EnLAW: สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา ‘คดีโคบอลต์- 60’ สั่งเอกชนจ่าย 5 แสนบาทชดใช้ผู้เสียหาย

EnLAW: สรุปคำพิพากษาศาลฎีกา ‘คดีโคบอลต์- 60’ สั่งเอกชนจ่าย 5 แสนบาทชดใช้ผู้เสียหาย

“15 ปีกับการพิสูจน์ความรับผิดของผู้ประกอบการจากการเพิกเฉยต่อกฎเกณฑ์การจัดเก็บสารกัมมันตภาพรังสีเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมและสิ่งแวดล้อม”

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม – EnLAW เผยแพร่คำพิพากษาฎีกาศาลแพ่ง คดีอุบัติเหตุทางรังสีโคบอลต์-60 จากเหตุการณ์การแพร่กระจายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2543 เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2559

20161006021149.jpg

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15476-15477/2558  (ไฟล์คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับเต็ม)

ประเภทคดี               แพ่ง

คู่ความ                      นางสาวจิตราภรณ์  เจียรอุดมทรัพย์ ที่ 1 กับพวกรวม 12 คน          โจทก์

                              บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริค จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 5 คน            จำเลย

เรื่อง                        มลพิษ/ ละเมิด  เรียกค่าเสียหาย

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

– พ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504

– พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535

– ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มาตรา 437 มาตรา 443 มาตรา 444 มาตรา 446

วันที่ 8 มิ.ย. 2559 ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยมีประเด็นสำคัญที่วินิจฉัยว่า

ประเด็นโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 หรือไม่  
วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันส่อแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้เก็บรักษาวัตถุอันตรายให้มีความมั่นคง รัดกุม ป้องกันมิให้เกิดอันตราย แตกต่างจากการเก็บรักษาโดยทั่วไป การที่โจทก์ที่ 1 รับซื้อแท่งสแตนเลสซึ่งภายในบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์-60 แม้จะฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 ขาดความระมัดระวังไปบ้าง แต่ไม่ถึงขนาดเป็นการรับซื้อไว้โดยประมาทเลินเล่อ โจทก์ที่ 1 และที่ 9 ถึงที่ 11 ไม่ได้กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาในส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว ศาลฏีกาเห็นพ้องด้วย

ประเด็นจำเลยที่ 1 กระทำการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 พ.ศ.2504 ออกตามความในพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ พ.ศ. 2504 กำหนดให้ผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีว่า ต้องมีผู้รับผิดชอบทางเทคนิค มีสถานที่จัดเก็บ มีการติดเครื่องหมายแสดงบริเวณรังสี และจำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือขอคำแนะนำในการจัดเก็บจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีหนังสือตอบโดยระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องมีโรงเรือนที่จัดเก็บที่แข็งแรง พื้นอาคารและผนังต้องเป็นคอนกรีตมีความหนาปกติ เช่นอาคารทั่วไป มีมาตรการรักษาความปลอดภัย มีสัญญาณกันขโมย และป้ายเตือน แต่การจัดเก็บของจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฎว่าได้จัดเก็บตามกฎกระทรวงและคำแนะนำของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติแต่อย่างใด และจากสภาพการจัดเก็บที่ปรากฎจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และตามภาพถ่าย เป็นเพียงลาดจอดรถ และเก็บไว้ในที่โล่งแจ้ง ไม่ได้เก็บไว้ในอาคารที่มีสภาพมั่นคงแข็งแรงมีผนังคอนกรีตล้อมไว้รอบด้าน ส่วนรั้วกำแพงบริเวณลานจอดรถก็ทำด้วยสังกะสีที่มีสภาพเก่าผุ  ป้ายที่ปักเตือนก็มิได้ระบุชัดแสดงบริเวณรังสี รวมทั้งไม่มีผู้ดูแล สภาพการจัดเก็บของจำเลยที่ 1 จึงเป็นลักษณะปล่อยปละละเลยและจัดเก็บอย่างเช่นวัตถุที่ไม่ใช้แล้วตามปกติธรรมดา หาได้ใช้ความระมัดระวังในการจัดเก็บตามมาตรฐานในการจัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีไม่  ส่อแสดงความไม่เอาใจใส่และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของบุคคลอื่น ถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เมื่อวัสดุกัมมันตรังสีถูกคนร้ายลักลอบไปและก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นละเมิด ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น

ประเด็นค่าเสียหายของโจทก์สมควรกำหนดให้หรือไม่ เพียงไร
แม้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจะไม่ผูกพันคดีนี้ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นจากการนำสืบของคู่ความโดยชอบ ศาลสามารถนำมาประกอบในการกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เพื่อให้สอดคล้องกับความเสียหายที่โจทก์แต่ละคนจะได้รับ การที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเพิ่มขึ้นจากที่โจทก์ได้รับจากศาลปกครองกลางและไม่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ที่ 4 อีกนั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยและให้เหตุผลไว้โดยละเอียด เห็นว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ได้เหมาะสมแล้ว

ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์และจำเลย (จำเลยที่ 2 ซึ่งอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำเครื่องฉายรังสีมาเก็บไว้ในโรงเก็บรถของตนต้องร่วมรับผิดหรือไม่, กรรมการบริษัทต้องร่วมรับผิดเป็นการส่วนตัวหรือไม่) ศาลเห็นว่าไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

หมายเหตุ: ประเด็นค่าเสียหายตามศาลอุทธรณ์

                   พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ดังนี้

                   โจทก์ที่ 1         จำนวน           42,916           บาท

                   โจทก์ที่ 2         จำนวน           34,740           บาท

                   โจทก์ที่ 3         จำนวน           46,000           บาท

                   โจทก์ที่ 6         จำนวน           45,800           บาท

                   โจทก์ที่ 7         จำนวน           80,000           บาท

                   โจทก์ที่ 8         จำนวน           70,000           บาท

                   โจทก์ที่ 9         จำนวน           46,420           บาท

                   โจทก์ที่ 10       จำนวน           70,000           บาท

                   โจทก์ที่ 11       จำนวน            93,400          บาท

รวมค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องชดใช้แก่โจทก์เป็นเงินทั้งสิ้น 529,276 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

อ่าน: รวมคำพิพากษาคดีโคบอลต์-60 (คดีแพ่งและคดีปกครอง)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ