2,000 เมตร++ กับความงามของดอยอินทนนท์

2,000 เมตร++ กับความงามของดอยอินทนนท์

ฤดูหนาวมาเยือนอีกครั้ง แม้ว่าครั้งนี้จะมาช้าไปหน่อย แต่หนึ่งในหมุดหมายปลายทางของหลายคนที่อยากมาสัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอกสวย ๆ คงหนีไม่พ้นที่นี่ ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเล ที่ทำให้ช่วงสิ้นปีที่ผ่านมามีผู้มาเยือนวันละนับหมื่นคน อย่างคืนก่อนสิ้นปี 30 ธ.ค. 2566 ที่มีผู้มาเยือนมากถึงกว่า 18,000 คน

เมื่อถึงเดือน ม.ค. แบบนี้ ดอกไม้เมืองหนาวหลายชนิดเริ่มผลิบาน จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้ออกเดินทางเพื่อชมความงามของดอยอินทนนท์ อีกครั้ง โดยตั้งเป้าหมายว่าจะใช้เส้นทางจากเมืองเชียงใหม่ เข้าแม่วางด้วยทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 1013 เพื่อไปสู่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ขุนวาง แม้ทางเส้นนี้อาจจะแคบแต่ระหว่างทางก็มีสีสันหลายยอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำตก วัดหลวงขุนวิน โกโก้ออร์แกนิกที่ปลูก และแปรรูปในพื้นที่ กาแฟเลพาทอ ของคนปกาเกอะรุ่นใหม่ที่บ้านหนองเต่า ปางช้าง เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ จากวัดถ้ำดอยโตน ลัดเลาะไปตามป่าและลำน้ำของบ้านแม่สะป๊อก จนเป็นหนึ่งหมุดหมายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

สำหรับศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ ขุนวาง อยู่ในพื้นที่ตำบลแม่วิน พื้นที่ประมาณ 450 ไร่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลราว 1,300-1,400 เมตร ทำให้มีอากาศหนาวเย็นเกือบทั้งปี เป็นพื้นที่ทดลอง และถ่ายทอดความรู้การปลุกพืชเมืองหนาว และแหล่งท่องเที่ยวทางด้านเกษตร ตอนนี้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้าเดินทางมาชมดอกพญาเสือโคร่งที่เริ่มบานอวดโฉมให้ได้ชมกันแล้ว แม้ว่าจะยังมีน้อย และค่อยๆ ทยอยบาน แต่ก็พอมีดอกให้เห็นบ้าง ซึ่งคาดว่าปลายเดือน ม.ค. -ต้น ก.พ. อุโมงค์ดอกไม้จะบาน ใก้ได้มาถ่ายรูปเช็คอินกัน

จากขุนวางเราเดินทางข้ามมาฝั่งดอยอินทนนท์ เพราะมีหมุดหมายที่อยากจะไปนั่งฟังเสียงนก ชมป่าเมฆ และแน่นอนว่าหนึ่งจดนัดพบของนักส่องนก คือ บ้านลุงแดง อดีตเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่กลายมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนกที่หาตัวจับยากคนหนึ่ง จนเป็นที่รู้จักของนักดูนก ทั้งไทย และต่างประเทศ แต่จากการเดินทางที่ล่าช้าก็ทำให้มาถึงในเวลาที่แสงอาทิตย์เริ่มจะจางหายไปแล้ว เลยต้องบึ่งรถขึ้นไปนั่งฟังเสียงนกที่อ่างกาหลวงแทน พร้อมกับอุณหภูมิที่ต่างกับในเมืองกว่า 10 องศาเซลเซียส ที่มาพร้อมกับลมแรง ที่อาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวไปใช้ตั้งแต่ช่วงตอนเย็น

เช้าวันใหม่พระอาทิตย์ตื่นสาย เพราะอากาศหนาว บนจุดชมพระอาทิตย์ลานจอดรถของกิ่วแม่ปาน อุณหภูมิอยู่ราวๆ 10 องศา กับความสูง 2,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แม้ว่าพระอาทิตย์จะสาดแสงลงมาแต่ก็ยังไม่คลายความหลาวลงไปได้เท่าไหร่ แต่คนก็ยังจดจ่อที่จะได้เก็บภาพบรรยากาศเช้าวันใหม่อยู่เป็นจำนวนมาก

จุดชมพระอาทิตย์ลานจอดรถของกิ่วแม่ปาน

แน่นอนว่าสิ่งที่จะพลาดไม่ได้ คือ การสำรวจธรรมชาติ ด้วยเส้นทางเดินป่ากิ่วแม่ปาน ที่เช้านี้ค่อนข้างชุลมุน เพราะเมื่อคืนที่ผ่านมาเป็นวันปีใหม่ม้ง ไกด์ที่จะพาเราเดินศึกษาธรรมชาติมีน้อย ไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีอยู่ เพราะหลายคนฉลองกันจนดึก หรือหลายคนติดเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตร

ได้พูดคุยกับพี่ไกด์ของเรา เขาเล่าว่ามีไกด์ จำนวน 300 คน โดยอุทยานฯ จะอบรมให้ทั้งความรู้เรื่องการเป็นไกด์ การปฐมพยาบาล การดูแลธรรมชาติ ให้กับชุมชนในพื้นที่เพื่อให้พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยดูแลป่า และมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยผู้ที่จะมาเป็นไกด์ได้ต้องเป็นพี่น้องชุมชนม้งและปกาเกอะญอที่ชุมชนอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เท่านั้น และนักท่องเที่ยวจะจ่ายเงินตรงให้กับไกด์ท้องถิ่นในการเป็นคนดูแลกลุ่มที่จะเดินขึ้นกิ่วแม่ปาน แต่จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ คอยเป็นคนจัดคิวให้ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกันของชุมชนและรัฐในพื้นที่เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

หากมอง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 ก็จะเห็นว่ารัฐและชุมชนพยายามแก้ปัญหาคนกับป่าในพื้นที่ทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มาโดยตลอด มีเวทีพูดคุยเจรจาให้ชุมชนเสนอแผนแม่บทในการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืน พัฒนาโครงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในโมเดลที่ชุมชนต้องการ ที่มีทั้งการทำเกษตรและการท่องเที่ยวควบคู่กัน รวมถึงการช่วยกันดูแลไฟป่า ในช่วงหน้าร้อนที่จะมาถึงนี้ ที่ลำพังเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่จำนวนน้อยนิดคงไม่เพียงพอ ชุมชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการดูแลป่าและดอยอิทนนท์แห่งนี้

ตลอดเส้นทางเดินป่ากิ่วแม่ปาน ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นการเดินทางเป็นวงรอบผ่านป่าดิบเขาและทุ่งหญ้า ใช้ระยะเวลาราว 2-3 ชั่วโมง และแน่นอนว่าสำหรับคนที่ชอบต้นไม้ และนกแล้ว เวลาแค่นี้อาจจะไม่พอ จากการนั่งฟังเสียงนกต่าง ๆ อยู่ในแนวป่า พร้อมกับเงยหน้าดูต้นไม้ในป่าเมฆ และเป็นการฟอกปอดด้วยกาศดี ๆ และนี่คือ กว่า 2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลที่งดงาม อันเกิดจากชุมชนและรัฐพยายามจัดการร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของคนและทรัพยากรธรรมชาติ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ