คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดแม่ฮ่องสอนเตรียมนำเสนอประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจภาคเอกชน
นายสุพจน์ กลิ่นปราณีต ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) และประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า ขณะนี้เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้รับความลำบากมีรายได้น้อย ประสบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้มีปัญหาด้ายรายได้ของประชาชนในจังหวัดที่เข้ามาไม่สมดุลกับรายจ่ายที่ประชาชนประสบอยู่ โดยถือว่าเป็นปัญหาผูกพันที่มีมานานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง อาทิ เรื่องปัญหาเส้นทางการคมนาคมทั้งทางบก และอากาศ ซึ่งเป็นผลกระทบไปถึงด้านการท่องเที่ยว การค้า การลงทุนในวงกว้าง ดังนั้นภาคเอกชนในนามของ กกร. จังหวัดจึงระดมความคิดเพื่อนำเสนอประเด็นปัญหาที่เรื้อรังมาแต่อดีตและจำเป็นต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน เสนอไปยัง ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ชาวแม่ฮ่องสอน โดยมีประเด็นปัญหาที่ต้องการนำเสนอเป็นกรณีเร่งด่วนคือ
๑. ประเด็นปัญหาเรื่องการคมนาคม ทั้งปัญหาเรื่องเที่ยวบินไม่เพียงพอต่อความต้องการซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน อุปสรรคต่อเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ไม่สามารถเดินทางมาได้ตามเป้าหมาย ที่ประชุมมีข้อเสนอการให้ คสช. แก้ไขปัญหาเรื่องการคมนาคมทางอากาศ ดังนี้
– เสนอให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มาให้บริการบินเหมือนเดิม เนื่องจาก การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจ เคยทำการบินเส้นทางเชียงใหม่ –แม่ฮ่องสอน มากว่า ๕๐ ปี และเลิกบินไปโดยอ้างว่าจะให้สายการบินเอกชนมาบินร่วมกับการบินไทย แต่แล้วทุกอย่างก็เงียบหายไป ปัจจุบันเหลือเพียงสายการบินกานต์แอร์ ขนาด ๑๒ ที่นั่งบันวันละ ๓ เที่ยว ซึ่งชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนขาดโอกาสจากภาครัฐมาโดยตลอด ทั้งเรื่องรถไฟฟรี เรื่องรถโดยสารประจำทางฟรี ที่ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่เคยได้รับทั้งเรื่องรถไฟฟรี เรื่องรถโดยสารประจำทางฟรี ที่ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่เคยได้รับ
– เสนอให้ แก้ไขระเบียบ กฎหมาย ข้อบังคับ ในเรื่องการให้สัมปทานเส้นทางบิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่าไม่ให้มีการผูกขาดทางการค้า ที่เป็นผลให้สายการบินเอกชนอื่นที่มีความพร้อมไม่สามารถ เข้ามาดำเนินการบินได้ นอกจากนั้นยังเป็นปัญหาผูกพันไปในเรื่องของราคาค่าตั๋วเครื่องบิน อาทิ เส้นทางบินเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน มีราคาแพงมากกว่าเส้นทางบิน เชียงใหม่-กรุงเทพฯ เป็นต้น
– เสนอให้ ภาครัฐเข้ามาช่วยกำหนดราคาค่าตั๋วเครื่องบินเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ให้เหมาะสมกับระยะทาง
๑.๒ ปัญหาเรื่องการคมนาคมทางบก : จังหวัดแม่ฮ่องสอนประสบปัญหาเรื่องการเดินทางที่ยากลำบาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ส่งผลให้ใช้เวลาในการเดินทางนานและต้นทุนในการขนส่งสูงกว่าเส้นทางอื่นๆ ในระยะทางเดียวกัน หน้าฝนประสบปัญหาเรื่องดินโคลนถล่ม สไลด์ทับเส้นทาง ผิวถนนชำรุดง่าย รถขนาดใหญ่ไม่สามารถขนส่งในเส้นทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๕ ได้ เนื่องจากสูงชัน และคดเคี้ยว หากมีการปรับตามข้อเสนอจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้ในระยะยาว เนื่องจากเป็นเส้นทางเชื่อมต่อจากจังหวัดเชียงใหม่เพียงแค่ ๒๘๕ กิโลเมตรเท่านั้น
ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเรื่องการคมนาคมทางบก แบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาวดังนี้
ระยะสั้น
– ขอสนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงถนนที่มีผิวเรียบ
– ขอสนับสนุนให้ปรับถนนในช่วงที่เป็นทางขึ้นเขาเป็น ๓ ช่องทางจราจร
– ขอสนับสนุนปรับโค้งของถนนให้มีการตัดถนน เพื่อง่ายต่อการสัญจรมากกว่านี้
– ขอสนับสนุนให้ปรับถนนเส้นทางหลวงแผ่นดิน ๑๒๖๓ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชียงใหม่-อินทนนท์-ขุนยวม
– ขอสนับสนุนให้ปรับถนนเส้นทางหลวงสาย ๑๐๕ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ท่าสองยาง – แม่สะเรียง-แม่ฮ่องสอน
ระยะยาวให้พิจารณาโครงการก่อสร้างถนนลอดอุโมงค์ สะเมิง-แม่ฮ่องสอน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวง ภายใต้โครงข่ายเชื่อมโยงสะเมิง-แม่ฮ่องสอน เมื่อปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการศึกษาที่ผ่านมา มีเส้นทางเลือกอยู่ ๓ เส้นทาง คือ
เส้นทาง C1 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง ๗๓ กิโลเมตร
เส้นทาง C2 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง ๖๒.๙ กิโลเมตร
และเส้นทาง C3 จากแม่ฮ่องสอน-สะเมิง ระยะทาง ๕๔ กิโลเมตร
ถนนบางช่วงจะต้องขุดเจาะอุโมงค์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ภูเขาสูง และบางช่วงเป็นสะพานยกระดับสูงเพื่อข้ามลำห้วย เส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางอ้อมและคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ซึ่งต้องใช้เวลา 5-7 ชั่วโมง หากมีการก่อสร้างถนน แม่ฮ่องสอน-วัดจันทร์-สะเมิง รวมทั้งมีข้อสรุปออกมาว่า ต้องมีการขุดเจาะอุโมงค์ เพื่อร่นระยะทางลง ก็จะทำให้ถนนสายนี้เป็นถนนสายท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศไทยที่ผ่านพื้นที่ป่าไม้และภูเขาสลับซับซ้อน น่าจะทำให้ได้รับความสนใจ จากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่สำคัญเพื่อเป็นการเตรียมรองรับการเปิดการค้าเสรีของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงไปยังเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของประเทศเพื่อนบ้านเมียร์มาร์
๒. ประเด็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจการค้า เสนอให้มีการแก้ไขปัญหา ดังนี้
๒.๑ ให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องโฉนดที่สำหรับผู้ทำกินมานานกว่า ๓๐ ปี เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นหลักทรัพย์เพื่อทำ
ธุรกรรมกับทางธนาคารในการต่อยอดธุรกิจ
๒.๒ เสนอให้ด่านการค้าชายแดนทั้ง ๕ ด่านของจังหวัดแม่ฮ่องสอนอนุมัติมีการผ่านแดนได้ปกติดังเช่น ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน
๓. ประเด็นปัญหาเรื่องการค้าชายแดน เสนอให้มีการแก้ไขปัญหา โดยการเร่งรัดการยกระดับด่านการค้าชายแดนบ้านห้วยต้นนุ่น
เป็นด่านถาวรโดยเร็ว (มีเรื่องเดิมอยู่แล้วผ่านมติ ครม.) ปัญหาข้อเท็จจริง กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ พรบ.ป่าไม้ ไม่เอื้อต่อการพัฒนาเขตพื้นที่เช่นเส้นทางการคมนาคมไปจรดสันเขต อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ไม่สามารถดำเนินการปรับปรุง แก้ไข พัฒนาได้เนื่องจากขัดกับข้อกฎหมายดังกล่าว
๔.ประเด็นปัญหาเรื่องการท่องเที่ยว หากว่าแก้ไขปัญหาทั้ง ๓ ข้อข้างต้นได้จะเป็นการแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวโดยภาพรวมได้ทั้งหมด เนื่องจากการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นอยู่กับเรื่องระบบการคมนาคม และการเปิดชายแดนเป็นหลัก
ทางด้านนายพูลศักดิ์ สุนทรพาณิชย์กิจ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า “คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประกอบไปด้วยองค์กรภาคเอกชนหลัก ๔ องค์กร คือสภาอุตสาหกรรม , หอการค้า ,สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และชมรมธนาคาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน ปัจจุบันสถานการณ์บ้านเมืองต่างมีความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ดังนั้น ภาคเอกชนจังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงเห็นสมควรว่าจำเป็นต้องดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่งเพื่อความอยู่รอดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ภาคการค้าเศรษฐกิจสามารถเดินต่อไปได้ ทาง กกร. จึงได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือภาคเอกชนในพื้นที่ของเรา โดยการจัดประชุม หารือและระดมความคิดเห็นดังกล่าว”