พื้นฐานที่เราทำคือทำโดยสิ่งที่ประชาชนต้องการ ใครจะรู้ดีเท่ากับตัวประชาชนเอง ถ้าเราไม่พัฒนาบ้านเรา เราจะรอให้คนอื่นมาพัฒนาบ้านเราหรือครับ มันก็ไม่ใช่ ถ้าเราอยากพัฒนาบ้านเราไปในแบบไหน เราก็ต้องช่วยกันสร้าง
นี่คือคำตอบของพิมาย มั่นเจริญ คนต้นคิดในการสร้างตลาดชุมชน จากคำถามที่เราถามไปว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่มันจะช่วยพัฒนาชุมชนเราได้อย่างไร
พิมาย ชายหนุ่มมาดเข้ม ที่วิถีชีวิตในอดีตก็เหมือนกับหนุ่มสาวทั่ว ๆ ไป ที่ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือ พอเรียนจบ
ก็เข้าไปทำงานในเมือง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2556 พิมาย ที่ถึงจุดสูงสุดในสายงานเอกชน คือการได้เป็นผู้จัดการโรงงาน
หลังจากที่ทำงานเป็นผู้จัดการโรงงานมาหลายปี พิมายก็เกิดความคิดที่อยากกลับมาอยู่บ้านเกิด เพราะเบื่อกับการทำงานประจำที่ทำอยู่ จึงตัดสินใจลาออกจากงานแล้วกลับมาทำนาที่บ้านเกิด ที่ อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร
เริ่มต้นด้วยทำแค่สิบกว่าไร่ครับ ที่ดินที่ครอบครัวมีอยู่ แต่เราทำปีละ 3 รอบ คือเราทำแบบไม่ได้พักดินเลย ทำไล่รุ่นไปเลยครับ พอเก็บเกี่ยวอันนี้ก็ทำต่อเลย
พิมาย พูดถึงการทำนาในช่วงแรกที่มาทำนา
ในช่วงแรกที่กลับมาทำนา พิมาย ก็ยังทำเหมือนชาวนาในพื้นที่ทั่ว ๆ ไป คือทำเยอะ ทำให้ไว เพราะคิดว่าจะทำให้ได้เงินเยอะขึ้น แต่พอนำข้าวไปขายให้ลานรับซื้อ กลับถูกกดราคารับซื้อ ทำให้พิมายได้รู้และเห็นถึงปัญหาของชาวนา ที่ไม่สามารถเป็นผู้ตั้งราคาขายข้าวได้ ทำให้พิมายกลับมาเปลี่ยนแนวทางการทำนาใหม่ คือต้องทำต่างจากคนอื่น และต้องทำครบวงจร เราจะปลูกอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องสามารถแปรรูปเองให้ได้ ในปี 2557 พิมายจึงได้สร้างโรงสีข้าวขนาดเล็กของตนเองขึ้นมา
หลังจากมีโรงสีข้าวของตนเองแล้ว พิมายก็หันมาแปรรูป และดำเนินการข้าวขายเอง ซึ่งพอเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการ ทำให้พิมายมีกำไรจากการขายข้าวได้มากขึ้น แม้จะต้องมีขั้นตอนการทำงานที่เพิ่มขึ้น แต่ก็สามารถเป็นคนกำหนดราคาผลผลิตของตนเองได้
จากที่ตั้งใจสร้างโรงสีเพื่อสีข้าวของตนเองเท่านั้น แต่พอชาวนาในพื้นที่ผ่านไปผ่านมาได้เห็นโรงสี และข้าวของพิมายที่แตกต่างจากโรงสีอื่น ๆ ในพื้นที่ ก็สอบถามเรื่องการสีข้าวกับพิมาย ซึ่งพิมายก็เห็นว่าข้าวของตัวเองก็สีหมดแล้ว ก็เลยรับจ้างสีข้าวให้ชาวบ้านในพื้นที่ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่พิมายจะได้รับ แกลบ ลำ และ ปลายข้าว เท่านั้น
นอกจากรับจ้างสีข้าวแล้ว พิมาย ยังส่งต่อแนวความคิดเรื่องการแปรรูปข้าวให้ชาวบ้าน เพราะการแปรรูปและขายเองจะทำให้ชาวนาได้กำไรจากการขายข้าวได้มากกว่าขายแบบเก่า การขายข้าวแบบเก่าคือการขายทั้งหมดที่เกี่ยวข้าวได้ให้กับลานรับซื้อข้าว ซึ่งจะได้ตันละ 6-7 พันบาท แต่ถ้านำมาในรูปแบบใหม่ คือการนำข้าวสีและแปรรูปลงบรรจุภัณฑ์จะขายได้ กิโลกรัมละ 40-50 บาท ถ้าขายได้หมด 1 ตัน ก็จะได้เงินประมาณ 20,000 บาท
คือปัญหาของชาวนาส่วนใหญ่ของชาวนาคือ ชาวนาไม่กล้าลุกขึ้นมาทำการตลาดด้วยตัวเอง ไม่กล้าที่จะเอาไปขาย ทุกคนเก่งผลิตครับ หลายคนที่ทำนาฝีมือดีกว่าผมเยอะ แต่ขาดเรื่องการสร้างการตลาด การแปรรูป ไม่กล้าที่จะเริ่มคิดถึงการแปรรูป
พิมาย พูดถึงปัญหาของชาวนาในพื้นที่
หลังจากที่เปิดโรงสีมาได้ประมาณ 6 ปี ก็ได้รับความสนใจจากชาวนาในพื้นที่ ทำให้มีงานตลอดทั้งปี รวม ๆ ชาวนาที่นำข้าวมาสีก็ประมาณ 300 คน/ปี จำนวนข้าวเปลือกประมาณ 500 ตัน/ปี และก็มีชาวนาที่หันมาแปรรูปขายข้าวเหมือนพิมายไม่ต่ำกว่า 100 คน ซึ่งชาวนาที่พอเปลี่ยนมาแปรรูปข้าวขายแบบพิมายก็บอกว่า ช่วงแรกก็ทำใจยาก เพราะไม่ได้เงินเป็นก้อน และมีขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น ทั้งการตากข้าว ต้องมีที่เก็บข้าว และต้องทำมาสี แต่พอทำมาได้ 2-3 ปี ก็เห็นผลดีที่เกิดขึ้นกับการแปรรูปขาย
เมื่อก่อนขายได้พอมาตีราคาแล้ว เหลือกำไรต่อไร่อยู่ประมาณ 2,000/ไร่ มันขายได้น้อยมาก แต่ตอนนี้เราแปรรูปขาย เราได้กำไรมาเกือบ 50-100% เราก็มีต้นทุนที่จะทำเพิ่ม ผลผลิตได้มากขึ้น มีเงินที่จะซื้อปุ๋ย มีเงินที่จะเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้เยอะขึ้น
แจ็ค พูดถึงความแตกต่างของการขายข้าวในแบบเก่า และแบบใหม่
พิมายบอกว่า ตอนนี้ตัวเขาเองพออยู่ได้แล้ว แต่เขายังอยากแก้ปัญหาปากท้องของคนในพื้นที่ให้ได้มากกว่านี้ เพราะหลังจากที่ส่งต่อแนวความคิดเรื่องการแปรรูปให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ก็เห็นว่าเรื่องพื้นที่สำหรับการขายผลผลิตทางการเกษตรก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ประกอบกับได้ไปศึกษาดูงานที่ตลาดซาวไฮ่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ทำให้เกิดความคิดที่อยากทำตลาดชุมชนขึ้นในอำเภอคลองลาน เพราะเห็นว่าที่อำเภอคลองลานก็มีนักท่องเที่ยมาเที่ยวปี ๆ หนึ่ง เป็นจำนวนมาก
นักท่องเที่ยวปีนึงเยอะครับ เราจะทำอย่างไรให้ชุมชนมีส่วนร่วมกับการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา ก็เลยริเริ่มไปรวมตัวกลุ่มคนที่มีความสามารถ มีผลิตภัณฑ์ ทำนาเองบ้าง ทำสวนเองบ้าง ทอผ้าเองบ้าง มารวมตัวกันทำตลาดท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
พิมาย พูดถึงจุดเริ่มต้นในการทำตลาดท่องเที่ยวเพื่อชุมชน
หลังจากที่ตัดสินใจแล้วว่าจะทำตลาดชุมชน พิมายก็เริ่มมองหาพื้นที่ที่จะนำมาทำตลาด พอได้พื้นที่มาแล้ว ก็เริ่มชักชวนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร คนทอผ้า อดีตบาริสต้าที่ตกงานจากพิษโควิด-19 อดีตออแกไนเซอร์ที่ย้ายมาอยู่คลองลาน รวมถึงข้าราชการในพื้นที่ เข้ามาร่วมกันปรับปรุงพื้นที่
ความพยายามกว่า 4 เดือนที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อำเภอคลองลาน เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ตลาดชุมชนกิ่งอำเภอคลองลาน ก็ทำการเปิดตัวในส่วนแรกไปเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
Concept ของ “กิ่ง อ. คลองลาน” คือตลาดที่มีอัตลักษณ์หรือเสน่ห์เป็นของตัวเอง ประทับใจมาแล้วอยากมาอีก ภายใต้ตลาด 6ช. คือ แช๊ะ ชม โชว์ ชิม ช้อบ แชร์ ความฝันของพวกเรา คือ ตลาดวิถีชุมชน ที่มีความหลากหลาย เพราะคนคลองลาน มีทั้ง คนเหนือ คนอีสาน คนภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีชาวเขาเผ่าม้ง เมี่ยน มูเซอ ลีซอ ปกาเกาะญอ และลัวะ ดังนั้นตลาดแห่งนี้จะมีสินค้าและของกินตามแบบฉบับท้องถิ่นที่หลากหลายมาวางจำหน่าย ทั้ง ผักสดพื้นบ้าน ขนมโบราณ ผ้าทอ เครื่องจักสาน ผ้ามัดย้อม ผ้าชาวเขา ให้ผู้มาเยือนได้เพลินเพลินไปกับการช้อบของกินและสินค้าต่าง ๆ พร้อม สัมผัสวิถีชีวิตชาวคลองลานที่ถึงจะประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างอบอุ่น
เยี่ยมชมและติดต่อได้ทางแฟนเพจ ตลาดกิ่ง อ. คลองลาน | Facebook
ในยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่เดินทางกลับบ้าน ทั้งจากวิกฤตโควิด-19 หรือการอิ่มตัวจากการทำงานในเมือง แน่นอนว่าการกลับมาอยู่บ้านอันดับแรกคือการทำให้ตัวเองอยู่รอด แต่การอยู่รอดเพียงคนเดียวอาจจะไม่ทำให้รอดได้จริง ๆ ในระยะยาว การรวมกลุ่ม รวมพลังกัน นำทักษะ ความรู้ และแนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาปรับปรุงปรับเปลี่ยนบ้านเกิด เพื่อสร้างทางรอดให้กับท้องถิ่น และได้ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน