6 ปี บ่อแก้ว ผู้บุกเบิกที่ถูกเบียดขับให้เป็นผู้บุกรุก สู่การกำหนดอนาคตตนเอง

6 ปี บ่อแก้ว ผู้บุกเบิกที่ถูกเบียดขับให้เป็นผู้บุกรุก สู่การกำหนดอนาคตตนเอง

ชาวชุมชนบ่อแก้วผู้สูญเสียที่ดินทำกิน หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ยึดที่ดินไปปลูกป่ายูคาฯ กระทั่ง 17 ก.ค.52 ผู้เดือดร้อนบุกเข้าไปยึดที่ดินทำกินเดิมกลับคืนมา จัดตั้งเป็นชุมชนบ่อแก้วพร้อมร่วมพลิกฟื้นพัฒนาผืนดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง 

20152107221848.jpg

ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน

เส้นทางการต่อสู้สู่การทวงคืนผืนดิน ภายหลังถูกแย่งที่ทำกินไปปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส เมื่อปี 2521ส่งผลให้หลายครอบครัวถูกอพยพจากที่ดินทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้าง 

ภายหลังผู้เดือดร้อนรวมใจกันยึดผืนดินกลับคืนมาดังเดิม เมื่อวันที่ 17 ก.ค.52  พร้อมร่วมกันจัดตั้งชุมชนบ่อแก้วขึ้นมาอย่างเป็นแบบแผน ร่วมกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดิน โดยไม่ได้ยึดติดกับการถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการปฏิรูปที่ดินด้วยวิถีการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นเส้นทางสู่ความมั่งคง สร้างความยั่งยืนให้กับผืนดินและชีวิต 

นี่คือ เรื่องราวการของนักสู้เลือดเกษตรอินทรีย์ ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ดำเนินมากว่า 6 ปี 

20152107221926.jpg

ทุกวันที่ 17 ก.ค.58 ถือเป็นวันครบรอบการถือกำเนิดของชุมชนบ่อแก้ว ตัวแทนสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) จากจังหวัดต่างๆ อาทิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ จะมาร่วมกันจัดงานบุญขึ้นมาเป็นประจำทุกปี และในวาระครบรอบ 6 ปี ชุมชนและสมาชิกได้ร่วมกันออกแบบกำหนดการงานบุญ 

วันที่ 16 ก.ค.58 ร่วมกันทำขนมพื้นบ้าน อาทิ ข้าวต้มมัด ข้าวห่อใบตอง พร้อมเตรียมประดับปรับแต่งพื้นที่ และเตรียมของถวายภัตตาหารสำหรับทำบุญ และร่วมกันประกอบกิจกรรมแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมพื้นบ้านจำพวกกล้วย หน่อไม้ ข่า เป็นต้น ในระหว่างนี้จะร่วมกันแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นการรณรงค์เกี่ยวกับการส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ที่ยั่งยืน เป็นการต่อไป

วันที่ 17 ก.ค.58 ประมาณ 06.00 น.ร่วมกันทำบุญตักบาตร และถวายภัตตาหาร โดยนิมนต์พระสงฆ์จากวัดเจดีย์ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จำนวนรวม 5 รูป พร้อมประกอบพิธีสงฆ์ โดย พระครูนันทเจติยาภิรักษ์ (พระอาจารย์โต) เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ แสดงพระธรรมเทศนา

ปุ่น พงษ์สุวรรณ วัย 76 ปี ชาวชุมชนบ่อแก้ว เล่าว่า ‘สวนป่ายูคาลิปตัส’ นอกจากขับไล่ออกจากพื้นที่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อผืนดินอันอุดมสมบูรณ์เกิดการเสื่อมโทรม ภายหลังที่ยึดที่กินทำกินเดิมกลับคืนมา ชุมชนบ่อแก้วได้ร่วมพลิกฟื้นพัฒนาผืนดินให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ด้วยการคิดค้นแนวทางจัดการที่ดินไปสู่วิถีชีวิตเกษตรกรรมอินทรีย์ ถือเป็นรูปแบบการต่อสู้ด้วยวิธีการเข้ามาทำมาหากินในพื้นที่ดินทำกินเดิม โดยไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นการแสดงให้สังคมเข้าใจว่าพืชเศรษฐกิจเช่นไม้ยูคาฯ ที่ ออป.นำเข้ามาปลูกโดยการยึดที่ดินทำกินของพวกเราไปนั้น ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของชุมชน

ปุ่น เล่าอีกว่า ทุกช่วงเวลาที่ผ่านมา ชุมชนได้เรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทั้งในเรื่องการถูกละเมิดทางสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน ขณะเดียวกันได้เรียนรู้เช่นกันว่า มีแต่การยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนเท่านั้น ที่จะฝ่าข้ามจากความอยุติธรรมไปสู่สังคมที่เป็นธรรมได้ เพราะนโยบายต่างๆ ที่รัฐโยนมาให้นั้นล้วนแต่สร้างความสูญเสียและเกิดผลกระทบต่อชุมชน สู่ระดับถึงขั้นความรุนแรง จนชุมชนต้องเกิดการล่มสลาย 

เพราะฉะนั้น มีแต่ชุมชนเท่านั้นที่สามารถร่วมกันกำหนดอนาคตของตนเอง และร่วมกันบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ไปสู่ความสมบูรณ์บนผืนดิน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ เป็นการสร้างความมั่งคงอาหาร ให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งแหล่งอาหารจากภายนอก รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว

“การกระทำของ ออป.ส่งผลกระทบให้พวกเราต่างตกอยู่ในสภาพกลายเป็นคนพลัดถิ่น ไร้ที่อยู่อาศัย จึงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ในการที่ผู้ได้รับความเดือดร้อนจะพร้อมใจกันเข้ามายึดผืนดินทำกินเดิมกลับคืนมา พร้อมลงหลักปักฐานเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง และทุกวันที่ 17 ก.ค.จะถือเป็นจุดกำเนิดของชุมชน และทุกปีพวกเราจะร่วมจัดงานทำบุญที่สามารถร่วมกันทวงคืนผืนดินที่ทำกินเดิมกลับมาได้ และเพื่อเป็นการแสดงจุดยืนที่สามารถทำให้การดำเนินชีวิตของชุมชนมีความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุขและยั่งยืน ตลอดจนสืบทอดไปถึงลูกหลานได้อีกต่อไป” ปุ่นกล่าว

 

6 ปี สู่ความเข้มแข็ง ด้วยการบริหารที่ดินของชุมชน เพื่อชุมชน โดยชุมชนกำหนดอนาคตของตนเอง

จากผู้สูญเสีย ล่วงมาถึงวันครบรอบ 6 ปี (17 ก.ค.58) ด้วยความพยายามของผู้ไม่ยอมจำนนต่อความไม่เป็นธรรม จาก 17 กรกฎาคม 2552 แม้จะถือเป็นวันแห่งความสำเร็จ ที่พวกเขาพร้อมใจกันเข้ามายึดพื้นที่ในบริเวณสวนป่าคอนสาร พร้อมลงหลักปักฐานในพื้นที่ทำกินเดิมของตนเองได้ 

ทว่าในความสำเร็จนั้นยังไม่สามารถหยุดอยู่ตรงที่ยึดที่ทำกินกลับคืนมาได้ เพราะระยะเวลากว่า 6 ปี พวกเขาได้กลับเข้าไปพลิกฟื้นบริเวณพื้นที่พิพาทให้สมบูรณ์ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการกำหนดชีวิตของพวกเขาเอง

ปัจจุบันชุมชนบ่อแก้วได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับทำการผลิต ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเลี้ยงชีพในระดับครอบครัว นอกจากพืชผักที่กินได้แล้ว ยังจัดตั้งโรงปุ๋ยหมัก ศูนย์เมล็ดพันธุกรรม รวมทั้งนำเศษจากซากพืช ผัก และจอกแหน ร่วมกันมาแปรเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชีวิตและสังคม เหล่านี้คือความงดงามบนวิถีการดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน

แม้การเข้ายึดพร้อมลงหลักปักฐานเพื่อผืนดินที่อยู่อาศัย และเพื่อทำการผลิต ภายหลังต้องสูญเสียโอกาส ที่ ออป.นำไปใช้ประโยชน์โดยไม่เป็นธรรมนั้น ผลลัพธ์ที่ได้กลับถูกข่มขู่ คุกคาม มาโดยตลอด

แม้ชุมชนจะร่วมกันติดตามปัญหาของพวกเขามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้เข้าร่วมในกระบวนการแก้ไขปัญหากับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในการผลักดันเชิงนโยบายกับหน่วยงานภาครัฐ กระทั่งมีมติของหน่วยงานต่างๆ เป็นที่ตกลงร่วมกันว่า สวนป่าคอนสารได้ปลูกสร้างทับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของประชาชนจริง ให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน โดยทุกขั้นตอนจะมี ออป.เข้าร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง 

แต่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางภาคปฏิบัติ

 

อาศัยอำนาจ ยุค คสช. คำสั่ง 64/57 ไล่รื้อชุมชนบ่อแก้ว

นิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่าว่า จากผู้บุกเบิกพวกเรามักถูกเบียดขับให้กลายเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อทวงคืนผืนแผ่นดินเดิม เมื่อบุกเข้ามายึดที่ทำกินกลับคืนมาได้จัดตั้ง “ชุมชนบ่อแก้ว” ขึ้นมาอย่างมีระบบแบบแผน เพื่อแสดงสัญลักษณ์ความเป็นเจ้าของพื้นที่ 

พร้อมกับประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน”  ตามที่ได้ผลักดันให้รัฐบาลสมัยนั้นมีมาตรการทางนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิที่ดินดังกล่าว กระทั่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน ในเวลาต่อมา

นิด บอกอีกว่า จากสวนป่ายูคาฯ บทเรียนแห่งผลกระทบเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐ ที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต มาถึงผลผลิตที่ชุมชนร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน ทั้งพัฒนาที่อยู่อาศัย ควบคู่ไปกับพัฒนาชีวิต ทุกเวลาที่ล่วงผ่านมานั้น  ช่วง 4 ปีแรก ชุมชนยังไม่มีทั้งน้ำและไฟฟ้าใช้ในการบริโภค และเพื่อให้ผลผลิตในรูปแบบเกษตรอินทรีย์เติบโต จึงได้รวบรวมเงินกันจ้างช่างมาขุดเจาะน้ำบาดาล 

ระหว่างการขุดเจาะนั้น เจ้าหน้าที่ ออป.เข้ามาขับไล่ ทำให้ช่างต้องยุติ ต่อมาเมื่อ 26 ม.ค.56 ชุมชนได้ทำการยื่นขอไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาย่อยคอนสารได้อนุมัติและดำเนินการติดตั้ง วันที่ 28 ม.ค. 56 กลับถูกเจ้าหน้าที่ ออป.เข้ามาข่มขู่ ให้รื้อถอนและให้ออกจากพื้นที่ โดยอ้างว่าอยู่ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม 

พวกเราต้องเรียกร้องความเป็นธรรมเรื่อยมา กระทั่ง 11 – 14 ก.พ.56 กว่าจะได้ทั้งน้ำและไฟฟ้า ต้องไปปักหลักชุมนุม กิน นอน อยู่ที่ว่าการอำเภอคอนสาร เหล่านี้คือตัวอย่างหนึ่ง ที่ชุมชนต้องร่วมพลังการต่อสู้ต่อความไม่เป็นธรรม ยังไม่รวมถึงการถูกคุกคามต่างๆ จากผู้ที่ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ และการถูกดำเนินคดีโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม

ประธานโฉนดชุมชน กล่าวด้วยว่า แม้ปัญหายังไม่มีการแก้ไขที่ถูกต้อง แต่ชีวิตของพวกเราหวังอย่างยิ่งว่า จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติสุขขึ้นมาอีกครั้ง ทว่าช่วงหลังประหาร โดยคณะ คสช.ถือเป็นยุคแห่งความรุนแรง ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งสภาพชีวิตและจิตใจที่สุด โดยเฉพาะอำนาจคำสั่ง 64/57 เมื่อวันที่ 26 ส.ค.57 ไล่รื้อชุมชนอกจากพื้นที่ 

สิ่งที่เกิดขึ้น แน่นอนว่าพี่น้องของเราย่อมหวาดผวา รู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิต หวั่นเกรงภัยจะถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาไล่รื้อ การทำมาหากินขาดช่วง พวกเราต้องเดินทางไปยื่นหนังสือชี้แจ้งข้อเท็จจริงต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความปกติสุขในการดำเนินชีวิต กระทั่งมีมติให้ชะลอการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาในทางนโยบายต่อไป

“เพราะปัญหาการถูกกำจัดในสิทธิที่ดินทำกิน ยังคงยืนอยู่ในความไม่มั่นคงบนผืนดินมาโดยตลอด เห็นได้จาก จำนวนพื้นที่ที่ถูก ออป.ยึดไปปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ กว่า 4,000 ไร่ บ่อแก้วยื่นข้อเสนอนำร่องเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนเพียง 1,500 ไร่ แม้จะมีมติให้ยกเลิกสวนป่าฯ และส่งมอบที่ดินคืนให้กับผู้เดือดร้อน แต่ในภาคปฎิบัติกลับไม่ดำเนินการอย่างใด นอกจากพื้นที่ 86 กว่าไร่ ที่พวกเรายึดคืนมาได้”

“ขณะเดียวกันภาครัฐมักฉวยโอกาส หาจังหวะขับไล่ออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายในยุค คสช. แต่ถึงวันนี้ก็ยังคงสู้ต่อ เพราะหากถูกไล่ออกไปอีก พวกเราจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินกัน ฉะนั้นทางเลือกของพวกเราคือ ยืนหยัด ต่อสู้ เพื่อให้ข้ามผ่านไปบนทางที่เป็นธรรม และเพื่อผืนดินที่ร่วมกันปกป้อง รักษา จะได้มีการสืบทอดงานบุญประเพณีประจำทุกๆ ปีของชุมชนบ่อแก้ว จาก 6 ปี สืบทอดถึง 10 ปี ยันตลอดไปถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน” ประธานโฉนดชุมชนบ่อแก้ว กล่าวทิ้งท้าย

กล่าวได้ว่า แม้ชุมชนจะมีหลักฐานพร้อมข้อเท็จจริงในสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินมาก่อนการประกาศเขตป่าฯ รวมทั้งแนวทางดำเนินการแก้ไขมาก่อนนั้น ทว่ารัฐยังไม่ปฏิบัติด้วยความเคารพในสิทธิของชุมชนเท่าที่ควร และไม่ยอมเปิดโอกาสให้มีความมั่นคงในที่ดินทำกิน นอกจากนี้ชุมชนที่ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ กลับถูกให้กลายเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นการคุกคามต่อสิทธิในการดำเนินวีถีชีวิตให้เกิดความเป็นอยู่ได้อย่างปกติสุข

จากผู้สูญเสียที่ดินทำกิน ตราบาปแห่งสวนป่ายูคาฯ ที่ผู้เดือดร้อนจากหลายครอบครัวต้องทนทุกข์กลายเป็นคนตกขอบของแผ่นดิน มาถึงผลิตผลที่ผู้ได้รับผลกระทบได้มาจากการทวงผืนดินคืนกลับมาได้ พร้อมร่วมใจกันพลิกฟื้นทั้งชีวิตและผืนดิน จัดการในรูปแบบการสร้างชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ ถือเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชีวิตและสังคม ตามเจตนารมย์ที่พวกเขาจะรักษาผืนดินไว้ให้มีความมั่งคง และยั่งยืน สืบไปสู่ลูกหลาน เหล่านี้คือคำมั่นของเลือดนักสู้เกษตรอินทรีย์

 

บทพิสูจน์ต่อหัวใจ คสช.หยุดการแย่งความสุขไปจากประชาชน

ผ่านมาถึงช่วง คสช. ในยุคทวงคืนผืนป่า ถามว่า รัฐสามารถตระหนักถึงได้หรือไม่ว่า ชาวชุมชนบ่อแก้วต่างมีการจัดการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ด้วยวิถีชีวิตทั้งความรู้และภูมิปัญญาที่ผูกพันอยู่กับป่ามาแต่กำเนิด พวกเขาสามารถดำรงชีวิตและหาเลี้ยงชีพจากทรัพยากรในป่าได้อย่างยั่งยืน แท้จริง และสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ 

6 ปี บ่อแก้วถือเป็นกระบวนการต่อสู้ของชุมชน ด้วยแนวทางให้คนกับป่า และผืนดิน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปราศจากการทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากพื้นที่ ดังเช่น นโยบายที่ คสช.ปฎิบัติการอยู่ในขณะนี้

ถามต่ออีกว่า ควรยิ่งหรือไม่ ที่รัฐต้องเพิ่มความเข้าใจให้เข้มข้นด้วยว่า แท้จริงแล้วความชัดเจนเป็นมาอย่างไร ไม่เช่นนั้นชาวบ้านจะถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้บุกรุกมาโดยตลอด ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ตลอดจนครอบครัว และญาติพี่น้อง ทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สิน ถูกละเมิดสิทธิชุมชน ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพียงฝ่ายเดียวมาโดยตลอด

ฉะนั้น ถือเป็นบทพิสูจน์หัวใจรัฐบาล ของคณะ คสช. ด้วยการหยุดแย่งความสุขไปจากประชาชน เพราะสิ่งที่กล่าวมานั้น โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. เช่น คำสั่งที่ 64/2557 ตามมาด้วยแผนแม่บทป่าไม้ฯ และนโยบายทวงคืนผืนป่า ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านไปทั่วภูมิภาค ต่างตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงมาโดยตลอด ที่ไม่แน่ใจและกลัวว่าจะถูกขับไล่ออกจากพื้นที่อีกเมื่อใด

หากรัฐมองตามเงื่อนไขที่ระบุว่า การดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมมาก่อน เหล่านั้นจะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้าน ผืนดินอันน้อยนิดที่ทำเพียงการเกษตรจะได้มีความมั่นคง

และแน่นอนว่า นั่นคือความปกติสุขในการดำเนินของประชาชนที่พวกเขาได้คืนกลับมาดังเดิม ถือเป็นความสุขตามเจตนารมย์ของเลือดนักสู้เกษตรอินทรีย์ ที่พวกเขาจะสามารถรักษาผืนดินไว้ให้ได้โดยยั่งยืน สืบไปสู่ลูกหลาน 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ