ภาพจาก: Human Rights Lawyers Association
วันนี้ (24 มี.ค. 2558) เวลาประมาณ 11.00 น. ที่รัฐสภา องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนรวม 38 องค์กร เข้ายื่นหนังสือต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ยุติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นผู้รับข้อเสนอดังกล่าว
องค์กรภาคประชาสังคมระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะมากกว่าส่งเสริมสิทธิในการชุมนุมซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาธิปไตย ทั้งหมด 8 ประเด็นคือ 1.นิยามผู้จัดการชุมนุมมีความหมายกว้างเกินไป 2.การตัดเขตอำนาจของศาลปกครองไม่ให้มีอำนาจตรวจสอบคำสั่งหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้ 3.กำหนดห้ามชุมนุมในทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ศาล และห้ามกีดขวางทางเข้าออกหน่วยงานรัฐหรือรบกวนการปฏิบัติหรือใช้บริการสถานที่ทำการหน่วยงานรัฐ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะประชาชนต้องเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐโดยตรง
4.การกำหนดให้แจ้งการชุมนุมก่อน 24 ชั่วโมง ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการชุมนุมเนื่องจากบางกรณีเกิดขึ้นฉับพลัน 5.การกำหนดให้ผู้จัดการชุมนุมใช้เครื่องขยายเสียงตามขนาดที่กำหนด และมีการห้ามใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยในช่วงเวลา 24.00 – 6.00 น. ซึ่งอาจเป็นปัญหาในการควบคุมผู้ชุมนุมในกรณีที่มีผู้ชุมนุมจำนวนมาก 6.การเดินขบวนและเคลื่อนย้ายการชุมนุมให้แจ้งล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง บางกรณีผู้ชุมนุมอาจเริ่มชุมนุมในต่างจังหวัดแล้วจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯจะเกิดปัญหาได้ 7.การให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ออกคำบังคับให้ยกเลิกการชุมนุม ทำให้ศาลเป็นคู่กรณีกับประชาชน และ 8.การกำหนดโทษทางอาญา ซึ่งการชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพจึงไม่ควรมีการกำหนดโทษทางอาญา
องค์กรภาคประชาสังคมทั้ง 38 องค์กร จึงไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายดังกล่าว และเรียกร้องให้ สนช. ยุติการดำเนินการผ่านร่าง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. … ในช่วงเวลานี้ ซึ่งหากต้องการผ่านร่างกฎหมายนี้ควรรับฟังความเห็นอย่างแพร่หลายเสียก่อน
ภายหลังจากรับหนังสือ นายสุรชัยได้กล่าวขอบคุณทั้ง 38 องค์กร ที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็นต่อการพิจารณากฎหมายของ สนช. เป็นการทำหน้าที่โดยการมีส่วนร่วมในฐานะพลเมืองของชาติ สำหรับความคืบหน้าในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. …. นั้น สนช. ได้รับหลักการแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ หลังจากที่ได้รับเรื่องวันนี้จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมกรรมาธิการพิจารณาต่อไป และเสนอให้องค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่ายประชาชนที่มายื่นหนังสือในวันนี้คัดเลือกตัวแทน 5 คน มาฟังการพิจารณากฎหมายในห้องประชุมกรรมาธิการเพื่อรับทราบความคืบหน้า