1 ต.ค. 2558 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือ ไอซีที แถลงชี้แจง ในเวลา 12.00 น. ห้องแถลงข่าว ชั้น 8 ศูนย์ราชการ หลังเว็บไซต์ภาครัฐ อาทิ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ไม่สามารถเข้าใช้บริการได้ เมื่อคืน (30ก.ย.58) ที่ผ่านมา กรณีการต่อต้านแนวคิดโครงการซิงเกิล เกตเวย์ (SingleGateway)
เบื้องต้น รมว.ไอซีที ระบุว่า การถล่มเว็บเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ยังไม่อยากบอกว่าตั้งใจว่าโจมตีเว็บรัฐ เผยปกติมีคนเข้าเว็บไซต์ ICT วันละ 6,000 ราย แต่เมื่อคืนเข้ามาพร้อมๆ กันกว่าแสนราย ทำให้เกิดความล่าช้า
ยืนยันไม่มีนโยบายแทรกแซง หรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียของประชน ส่วน Single Gateway ขณะนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มดู อยู่ในขั้นตอนการศึกษา
“กระทรวงยืนยันว่าจะไม่มีการกระทำที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนไทยหรือคนใด จะไม่แทรกแซง Social Mediaและการใช้งานอินเตอร์เน็ต” นายอุตตม กล่าว
สรุปช่วงคืนวันที่ 30 ก.ย. มีเว็บไซต์ถูกโจมตีล่มไป 8 เว็บไซต์คือ คือ 1.กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ www.mict.go.th 2.CAT Telecom www.cattelecom.com 3.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) http://center.isocthai.go.th 4.ทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th 5.สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม hopsd.mod.go.th/Home.aspx 6.บริษัท ทีโอที จำกัด www.tot.co.th 7.พรรคประชาธิปัตย์ www.democrat.or.th และ 8.กองบัญชาการกองทัพไทย www.rtarf.mi.th (คลิกอ่านข่าว)
ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่า วิธีการต่อต้าน Single Gateway โดยรณรงค์ให้ “กดปุ่มโหลดหน้าใหม่ หรือปุ่มรีเฟรช (Refresh) หรือกดปุ่ม F5 บนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์รัวๆ” จนทำให้เว็บไซต์ไม่สามารถให้บริการได้นั้น เรียกว่าการ DDoS: Distributed Denial-of-Service (ดีดอส) หรือไม่ และการกระทำดังกล่าวมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 10 ซึ่งเป็นความผิดทางอาญา มีโทษปรับ และจำคุก หรืออาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 10 ระบุว่า ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม ยังมีการเผยแพร่ข้อมูลทางโซเชียลมีเดียระบุถึงการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในวันนี้
ฝูงบิน F5 เตรียมพร้อม 13.00 น.วันนี้ เรามีนัดกัน…..
พิกัด…..
– สำนักนายก : http://www.thaigov.go.th
– กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฯ : http://center.isocthai.go.th
– กระทรวง กลาโหม http://www.mod.go.th
– กระทรวงมหาดไทย http://www.moi.go.th
– กองทัพบก http://www.rta.mi.th
– กรมบัญชีกลาง http://www.cgd.go.th/wps/portal/cgd
รัวๆๆๆๆๆ อย่าหยุด รัว…..
ด้านจำนวนผู้เข้าร่วมลงชื่อต่อต้านการตั้งซิงเกิลเกตเวย์ Go against Thai govt to use a Single Internet Gateway.ในเว็บไซต์ change.org มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิน 1 แสนรายชื่อแล้วในช่วงคืนที่ผ่านมา และเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
ข้อความรณรงค์กิจกรรมนี้ในเว็บไซต์ change.org ระบุข้อมูลว่า (คลิกดูหน้าเว็บไซต์ลงชื่อ)
ถ้าตั้ง Single Gateway จริง ท่านจะพบเจอกับอะไร? Single Gateway คืออะไร? สมมุติว่าเราเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับเซิฟเวอร์ ปัจจุบันจะต้องผ่าน International internet gateway (IIG) ในประเทศเล็กๆ หรือประเทศที่ต้องการควบคุมผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตอย่างเช่น จีน ผู้ให้บริการ IIG จะมีเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยก็เคยใช้ระบบนี้ตอนที่อินเตอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายมากนัก คือเวลาต่ออินเตอร์เน็ต ทุกจุดเชื่อมต่อก็จะต้องมารวมที่ กสท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ IIG แต่ในปัจจุบัน หลังวิกฤติปี 40 ไอเอ็มเอฟก็ได้สั่งให้เราเปิดเสรีโทรคมนาคม ทำให้เกตเวย์ในไทยเพิ่มมากขึ้นจนตอนนี้มีถึงสิบกว่าเกตเวย์แล้ว เพราะฉะนั้น Single Gateway เปรียบเสมือนการใช้ประตูเพียงบานเดียว เข้าออก ทำให้การใช้งานอินเตอร์เน็ตง่ายต่อการควบคุมโดยภาครัฐ ทำไมรัฐจะกลับมาใช้ Single Gateway? อย่างที่กล่าวไปแล้ว Single Gateway คือประตูเพียงบานเดียว คือไม่ว่าอินเตอร์เน็ตภายในประเทศจะเชื่อมกันกี่หมื่นกี่พันเส้น แต่ทางออกเพื่อไปเชื่อมกับเครือข่ายในต่างประเทศนั้นจะเหลือแค่จุดเดียวเท่านั้น การดูแลการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต การตรวจสอบข้อมูล การดักจับข้อมูล ฯลฯ จึงทำได้ง่ายกว่าเยอะ ในรัฐที่มีการปกครองแบบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จเช่นประเทศไทย จึงอาจเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจเท่าไร ที่รัฐบาลจะพยายามควบคุมการใช้งานและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก โดยอ้าง ‘ความมั่นคง’ ปัญหาและสิ่งที่จะตามมาของการใช้ Single Gateway? แน่นอนว่าการมีประตูทางออกเดียวจะทำให้อินเตอร์เน็ตช้าลงแน่นอน และอีกอย่างคือหากว่าเกตเวย์ล่มก็จะล่มกันหมดทั้งประเทศ เพราะจะไม่มีเกตเวย์ตัวอื่นรองรับเลย ถ้าหากมีการใช้ Single Gateway จริง ก็จะยิ่งทำให้บริษัทต่างประเทศลังเลมากยิ่งขึ้นในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผู้ให้บริการที่มีพาร์ทเนอร์กับบริษัทต่างประเทศก็อาจจะสูญเสียรายได้ เนื่องจากบริษัทข้ามชาติจะเกิดความไม่แน่ใจด้านความมั่นคงและปลอดภัยของการให้บริการอินเตอร์เน็ตในบ้านเรา หากล่มปุ๊ป แน่นอนว่าจบเห่แน่ทั้งประเทศ รวมถึงข้อมูลความลับทางการค้าก็อาจจะถูกล้วงได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วไปก็จะถูกจำกัดการเข้าใช้งานกับเครือข่ายต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษกับการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมโดยไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน บทความจาก ISPACE THAILAND: |