ฟังเสียงประเทศไทย : ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์

ฟังเสียงประเทศไทย : ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์

ผ่านพ้นปี 2565 เปิดศักราชด้วยความหวังในปี 2566 สำหรับการท่องเที่ยวไทย หลังจากปิดจบปีเก่าด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยว 11.5 ล้านคน ขณะที่ปีนี้มีการเปิดประเทศ และผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งข่าวดีการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของปี 2562 ก่อนโควิด 19 หรือประมาณ 20 ล้านคน

หลังวิกฤติย่อมมีโอกาส และการท่องเที่ยวตามวิถีชุมชน โดยชุมชน เพื่อความยั่งยืน คือ เทรนด์ของการท่องเที่ยวทางเลือกซึ่งเป็นโอกาสที่เราจะชวนคุยต่อในฟังเสียงประเทศไทยพิกัดต่อไป พิกัดนี้เราพามากันที่  ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนที่อยู่บนดอยอินทนนท์ ที่ในหน้าหนาวเรามักจะเห็นคลื่นมหาชนแห่แหนไปยังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม โดยเฉพาะยอดดอยที่สูงที่สุดอย่าง ‘อินทนนท์’ เกิดปรากฎการณ์คนล้นดอย

ขณะที่กระแสการท่องเที่ยวทางธรรมชาติหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การรีวิวบนโลกออนไลน์ การโปรโมตของทางภาครัฐเอง ทำให้พื้นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุทยานแห่งชาติ 127 แห่งในประเทศไทย กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ มุมหนึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับพื้นที่แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกมุมหนึ่งคือชุมชนต้องตั้งรับเตรียมพร้อมสำหรับการรองรับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงการรักษาทรัพยากรเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศหลายแห่งประสบปัญหาการจัดการที่หละหลวม ขาดจิตสำนึกอนุรักษ์ ทำให้การท่องเที่ยวกลายเป็นเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าของธรรมชาติ คร่าเสน่ห์ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อทรัพยากรชุมชนเกินกว่าจะประเมินค่าได้ ภาพเหล่านี้มีตัวอย่างมากมาย

แต่หากจะหาต้นแบบการจัดการการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติไปพร้อมกับรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม พื้นที่ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ปรากฏสถิตินักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวอย่างเทศกาลปีใหม่ มีนักท่องเที่ยวมุ่งหน้าขึ้นมาสัมผัสอากาศหนาว ชมความงดงามของธรรมชาติถึงกว่า 20,000 คนต่อวัน จนเคยประสบปัญหานักท่องเที่ยวแออัด การจราจรติดขัด อุบัติเหตุ และขยะล้นดอย

ซึ่งหนึ่งในโจทย์สำคัญของชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์หนีไม่พ้นเรื่องของสิทธิชุมชน

เนื่องจากพวกเขาอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ แม้ว่าหลายชุมชนจะเริ่มเปลี่ยนจากเกษตรเชิงเดี่ยวมาเป็นชุมชนเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และมีการจัดการแผนแม่บทในการจัดการทรัพยากร แต่ด้วยเงื่อนไขและรายละเอียดกฎหมายยังต้องมีการตีความและมีข้อจำกัดมากมายทำให้พื้นที่ยังไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มรูปแบบ

ก่อนเริ่มวงสนทนาทีมงานได้ให้ผู้คนที่มาร่วมวงได้เขียน ด้วยคำถามที่ว่า

“หากเราเลือกนักท่องเที่ยวได้ เราต้องการนักท่องเที่ยวแบบไหน”

คำตอบจากพื้นที่ส่วนหนึ่งบอกว่า อยากเห็นนักท่องเที่ยวเชิงบวก นักท่องเที่ยวไม่ก่อปัญหา นักท่องเที่ยวอยู่ในกฎระเบียบของชุมชน เป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติ มีจิตสำนึกที่ดี นักท่องเที่ยวไม่ส่งเสียงดังเมื่อมาอยู่กับธรรมชาติ

“คนในพื้นที่คิดว่าในพื้นที่ตอนนี้ชุมชนของเรายังขาดอะไร ”

คำตอบจากพื้นที่ส่วนหนึ่งบอกว่า ขาดเรื่องสิทธิที่ดิน ขาดความเป็นมืออาชีพ ขาดกฎกติกา ขาดการหนุนเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการส่งเสริมที่เป็นรูปธรรมชัดเจน

ข้อความสั้น ๆ นี่เป็นข้อความบางส่วน ที่บอกเล่าถึงสถานการณ์ของคนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติ และภาพนักท่องเที่ยวที่คนในชุมชนอยากให้มาเยือน เพื่อจะได้จัดการชุมชนรองรับการท่องเที่ยวอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืน แต่การอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติก็ยังคงมีข้อจำกัดอยู่หลายต่อหลายอย่าง ที่ผ่านมาภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและชุมชน พยายามผลักดันแผนแม่บทในการจัดการที่ดินรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์ ต.ขุนกลาง ฟังเสียงประเทศไทยตอนนี้จึงอยากชวนคุณผู้ชมและผู้อ่านทั้งคุยและคิดปรับทิศอนาคตของคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้อย่างตรงจุด มองภาพอนาคตใน อีก 5-10 ปีข้างหน้า

และเช่นเคยทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจ

ท่องเที่ยวไทย

  • ปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยได้รับการ จัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว โดยสภาเศรษฐกิจโลก อยู่ในอันดับที่ 31  และเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย
  • ในปี พ.ศ. 2564 มีรายได้รวม 3.84 แสนล้านบาท จากนักท่องเที่ยวในประเทศ 3.6 แสนล้านบาท ต่างชาติได้แค่ 2.4 หมื่นล้าน และคาดว่าจะสูงขึ้นในปีนี้
  • และจากการประเมินของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ คาดว่าปี พ.ศ.2565 สร้างรายได้ราว 7.2 แสนล้านบาท

    ประเทศไทยมีรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลายและเน้นความยั่งยืน มีการผสมผสาน วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และความเป็นไทยเพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับนักท่องเที่ยว จึงมีการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชน และส่วนต่าง ๆ หนึ่งนั้นคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยมีอุทยานแห่งชาติอยู่ 127 แห่ง  

    ชุมชนและอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

    • หนึ่งอุทยานแห่งชาติที่เป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว คือ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ภูเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย เดิมเป็นส่วนหนึ่งของ “ป่าสงวนแห่งชาติดอยอินทนนท์” และประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติในปี พ.ศ. 2515
    • เนื้อที่ 482.4ตร.กม. หรือประมาณ 301,500 ไร่
    • ในเขตพื้นที่ของอำเภอจอมทอง อำเภอแม่แจ่ม อำเภอแม่วาง และกิ่งอำเภอดอยหล่อ  มีชุมชน​ ม้งและปกาเกอะญอ อยู่ทั้งหมด 34 ชุมชน 29 หมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ซ้อนทับกับพื้นที่อุทยานฯ
    • ประชากรส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกผัก ดอกไม้เมืองหนาว ทำไร่หมุนเวียน และการท่องเที่ยว

  • ก่อนช่วงสถานการณ์โควิด -19 อุทยานฯ จัดเก็บรายได้ ประจำปี พ.ศ. 2562 โดยเริ่มจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2561 จนถึงสิ้นเดือน กันยายน พ.ศ. 2562 รวมทั้งสิ้น 100,661,200 บาท มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นถึง 873,237 คน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 200,000 คน
  • ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 23 หมู่บ้านมีทั้งชาติพันธุ์ม้ง ปกาเกอะญอ และคนเมือง อยู่ในเขตความรับผิดชอบของ 2 เทศบาล คือ เทศบาลตำบลบ้านหลวง และเทศบาลตำบลจอมทอง
  • ในพื้นที่เทศบาลตำบลบ้านหลวง 19 หมู่บ้าน มีที่ราบสำหรับการเพาะปลูกน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์  เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ มีน้ำตกที่สวยงามอยู่หลายแห่ง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอจอมทอง
  • ชุมชนกับการปรับเปลี่ยนอาชีพสู่การเกษตรเพื่อการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ตำบลบ้านหลวง

    • หลายชุมชนในตำบลบ้านหลวงเป็นชุมชนดั้งเดิมที่อยู่มาก่อนการประกาศ เขตอุทยานแห่งชาติ เช่น บ้านม้งขุนกลาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2431 บ้านปกาเกอะญอผาหมอนที่อยู่ในพื้นที่มากว่าหนึ่งร้อยปี
    • จากการขยายตัวของชุมชนและข้อจำกัดของพื้นที่ ชุมชนก็พยายามปรับเปลี่ยนจากอาชีพทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกดอกไม้ พืชผัก และไม้ผลต่าง ๆ สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบยั่งยืน เพราะที่พื้นที่ตั้งชุมชนนั้นมีอากาศหนาวเย็นตลอดปีและมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ป่าอุดมสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการการท่องเที่ยวร่วมกับการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติฯและท่องเที่ยวดอยอินทนนนท์เป็นจำนวนมากในหน้าหนาวของทุกปี

  • เงื่อนไขสำคัญในการปรับเปลี่ยนอาชีพของชุมชนในเขตอุทยานแห่งชาติอินทนนท์ สู่การท่องเที่ยว คือ เรื่องของพื้นที่ในเขตป่าอนุรักษ์
  • ภายใต้ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทำการสำรวจ และตรวจสอบการถือครองที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยตามมาตรา 64 ใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ  พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 ใน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562  ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยบังคับใช้เมื่อ 25 พ.ย. 2562
  • ตำบลบ้านหลวงได้มีการทำแผนที่แนวเขตของชุมชนและและอนุมัติการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อไปสู่“เขตการบริหารจัดการภายในอุทยานแห่งชาติ”
    • บ้านม้งขุนกลาง สำรวจพื้นที่ได้ 2,036.33 ไร่ ชุมชนจึงได้ร่วมกันกำหนดขอบเขตและจัดทำแผนการบริหารจัดการ“เขตการบริหารจัดการภายในอุทยานแห่งชาติ” และยกร่างเป็น “แผนแม่บทการจัดการที่ดินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์ บ้านขุนกลาง ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
    • ความท้าทายสำคัญในการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบยั่งยืน คือ การจัดการทรัพยากรหน้าหมู่ ว่าจะเป็นการใช้น้ำ การลดให้สารเคมี การจัดการขยะ เพื่อไม่ให้กระทบทรัพยากรธรรมชาติ และการบังคับใช้แผนแม่บทการจัดการที่ดินเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดอยอินทนนท์ ของตำบลขุนกลางที่อออกมาอย่างเป็นรูปธรรม
    • รวมถึงความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ทั้ง พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2562 การเปลี่ยนพื้นที่ไปเป็นที่พัก และการท่องเที่ยวที่จะต้องคำนึงถึงคุณภาพการบริการภายใต้ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 และระเบียบของกรมอุทยานฯ เป็นเรื่องที่ชวนมาหาทางออกกันต่อไป

    และจากข้อมูลทางทีมงานฟังเสียงประเทศไทยเลยลองประมวลภาพความน่าจะเป็น ที่อยากชวนผู้อ่าน และผู้ชมคิดถึงภาพอนาคตของ อีก 5-10 ปี ข้างหน้า ของการท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติอินทนนท์จะเป็นแบบไหน ทางรายการเลยลองประมวลมา 3 แบบ เพื่อคนในวงสนทนา และผู้อ่านทุกคนร่วมกันมองว่าอนาคตของพวกเขาจะเป็นไปในทิศทางใด ?

    ภาพที่ 1 ชุมชนท่องเที่ยวแบบกระจุกตัว

    ชุมชนส่วนหนึ่งมีกฎกติกา และระเบียบในการจัดการทรัพยากร แต่ยังไม่มีกลไกและการจัดการอย่างจริงจังในการใช้น้ำ ให้พื้นที่ส่วนกลาง กฎหมายยังไม่เปิดช่อง การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรมเป็นแบบผสมผสานทำได้น้อย ยังคงพึ่งพาพืชเชิงเดี่ยว พื้นที่บางส่วนถูกปรับเป็นที่พักเพื่อรับนักท่องเที่ยวภายใต้เงื่อนไขของกฎหมาย สมาชิกบางส่วนชองชุมชนเห็นรายได้จากการท่องเที่ยว ทิ้งวิถีแบบดั้งเดิมผันตัวไปเป็นนักธุรกิจด้านการท่องเที่ยว หรือการเข้ามาของคนภายนอกเพื่อสร้างบ้านพักรับนักท่องเที่ยว หรือบริษัทภายนอกมาจัดการท่องเที่ยวบนพื้นที่ชุมชน สร้างรายได้ให้คนที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยว ไกด์ชุมชน แต่กระจกตัวอยู่แค่บางส่วน

    ภาพที่ 2 ท่องเที่ยวหลากหลายภายใต้วิสาหกิจชุมชน

    ชุมชนมีการรวมกลุ่มกันจัดการท่องเที่ยว มีข้อตกลงร่วมกันในการจัดการทรัพยากร ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้มีความเหมาะสม จัดการแนวเขตพื้นที่อย่างชัดเจน และทำแผนร่วมกับหน่วยงานทท้องถิ่นและอุทยาน การปรับทัศนียภาพ สร้างที่พักสามารถทำได้ผ่านมติของชุมชน เปลี่ยนแปลงการทำเกษตรไปสู่แบบผสมผสานควบคู่กับการท่องเที่ยวภายใต้ที่กฎหมายกำหนด รับนักท่องเที่ยวบ้านกลุ่มชุมชน เน้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ธรรมชาติและเกษตรกรรม  ขอตกลงเรื่องราคา สินค้าและบริการมาจากมติร่วมของชุมชนเป็นหลัก มีการจัดการแบ่งรายได้สู่กองทุนชุมชน

    ภาพที่3 รัฐและชุมชนร่วมจัดการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์

    อุทยานและท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในการทำงานส่งเสริมพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็นต้นแบบในการจัดการทรัพยากรภายใต้เงื่อนไขของรัฐ ดูแลให้การท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน ให้ความรู้ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยว เรื่องกฎหมายและการดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ น้ำ และพื้นที่เกษตรกรรมแบบผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และอยู่ภายใต้แนวเขตที่ทำร่วมกัน เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ภายใต้อัตลักษณ์ท้องถิ่นและการอนุรักษ์ จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเหมาะสม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและที่พักทำได้ตามกฎหมาย และมีเงื่อนไขในการเข้ามาพักภายใต้ระเบียบที่อุทยานและชุมชนทำร่วมกัน

    เพื่อให้ทุกท่านได้มีส่วนร่วม ย้ำกันอีกครั้งว่า หัวใจของการมาเจอในทุกครั้ง คือ ได้มา “ฟัง” แลกเปลี่ยนข้อมูล ได้รู้ในสิ่งที่ยังไม่เคยรู้ หรือได้เติมข้อมูลให้กัน และนำมาคิดไปข้างหน้า เพื่อร่วมออกแบบภาพอนาคตเราชวนตัวแทนภาพอนาคตทั้ง 3 พูดคุย

    ตัวแทนภาพที่ 1 ชุมชนท่องเที่ยวแบบกระจุกตัว คุณ สมศักดิ์ เสกสรรวรกุล // ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เกษตรที่พักดอยอินททนนท์ กล่าวว่า

    หากมองเรื่องข้อกฎหมายที่ยังไม่อนุญาติให้เปิดช่องทางให้พื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งระเบียบต่าง ๆ ที่ทำในชุมชนเอง หรือแม้กระทั่งแผนแม่บทต่าง ๆ ที่ชุมชนทำตรงนี้ยังเกิดปัญหาอยู่ หากปัญหาเหล่านี้ถูกคลี่คลายและกฎหมายต่าง ๆ ที่ชัดเจนขึ้นก็สามารถที่จะขยายเนื้องานที่คุยกันในกรอบได้ก็จะสามารถทำให้คนที่ได้รับผลประโยชน์ หลาย ๆ คน ไม่กระจุกตัวเหมือนที่เราบอกว่าเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่งที่ได้ประโยชน์ ที่ทำเพียงแค่ 30 กว่าราย ที่สามารถทำท่องเที่ยวได้แล้วคนอื่น ๆ ทำไม่ได้ ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าเราคุยกันและกฎหมายเปิดช่องมากขึ้นทำให้ทุกคนมีสิทธิเหมือนกันตามกรอบกติกาเดียวกัน

    ตัวแทนภาพที่ 2 ท่องเที่ยวหลากหลายภายใต้วิสาหกิจชุมชน คุณ สุรสิทธิ์ ดลใจไพรวัลย์ //  ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านผาหมอน

    กล่าวว่า เมื่อการท่องเที่ยวเข้ามาถึงพื้นที่มันต้องอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ ป่า ไฟ ทรัพยากรต่าง ๆ มองว่าการรวมกลุ่ม เช่นเป็นวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญหมายความว่าเราจะเป็นให้เห็นแนวคิดความคิดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นชุมชนมันจะได้สะท้อนว่าการท่องเที่ยวดีแบบไหน และไม่ดีแบบไหน อีกอย่างที่เรามองว่าสำคัญมาก ๆ คือเรื่อง การท่องเที่ยวที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวแค่เพียงรายได้ เราตั้งธงว่าเราต้องใช้ท่องเที่ยวเป็นการพัฒนาชุมชน มากกว่านั้นคือการลงไปสู่การดูแลทรัพยากร ลงไปสู่การดูแลสังคมและชุมชน ถ้าเรามองในเชิงแบบนี้ก็จะมีประโยชน์ต่อภาพรวมในพื้นที่ ในขณะเดียวกันหน่วยงานในพื้นที่ที่อยู่รอบ ๆ ชุมชนก็สำคัญไม่ใช่ชุมชนลุกขึ้นมาแล้วทำกันโดยไม่ถามใคร การลุกขึ้นมาของชุมชนเราต้องฟังเสียงรอบข้าง เสียงในชุมชนด้วย ผลประโยชน์ที่ได้โดยตรงคือคนที่ทำท่องเที่ยว คนที่ได้โดยอ้อมคือผลกำไรที่เกิดขึ้นในชุมชน เราก็มอบกลับไปสู่สังคมชุมชน ผาหมอน หนองหล่ม ที่เราทำมา 20-30 ปี เรามีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ไปดูแลเรื่องของการศึกษานักเรียนในชุมชน ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ดูแลเรื่องของผู้ยากไร้ในชุมชน แต่ในข้อจำกัดที่สำคัญขอชุมชนคือผาหมอนจะขยับ อีก 5 ปีข้างหน้าเราเข้าไปคุยกับหน่วยงานเรามองเห็นภาพไม่ตรงกัน เราอยากให้มีงานวิชาการควบคู่ไปด้วยเพื่อหารูปแบบกติกาให้ได้ ในอนาคตเราต้องขยับเรื่ององค์ความรู้สำคัญคือเสียงนักท่องเที่ยว นำไปสู่การพัฒนาของการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

    ภาพที่ 3 รัฐและชุมชนร่วมจัดการท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ คุณ ก่อชิ เพชรไพรพนาวัลย์ // นายกเทศมนตรีตำบลบ้านหลวง

    ดอยอินททนนท์เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว เพราะอย่างไรชุมชนที่อยู่ตรงนี้ต้องลุกขึ้นมาจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นเมื่อชุมชนลุกขึ้นมาจัดการการท่องเที่ยวเรามีหน้าที่ช่วยสนับสนุนชุมชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นปัจเจก หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน คุยกันโดยตลอดทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน แต่ถามว่าจะให้ได้ประโยชน์ทุกคนหรือไม่เป็นไปไม่ได้ เอาเฉพาะกลุ่มที่สนใจผู้ที่ทำเรื่องนี้พื้นที่ก็ไม่อำนวยที่จะทำการท่องเที่ยวได้ อาจจำจะได้หลายรูปแบบ เช่น เป็น มัคคุเทศก์ไกด์นำเที่ยวของพื้นที่ ร้านอาหาร เดินรถ และอื่น ๆ มันมีหลากหลายการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ท้องถิ่นคนท้องถิ่นจัดการตนเอง สิ่งแรกที่จะทำได้คือการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการท่องเที่ยว ว่าจะรองรับการจัดการของชุมชนอย่างไรได้บ้าง และมาจากข้อตกลงของทุกคนว่าในแนวนี้ เพื่อให้เกิดการจัดการอย่างยั่งยืน

    นี่คือเสียงส่วนหนึ่งจากตัวแทนทั้ง 3 ภาพอนาคต ยังมีเสียงของคนในชุมชนให้เราได้ฟังและร่วมคิดต่อในรายการฟังเสียงประเทศไทยเทปนี้  3 ฉากทัศน์นี้เป็นเพียงจุดตั้งต้นท่ามกลางฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากมาย 

    เสียงของพี่น้องในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ในวันนี้ สะท้อนถึงความพยายามของพื้นที่ในการร่วมกันหาทางออกเพื่อการอยู่ร่วมกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่สำคัญพยายามก้าวข้าวข้อจำกัดมองไปข้างหน้าหาอาชีพที่ยั่งยืน และพวกเขาคาดหวังในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน   

    คุณผู้ชมสามารถติดตาม รายการเพิ่มเติมและร่วมโหวตเลือกฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมได้ที่ www.thecitizen.plus หรือร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทยกับไทยพีบีเอส และเรื่องราวกับแฟนเพจTheNorth องศาเหนือ สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ

    เพราะทุกการเดินทางและการฟังกันและกัน เราหวังว่านี่จะเป็นอีกพื้นที่ ที่ “เสียง”ของประชาชนจะไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่จะออกแบบและจัดการตามข้อเสนอที่ผ่านการร่วมกันคิด ร่วมกันตัดสินใจ แบบ “ปัญญารวมหมู่”

    author

    ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

    เข้าสู่ระบบ