งโอกาสให้พวกเขามีรายได้ และคนทั่วไปมีที่เที่ยวสวย ๆ มีป่า และอากาศที่ดีมอบให้กับทุกคน