เรื่องและภาพ: รุ่งโรจน์ เพชรบุรณิน
* หมายเหตุ – มีการปรับเนื้อหาจากการเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ตุลาคม 2014
นี่คือการสัมภาษณ์นักต่อสู้แถวหน้านาม ประยงค์ ดอกลำไย ที่มุ่งถางทางเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมให้แก่คนยากคนจนมาโดยตลอด
บทสนทนาถาม-ตอบขนาดยาวชิ้นนี้ จะประเมินสถานภาพของขบวนประชาชนในห้วงปัจจุบัน และที่กำลังเป็นไปท่ามกลางกระแสปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้ร่มเงาของการรัฐประหาร ซึ่งถ้าจะมีรัฐธรรมนูญที่กินได้ และเห็นหัวคนจนผู้ยากไร้ นักต่อสู้ผู้นี้มองอย่างไร ลองสัมผัส
ปฏิรูปสร้างดวงดาว หรือแบ่งเสี้ยวส่วน?
หากกล่าวถึงการปฏิรูปมีหลายเรื่องที่ประชาชนอยากเห็นไม่ว่าเรื่องการปฏิรูปพลังงาน เรื่องของการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และประเด็นอื่นๆ ซึ่งแต่ละประเด็นก็จะมีเรื่องที่พวกเราเข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นที่ไม่ถูกพูดถึง ซึ่งผมคิดว่าเป็นส่วนสำคัญ ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลกับ คสช. ว่าต้องการปฏิรูปหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องที่ดินและทรัพยากร จริงแล้ว 2 เรื่องนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อคนจน ต่อเกษตรกรรายย่อยค่อนข้างมาก
ถ้าลองพินิจพิเคราะห์ถึงสถานการณ์ขบวนประชาชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่า องค์กรประชาชนเองหรือเครือข่ายประชาชนเองก็ถูกแยกออกเป็นเสี้ยวส่วน ตามประเด็นที่มีการปฏิรูป เหมือนกับสร้างดาวคนละดวง เพื่อไปสู่กระบวนการนั้น ภาวะแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาคประชาชน กำลังถูกแบ่งแยกไปโดยปริยาย และคิดว่าจะก่อให้เกิดความอ่อนแอในการผนึกกำลังกัน
ทั้งๆ ที่ความเป็นเอกภาพในภาคประชาชนเองเดิมทีไม่ชัดเจนอยู่แล้ว การแบ่งประเด็นการปฏิรูปยิ่งทำให้อ่อนพลังลงไปมาก ไม่ว่าเป็นประเด็นเรื่องพลังงาน ก็ยังอาจมองต่างกัน หรือประเด็นเกี่ยวกับทรัพยากรที่ดินก็ยังมองต่างกัน หรือแม้แต่เรื่องของการกระจายอำนาจในมิติของการปกครองตัวเอง ในมิติของเรื่องว่าจะเอาไหมการปกครองส่วนภูมิภาค ส่วนกลางจะยังไง ส่วนท้องถิ่นเอายังไงก็ไม่ได้ตกผลึกมากนัก
แต่ว่าในกระแสที่เป็นอยู่ก็คือการปฏิรูปถูกเร่งรัดให้ต้องดำเนินการภายใน 180 วัน ฉะนั้น เมื่อเราสร้างดาวคนละดวง มันก็ไม่ก่อให้เกิดพลังหรือก่อให้เกิดแสงสว่าง ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปสังคมอย่างแท้จริง ผมก็เลยคิดว่า องค์กรประชาชนทั้งหลายควรผนึกกำลังกัน และมาดูว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ควรต้องขยับขับเคลื่อนและต้องมีองค์กรคล้ายๆ องค์คณะ หรือองค์กรที่เป็นของตัวเองขึ้นมารองรับข้อเสนอของการปฏิรูปของภาคประชาชน เพื่อสร้างจากดาวแต่ละดวงให้มันเป็นดวงใหญ่ขึ้น ให้มันเป็นพระจันทร์ ให้มันเป็นดาวอังคารที่เกิดขึ้นมาเพื่อส่องแสงให้เห็นว่า ถ้าจะปฏิรูปอย่างแท้จริงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำควรมีประเด็นอะไรบ้าง นอกเหนือจากที่รัฐบาลกำหนด หรือไม่ก็ในแต่ละประเด็นที่รัฐบาลกำหนดมาแล้ว ทิศทางก็อาจไม่ตรงกัน
เพราะว่าในสถานการณ์นี้ มันไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือข้อเสนอของพวกเราเข้าไปสู่กระบวนการปฏิรูปได้โดยง่าย ส่วนใหญ่ก็จะอิงแนวความคิดของราชการเป็นหลัก ในรูปแบบของรัฐราชการ ซึ่งกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมีน้อยมาก ฉะนั้น ถ้าภาคประชาชนไม่ผนึกกำลัง หรือสร้างเวทีของประชาชนขึ้นมาเอง ผมคิดว่าการเสนอประเด็นเล็กๆ เป็นเสี้ยวส่วน ทำให้พลังประชาชนมีน้อยและไม่สามารถขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริงได้
สถานะขบวนภาคประชาชน?
คือมันก็จะมี 2-3 โทน โทนแรกคือ โทนที่ไม่รับกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญบัญญัติ สภาปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นกลไกที่มาจากรัฐประหาร ฉะนั้น ก็มีจุดยืนชัดเจนว่า การปฏิรูปต้องแก้โดยประชาธิปไตยเท่านั้น
กลุ่มนี้จะไม่พยายามขับเคลื่อนหรือแสดงบทบาทอะไรในสถานการณ์นี้ ต้องรอให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยก่อน ก็จะเคลื่อนไหวเพื่อให้ คสช.หรือรัฐบาล ที่ไม่ได้มาโดยการเลือกตั้งอยู่ในอำนาจให้น้อยที่สุด ด้วยการไม่ร่วม ไม่รับ ไม่ร่าง ไม่ว่าเป็นรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องปฏิรูปก็ตาม กลุ่มนี้คิดว่า ประชาธิปไตยไม่อาจสร้างได้ด้วยปลายกระบอกปืน อันนี้จุดยืนชัดเจน นอกจากไม่ร่วมแล้ว บางโอกาสก็จะมีการต่อต้าน หรือ การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องการที่จะประท้วงหรือ การแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ว่าไม่ต้องการรัฐบาลนี้
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่พูดถึงเรื่องโอกาส โอกาสก็แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือกระโจนเข้าไป หรือโดดเข้าไปในกลไกต่าง ๆ เช่น เข้าไปในสภาปฏิรูป เข้าไปในกลไกของรัฐที่จะตั้งขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน มีช่องทางเข้าก็คิดว่าควรเข้าไปใช้ช่องนั้นๆ ให้เป็นประโยชน์ แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่คิดว่า ต้องขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน โดยไม่ไปอิงกลไกของรัฐ เพราะถ้าเข้าไปอิง เข้าไปอยู่ในนั้น ด้านหนึ่งก็เข้าไปเป็นไม้ประดับ มีการตั้งธงไว้แล้ว กับอันที่ 2 คือ คุณไม่มีทางที่จะเข้าไปในสัดส่วนที่สามารถที่จะทำให้การโหวตหรือการตัดสินใจในแต่ละเรื่องนั้นมันเป็นไปอย่างที่คุณคิดได้เลย
ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกของการขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นช่องทางที่ทำให้ด้วย ไม่ใช่แค่การเรียกร้องกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของการรณรงค์ ชี้นำให้สังคมได้เห็นว่า รากเหง้าที่แท้จริงของปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาความไม่เป็นธรรม ปัญหาความขัดแย้งที่นำไปสู่การปฏิรูปคืออะไร
ผมคิดว่า ส่วนที่ 3 น่าสนใจว่ามันจะก่อให้เกิดพลังได้ ซึ่งก็ควรมีการผลักดันให้เกิดความร่วมมือกัน มีเวทีซึ่งอาจเรียกว่า สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ก็ได้ ซึ่งจะทำงานคู่ขนานไปกับสภาปฏิรูปของรัฐบาล รวมทั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย
มีหน้าที่จับตาดูว่า ความเคลื่อนไหวของรัฐบาล หรือความเคลื่อนไหวของ สนช. ความเคลื่อนไหวของกลไกรัฐที่มีทั้งหมด จะขยับในเรื่องของการปฏิรูปอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงในเรื่องของประชาธิปไตยอย่างไร ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอ ที่ไปจากภาคประชาชน ทำให้ไม่ว่าจะเป็น สนช. ไม่ว่าเป็น สปช. หรือคณะรัฐมนตรี จะมีข้อมูลที่รอบด้านมากขึ้น ไม่ได้ฟังแต่เสียงภาคธุรกิจกับภาคราชการอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีความเห็นของภาคประชาชน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการในการขับเคลื่อนการปฏิรูป ทำให้เราสามารถมีพื้นที่ในการต่อรอง มีพื้นที่ในการรณรงค์ มีพื้นที่ในการทำให้เกิดความเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปด้วย
การปฏิรูปที่แท้จริงคืออะไร อะไรคือต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำกับความไม่เป็นธรรมในสังคม?
หนึ่งมันมาจากปัญหาและสิ่งที่ชาวบ้านเผชิญอยู่จริงๆ อันที่ 2 คือ มีบทเรียนและประสบการณ์อันยาวนานไม่ว่าเป็นกลุ่มการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน การแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ หรือแม้แต่เรื่องของการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน การออมทรัพย์ สวัสดิการทั้งหลาย ประชาชนมีบทเรียนมาต่อเนื่อง แต่ว่ารัฐบาลมาแล้วก็ไป รัฐประหารเดี๋ยวก็มีการเลือกตั้ง เดี๋ยวก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ประชาชนที่เป็นรากฐานจริง ๆ ต้องเผชิญกับปัญหาปากท้อง ต้องอยู่กับสิ่งที่เรียกว่าผลกระทบจากการพัฒนามาโดยตลอด คิดว่าประเด็นสำคัญคือ ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่กินได้ หรือเข้าถึง และเป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนรากหญ้าจริง ๆ มีแต่ประชาธิปไตยที่การตัดสินใจอยู่ที่คนชั้นนำระดับสูง นักการเมือง กับราชการเท่านั้น
ดังนั้น พื้นที่ของสภาประชาชนคือ พื้นที่เปิดให้คนที่ไม่มีปากเสียง คนที่อยู่ชายขอบ คนที่ไม่ได้มีอำนาจต่อรองเลย สามารถสร้าง รัฐธรรมนูญที่กินได้ ประชาธิปไตยที่เห็นหัวประชาชน เห็นหัวคนจนขึ้น สิ่งนี้จะสะท้อนจากตัวจริงเสียงจริงขึ้นมา ส่วนโอกาสที่จะทำให้เกิดการนำข้อเสนอนี้ไปสู่การปฏิบัติ หรือบรรจุไว้ในทิศทางการพัฒนามากน้อยแค่ไหน ผมคิดว่ามันอยู่ที่ข้อมูล เหตุผล และการเคลื่อนไหว
การเอาจริงเอาจังในการเคลื่อนไหวรณรงค์ของประชาชน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นเรื่องของการชุมนุมเพียงอย่างเดียว การเคลื่อนไหวของประชาชนมีหลายรูปแบบมาก เคลื่อนไหวในจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม รวมทั้งข้อเสนอที่เป็นเอกภาพ จึงนำมาซึ่งพลังและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
ภายใต้การรัฐประหาร อะไรคือสิ่งที่ต้องจับตา?
ผมคิดว่ามี 3 เรื่อง เรื่องแรกคือ จับตา ตรวจสอบ ติดตามสถานการณ์ ภัยคุกคามเฉพาะหน้า ซึ่งหมายถึงมาตรการนโยบายของรัฐต่าง ๆ ที่ออกมาในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบ เพราะว่ามันไม่ได้เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือรับฟังประชาชน ยกตัวอย่างแผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของ กอรมน. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ออกมา เราก็พบว่ามันถูกยกร่างโดยคน 17 คน ซึ่งใน 17 คนนั้นเกินครึ่งมาจากทหารที่มียศระดับนายพล นายพัน ที่เหลือก็เป็นตัวแทนของหน่วยงานราชการ ซึ่งหน่วยงานราชการเหล่านั้น พูดตรงไปตรงมาคือ เป็นหน่วยงานที่เป็นปฎิปักษ์ต่อประชาชนหรือชาวบ้านที่ดินของรัฐอยู่แล้ว
ฉะนั้น มาตรการที่ออกมาก็จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับชุมชน ยกตัวอย่างเช่นแผนแม่บทนี้ หรือ โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลเคยทำมาในอดีต ทั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน โครงการว่าด้วยโครงข่ายคมนาคมต่าง ๆ รัฐบาลชุดนนี้ล้วนนำมาปัดฝุ่นทั้งสิ้น ปัญหาเดิมมีอยู่แล้ว การคัดค้านเดิมมีอยู่แล้ว อันนี้คือภัยคุกคามเฉพาะหน้าที่ต้องมีข้อเสนอและมีปฏิบัติการโดยเร่งด่วนต่อรัฐบาลด้วย
แผนแม่บทป่าไม้ฯ น่าห่วงอย่างไร?
แนวทางปฏิรูป ซึ่งเป็นบทบาทของ สปช. นั่นคือ 3 เรื่องที่สภาประชาชนต้องติดตาม ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐธรรมนูญ เรื่องปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหานโยบายที่ไม่สอดคล้องอันนำมาสู่ผลกระทบกับชาวบ้านอย่างกว้างขวาง อันที่ 2 คือตัวกฏหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งอย่างน้อยกฏหมายรัฐธรรมนูญต้องมีเนื้อหาที่ไม่ถดถอยไปกว่าเนื้อหาของรัฐธรนมนูญปี 40 และ ปี 50 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาและการผลักดันมากที่สุดแล้ว
ปัญหาป่าไม้ที่ดิน เป็นปัญหาที่หมักหมมมานานแล้ว แต่เป็นปฏิบัติแรกที่เกิดขึ้นหลังมีเหตุการณ์ยึดอำนาจ เรายอมรับว่า ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ไม่ว่าเรื่องของกระบวนการไม้เถื่อน หรือกระบวนการบุกรุกพื้นที่เพื่อทำมาหากิน เป็นปัญหาวิกฤตจริง แต่กระบวนการแก้ไขปัญหา มันมี 2 ความเชื่อคือ
หนึ่ง… คนอยู่กับป่าได้ ถ้ามีระบบการจัดการที่ดี และสอง… คนไม่สามารถอยู่กับป่าได้ โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ แนวความคิด 2 อันนี้สู้กันมาตลอด
แต่เมื่อ คสช.ยึดอำนาจแล้วประกาศใช้คำสั่งที่ 64 ซึ่งหมายถึงว่า ต่อไปนี้ให้บังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจังกับผู้บุกรุกทำลายป่า หยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าให้ได้ ซึ่งอันนี้เราเห็นด้วยว่า ต่อไปนี้ไม่ควรมีการบุกรุกป่า แม้แต่ตารางนิ้วเดียว
อันที่ 2 คือ ในเรื่องของการทวงคืน หรือเพิ่มพื้นที่ ซึ่งแผนแม่บทกำหนดไว้ว่า จากคำสั่งที่ 64 พัฒนาเป็น 66 พอปฏิบัติการไปแล้วมันไปกระทบกับคนยากจน คนที่เขาอยู่ในพื้นที่นั้นมานาน แล้วบางเรื่องเป็นเรื่องเรื้อรั้งต่อสู้กันมาเป็นสิบยี่สิบปีแล้ว ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ จากการปฏิการทำตามคำสั่ง 64 มีประชาชนลุกขึ้นมาร้องเรียน ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือต่างๆ ก็ทำให้ คสช. ต้องออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งตามมา คือ ฉบับที่ 66 ที่กำชับว่าการดำนินการใดๆ เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม ต้องไม่กระทบต่อคนจน ผู้ยากไร้ ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ มาก่อนแล้ว อันนี้คือหลักการสำคัญที่ออกมาตอนหลัง แต่ว่าในการปฏิบัติมันไม่ได้มีการแยกแยะ
ในทางปฏิบัติ กรมป่าไม้ กรมอุทยานถือกฏหมายอยู่แล้ว ฉะนั้น เมื่อมีไฟเขียวเหมือนคำสั่ง 64 มา ก็เริ่มดำเนินการปฏิบัติตาม แล้ว คสช. ก็ไม่ได้บอกว่าให้ระงับใช้กฏหมาย แค่บอกว่าต้องไม่กระทบกระเทือน แต่ในข้อเท็จจริงมันเกิดปัญหากระทบกระเทือนขึ้น เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นทั่วไป จากกรณีที่ร้องเรียนมาที่คณะกรรมการสิทธิ ฯ ก็ 30 กรณี ภาคเหนือก็มีชุมชนถูกยึดพื้นที่คืนไปแล้ว ภายใต้คำสั่งนี้ ไม่น้อยกว่า 7 – 8 จุด พื้นที่ประมาณ 8 – 9 หมื่นไร่ อันนี้ส่งผลกระทบจริงๆ ว่า ฤดูกาลต่อไปเขาจะกินอะไร ถ้าพื้นที่ตรงนี้โดนยึดไป
หัวใจสำคัญคือปัญหาแผนแม่บทอันนี้คือ 1.การกำหนดให้มีการเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ 26 ล้านไร่ ซึ่งแน่นอนการใช้คำว่า ทวงคืนผืนป่า จะเอาที่ดินที่ไหนมา 26 ล้านไร่ ถ้าไม่ใช่พื้นที่ของคนจน ผู้ยากไร้ ซึ่ง คสช. บอกว่าต้องไม่กระทบ มันจะไม่กระทบได้อย่างไร
คือว่าด้วยวิธีการไหน 26 ล้านไร่ วิธีการไหนที่จะเอาคืนมา ซึ่งก็หนีไม่พ้นว่า ต้องบังคับใช้กฏหมายจับกุม ดำเนินคดี การดำเนินคดีทุกคนที่อยู่ในป่าขณะนี้ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นคนรวย ไม่ว่าเป็นนายทุน ถ้าหากว่าไม่มีการแยกแยะก็จะเกิดปัญหา
อีกเรื่องคือ การฟื้นฟูป่าหลังจากยึดพื้นที่แล้ว บทเรียนอดีตของการฟื้นฟูป่า เรามีงบประมาณจัดตั้งต่ละปีในการปลูกป่า ฟื้นฟูป่ามาตลอด นับจาการยกเลิกสัมปทานมา พื้นที่ที่กำหนดไว้ในแผนการปลูกป่า ตามงบประมาณในขณะนี้ พื้นที่น่าจะมากกว่าประเทศไทย ความหมายคือว่า ปลูกแล้วมันล้มเหลว แม้ในหลวงจะบอกว่า ให้ปลูกป่าในใจคนก่อน แล้วคนก็จะปลูกป่าลงในแผ่นดิน
แต่ขณะนี้ สถานการณ์มันคือ คุณปลูกไปเท่าไหร่ ป่าก็ไม่เหลือ ความหมายคือ มันมีทั้งเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ตั้งแต่กล้าไม้ จนกระทั่งแรงงานในการปลูกป่า ก็มีข่าวเรื่อยมา ทำอย่างไรจะไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก นี่คือสิ่งที่มันกำลังจะสร้างผลกระทบ
หัวใจหลักใหญ่ของมันคือ การคืนพื้นที่ป่า ซึ่งภาคประชาชนต้องสูญเสียที่ดินไปประมาณ 26 ล้านไร่ ถ้าเป็นไปตามเป้าหมายจริง และก็จะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดี จากการบังคับใช้กฏหมายภายใต้แผนแม่บทนี้ นี่คือปัญหาวิกฤตที่เผชิญหน้าบ่อย
ปัญหาที่ดินในสถานการณ์ปฏิรูป?
ตอนนี้ชัดเจนว่าในกฏหมายรัฐธรรมนูญในกรอบของกฏหมายปฏิรูปไม่มีเรื่องการปฏิรูปที่ดินและทรัพยากรอยู่ สิ่งที่ประชาชนได้รับคือ แผนแม่บท ตอนนี้ในส่วนของภาคประชาชนเองที่ขับเคลื่อนกันมา มองว่าปัญหาที่ดิน ป่าไม้ มันมาคู่กัน ปัญหาที่ดินหมายความว่า ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์แล้ว ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่ามันไปกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไม่มากนัก ประมาณ 5 % ประมาณ สามล้านหนึ่งแสนคน ครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ 80 % ซึ่งมันส่งผลกระทบอย่างมาก
ปัญหาประการหนึ่งคือ เมื่อที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกกระจุกตัวอยู่ คนจนเข้าไม่ถึง ก็เป็นแรงกดดันทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งต้องเข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมก็มีเยอะอยู่แล้ว ข้อมูลล่าสุดก็มี คิดว่าน่าจะ 10 – 15 ล้านคน ซึ่งเป็นทั้งคนจน เป็นทั้งคนเข้าไปใหม่ หลายประเภท ซึ่งมันเท่ากับจำนวนของคนที่ถือครองเอกสารสิทธิ์อยู่ทั้งหมด ณ ปัจจุบันนี้คือ 15 ล้านคน พอๆ กัน เมื่อคน 15 ล้านคนกว้านซื้อที่ดินไปหมดแล้ว คนอีก 15 ล้านก็ต้องอยู่อย่างผิดกฏหมาย แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการยังชีพ จากนโยบายต่างๆ การประกาศเป็นกฏหมาย
สิ่งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง ในเรื่องของที่ดินและป่าไม้คือ
1.ต้องทำให้ที่ดินกระจาย ต้องมีการกระจายการถือครองที่ดิน ซึ่งโดยรูปธรรมที่นานาอารยประเทศทำกัน คือการใช้มาตรการทางภาษี ซึ่งก็คือภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า เก็บตามอัตราขนาดของการถือครองที่ดิน ใครมีที่ดินเยอะ ก็จ่ายเยอะ เป็นขั้นบรรไดไป
2.เมื่อมีการกระจายที่ดินแล้ว มีการเก็บรายได้จากภาษีที่ดินแล้ว ต้องมีกลไก หรือช่องทางให้เกษตรกรคนยากจนที่ไม่มีที่ดินทำกินและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง เข้าถึงเรื่องของการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ซึ่งก็จะนำเงินจากภาษีที่ดินแต่ละปีมาเติมลงในธนาคารที่ดิน นั่นคือโอกาสของคนจนและเกษตรกรรายย่อยในการเข้าถึงที่ดินได้อีกทางหนึ่ง
3.สำหรับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในที่ดินของรัฐ ซึ่งเรื้อรังมานานและก็ปล่อยให้มีคนอยู่อาศัยถึง 15 ล้านคน ก็ควรมีการผลักดันให้มีการรับรองสิทธิ์ หรือมีการอนุญาติให้ประชาชนเหล่านี้ได้อยู่อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ในรูปแบบของสิทธิชุมชนหรือกรรมสิทธิร่วม เหมือนนโยบายที่คุณประยุทธแถลง แต่ไม่แน่ใจว่าหน่วยงานที่ดำเนินการรวมทั้งแผนแม่บท ก็ยังพูดถึงการรองรับสิทธิแบบปัจเจกอยู่ ไม่ได้พูดถึงสิทธิร่วมเพราะว่า การรองรับสิทธิให้เป็นปัจเจกก็จะนำไปสู่ที่ดินอื่นๆ ไม่ว่าสัญญาเช่าหรือว่าเป็นหนังสืออนุญาตต่างๆ ก็ตาม มันจะถูกกว้านซื้อไปหมด
ดังนั้น ควรมีการผลักดันให้รองรับสิทธิ์โดยแก้ไขปัญหาแบบให้สิทธิ์หรือรองรับสิทธิเหล่านั้นให้คนได้อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้อง ให้ร่วมมือกับรัฐในการคุ้มครอง ป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือ และก็ไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพิ่ม เป็นเงื่อนไขสำคัญ เป็นแรงจูงใจ ทำให้ประชาชนควบคุมกันเอง เป็นหู เป็นตา และร่วมมือกับรัฐ
สุดท้าย เรื่องของกระบวนการยุติธรรม เราพบว่าคนจน เกษตรกรรายย่อยทั้งหลาย จะถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ระบบของกระบวนการยุติธรรมปกติ แม้ในกฏหมายรัฐธรรมนูญจะเขียนไว้ว่า ในคดีอาญา ให้ตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่า จำเลยคือผู้บริสุทธิ์ แต่ว่าในกระบวนการที่จะมีการต่อสู้คดี จะต้องมีการประกันตัวออกมา ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์เป็นแสน เมื่อคนจนเกษตรกรไม่มีหลักทรัพย์ในการประกันตัว ทำให้ต้องติดคุก รอการพิจารณาคดี ซึ่งใช้เวลานานหลายปี
ถ้าหากว่าไม่มีเงิน ก็มีช่องทางหนึ่งคือ ต้องรับสารภาพ เพื่อที่จะให้คดีจบทั้งตัวเองไม่ได้มีเจตนาหรือไม่ได้ทำความผิด โดยเฉพาะคดีที่ดิน ป่าไม้ หรือคดีพิพาทระหว่างที่ดินของรัฐกับประชาชน มีมากกว่าปีละประมาณ 6,000 กว่าคดี เฉลี่ยวันละ 20 คดี ควรมีการปฏิรูปหรือการจัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือกับคนจนหรือเกษตรกรที่ถูกดำเนินคดี โดยไม่ได้รับความเป็นธรรมและขาดปัจจัยด้านงบประมาณ
ในการเข้าไปช่วยตั้งแต่เรื่องของการประกันตัวมาต่อสู้คดีเพื่อความบริสุทธิ์ของตัวเอง เรื่องของการจัดหาทนายหรือนักกฏหมายที่มีคุณภาพ เรื่องการเสาะแสวงหาหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆ ที่จะมาประกอบการต่อสู้คดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับตัวเอง รวมทั้งเรื่องของการชดเชยเยียวยาให้กับคนจนและเกษตรกรรายย่อยที่ถูกดำเนินคดี โดยไม่เป็นธรรม ในกรณีที่ศาลตัดสินยกฟ้องหรือไม่มีความผิด พิสูจน์ตัวเองได้แล้วว่าไม่มีความผิด แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการต่อสู้คดีที่ผ่านมาไม่มีใครรับผิดชอบ
ซึ่งก็ออกมาเป็นรูปธรรม เป็นมาตรการในร่าง กฏหมาย 4 ฉบับ คือ กฏหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า กฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งธนาคารที่ดิน ให้กับคนจนและเกษตรกรรายย่อย กฏหมายว่าด้วยการรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากร ป่าไม้ และ พรบ.กองทุนยุติธรรม
คาดหวังสาระสำคัญอะไรในรัฐธรรมนูญใหม่ และกลไกที่มีอยู่
ตอนนี้ในบริบทของกฏหมายรัฐธรรมนูญ เราคิดว่าที่ผ่านมา สิ่งที่ประชาชนได้ จับต้อง และได้ใช้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ มี 2 หมวดใหญ่ ๆ ด้วยกันคือ
หมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของ สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ซึ่งรวมไปถึงเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการ ดูแล รักษา ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและรวมทั้งอนุรักษ์ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชนด้วย ซึ่งแม้ไม่มีกฏหมายรองรับที่ผ่านมา แต่ว่ากฏหมายรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นกฏหมายสูงสุด
2.คือเรื่องของหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 40 หรือรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ได้ระบุว่า รัฐจะต้องดำเนินนโยบายด้านการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้ประชาชนมีสิทธิเข้าถึงสิทธิในการถือครองกรรมสิทธิในที่ดิน ในรูปแบบของการปฏิรูปที่ดินหรือวิธีอื่นๆ
แม้ที่ผ่านมายังไม่ส่งผลมากนัก แต่ก็นำมาซึ่งระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งหมายถึง เริ่มยอมรับสิทธิชุมชนเกิดขึ้นในกฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว หรือแม้แต่เรื่องของ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดินขึ้นในรัฐบาลชุดก่อน ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เป็นแนวความคิดรากฐานที่นำไปสู่การกระจายการถือครองที่ดิน หรือการเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรรายย่อยด้วย ซึ่งอันนี้คือสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ
อย่างน้อยเนื้อหาต้องไม่ถอถอยไปกว่า รัฐธรรมนูญปี 40 หรือ ปี 50 นั่นหมายความว่า ต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในเรื่องสิทธิชุมชน รวมทั้งสิทธิในการเสนอกฏหมายของประชาชนด้วย แม้ว่าในอดีตประชาชนจะใช้สิทธิในการเสนอกฏหมาย แต่ว่าบรรลุเป้าหมายน้อยมาก เนื่องจากติดขัดในกระบวนการรัฐสภา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจต้องก้าวหน้ากว่าเดิม ในเรื่องสิทธิของการเสนอกฏหมายของประชาชน
จึงมีความจำเป็นที่ภาคประชาชนต้องมีการรณรงค์ เคลื่อนไหว ในประเด็นที่ต้องการให้มีการปฏิรูปอย่างมาก ไม่ว่าสภาปฏิรูป หรือตัวกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะรับฟังหรือไม่ แต่ผมคิดว่า สิทธิ สรีภาพของประชาชนที่มีอยู่ตอนนี้คือ การเรียกร้อง หรือการพูดถึงประเด็นของตัวเองที่ต้องการให้มีการปฏิรูป