1 ปี ในความเคลื่อนไหว เด็กกับความรุนแรงโดยรัฐ

1 ปี ในความเคลื่อนไหว เด็กกับความรุนแรงโดยรัฐ

เทียบไทม์ไลน์ทบทวน 1 ปี จากหลายมุมมองของคนต่างสถานะ ที่เชื่อมโยง “เด็ก – ความรุนแรง – รัฐ – สังคม” มาไว้ด้วยกัน ในช่วงสถานการณ์การเมืองไทยร้อนแรง

ภาคีเครือข่ายองค์กรทางการศึกษา เด็ก และเยาวชน จัดเสวนาออนไลน์ “เด็กกับความรุนแรงโดยรัฐ” เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2564 เพื่อพูดคุยถึงปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีต่าง ๆ หลังการเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และความน่ากังวลของสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อไป เพื่อร่วมกันหาทางออก ดำเนินรายการโดย ผศ. อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมสนทนาโดย

  • คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  • ธนายุทธ ณ อยุธยา school town king
  • ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ผู้ก่อตั้งเพจครูขอสอน
  • วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว workpoint
  • วันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษา

00000

ทบทวน 1 ปี ในมุมทนาย จากปฏิบัติการจำกัดสิทธิ สู่คดีอาญา

ที่มา: https://www.facebook.com/FeelTripTH/

คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวทบทวนสถานการณ์ในภาพรวมของกรณีเด็กและเยาวชนว่า ตั้งแต่ปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ก่อนการระบาดของโควิด-19 มีกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” ของประชาชนและนักศึกษาทำให้ โดนคดีเกี่ยวกับการชุมนุม ทั้งนี้ในช่วงต้นปีจะเป็นกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาตามหลักการประชาธิปไตย

ส่วนเด็กและเยาวชน มีการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิของพวกเขาเองและกฎระเบียบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เช่น เรื่องทรงผม การแต่งกาย และการกระทำความรุนแรงในโรงเรียนอย่างการลงโทษของครู โดยกลุ่มนักเรียนเคลื่อนไหวในโรงเรียนให้เพิกถอนกฎระเบียบเกี่ยวกับทรงผม เพราะเห็นว่าเป็นกฎระเบียบที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และเป็นการเลือกปฏิบัติต่อความแตกต่างเรื่องอายุและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นประเด็นเฉพาะเกี่ยวกับตัวพวกเขาเอง

ช่วงนั้นในกลุ่มนักศึกษาก็เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัย มีกลุ่มอย่าง เยาวชนปลดแอก – Free YOUTH และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เคลื่อนไหวทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ

ต่อมาในช่วงเดือน ต.ค. 2563 มีกลุ่มนักเรียนตัวอย่างเช่นนักเรียนเลว ได้ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH และกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หลังจากการเคลื่อนไหวในประเด็นของพวกเขาไม่ได้รับการตอบรับและแก้ไขปัญหาจากกระทรวงศึกษาธิการ

“การเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนเดิมเป็นการเรียกร้องเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ไม่เป็นธรรมและความรุนแรงในโรงเรียน ต่อมาไม่ได้รับการตอบรับจึงได้นำข้อเสนอของตนเองเข้าไปรวมเผยแพร่ในกลุ่มของการชุมนุมใหญ่ จนเป็นที่มาของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘Child in Mob’ คือมีเด็กเข้าไปร่วมในการชุมนุมของผู้ใหญ่” คุ้มเกล้ากล่าว

ส่วนการดำเนินคดีกับเด็ก คุ้มเกล้ากล่าวว่า มีการดำเนินคดีอาญากับเด็ก ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงและการควบคุมโรคโควิด-19 ในช่วงเดือนปลาย พ.ย. โดยกลุ่มแรกที่โดนคดีคือกลุ่มนักเรียนเลว ทั้งนี้ นอกจากการออกไปชุมนุม กลุ่มเด็กและเยาวชนยังมีการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ คดีภายหลังต่อมาจึงไม่ได้มีเพียงคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฉุกเฉิน แต่มีทั้งคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ความผิดอาญามาตรา 116 และ 112 รวมถึงความผิดเกี่ยวกับอั้งยี่และซ่องโจร ในกลุ่มที่ไปทำหน้าที่การ์ดดูแลความปลอดภัยและกลุ่มหน่วยกู้ภัย ถูกกล่าวหาและดำเนินคดี ถือเป็นคดีที่หนักขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนที่ศูนย์ทนายฯ ให้การดูแลทางคดี จำนวน 18 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 6 คน นอกจากนั้นเป็นคดีมาตรา 116 คดีอั้งยี่ซ่องโจร โดยมีเด็กอายุต่ำสุดคือ 14 ปี สูงสุดคือ 17 ปี

กรณีการละเมิดสิทธิเด็ก ทนายความศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูลว่า จากแคมเปญชู 3 นิ้วร้องเพลงชาติในโรงเรียน มีการผูกโบว์ขาวเป็นสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ แม้ตอนนั้นยังไม่มีเด็กโดนคดีทางอาญา แต่สิ่งที่พวกเขาเจอคือการถูกครูลงโทษในโรงเรียน ตัดคะแนนความประพฤติ เรียกเข้าห้องปกครอง เรียกผู้ปกครองมาโรงเรียน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาในโรงเรียนขณะที่เด็กๆ ทำกิจกรรม และมีกรณีเข้ามาพบผู้ปกครองที่บ้านเพื่อให้ตักเตือนไม่ให้ทำกิจกรรมโดยระบุว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งมีกรณีตำรวจทำหนังสือไปที่บ้านเรียกเด็กและผู้ปกครองมาพบ โดยระบุว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมาย เหล่านี้เป็นสิ่งที่เด็ก ๆ ร้องขอคำปรึกษาเข้ามาทางศูนย์ทนายฯ

กรณีเด็ก ๆ โพสต์ข้อความเชิญชวนร่วมชุมนุม หรือแสดงความเห็นโดยใช้ข้อความแหลมคม สุ่มเสียง จะถูกหมายเรียกให้มาเป็นพยายาน เพื่อสอบถามว่าเป็นบุคคลในเฟซบุ๊กหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีกรณีถูกล่าแม่มด ถูกข่มขู่จากกลุ่มคนในโซเชียลที่มีความคิดเห็นตรงข้าม ส่งอินบล็อกมาข่มขู่คุกคาม สร้างความกลัวและเดือดร้อนรำคาญ ทำให้ผู้ปกครองกลัวและมากดดันเด็กอีกทอดหนึ่งให้หยุดการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม คุ้มเกล้ายืนยันว่า สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกอย่างการชุมนุมเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนรวมทั้งเด็กและเยาวชน และรัฐไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในด้านการมีส่วนร่วม ต้องไม่ละเลยและทำให้ปรากฏเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่ใช่แค่การร่วมในสภาเด็กฯ หรือร่วมเป็นคณะกรรมการของรัฐ แต่รวมถึงการชุมนุม การเข้าร่วมกับม็อบ ซึ่งรัฐต้องปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่อยู่ในม็อบด้วย ไม่ให้เกิดเหตุการณ์การควบคุมตัวด้วยวิธีการรุนแรง หรือไม่เป็นไปตามกฎหมาย

นอกจากนี้อยากฝากถึงสังคมว่า การแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของเด็กและเยาวชนนั้นไม่ได้มีเพียงเรื่องการศึกษา แต่พวกเขาพูดเรื่องโครงสร้าง ความจน ปัญหาของเสียงที่ไม่ได้ถูกตอบรับโดยรัฐ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย รวมไปถึงเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่กลับถูกตีตราว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ทำให้แยกออกจากกัน กลายเป็นกลุ่มหัวรุนแรงซึ่งรัฐไม่จำเป็นต้องดูแลหรือเคารพสิทธิ เพราะรัฐและสังคมมองว่าไม่ทำตามกรอบกฎหมาย ไม่ใช้สันติวิธี

“ขอยืนยันว่าสิ่งที่เด็กและเยาวชนพยายามเรียกร้องแบบไต่เส้นนั้นเป็นการแสดงออกโดยสงบและปราศจากอาวุธภายใต้รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน สังคมควรให้ความสนใจ เคารพ ปฏิบัติและมองพวกเขาเช่นเดียวกับเด็กที่โดนคดีในรูปแบบอื่นด้วย” คุ้มเกล้าระบุ

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องเรียกร้องให้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยการแจ้งข้อกล่าวหาต้องเปิดโอกาสให้เด็กติดต่อผู้ปกครอง และต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เด็กไว้วางใจ ไม่ใช่ที่รัฐจัดให้ รวมทั้งแจ้งสถานที่ควบคุมตัวที่ชัดเจน ไม่ใช่การจับกุมตัวในเขตพื้นที่หนึ่งแล้วนำไปควบคุมตัวในพื้นที่ ตชด.ภาค 1 ซึ่งไม่ได้เป็นพื้นที่รับผิดชอบและมีอำนาจในการสอบสวน ซึ่งสร้างความกลัว เจ้าหน้าที่รัฐเองต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด

ร่วมถึงสถานพินิจ อัยการ และศาลควรต้องทำความเข้าใจว่าเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีนั้นเป็นนักโทษทางความคิด ไม่ใช้ผู้กระทำผิดในฐานที่เป็นอาชญากรรมในตัวของมันเองอย่างการลัก ชิง วิ่ง ปล้น ฆ่า ข่มขืน แต่เขาทำผิดในเชิงที่ว่ากฎหมายบัญญัติว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด เช่น ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการแสดงความคิดเห็น ดังนั้นการเป็นนักโทษทางความคิด มาตรการของรัฐที่จะมาจัดการกับเด็กเหล่านี้เพื่อการแก้ไข ฟื้นฟู หรือเบี่ยงเบนเด็กออกจากคดี ควรคำนึงถึงลักษณะ นิสัย แนวความคิดของเขา มาตรการหรือกลไกที่รัฐจะนำมาใช้ต้องสอดคลองกับความเป็นเสรีชน และต้องเคารพความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย

00000

2 คดีสำหรับบทเพลงในม็อบ “เสียงเยาวชน” จากชุมชนเหลื่อมล้ำ

ที่มา: https://www.facebook.com/FeelTripTH/

ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือบุ๊ค จาก school town king กลุ่มแรปเปอร์เด็กจากสลัมคลองเตย หนึ่งในเยาวชนที่ถูกฟ้องคดี กล่าวว่า ได้พบเจอกับเรื่องความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมมาตั้งแต่เด็กเพราะเกิดในชุมชนคลองเตย มีทั้งปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำแต่ไม่ถูกแก้ไขและพัฒนา คลองเตยกับสุขุมวิททองหล่อห่างกันแค่ถนนกั้นแต่แตกต่างกันมาก คลองเตยถูกมองว่าเป็นชุมชนแออัดแต่ทองหล่อเป็นเมืองสวยงาม เด็ก ๆ ในคลองเตยหลายคนขาดโอกาสทางการศึกษา ครอบครัวหาเช้ากินค่ำ ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก

ปัญหาเหล่านี้ที่อยู่รอบตัว เมื่อมีโอกาสเลยอยากสื่อสารออกไป ครั้งแรกที่สื่อสารคือทางบทเพลง เป็นการเล่าเรื่องผู้คนในชุมชน เล่าเรื่องความเหลื่อมล้ำที่คนในชุมชนโดนกดทับโดยระบบต่าง ๆ ให้ผู้คนข้างนอกเขาได้เห็น ได้รู้จักคลองเตยว่าไม่ได้โหดร้ายอย่างที่เขาคิด และจริง ๆ มันเหมือน ๆ กับชุมชนในทุก ๆ ที่ อย่างเรื่องยาเสพติดที่มีอยู่ทุกที แต่คนรวยจะใช้ยาเสพติดแบบหนึ่ง ส่วนคนจนจะใช้อีกแบบหนึ่ง ทุกที่มีดีมีเลวเหมือนกันหมด

ธนายุทธเล่าถึงการขึ้นเวทีการเมืองครั้งแรกว่า เมื่อ ก.ค. 2563 ไปขึ้นเวทีที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นคิดว่าควรต้องทำอะไรสักอย่าง แต่จะทำอะไรได้ เพราะเป็นแค่เด็กธรรมดาคนหนึ่งที่มีความคิดอยากเปลี่ยนแปลง เลยคิดว่าเพลงนี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและมีพลังในการเปลี่ยนแปลง คิดว่าหากเล่าเรื่องผ่านเพลงไป มันจะไปถึงคนที่ต้องการให้เขาได้ยินได้ เลยขึ้นไปแร็ปบนเวที ไปแสดงเสียงของเรา แต่กลับโดนผลกระทบต่าง ๆ มากมาย

ครั้งแรกเลยก็โดนหมายจับมาที่บ้าน ไม่ใช่หมายเรียก ทำให้ตกใจมากเพราะผมเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง มีหลาย ๆ เรื่องเกิดขึ้น มีตำรวจมาสอดส่องถึงที่บ้าน และยังมีการว่าจ้างคนแถวบ้านให้จับตาดู ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมถึงเอาความลำบากของผู้คนมาใช้โจมตีผู้คนด้วยกัน คนที่เลือกเดินทางผิดพลาดไปใช้ยาเสพติด รัฐบาลควรแก้ ไม่ใช่เลือกที่จะกลบปัญหา มองข้ามและใช้ประโยชน์จากเขา หลังจากนั้นก็มีการต่อสู้คดีในกระบวนการศาล

“มีเด็กหลาย ๆ คนเข้ามาคุย มาให้กำลังใจ ทำให้ผมคิดว่าต้องสู้ต่อ มันไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ใหญ่แต่มันเป็นเรื่องของทุกคนในประเทศนี้ที่ควรจะช่วยกันพัฒนาประเทศให้มันดีขึ้น ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้นกว่านี้ได้” ธนายุทธกล่าว

ธนายุทธ เล่าด้วยว่า ต่อมาก็ได้ไปร่วมเวทีชุมนุมทางการเมืองตลอด จนล่าสุดมีหมายเรียกมาที่บ้าน เป็นหมายเรียกในความผิดมาตรา 116 แต่การโดนคดีถึง 2 รอบนั้นไม่ได้เปลี่ยนอะไรในตัวผม ผมไม่ได้รู้สึกกลัวและยังต้องการที่จะสู้ต่อ เพราะยังเห็นผู้คนที่ลำบากอยู่ ทั้งคนแถวบ้าน คนในสังคมที่เขาต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจยุคโควิด-19 อย่างนี้

ที่ผ่านมาได้ไปทำงานขายน้ำ ขายอาหาร หน้าไซต์งานก่อสร้าง ทำให้เห็นปัญหามากขึ้นจากการได้คุยกับพ่อค้าแม่ค้าและแรงงานก่อสร้าง ทำให้รู้ว่ารัฐบาลไม่ได้ช่วยเยียวยาพวกเขา พวกเขาต้องต่อสู้ปัญหาด้วยตัวเอง ทั้งที่ไม่ว่าคนจนหรือรวยทุกคนควรได้สิทธิเหมือนกัน และปัญหาพวกนี้ควรถูกแก้ไข การที่เด็กออกมาเคลื่อนไหวกันเยอะมันเป็นเพราะสิ่งนี้ รัฐบาลยังคงกดทับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน รวมทั้งการรับรู้ข่าวสารที่กว้างขึ้นในออนไลน์

ธนายุทธ กล่าวถึงปัญหาที่ครอบครัวเจอว่า คือการที่รอบข้างไม่ได้คิดเห็นแบบเดียวกัน มีคนเห็นต่างมาตะโกนด่าหน้าบ้าน แต่ทางครอบครัวเข้าใจในสิ่งที่ออกมาทำ เรื่องที่โดนคดีเขาค่อนข้างเข้าใจ เพราะมีการคุยกันซึ่งมันก็ต้องใช้เวลา ตอนนี้พ่อเข้าใจและเชื่อในตัวผม การที่ครอบครัวอยู่ข้างทำให้รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องห่วง และมีกำลังใจออกไปต่อสู้ข้างนอก ไม่ว่ากับปัญหาสังคม อำนาจมืด หรือคดีความ กรณีที่เด็กบางคนโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้าน ต้องค่อย ๆ พยายามปรับ คุยกับครอบครัวและคนรอบ ๆ ข้าง คิดว่าต้องมีสักวันที่ครอบครัวและคนรอบข้างจะเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ

เด็กทุกคนที่ออกมาต่อสู้ในเรื่องนี้ หรือกำลังประสบปัญหาทั้งระบบการศึกษาและครอบครัว เขาต้องการใครก็ได้ที่จะอยู่เคียงข้าง เป็นที่พึ่งทางใจให้เขา อย่างเขาที่มีเพลง เวลาไม่มีใคร หรืออยากมีคลายเครียด ก็ใช้วิธีแต่งเพลง ในปีนี้ผมจะอายุ 20 ปี จะก้าวพ้นจากการเป็นเยาวชนไปทำหน้าที่แบบผู้ใหญ่ที่พึงจะทำต่อไป เพื่อจะสามารถให้กำลังใจ ช่วยเหลือ สนับสนุนคนอื่นในสิ่งที่สามารถทำได้ เพื่อผลักดันพวกเขาไปสู่สิ่งที่เขาต้องการได้

“ที่ผมโดนจับอยู่ที่ศาล ตอนที่อาจารย์ทิวมาประกันตัวผมร้องไห้ น้ำตาผมหยด ผมรู้สึกเหงา รู้สึกเจ็บปวด และรู้สึกไม่ปลอดภัย พอมีอาจารย์ทิวมาช่วย มาอยู่ข้าง ๆ ผมรู้สึกว่า นี่แหละ เด็กทุกคนควรได้รับสิ่งนี้ มีคนคนหนึ่งอยู่เคียงข้างเขาในเวลาที่ยากลำบากในการตัดสินใจ” ธนายุทธกล่าว

ธนายุทธกล่าวทิ้งท้ายถึงการออกจากระบบการศึกษาว่า หลายคนออกมาเพราะไม่สามารถมองเห็นอนาคตที่เป็นไปได้ของความฝันของเขา ซึ่งความฝันมันก็ยากอยู่แล้วแต่การที่ไม่เห็นหนทางที่จะทำได้มันรู้สึกเจ็บใจมากกว่า นอกจากนั้นยังมีคำถามว่าเรียนจบแล้วจะได้ทำงานไหม การเสียเงินจำนวนมากในการศึกษาจะสามารถผลักดันตัวเขาและครอบครัวไปสู่จุดที่อยู่ได้จริงไหม มันไม่เห็นอนาคตตรงนั้น

ขณะหลายคนที่ออกมาเรียน กศน.ทั้งที่อยากเรียนในระบบการศึกษา แต่ฐานะครอบครัวไม่มีความพร้อม ตรงนี้รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาฯ จะเซฟพวกเขาไว้ได้อย่างไร เพื่อให้การศึกษาเป็นไปเพื่อเด็กจริง ๆ การเรียนเพื่ออนาคตของพวกเขาจริง ๆ  ส่วนตัวเองก็อยากกลับเข้าไปเรียน และอยากเห็นการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้มากกว่านี้ ซึ่งมันจะเป็นจริงถ้าเราช่วยกัน

00000

“ครู” ที่ยืนข้างเด็ก เมื่อ “ใครสักคน” สำคัญต่อใจในทุกการเคลื่อนไหว

ที่มา: https://www.facebook.com/FeelTripTH/

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ผู้ก่อตั้งเพจครูขอสอน กล่าวว่า ตั้งแต่การเคลื่อนไหวแฟลชม็อบของเด็กและเยาวชนเมื่อต้นปีที่แล้ว กลุ่มกลุ่มครูรุ่นใหม่ในชื่อครูขอสอนได้เคลื่อนไหวมากกว่าหนึ่งปีแล้วในเรื่องนโยบายการศึกษา การตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการศึกษา รวมไปถึง พ.ร.บ.การศึกษา ได้มีการคุยกันว่ามีทั้งเด็กในมหาวิทยาลัยและนักเรียนมัธยมออกมาเคลื่อนไหวแสดงออกในรั้วโรงเรียนแต่ถูกปิดกั้น และสัมผัสได้ว่ามีเพื่อนครูที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคมและอัดอั้นตันใจ จึงคุยกันถึงเป้าหมายว่าหากในสังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่เราขับเคลื่อนก็จะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้

ตอนนั้นคิดว่าการศึกษาควรเป็นทั้งของครูและเด็กทุกคน จึงเตรียมจัดเสวนา “ครูต้องเป็นกลางทางการเมืองจริงไหม และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในสถานศึกษาควรเป็นอย่างไร” แล้วออกแถลงการณ์สนับสนุนว่าทั้งครูและนักเรียนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงออกทางการเมือง แต่ก็ถูกยกเลิกไม่ให้ใช้สถานที่ โดยอ้างสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตามจุดนั้นเป็นจุดเริ่มการขับเคลื่อน แม้เราต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งครูและนักเรียนในการที่จะออกมาเคลื่อนไหว

เรื่องกฎระเบียบและทรงผมที่เด็กออกมาเคลื่อนไหว เราก็ตั้งคำถามและตั้งประเด็นเอาไว้ จนกระทั่งช่วง ก.ค. – ส.ค. ที่กลุ่มนักเรียนเลวออกมาเคลื่อนไหวทั้งเรื่องกฎระเบียบของโรงเรียน เรื่องอำนาจนิยม และการเรียกร้องข้อเรียกร้องทางการเมือง เราก็มีการขับเคลื่อนต่อจากเมื่อต้นปี และออกแถลงการณ์เรียกร้องไปยังสถานศึกษา โดยโฟกัสที่สเกลเล็กก่อน สิ่งที่เจอคือ เมื่อเด็กแสดงสัญลักษณ์ด้วยการติดโบว์ขาว หลังจากนั้นมีเพื่อนครูจากหลายโรงเรียนแชตมาปรึกษาว่ามีคำสั่งจากฝ่ายปกครองมา เขาจะช่วยเด็ก ๆ ของเขาอย่างไรดี เขาส่งข้อมูลมาว่าเขาและเด็ก ๆ กำลังเผชิญอะไรอยู่

นั่นแสดงให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว ครูและโรงเรียนทุกคนไม่ได้อยู่ตรงข้ามกับเด็กและแอนตี้ในสิ่งที่เขาแสดงออก แต่มีอีกจำนวนมากที่เขาเห็นว่าเด็กถูกกระทำอย่างไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม แต่การที่เราอยู่ในระบบการศึกษาและระบบราชการแบบนี้ที่ปกคลุมด้วยความกลัว ด้วยลำดับผู้ใหญ่-ผู้น้อย หรือการใช้อำนาจ ทำให้ไม่กล้าแสดงออกไปในทันที หลายคนจึงมาปรึกษาว่าทำอะไรได้บ้าง ตอนนั้นจึงเริ่มตระหนักว่ามีครูที่พร้อมจะต่อสู้อยู่เคียงข้างเด็กอีกเยอะ

ต่อมาเมื่อเด็กเริ่มจะมีการจัดเวที และติดต่อมาหาเพราะเห็นจากที่เคยเคลื่อนไหวมาก่อนและเคยไปพูดเวที TED TALKS เรื่องการสลายอำนาจนิยมในโรงเรียน เขาจึงมองเห็นความเป็นไปได้และในข้อเรียกร้องของเขาเองมีเรื่องครู เรื่องการปฏิรูปครู ดังนั้นจึงอยากให้ครูเป็นคนพูด และอีกด้านหนึ่งเชื่อว่าต้องการให้มีภาพแทนว่ายังมีครูที่อยู่เคียงข้างนักเรียน

ในเบื้องต้นตนเองสองจิตสองใจ มันเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เพราะมันมีเส้นบาง ๆ อยู่ระหว่างผลที่ตามมาและราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งสุดท้ายก็คิดได้ว่ามันไม่มีอะไรที่ต้องเสียแล้ว และที่ผ่านมาศึกษากฎหมายการศึกษา ศึกษาเรื่องวินัย จรรยาบรรณแล้วว่ามันทำได้ ตราบใดที่ยังยืนหยัดอยู่บนหลักการ รู้ว่าทำไปเพราะอะไร ทำไปเพื่อใคร หากจะหยิบยกสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเล่นงาน เราโต้แย้งได้ นอกจากนี้เมื่อออกไปตรงนั้นอยู่กลางสปอตไลท์แล้ว เมื่อสื่อจับจ้องแล้ว หากจะมีอะไรที่ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นสังคมจะมองเห็น และปัญหาจะถูกขุดขึ้นมา ดังนั้นจึงตัดสินใจออกไปสู้อยู่เคียงข้างเด็ก

ธนวรรธน์ กล่าวถึงสิ่งที่ได้กลับคืนมาว่า สิ่งที่ตั้งใจอยากจะให้เกิดขึ้นจากการออกไปขึ้นเวที ไปอยู่เคียงข้างเด็ก ๆ หรือไปแสดงออก คือการบอกว่ามันไม่เป็นไร และต้องการจะสื่อสารไปถึงครูอีกจำนวนมากที่พร้อมจะต่อสู้ร่วมกับเด็ก ยืนเคียงข้างเด็ก ยืนหยัดเพื่อความถูกต้อง ความเป็นธรรม

“ในขณะที่ทุกคนกำลังกลัว กลัวว่าจะถูกเรียกไปคุย กลัวไม่ได้ความดีความชอบ กลัวถูกสอบวินัย ผมกำลังพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่ามันไม่เป็นไร มันเป็นสิทธิและเป็นหน้าที่ของครูทุกคนด้วยซ้ำที่จะต้องตระหนักถึงความเป็นพลเมืองของตนเองแล้วส่งเสียง” ธนวรรธน์กล่าว

ธนวรรธน์ บอกอีกว่า จากนั้นเริ่มมีคนกล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มีการรวมกลุ่มกัน มีคนทักมาพูดคุย ทางกลุ่มเองก็พยายามจัดกิจกรรมสนทนา เพื่อชี้ให้คุณครูเห็นว่าจริง ๆ แล้วเราควรมีบทบาทอะไร เสริมแรง และเพิ่มพลังให้กับทุกคนในการต่อสู้ เพราะเชื่อว่าทุกคนใช้พลังอย่างมากในการฝืนกับแรงเสียดทานมหาศาลที่มีในระบบนี้

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตามล้วนมีความเปราะบางบางอย่าง เมื่อเจอสถานการณ์ เช่น ทะเลาะกับที่บ้าน ทะเลาะกับเพื่อนหรือคนรอบข้างเรื่องนี้ คำว่าราคาที่ต้องจ่ายนั้นไม่ใช่แค่เรื่องโอกาส ตำแหน่ง เงินทอง แต่มีเรื่องของจิตใจที่จะต้องแบกรับสิ่งที่มันหนักอึ้งพวกนี้ด้วย

ส่วนตัวเราเองเมื่อทำตัวเป็นพื้นที่ปลอดภัย เราก็ต้องเตรียมจิตใจว่าจะแบกรับกับสิ่งที่เด็กเขาแบกมาให้กับเราได้อย่างไร เพราะเรามีหน้าที่โอบอุ้มและซับมันไว้ สำหรับเด็ก ๆ สิ่งที่เห็นคือความกล้าหาญ ความแข็งแกร่ง และความพยายามที่จะพิสูจน์ตัวเองของพวกเขา อันนี้เป็นสิ่งที่ชื่นชม แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีมุมที่เจ็บปวดและเปราะบางเช่นกัน

“ต่อให้หน้างาน หน้าฉากเขาแสดงออกอย่างไร แต่ลึก ๆ เขาต้องการคนที่โอบอุ้มและอยู่เคียงข้างเขา ไม่ต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่ขอแค่ในช่วงที่เขาต้องตัดสินใจอะไรในชีวิตที่ยากลำบาก จะล้มจะลุก จะถูกหรือจะผิด จะล้มเหลวหรือสำเร็จ ขอให้เขาได้รับรู้ว่ามีคนยืนอยู่ข้าง ๆ เขา” ธนวรรธน์ให้ความเห็น

คุณครูจากเพจครูขอสอน กล่าวด้วยว่า มีสิ่งที่พยายามสื่อสารกับเด็กด้วย คือ เรื่องวิธีการสื่อสาร สิ่งที่ผลักเด็กออกไปคือมุมมองที่ผู้ใหญ่มองว่าเด็กก้าวร้าว มันเป็นเพราะเราไม่ได้เปิดพื้นที่ที่มันควรเป็นให้กับเขา ดังนั้นเมื่อมีโอกาสจึงพยายามพูดคุยว่าเราเห็นปัญหาอะไร มีความต้องการอะไร และทำอย่างไรสิ่งที่เราต้องการนั้นจะบรรลุผลและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราพยายามช่วยเสริมช่วยเติมในเรื่องการสื่อสารของเด็ก ๆ

สำหรับเรื่องความรุนแรงโดยรัฐ ธนวรรธน์กล่าวตั้งข้อสังเกตุว่า เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือน ต.ค.ทำให้ครูหลายคนที่ไม่เคยแสดงออกกลับมาแสดงออกในการไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่เป็นหวงคือพอเวลาผ่านไป เราจะเห็นว่ารัฐปฏิบัติด้วยความรุนแรงซ้ำ ๆ จนกลายเป็นความเคยชิน (normalize) และใช้ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

ความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ชุมนุมโดยเฉพาะกับเด็ก ตรงนี้คิดว่าระบบการศึกษาไทยควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย เพราะความรุนแรงใด ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม 1.เริ่มต้นขึ้นที่บ้าน 2.พอมาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนถืออำนาจรัฐอยู่ และโรงเรียนกลับใช้ความรุนแรงอย่างเป็นเรื่องปกติกับเด็ก มีความเชื่อที่ว่า “ตีเพราะหวังดี” หรือต้องการห้ามปรามพฤติกรรมไม่เหมาะสม เลยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ผิดเท่าไหร่ และกลายเป็นการส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรงกับเด็กและเยาวชนโดยไม่ยั้งมือ

สุดท้ายอยากให้กำลังใจกับครูและผู้ใหญ่ที่ทนแรงเสียดทาน ยอมแลกที่จะมายืนอยู่กับเด็ก ไม่ว่าจะโดนอะไรก็แล้วแต่ ขอให้รักษาตัวเอง รักษาความเชื่อตรงนี้ให้ดี ห่วงว่าหากผู้ใหญ่ยังถอดใจแล้วเด็กจะอยู่สู้ต่อไปได้อย่างไร

00000

สื่อผู้สังเกตการณ์ กับความรุนแรงที่เด็ก 3 กลุ่มต้องเผชิญ

ที่มา: https://www.facebook.com/FeelTripTH/

วศินี พบูประภาพ ผู้สื่อข่าว workpoint กล่าวทบทวน 1 ปี ที่ผ่านมาว่าก่อนที่จะไปถึงความรุนแรงทางตรงที่เราเห็น มีความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ซึ่งเป็นปัจจัยนำมาสู่ความรุนแรงในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการจัดแฟลชม็อบในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จากการได้ลงไปสัมภาษณ์ในฐานะนักข่าว สัมผัสได้ว่าเขามีความเครียดอย่างเห็นได้ชัดจากสถานการณ์รอบตัว ความไม่มั่นคงทางสังคม รู้สึกถึงความอยุติธรรม สิ่งที่ค้ำจุนโครงสร้างของสังคมไม่สามารถส่งเสริมเขาได้ รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ทั้งจากการดำเนินคดีและคำตัดสินของศาล เกิดการตั้งคำถามว่า “โตขึ้นสังคมจะยังเป็นแบบนี้ไหม” “ต้นทุนทางสังคมที่เขามีจะส่งเขาไปถึงฝันได้หรือเปล่า”

ช่วงปลาย ก.พ. – มี.ค. สังเกตเห็นความเครียดเรื่องเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น เด็ก ๆ ซึมซับสถานการณ์ปัญหาทางเศรษฐกิจของครอบครัว ผู้ปกครอง ยกตัวอย่าง แหล่งข่าวเยาวชนคนหนึ่งที่ครอบครัวทำบริษัททัวร์ซึ่งประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19  เขาตื่นขึ้นมาในแต่ละวันกับคำถามว่าจะมีเงินเรียนต่อหรือเปล่า พรุ่งนี้ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาหรือเปล่า มันสร้างความเครียด แล้วสุดท้ายการหันไปทางไหนแล้วสังคมก็ไม่สามารถให้คำตอบได้ เขาจึงตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

ความยากจน ภาวะความเครียด นี่เป็นความรุนแรงที่เด็กต้องเจอจากโครงสร้างต่าง ๆ นอกจากนั้นเรื่องระบบการศึกษาในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็โหดร้ายกับพวกเขามาก ๆ การที่เด็กอยากเรียนแต่ไม่ได้เรียน รู้สึกว่าตัวเองมีศักยภาพมากกว่านี้ สุดท้ายแล้วสถานการณ์ก็ทำให้พวกเขาเห็นว่าโครงสร้างเป็นปัญหา และพวกเขาไม่สามารถที่จะอยูเฉยได้

ส่วนเรื่องความรุนแรงทางตรง สัมผัสได้ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีแฮชแท็กทวิตเตอร์ที่ถูกริเริ่มขึ้นมาโดยมีความล่อแหลม แต่หลายคนก็เชื่อว่าสถาน Anonymous (ไม่ระบุตัวตน) จะช่วยคุ้มครองทุกคนได้ แต่ก็พบว่าหลายคนถูกข่มขู่คุกคามถึงบ้าน ข่มขู่คุกคามผู้ปกครอง เกิดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้เป็นข่าว นี่เป็นการคุกคามทางจิตวิทยา โดยไม่เห็นการคุกคามทางร่างกาย

ช่วงแรก ๆ มีการพูดคุยกันในกลุ่มผู้สื่อข่าวว่า หากวันไหนเป็นม็อบเด็ก ม็อบนักเรียนเลว จะวางใจได้ว่าจะไม่มีใครทำอะไรเด็ก ๆ เราไม่สามารถจินตนาการถึงจุดนั้นได้เลย จนกระทั่งการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ที่แยกปทุมวัน ซึ่งผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเด็ก เพราะแยกปทุมวันเป็นพื้นที่รวมตัวของเด็ก ๆ และการชุมนุมจัดขึ้นในช่วงเวลาที่โรงเรียนเลิกเรียน หลายคนใส่ชุดนักเรียนมา ไม่ได้เตรียมการป้องกันตัว เพราะไม่มีสัญญาณความรุนแรงใด ๆ แต่ตั้งแต่ช่วงต้นที่เวทียังไม่ทันตั้งก็เกิดความวุ่นวายขึ้น มีเสียงบอกว่ารถน้ำมาแล้ว

“พอไปที่แยกปทุมวัน เรายังไม่เห็นสัญญาณความรุนแรงอะไรเลยจากลุ่มของเยาวชนที่มาชุมนุมกัน แต่ว่าสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนที่เปิดฉากก็คือคนที่นับถอยหลังอยู่ที่รถน้ำว่า 5 4 3 2 1 ฉีดน้ำ… พอรีเช็คกับช่างภาพหลายคนที่อยู่แนวหน้าด้วยกัน ภาพที่ทุกคนสะเทือนใจก็คือ นักเรียนหญิงใส่คอซอง 3 คน กอดคอกันวิ่งไปที่รถน้ำ ก่อนที่จะมีผู้ใหญ่มาบอกให้ถอยออกไป” วศินีเล่าเหตุการณ์

วศินี เล่าด้วยว่า บรรยากาศในวันนั้นมีการรายงานข่าวยาว 6 ชั่วโมง จึงไม่รู้ว่าใครออกมาพูดอะไรบ้าง แต่เมื่อไปสรุปงานตอนเที่ยงคือที่ออฟฟิศ ทุกคนบอกเลยว่านี่เป็นเสตจใหม่ที่รัฐไทยไม่เคยมาถึง คนที่ไม่เคยออกมาพูด อย่างดาราดังหลายคน ก็ออกมาพูดถึงความรุนแรงในการสลายการชุมนุมกับเด็ก และต่อมาก็มีเหตุการณ์ความรุนแรงทางตรงในการสลายการชุมนุมหลายครั้ง

ล่าสุด การชุมนุมวันที่ 20 มี.ค. 2564 อย่างที่ทราบกันว่ามีเยาวชนอย่างน้อย 4 คนถูกจับกุม และ 2 ใน 4 คนถูกจับกุมด้วยวิธีไม่ตรงไปตรงมา เป็นการจับกุมเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมาด้วยข้อหาที่รุนแรง ในวันนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเยาวชนที่หมดศรัทธาในแนวทางสันติวิธีแล้วโน้มเอียงเข้าหาความรุนแรง แต่สิ่งที่พบคือเขาถูกติดป้ายว่าเป็นตัวป่วน เจ้าหน้าที่ติดป้ายใครก็ตามที่อยู่ฝั่งตรงข้ามและมีการใช้ความรุนแรงว่าเป็นตัวป่วน โดยไม่ได้พิจารณาว่าเป็นเยาวชนหรือไม่ ซึ่งตรงนี้สำคัญ เพราะการปฏิบัติควรต้องแตกต่างกันในการเข้าไปจัดการกับคนที่เป็นเยาวชนและไม่ใช่เยาวชน  

มีตัวอย่างของข่าวดาบตำรวจที่ตามจับกุมผู้ค้ายาบ้า โดยเลือกที่จะไม่ยิงเข้าไปในรถ ซึ่งเขาให้ข้อสังเกตว่าเพราะไม่รู้ว่ามีเด็กอยู่ในรถหรือเปล่า เขาคิดถึงลูก แม้สุดท้ายเขาจะได้รับบาดเจ็บจากการเลือกไม่ยิงเข้าไปในรถ ส่วนตัวคิดว่านี่คือมืออาชีพ นี่เป็นเกณฑ์ต่ำสุดที่เจ้าหน้าที่รัฐควรทำเมื่ออยู่ในการชุมนุม และต้องสลายการชุมนุมที่รู้อยู่แล้วว่ามีเด็กและเยาวชนเข้าร่วม ไม่อ้างเพียงการใช้ความรุนแรง เพราะกระบวนการใช้ความรุนแรงโต้กลับไปไม่ได้ช่วยในการแก้ปัญหา

มีเยาวชน 3 กลุ่ม ที่อยากพูดถึง เพื่อให้ไปสังเกตการณ์ต่อ คือ 1.เยาวชนที่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร เป็น Human Rights Defenders (นักปกป้องสิทธิมนุษยชน) ซึ่งหลายคนมีปัญหากับที่บ้าน หรือบ้านไม่ใช่พื้นที่แสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ หรือบ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย จึงออกมาสร้างพื้นที่ของตัวเอง ที่รู้สึกปลอดภัย สบายใจ และค้นหาตัวเองได้ อย่างพื้นที่ชุมนุม เช่น กรณีนักเรียนเลวที่มีการแสดงความสามารถหลายอย่าง หรือกรณีหมู่บ้านทะลุฟ้าที่จะเห็นผู้ชุมนุมกลุ่มนี้เยอะมาก

เขามีความสามารถในการจัดการและสามารถแสดงศักยภาพได้ และพื้นที่ชุมนุมเป็นเหมือนวงบำบัดหมู่ เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่มีคนร่วมแชร์ความรู้สึกอัดอั้นตันใจ เป็นพื้นที่ที่รัฐควรฝันถึงหากพูดถึงการสร้างศูนย์การเรียนรู้หรือพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ๆ แต่พื้นที่เหล่านี้กลับถูกจับจ้องโดยรัฐว่าเป็นที่มั่วสุม แพร่โควิด-19 และผลักดันในย้ายออกจากพื้นที่ เร่งยุติการชุมนุม

2.กลุ่มเยาวชนที่ถูกบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วออกมาแสดงออก แต่ไม่ถูกตอบรับอย่างที่ควรจะเป็น และมีแนวโน้มไปสู่ความรุนแรง เชื่อว่าในรัฐที่เป็นมืออาชีพพอจะเข้ามาจัดการตรงนี้ได้ ในกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงแล้วรู้สึกว่าถูกยอมรับ ตรงนี้จำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องมีการให้ทางเลือก หรือทำให้เขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับอย่างปลอดภัยในชีวิตและร่างกาย แต่ในกลุ่มนี้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเป็นตัวป่วน คู่ตรงข้าม ซึ่งการแก้ปัญหาภายในจิตใจด้วยการจับกุมหรือใช้กำลัง อาจพาเข้าสู้วงจรความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น

3.กลุ่มเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี เป็นกลุ่มที่ต้องเผชิญความตึงเครียด รู้สึกไม่ปลอดภัย และตกเป็นเป้าการโจมตีจากผู้ใหญ่ และเพื่อนที่อาจไม่เข้าใจ หลายคนอาจต้องออกจากการศึกษาแบบปกติ ส่วนหนึ่งเพราะสภาพเศรษฐกิจ กระบวนการทางกฎหมายทำให้ไม่มีเวลาไปเรียน หรืออาจไม่เชื่อมั่นในระบบการศึกษาแล้ว กลุ่มนี้ต้องเผชิญความรุนแรงจากความเครียด

จากการสัมภาษณ์เด็กกลุ่มนี้ 2 คน พบว่ากระบวนการยุติธรรมที่ออกแบบมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะก็อาจละเมิดสิทธิเด็กด้วยเช่นกัน โดยพวกเขาถูกปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยมองว่าเป็นอาชญากรทั้งที่ยังไม่มีการพิพากษา มีการวัดคุณค่าของพวกเขาด้วยกรอบจริยธรรมบางอย่าง มีกระบวนการที่กดทับ สร้างความตึงเครียดให้พวกเขามากยิ่งขึ้น

“สิ่งที่พวกเขารู้สึกคือพวกเขาไม่ได้ผิด พวกเขาเป็นนักโทษทางความคิด แต่ว่าถูกกระทำแบบอาชญากรไปแล้ว” ผู้สื่อข่าว workpoint กล่าว

วศินี กล่าวด้วยว่า เราไม่สามารถปล่อยให้เกิดการ Normalize (ทำให้ปกติ) ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับเด็กได้ นี่เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าคนใกล้ตัวของเด็กเอง พ่อแม่ ผู้ปกครอง ฯลฯ ที่จะกลับไปทบทวนว่าเราเติบโตมาได้อย่างไร มีปัจจัยอะไร และทำทุกทางเพื่อให้เด็กในยุคนี้เติบโตได้ดีกว่าที่เราเคยผ่านมา เราจำเป็นที่จะต้องหยุดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กในทุกที่ทำได้ และเรื่องสำคัญเรื่องที่ 2 คือเป็นห่วงสภาพจิตใจของเด็กในสังคม การให้ที่พึงทางจิตใจสำคัญ โดยเฉพาะจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือใครสักคนที่จะดึงไม่ให้เขาร่วงหล่น

00000

นักจิตวิทยาการปรึกษาสะท้อน “ในความขัดแย้ง” เราต่างเจ็บปวด

ที่มา: https://www.facebook.com/FeelTripTH/

วันเฉลิม คงคาหลวง นักจิตวิทยาการปรึกษา กล่าวว่า สังคมปัจจุบันมีสภาพที่ให้ความรู้สึกหดหู่ได้ค่อนข้างมาก จากการได้สัมผัสกับคนที่เผชิญหน้ากับปัญหาและความทุกข์จากสถานการณ์นี้ พบว่าไม่ใช่แค่คนที่ยืนฝั่งประชาธิปไตยที่มีความทุกข์ คนที่ยืนฝั่งชื่นชอบ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีคนที่เป็นทุกข์ คนที่ชื่นชอบหรือรักในสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีความทุกข์ มันเป็นจุดที่ทุกคนเอาจุดยืนของตัวเองมาพุ่งชนใส่กัน อาจเป็นเพราะเราไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ทางการเมืองที่ได้สนทนาแลกเปลี่ยนกันจริง ๆ จัง ๆ กลายเป็นจุดที่เราต้องพรีเซนต์ตัวเองค่อนข้างเยอะ

หากย้อนกลับไป ในยุคคนเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ก็จะเห็นภาพการสาดอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเองใส่กัน เป็นการขับเคลื่อนกลไกทางสังคมที่ทำงานร่วมกับการเมืองที่สาดความเชื่อใส่กันเพื่อดึงคนมาเป็นพวก และเป็นอย่างนั้นมาตลอด แต่ขบวนการเคลื่อนไหวปัจจุบัน พยายามสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ โดยชวนคนมาทำความเข้าใจกันในประเด็นหลาย ๆ อย่าง

“ลองมาฟังกันไหม ลองคุยกันไหม ลองทำความเข้าใจกันไหม” ตรงนี้เป็นกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และกลายเป็นการตีกลับสำหรับกลุ่มคนที่คุ้นชินกับการสาดความเชื่อใส่คนอื่น ซึ่งเขาอาจรู้สึกว่านี้คือความรุนแรงสำหรับเขา เพราะอีกฝ่ายไม่ได้เล่นในวิธีการหรือกติกาเดียวกันแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง รู้สึกเหมือนจะแพ้ แต่ก็ต้องกลับมาใช้วิธีการแบบเดิม คือความรุนแรงซึ่งอาจมีมานานแล้วในวัฒนธรรมของสังคมไทย เพราะไม่เคยเรียนรู้ที่จะรับมือกับวิธีการแบบนี้

ความรุนแรงถูกใช้เป็นไพ่ตายสุดท้ายมาโดยตลอด และในวันนี้ได้เดินทางมาถึงจุดที่รัฐเองเลือกที่จะใช้ไพ่ใบนี้ออกมา เพราะรัฐไม่ได้มานั่งคุยกับผู้ชุมนุม ไม่มีการเจรจา หรือรับฟัง รัฐจึงขาดความเข้าใจในจุดนี้ และสุดท้ายแล้วรัฐไม่ได้เลือกที่จะสาดความเชื่อใส่ผู้ชุมนุม และไม่ได้เลือกที่จะอธิบาย แต่เลือกใช้ความรุนแรงเพื่อควบคุมประชาชน เพราะรู้สึกว่าไม่สามารถพูดได้ ไม่สามารถสั่งได้ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนยินยอม ยอมรับ หรือเคารพในสิ่งที่รัฐแสดงออกหรือยืนอยู่ ซึ่งก็จะเห็นจากความเป็นจริงว่ามันทำไม่ได้

สำหรับในครอบครัว สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความคาดหวังถึงความสำเร็จเพื่อสังคมในอุดมคติที่มองไว้ ซึ่งทุกคนมีอุดมคติ มีความคาดหวังของตัวเอง อยากประสบความสำเร็จในแนวทางของตัวเอง จึงเกิดเป็นการแข่งขันโดยอัตโนมัติ และทำให้ทุกคนเผลอหลงทางไปโดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างกรณีรุ่นน้องที่มีพ่อแม่เห็นต่างและไม่เป็นประชาธิปไตย จึงชวนคุยว่า “ประชาธิปไตยมีไว้เพื่ออะไรและต้องการอะไร” ซึ่งเขาตอบว่า เขาอยากให้ประเทศนี้ประชาธิปไตยจริง ๆ เพราะรู้สึกว่าประเทศจะดีกว่านี้ได้ จะตอบโจทย์ชีวิตในอนาคตได้ ดังนั้นธงจึงเป็นการทำอะไรบางอย่างเพื่อประเทศนี้ แต่เขาก็อยู่ในหน่วยย่อยคือครอบครัวซึ่งขยายเป็นชุมชน สังคม จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ เพราะฉะนั้นเขาอาจเผลอหลงไปในเป้าหมายอื่น ๆ ที่เจอ เช่น ก่อนที่ประเทศนี้จะดี อยากให้ครอบครัวดีก่อน แล้วพยายามคุยสื่อสารกับครอบครัว แต่ล้มเหลว ทำไม่ได้

จึงมีการคุยกันว่าหากอยากทำเพื่อประเทศ ก็ไม่จะเป็นต้องเอามาคุยในครอบครัว เพราะเขาก็จะมีจุดยืนในแบบของเขา เรื่องการเมืองที่ถูกนำมาผลักดันในครอบครัวนี้บางคนอาจประสบความสำเร็จ แต่หลายกรณีล้มเหลว กลายเป็นว่าคุยกันไม่ได้ ต้องชวนกันมองใหม่ว่าจุดยืนของเราคืออะไร แล้วเงื่อนไขรอบตัวเป็นไปได้หรือไม่ แม้จะฟังดูน่าเศร้าเพราะทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ต้องฝึกตัวเองให้ทำใจยอมรับ อยู่กับเงื่อนไขที่เป็นข้อจำกัด เพื่อไม่ให้ครอบครัวแตกร้าวไปมากกว่านี้ แต่ยังคงสนับสนุนแนวทางการเมืองที่ใหญ่ขี้นไป

กรณีที่เจอ ส่วนใหญ่พ่อแม่จะเปิดใจ แต่ไม่รู้ว่าจะคุยกับลูกอย่างไรดี เขาพูดตรงๆ ว่าเขารักสถาบันฯ แต่ก็ไม่ได้คิดว่าลูกผิด เพียงมีความคิดความเชื่อต่างกัน ขณะที่ลูกรู้สึกรุนแรงกับเขาไปแล้ว จึงต้องกลับมามองเรื่องการเมืองและครอบครัวเป็น 2 ปัจจัยที่อยู่ในจุดเดียวกัน ครอบครัวสามารถคุยเรื่องการเมือง เรื่องบันเทิง เรื่องอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันความเป็นการเมืองก็ส่งผลกระทบกับครอบครัว เพราะฉะนั้นตรงนี้จะไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เด็ก ๆ และครอบครัวจึงต้องกลับมามองลักษณะพื้นฐานของครอบครัวตัวเอง พูดคุยกันได้มากแค่ไหน เรียนรู้วิธีการที่จะสื่อสารกัน แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันไม่ใช่สาดความเชื่อใส่กันเพื่อเอาชนะ แล้วออกแบบจัดการได้แตกต่างกันไป

จากการเปิดเพจเป็น Healthcare ให้คนที่ได้รับผลกระทบทางการเมืองเข้ามารับคำปรึกษา พบว่าทุกคนต่างเจอ suffer (ความเจ็บปวด) ทั้งในที่ทำงาน ครอบครัว สถาบัน โรงเรียน ฯลฯ สุดท้ายแล้วมันมีความทุกข์เกิดขึ้นจริง ๆ และหลัก ๆ ก็เป็นเรื่องความคาดหวัง ซึ่งทางออกไม่ใช่การทำลายความคาดหวังของตังเองลง แต่ปรับความคาดหวังให้ตรงกับเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยแวดล้อมในชีวิตที่มีอย่างสมดุล เพราะสุดท้ายเราต้องมีชีวิตอยู่ต่อ มีสุขภาพจิตที่ดียิ่งขึ้น เพื่ออะไรบางอย่างในชีวิตเรา

“ถ้าคุณอยากได้ประชาธิปไตย คุณยังคงต้องรักษาตัวเองเพื่อต่อสู้ต่อไป เพื่อรอให้วันนั้นมาถึง แต่ถ้าคุณมองว่าอยากให้เด็กกลับมารักและศรัทธาในสถาบันพระมหากษัตริย์ คุณก็ต้องดูแลตัวเองให้ดีพอสมควรเพื่อที่จะสื่อสารกับพวกเขาในแนวคิดของคุณได้ และพร้อมที่จะเคารพความเห็นต่างและความเห็นชอบเหมือน ๆ กันอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นถ้าสุขภาพจิตตกต่ำก็จะทำเรื่องพวกนี้ได้ยาก” วันเฉลิมกล่าว

วันเฉลิม กล่าวด้วยว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่อยู่ในประเทศนี้ กฎหมายคือสิ่งที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นบรรทัดฐาน และเชื่อว่าความรุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่กลับถูกนำมาใช้อย่างง่ายดายมาก และทำให้เกิดความรุนแรงทั้งทางกายและใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอันดับแรก อยากฝากไปถึงคนที่อยู่เหนือเด็ก ๆ อย่างพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจต่อเด็ก ๆ ที่ไม่ใช่แค่อำนาจทางกาย แต่มีผลทางจิตใจต่อเขาด้วย

“ในวันที่ผู้ใหญ่หรือใครหลาย ๆ คนทอดทิ้งเขา เขาจะรู้สึกเจ็บปวด หรือแค่คุณไม่ได้ทอดทิ้ง แต่เพิกเฉยต่อความรุนแรงที่มันเกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชน หรือประชาชนทั่ว ๆ ไป พวกเขาก็จะรู้สึกเจ็บแล้ว และมันจะนำพามาซึ่งความโกรธแค้น”

วันเฉลิมกล่าวว่า คนเราอาจเห็นต่างกันได้ แต่ต้องยืนเคียงข้างกัน และแม้ว่าจะมองในทางเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มองเหมือนกันทั้งหมด อย่างกรณีน้องสาวหัวประชาธิปไตยอยากใส่โบว์ขาว อยากชูสามนิ้ว ผมไม่เคยห้าม แต่ตั้งกฎไว้ร่วมกันว่าหากอยากแสดงออกอะไรในโรงเรียนให้คุยกันก่อน ประเมินสถานการณ์ร่วมกัน หากเรื่องไหนที่ไม่ผิดแต่คุณครูไม่ได้ยอมรับและมากลั่นแกล้งจะได้เข้าไปช่วยได้ แต่หากอะไรที่รุนแรงเกินไปก็ต้องประเมินสถานการณ์ใหม่ ไม่ได้เสรีขนาดนั้น

วันที่น้องสาวผมเลือกผูกโบว์ขาวไปเรียน ผมก็ไปส่งเขาที่โรงเรียน และบอกเขาว่าไม่ว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นพี่ภูมิใจในตัวหนูมากที่หนูมีความกล้าและมีความคิดแบบนี้ ตอนนั้นหากการผูกโบว์ขาวเป็นปัญหา ก็พร้อมที่จะปกป้องเขา กลายเป็นจุดดีที่ทำให้เขากล้าคิด กล้าแสดงออก และต้องขอบคุณโรงเรียนที่แม้จะเห็นต่าง แต่ก็ยอมรับโบว์ขาวในการแสดงสัญลักษณ์ของนักเรียน

เรามายืนอยู่ในจุดที่เป็นสามัญสำนึกเรื่องความรุนแรง เราเห็นต่างกันได้ แต่อย่าเห็นชอบกับการใช้ความรุนแรง เพราะเขาก็เป็นเพื่อนมนุษย์เหมือนเรา ไม่มีใครอยากเจ็บ ไม่มีใครอยากโดนกระสุนยาง ไม่มีใครอยากถูกสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง การยินดีที่คนอื่นบาดเจ็บนั่นคือการสร้างบาดแผลที่ทำให้ใครหลายคนเคว้ง และหลงทาง หากอยากกู้ใครขึ้นมาเพื่อให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน สุดท้ายมันต้องมีพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจ แต่เราต้องเห็นเส้นบาง ๆ ที่เป็นสามัญสำนึกร่วม และความผิดปกติบางอย่างที่มันเริ่มกลายเป็นความปกติในช่วงเวลานี้แล้ว

อีกเรื่องหนึ่งคือการเรียนรู้ไปด้วยกันว่าไม่มีใครถูกไม่มีใครผิดไปทั้งหมด ฝ่ายประชาธิปไตยก็ต้องเรียนรู้ในสิ่งอื่น ๆ บ้าง เช่น ทักษะการสื่อสาร การเจรจา หรือการหยุดการปะทะ ส่วนกลุ่มที่รักสถาบันฯ หรือกลุ่มที่เห็นต่างก็ต้องลองให้ความรู้กับอีกฝั่งหนึ่ง หรือให้ความรู้กับตัวเองด้วย ลองกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่เชื่อมาอย่างยาวนานไม่ใช่การล้างสมอง เมื่อบอกว่าอีกฝ่ายถูกล้างสมองมาในเวลา 5-6 ปีนี้ หากไม่ลองตั้งคำถามกับตัวเองบ้าง ก็จะยึดติดกับชุดความคิดของตัวเอง จนไม่สามารถก้าวออกไปทำความเข้าใจคนอื่นได้  

“การที่จะเริ่มทำความเข้าใจคนอื่นในสถานการณ์แบบนี้ ให้กลับมาถามอะไรบางอย่างกับตัวเองดู เมื่อคุณเปิดใจกับตัวเองคุณจะเปิดใจกับคนอื่นได้ เมื่อคุณมองตัวเองอย่างเป็นมิตรคุณก็จะมองคนอื่นอย่างเป็นมิตร เมื่อคุณเป็นเพื่อนกับตัวเองคุณก็จะเป็นเพื่อนกับคนอื่นได้ เพราะในตัวคุณเองก็ไม่ได้มีอะไรที่สอดคล้องกันหมด ยังมีจุดที่ขัดแย้งและตรงข้ามกันอยู่ เมื่อเรายังขัดแย้งกับตัวเองได้ เราก็ขัดแย้งกับคนอื่นได้”

สุดท้ายไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยากฝากว่าให้พยายามหาทางแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ภาวะทางอารณ์ทุกคนมีได้ทั้งโกรธ เจ็บปวด ผมอยู่ตอนสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันก็รู้สึกโกรธและเศร้าที่ตัวเองทำอะไรไม่ได้ เลยเปลี่ยนความโกรธเป็นความสร้างสรรค์โดยการเข้าร่วมทีมแพทย์อาสา ซึ่งหลาย ๆ คนทำอะไรแบบนี้ได้

ยังยืนยันว่าสุดท้ายไม่มีใครถูก ไม่มีใครผิดแม้จะเป็นคนละฝั่ง แต่เชื่อว่าหากคุยกัน มันจะมีจุดร่วมกันได้ และสุดท้ายหากเสียงประชาชนรวมไปในทิศทางเดียวกันได้ดีพอ ก็จะเจอทางลงที่ไม่ต้องมีใครโดนกระสุน หรือมีเลือดสาดลงบนถนน

00000

เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2564 ภาคีเครือข่ายองค์กรทางการศึกษา เด็ก และเยาวชน เผยแพรแถลงการณ์เชิญร่วมลงชื่อสนับสนุนผ่านทางแฟนเพจ Thai Civic Education ระบุรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์ภาคีเครือข่ายองค์กรทางการศึกษา เด็ก และเยาวชน ต่อกรณีการใช้ความรุนแรงของรัฐ และการจับกุมเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

ปัจจุบัน การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมนั้นถูกคุกคาม ถูกปิดกั้นสิทธิเสรีภาพจากอำนาจรัฐ ดังเหตุสลายการชุมนุมที่มีการใช้ความรุนแรงรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเด็กและเยาวชน เช่น การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา ยิงกระสุนยาง และการปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชน ซึ่งเป็นการกระทำดังกล่าวเป็นมาตรการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี รวมถึงซึ่งหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งได้รับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็ก การแสดงออกต่อจุดยืนทางการเมือง สิทธิเด็กและเยาวชนที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ในการชุมนุมอย่างสันติ โดยรัฐจะต้องตระหนักว่าอาจมีเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและปกป้องพวกเขาจากอันตรายและผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่น ที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ

ภาคีเครือข่ายองค์กรทางการศึกษา เด็ก และเยาวชน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาตรการรับรองความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนเพื่อให้พวกเขาสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างสันติ โดยปราศจากความกลัวหรือการถูกคุกคาม

ทั้งนี้ เราขอประณามการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมของประชาชน โดยเฉพาะการกระทำต่อเด็กและเยาวชน

โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้

1. รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องหยุดการใช้มาตรการขั้นรุนแรงในการสลายการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งใช้แนวทางสันติวิธีในการเจรจาแก้ไขปัญหา ไม่ใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน คืนสิทธิ เสรีภาพ แก่ประชาชน

2. รัฐต้องหามาตรการเยียวยาความเสียหายจากการการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะการรับประกันสิทธิของเด็กที่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวและพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ระบุว่าเด็กต้องได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างเหมาะสมและทันท่วงที โดยปราศจากการใช้ความรุนแรง การคุกคาม หรือการข่มขู่ทุกรูปแบบ และรัฐต้องรับประกันคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการแสดงออกทางการเมืองเพื่อกำหนดความต้องการของตนเองและสื่อสารถึงความกังวลใจในข้อจำกัดทางกฎหมาย และแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขาได้อย่างเสรี คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน

3. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน ชุมชนและภาคประชาสังคมที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน ต้องให้ความคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเด็กรอบด้าน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 จะต้องไม่เพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิเด็กและแสดงบทบาทนำในการสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับหารือเพื่อทำความเข้าใจระหว่างกัน รวมถึงแก้ไขความขัดแย้งอันเกิดจากความเห็นต่างทางการเมือง คืนอนาคต ความฝัน ความหวัง ให้กับพวกเขา

นอกจากนี้สถาบันครอบครัว พ่อ แม่ และผู้ดูแลเด็ก ต้องร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน รับฟังไม่ตัดสิน เคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง สนับสนุนความมั่นคงทางด้านอารมณ์และจิตใจ เมื่อต้องเผชิญความรุนแรง ขอให้ตระหนักว่าโลกข้างหน้าเป็นของพวกเขา

พวกเราขอแสดงความห่วงใยต่อเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย และขอแสดงความนับถือผู้ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจที่ไม่เป็นธรรม เราขอยืนยันว่าสิทธิมนุษยชนนั้นจะถูกพรากไปไม่ได้ ไม่มีบทบัญญัติใดที่อาจตีความได้ว่ารัฐ กลุ่มคน หรือบุคคลใดมีสิทธิในการดำเนินกิจกรรมใด หรือการกระทำใด อันมุ่งต่อการทำลายสิทธิและเสรีภาพ

“เราคือประชาชน ที่มีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ