ก.แรงงานเผย ‘จากกันด้วยใจ-โตโยต้า’ ลูกจ้างได้สิทธิตามกฎหมาย – องค์กรแรงงานชี้ 7 ข้อ คำชี้แจงที่แย้งกับสถานการณ์จริง

ก.แรงงานเผย ‘จากกันด้วยใจ-โตโยต้า’ ลูกจ้างได้สิทธิตามกฎหมาย – องค์กรแรงงานชี้ 7 ข้อ คำชี้แจงที่แย้งกับสถานการณ์จริง

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผย ‘โตโยต้า’ มีโครงการ ‘จากกันด้วยใจ’ ให้สมัครใจลาออก ระบุลูกจ้างเหมาค่าแรง ยืนยันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ ด้านขบวนแรงงาน แถลงการณ์เปิดผนึกต่อสังคม“เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต”

20160707235930.jpg

7 ก.ค. 2559 ความคืบหน้ากรณี บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดโครงการจากกันด้วยใจให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงสมัครใจลาออก เว็บไซต์กระทรวงแรงงาน รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2559 ว่า นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การเปิดโครงการสมัครใจลาออกในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ ที่มีการรายงานกรณีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อโครงการว่า ‘จากกันด้วยใจ’ 

นายสุวิทยา กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน หรือราว 800 – 1,000 คน สมัครใจลาออก โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต และได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4 – 13 ก.ค. 2559 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด (5 ก.ค. 2559) มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 800 คน 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 3 แห่งที่ชัดเจนและประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานสำโรง) สำนักงานใหญ่, โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (นิคมเกตเวย์) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานบ้านโพธิ์) ประกอบรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก และทำชิ้นส่วนรถยนต์ ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา 

ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการชี้แจงกับลูกจ้างเหมาค่าแรงพร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าหากการปรับระบบลงตัวและผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้นสังกัด

“โครงการดังกล่าวบริษัทฯ แจ้งว่า ได้มีการประกาศให้พนักงานรับทราบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเพื่อปรับโครงสร้างของพนักงาน และเป็นโครงการที่ให้พนักงานที่สนใจจะรับเงื่อนไขที่บริษัทประกาศขึ้นก็เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นกลุ่มพนักงานจ้างเหมาไม่ใช่พนักงานของบริษัทโดยตรง ล่าสุดมีพนักงานจ้างเหมาที่สนใจมาสมัครแล้ว ประมาณ 800 คน และจากข้อมูลที่ได้รับบริษัทฯ จะเปิดรับสมัครไม่เกิน 1,000 คน เนื่องจากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ถ้าคนที่ไม่สมัครใจก็คงต้องอยู่ต่อ ใช้ระบบสมัครใจไม่ใช้ระบบเลิกจ้างปกติ” รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมากับช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องของการประกอบอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในระหว่างนี้บริษัทแต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการจะทำให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้

นายสุวิทยา ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทจำนวนมาก อาทิ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 17 บริษัท ภายใต้ 17 บริษัทจะมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนชุดใหญ่ ๆ ทั้งหมด 390 บริษัท ย่อยลงมาจะเป็นพาร์ทต่าง ๆ ที่เป็นการผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 1,250 บริษัท มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 750,000 คน โดยในวงรอบของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นจ้างเหมาช่วง (Sub-Contractor) ประมาณ 40% ของ 750,000 คน 

และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด อาทิ การให้ออโตเมติก การใช้ไอที อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือบริษัทที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น

“สำหรับบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เกิดจากภาคความสมัครใจ ขอให้ดูแลเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจนสามารถเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกโดยเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วการที่จะสมัครใจออกนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องของลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะมีส่วนในการพิจารณาด้วย” รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว

ด้าน voicelabour.org เผยแพร่ แถลงการณ์เปิดผนึกขององค์กรแรงงานต่อสังคม ‘เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต’ คำถามต่อกระทรวงแรงงานและบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับโครงการสมัครใจลาออก ‘จากกันด้วยใจ’ ลงนามโดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

20160807000646.jpg

แถลงการณ์เปิดผนึกต่อสังคม

“เลิกจ้างเหมาค่าแรงแบบตัดตอน ทอนความมั่นคงชีวิตลูกจ้าง สวนกระแสอุตสาหกรรมรถยนต์เติบโต”

คำถามต่อกระทรวงแรงงานและบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กับโครงการสมัครใจลาออก “จากกันด้วยใจ”

แถลงเมื่อ 6 กรกฎาคม 2559 โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

ตามที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนกรณีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดโครงการสมัครใจลาออกในชื่อ “จากกันด้วยใจ” โดยให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ ประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมด หรือราว 900 คน สมัครใจลาออก นับตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานและเงินเพิ่มเติมพิเศษ

บริษัทได้อ้างถึงสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้จำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง อีกทั้งทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก หากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะนับอายุงานต่อเนื่อง

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และเห็นว่านี้เป็นผลพวงมาจากนโยบายการจ้างงานประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปยังตลาดโลก โดยกดค่าแรงให้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ทำให้การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย นอกจากจะเป็นการทำสัญญาจ้างโดยตรงแล้ว ยังมีการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาค่าแรงอย่างแพร่หลาย

กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวจึงเป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่า การแสดงความรับผิดชอบของบริษัทโตโยต้าฯ ในครั้งนี้ จึงคือการยอมรับไปโดยปริยายว่า ลูกจ้างเหมาค่าแรงก็คือลูกจ้างของบริษัทนั้นเอง

ทั้ง ๆ ที่ก็ทราบโดยทั่วไปว่า คุณภาพชีวิตลูกจ้างที่อยู่ภายใต้บริษัทรับเหมาค่าแรงมักจะได้รับเพียงค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการ รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับสภาพการจ้างและข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้ และสถานประกอบกิจการสามารถส่งตัวคืนบริษัทรับเหมาค่าแรงได้ตามความพอใจ

หลายสิบปีที่ผ่านมาองค์กรแรงงานในประเทศไทย โดยเฉพาะการนำของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และองค์กรสมาชิก เช่น สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF), กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รวมถึงสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT) ได้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง และให้ลูกจ้างทุกคนในสถานประกอบกิจการ “เท่าเทียมกัน” ในการจ้างงาน ในลักษณะหนึ่งสถานประกอบกิจการ หนึ่งกระบวนการผลิต หนึ่งสภาพการจ้าง

แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการที่ชัดเจนแต่อย่างใด นอกจากการอ้างเรื่องการปฏิบัติตามมาตรา 11 /1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551) ซึ่งก็พบว่า สถานประกอบการมิได้นำพาในการปฏิบัติตามกฎหมายและต้องให้ลูกจ้างดำเนินการฟ้องร้องตามช่องทางกระบวนการยุติธรรมแทน ซึ่งก็พบข้อจำกัดและระยะเวลาในการดำเนินการที่ยาวนาน

เมื่อมาพิจารณาในคำชี้แจงของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ก็พบถ้อยคำที่ขัดแย้งกับสถานการณ์จริงในปัจจุบันหลายประการ ได้แก่

(1) ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤษภาคม 2559 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชนปรับดีขึ้นตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะกำลังซื้อของครัวเรือนเกษตรเริ่มปรับดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้นและปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลาย ประกอบกับการใช้จ่ายลงทุนของภาครัฐกลับมาขยายตัวดี อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวสูงเนื่องจากในปีก่อน ที่มีการหยุดการผลิตเพื่อปรับเปลี่ยนสายการผลิต ประกอบกับในปีนี้ความต้องการรถกระบะดัดแปลงขยายตัวดีต่อเนื่อง

(2) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิตรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2559 มีทั้งสิ้น 192,811 คัน สูงสุดในรอบ 30 เดือน เนื่องจากผลิตรถยนต์นั่ง และรถกระบะขนาด 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.08 และ 63.56 ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ร้อยละ 15.86 และในเดือนพฤษภาคม 2559 ผลิตรถยนต์ 168,394 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.69 ส่งออกรถยนต์ 99,547 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.93 ยอดขายรถยนต์ 66,019 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9

(3) หากย้อนไปดูสถิติยอดการผลิตรถยนต์รวมทั้งปีของบริษัทโดยตรง พบว่า มีส่วนแบ่งการตลาดขายรถยนต์ในประเทศสูงถึง 33.78 % สถิติการผลิตรถยนต์ ปี 2557 ยอดผลิต 1.88 ล้านคัน ปี 2558 ยอดผลิต 1.91 ล้านคัน ปี 2559 คาดการณ์ 2 ล้านคัน ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2559 ผลิตรถยนต์ จำนวน 138,237 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ร้อยละ 11.51 ขายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.18

(4) บริษัทมีรายได้สูงสุดติดอันดับ 2 ของประเทศถึงกว่า 417,826 ล้านบาท และมีผลกำไรสูงสุดเป็นอันดับ 4 กว่า 29,937 ล้านบาท (ข้อมูล ณ ปี 2558) และผลประกอบการมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดระยะกว่าเวลา 50 ปีที่ทำธุรกิจในประเทศไทย

(5) บริษัทสามารถจ่ายเงินเพื่อเป็นสปอนเซอร์ให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละปีได้มากมาย เช่น ในปี 2559 มอบเงิน 30 ล้านบาท สนับสนุนฟุตบอลทีมชาติไทยสู่การแข่งขันฟุตบอลโลก และอีก 180 ล้านบาทในการจัดการแข่งขันฟุตบอลต่าง ๆ

(6) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2559 นายฉัตรชัย ทวีสกุลวัชระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโตโยต้าฯ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า “….จะสามารถทำตามเป้าหมายการส่งออกในปี 2559 ที่ 370,000 คัน ได้อย่างแน่นอน และยืนยันว่าโตโยต้าไม่มีนโยบายที่จะปลดคนงานออกอย่างแน่นอน โดยโตโยต้ามีแผนที่จะส่งออกไปยังตลาดยุโรปและโอเชียเพิ่มขึ้น ทดแทนตลาดตะวันออกกลางที่กำลังซื้อลดลง รวมถึงมีแผนส่งออกรถยนต์ไปยังอิหร่าน ซึ่งเป็นตลาดเปิดใหม่ด้วย”

(7) นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานระบุว่า สาเหตุที่บริษัทฯ ปรับลดพนักงานเพื่อรองรับเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ ที่เน้นการใช้เครื่องจักรมากกว่าแรงงาน

จากที่กล่าวมาทั้งหมด จึงเห็นได้ชัดเจนว่า คำกล่าวอ้างในการดำเนินโครงการสมัครใจลาออกจึงเป็นเพียงวาทกรรมลอยๆ ที่นำมากล่าวอ้างเพื่อลดจำนวนคนงาน ขณะเดียวกันก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ด้วยเช่นกันว่าบริษัทจะดำเนินการตามที่กล่าวนั้นจริง

อีกทั้งการกล่าวอ้างเรื่องภาวะเศรษฐกิจตกต่ำยังนำไปสู่การที่บริษัทโตโยต้าฯ ละเลยในการคุ้มครองแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 ที่นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษในส่วนนี้เพิ่มเติม นอกเหนือจากค่าชดเชยตามมาตรา 118 และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW), สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงานให้ทบทวนกรอบและทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทย ที่มุ่งแต่อัตราการเจริญเติบโตและความสำเร็จของภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้คำนึงถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน

สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จำเป็นต้องมีธรรมาภิบาลในการบริหารงาน โดยต้องคำนึงถึงการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงมากกว่าผลักภาระให้ลูกจ้างผ่านข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด รวมทั้งการจักต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด ซึ่งได้กำหนดแนวปฏิบัติในการเลิกจ้างลูกจ้างไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันตรวจสอบการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในบริษัทฯ แห่งอื่น ๆ ในการนำข้ออ้างเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ เศรษฐกิจชะลอตัว มาใช้เลิกจ้างคนงานอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทซัพพายเออร์ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่อาจใช้ข้ออ้างเดียวกันกับบริษัทโตโยต้าฯ นำมาเลิกจ้างคนงานติดตามมา

ด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีแรงงานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)
สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT)
สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM)
สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW)
สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF)
กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ