อนาคตกล้วยไข่ของดีเมืองกำแพง จะเป็นอย่างไร ?

อนาคตกล้วยไข่ของดีเมืองกำแพง จะเป็นอย่างไร ?

จังหวัดกำแพงเพชร เป็นจังหวัดที่นิยมปลูกกล้วยไข่กันมากในอดีต ตั้งแต่ปี 2465 และผลไม้ประจำถิ่นชนิดนี้เป็นที่ผูกพันกับประเพณีวิถีชีวิตของคนกำแพงเพชรมายาวนาน ทั้งงานบุญ งานสารทไทยกล้วยไข่ ควบคู่ไปกับวัฒนธรรมการกินกระยาสารทของคนกำแพงเพชร คนกำแพงเพชรส่วนใหญ่ในหลายๆอำเภอจะนิยมปลูกกล้วยไข่เนื่องจากทั้งดิน น้ำ และอากาศที่เหมาะสม ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีมีเอกลักษณ์โดดเด่น จนมีพื่นที่ปลูกกล้วยไข่ประมาณ 35,000 ไร่ และกลายเป็นพืชผลเศรษฐกิจทำรายได้เข้าจังหวัดเป็นมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต่อปี

กล้วยไข่ผล ไม้ที่ปลูกในจังหวัดกำแพงเพชร ที่มีออกผลผลิตปีละครั้งในช่วงเดือน สิงหาคม – ตุลาคม กลายเป็นผลไม้ที่ยอมรับจากผู้ที่เคยบริโภคส่วนใหญ่ว่า มีรสหวาน เนื้อในนุ่ม ตลอดทั้งผล เนื่องจากเพราะแกนในของกล้วยไข่ไม่กระด้าง ทำให้เกิดความกลมกลืนกับรสชาติที่หวานของกล้วยไข่   

ด้วยเอกลักษณ์ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดัง จนพูดกันติดปากกันไปแล้วว่า กล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของดีของเด่นที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรจึงได้รับฉายาว่า “เมืองกล้วยไข่” และผลไม้ชนิดนี้ก็ยังอยู่ในคำขวัญของจังหวัดกำแพงเพชร

กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง พระแสงฯ ล้ำค่า ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก” ที่สำคัญกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560 ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ เมืองกำแพงเพชร คลองขลุง คลองลาน และโกสัมพีนคร กล้วยไข่ทำให้คนในจังหวัดกำแพงเพชรได้มีการสร้างงานสร้างอาชีพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ หลายคนยึดอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกกล้วย หลายคนเป็นแม่ค้าขายของฝาก หลายคนขายหน่อพันธุ์ หลายคนยึดอาชีพการแปรรูปกล้วยไข่ และอีกหลากหลายอาชีพที่พึ่งพิงผลไม้ประจำถิ่นชนิดนี้ 

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ปลูกกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรอยู่ในภาวะวิกฤต พื้นที่ปลูกกล้วยลดลงเรื่อยๆทุกปีๆ จากมีเมื่อก่อนที่มีมากกว่า 35,000 ไร่ ปัจุจุบันเหลือไม่ถึง 2,800 ไร่ เนื่องจากปัญหาหลักสำคัญคือลมพายุ ซึ่งภายใน 1 ปีจะเกิดขึ้น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นลมพายุช่วงฤดูแล้ง จะพัดผ่านมาประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน โดยในช่วงนั้นกล้วยไข่กำลังเจริญเติบโต ความรุนแรงของลมทำให้ต้นกล้วยไข่หักและโค่นล้ม ช่วงที่สองเป็นลมพายุช่วงฤดูฝน จะพัดเข้าช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยในช่วงนั้นกล้วยไข่กำลังตกเครือ ขณะเดียวกันเป็นช่วงที่กล้วยไข่มีราคาสูง พอมีลมพายุพัดเข้ามา กล้วยไข่ได้รับความเสียหาย ฉะนั้นเหตุการณ์ทั้งสองช่วงจึงทำให้เกษตรกรเกิดความท้อแท้ แม้บางช่วงมีลมพายุไม่แรงมากไม่ถึงขนาดที่ทำให้ต้นกล้วยหักโค่น แต่ลมก็อาจสร้างความเลียหายทำให้ใบแตกเสียหายและเกิดอาจเกิดโรคตามมา เมื่อต้นกล้วยไม่สมบูรณ์ผลผลิตก็มีขนาดเล็กขายไม่ได้ราคา จึงทำให้เกษตรกรเกิดภาวะขาดทุนไม่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวจึงต้องเลิกอาชีพนี้ไป เกษตรกรส่วนใหญ่จึงหันไปปลูกพืชชนิดอื่นเช่นอ้อยและมันสัมปะหลัง  ที่มีพืชที่ความเสี่ยงน้อยและอายุการเก็บเกี่ยวสั้นกว่าแทน ประกอบกับสถานที่รับซื้อผลผลิตอยู่ในพื้นที่ ง่ายต่อเกษตรกร   

แม้ปัญหาอื่นๆของกล้วยไข่เช่นโรคต่างๆในกล้วย ภัยแล้ง เป็นปัญหาที่เกษตรกรยังสามารถยอมรับการลดลงของผลผลิต 10-20% เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตในส่วนที่เหลือ แต่ปัญหาจากลมอาจทำให้ไม่เหลือผลผลิต ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากต่อการแก้ไข เกษตรกรบางรายลดจำนวนการปลูกให้ลดลงเพื่อลดความเสี่ยง ปลูกไว้เพียงเล็กน้อยในพื้นที่ในบ้าน และเลิกปลูกไปเลย หน่วยงานภาครัฐทราบปัญหาดังกล่าวอย่างดีและพยายามแก้ไขวิกฤติกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรระดมความคิดเพื่อหาทางแก้ไขเช่นการส่งเสริมการปลูก  สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกรกล้วยไข่ ยกระดับปลูกกล้วยไข่แปลงใหญ่ด้วยเกษตรกรสมัยใหม่  มีความพยายามในการเชื่อมโยงตลาดกล้วยไข่ให้เกษตรกรให้ปลูกมากขึ้น พัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP  นำวิชาการส่งเสริมให้กับเกษตรกรในต้านต่างๆทั้งการเพิ่มผลผลิต ทั้งการแปรรูป  เช่น นวัตกรรมกล้วยไข่เตี้ยด้วยการราดสารพาโคลบิวทราโซล ที่โคนต้นกล้วยไข่  โครงการนี้เป็นโครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรภาคเหนือ (กล้วยไข่) จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งตอบโจทย์กับวาตภัย และต่อเนื่องในการพัฒนาและความพยายามเพื่อแก้โจทย์ให้เกษตรกร ปัญหาในส่วนเรื่องของแรงงาน เป็นจุดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไข่ส่วนใหญ่เป็นวัยสูงอายุ การบริหารจัดการในสวนกล้วยที่ต้องเอาใจใส่มากในทุกกระบวนการ ทั้งปลูก ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งหน่อ ทางใบ การดูแลเรื่องน้ำ เรื่องดิน การจ้างแรงงานก็อาจไม่คุ้มค่ากับผลผลิตหรือผลกระทบที่จะเกิดชึ้นในอนาคต   

จังหวัดกำแพงเพชร เป็นถือว่าเป็นแหล่งปลูกกล้วยไข่ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจากจังหวัดจันทบุรี ตลาดการขายส่วนใหญ่ เน้นขายในประเทศเป็นหลักทั้งห้างสรรพสินค้าตลาดขายส่งใหญ่ๆเช่นตลาดไทย ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดในจังหวัดต่างๆหลายภูมิภาค โดยเกษตรกรไม่นิยมส่งออกต่างประเทศ เพราะมันเป็นความยุ่งยากสำหรับการบริหารจัดการ โดยกล้วยที่ส่งออกไปต่างประเทศ ล้วนเป็นกล้วยแก่ 70-80% ซึ่งกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรไม่สามารถทำได้เพราะจะต้องตัดกล้วยไข่อ่อน ตัดก่อนกำหนด กล้วยไข่ก็จะไม่ได้น้ำหนัก เกษตรกรก็จะขาดทุน  อีกปัจจัยเนื่องจากกล้วยไข่ของที่นี่สามารถเก็บได้เพียง 7 วัน แตกต่างจากกล้วยไข่จังหวัดอื่นๆ ที่สามารถเก็บได้มากกว่า 14 วัน ที่อื่นจังหวัดอื่นจึงเหมาะกับการส่งออกไปตลาดต่างประเทศเช่นประเทศจีน แต่การขายในประเทศปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกลดลงส่งผลให้เกิดความต้องการของผู้บริโภคเกษตรกรพอใจกับราคาในปัจจุบัน 

ถ้ามองในเรื่องความคุ้มค่าในตัวเงินแล้ว การปลูกกล้วยไข่ถือว่าคุ้มค่าในมุมมองของเกษตรกร การที่เกษตรกรจะกลับหันมาปลูกให้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นที่ต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่การสร้างแล้วปลูกแบบมีคุณภาพเต็มที่ ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างการตลาดจนได้ราคาที่สูงขึ้นอาจเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันกลับมาปลูกกล้วยไข่ให้มากขึ้น อาจทำให้สถานการณ์กล้วยไข่กำแพงเพชรดีขึ้นกว่าปัจจุบัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ