รายงานโดย: รัฐโรจน์ จิตรพนา
นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
24 ก.พ. 2559 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมจัดงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “พลวัตแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประชาคมอาเซียน” ณ ห้อง Common Room คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ASEANscape อาเซียนจากมุมมองในระดับล่าง
ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวงเสวนา ‘ASEANscape อาเซียนจากมุมมองในระดับล่าง และความเชื่อมโยง ในหลากหลายมิติ’ นำเสนอมุมมองจากการเดินทางไปถ่ายทำรายการ Asean Scape ซึ่งเป็นความร่วมมือของศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักข่าวประชาธรรม ด้วยแนวคิดการทำความเข้าใจอาเซียนจากมุมมองระดับล่าง ผ่านการเดินทางไปยังจังหวัดชายแดน อาทิ จังหวัดตาก นำเสนอสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าข้ามแดนและการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า
การเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม นำเสนอเส้นทางการเป็น “Hub” อินโดจีน การเดินทางไปยังจังหวัดระนอง และ’เกาะสอง’ นำเสนอชีวิตของแรงงานกับการเดินทางข้ามแดน และการเดินทางไปยังจังหวัดเชียงราย นำเสนอชีวิตทางเศรษฐกิจของคนเชียงแสนที่มีบทบาทกับการพัฒนาเชียงแสน โดยได้ตั้งข้อสังเกตถึงวิถีชีวิตของผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ และกล่าวถึงแนวทางการศึกษาเรื่องอาเซียน
“อยากจะแยกระหว่างอาเซียน กับเอเชียตะวันออกเชียงใต้ เพราะในความเป็นจริงอาเซียนจากระดับล่างไม่มีอยู่จริง เพราะเป็น Top down เป็นองค์กรที่เกิดจากความร่วมมือของรัฐบาลออกนโยบายจากข้างบน แต่สิ่งที่ทำการศึกษาคือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีอะไรให้ศึกษามากมายโดยออกจากกรอบความร่วมมือ” ปองขวัญ กล่าว
ปองขวัญชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการศึกษาอาเซียนจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่เป็นการศึกษาจากระดับรัฐ กับการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการเมืองการปกครองและสังคมของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งถือเป็นการมองอาเซียนจากระดับล่างอันเป็นส่วนสำคัญของการประกอบร่างขึ้นมาเป็นอาเซียนอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกัน ธีรมล บัวงาม จากมูลนิธิสื่อประชาธรรม กล่าวในวงเสวนาเดียวกันโดยสะท้อนมุมมองเรื่องทัศนคติของผู้คนในสังคมต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จากการทำงานเพื่อผลิตข่าวสารภาคประชาชน ที่ทำให้เข้าใจสถานการณ์ และอคติที่มีต่อกลุ่มคนชายขอบในสังคมไทย
“ประเด็นที่ทีมงานพยายามหาคำตอบในหลายมิติของอาเซียน เป็นโจทย์ที่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ เพราะอาเซียนอยู่ในทุกลมหายใจ ขึ้นอยู่กับการอธิบายและการสร้างความเชื่อมโยง ซึ่งค้นพบว่าอคติของคนมีอยู่จริง เช่นจากประสบการณ์การทำข่าว จากเดิมกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นคนชายขอบในสังคม กลุ่มคนไทยจะมีสิทธิมีเสียงมากกว่า แต่ช่วงหนึ่งที่มีแรงงานข้ามชาติ ก็เกิดคนกลุ่มใหม่ที่ถูกกด และเกิดอคติขึ้น จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้ต้องขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไป” ธีรมล กล่าว
พลวัตแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประชาคมอาเซียน
ศิริมา ทองสว่าง สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต กล่าวในวงเสวนาพลวัตแรงงานข้ามชาติหลังเปิดประชาคมอาเซียน นำเสนอการศึกษาแรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยจากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลอันดับที่ 3 ของโลก รองจากประเทศจีน และประเทศนอร์เวย์ จึงทำให้มีแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่ใน จ.สมุทรสาคร จำนวนกว่า 4 แสนคน
ผลจากการศึกษาจากแรงงานข้ามชาติอายุ 19 – 50 ปี พบว่าสถานะทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากอาชีพเดิมในประเทศพม่า
“การย้ายถิ่น พอย้ายมาเมืองไทย แรงงานยังเป็นแรงงานเหมือนเดิม ปกติจะย้ายจากที่พัฒนาน้อยกว่า ไปยังที่พัฒนามากกว่า ปรากฏว่ายังคงเป็นแรงงานเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนบริบทจากไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง มาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ฟอกสีปลาหมึก แกะก้างปลา เปือกกุ้ง ปอกมันสำปะหลัง สถานะทางสังคมไม่เปลี่ยน แม้สถานะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น” ศิริมา อธิบายผลการศึกษา
ทั้งนี้ ศิริมา ศึกษาแรงงานข้ามชาติผ่านแนวคิดฮาบิทัส (Habitus หมายถึง พื้นฐานทางสังคมและประวัติศาสตร์ของบุคคลที่ทำให้คนๆ นั้นสร้างสรรค์และทำสิ่งต่างๆ) ของปิแอร์ บูดิเยอร์ เพื่ออธิบายพลวัตรของแรงงานข้ามชาติผ่านการมองโครงสร้างทางสังคมที่กำหนดรูปแบบแนวคิด และทัศนคติของผู้คน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับยุคสมัย โดยใช้ 3 ปัจจัยหลักในการอธิบาย ได้แก่ พื้นฐานครอบครัว การศึกษา และวิถีชีวิต
เมื่อนำมาตอบคำถามที่ว่า “ทำไมจึงมาเป็นแรงงานข้ามชาติ” พบว่าจากแรงงานข้ามชาติชาวพม่า 57 คน กว่า 55 คน มีเบื้องหลังครอบครัวบรรพบุรุษทำงานด้านเกษตรกรรม และรับจ้าง ส่งต่อมายังรุ่นพ่อแม่ แต่เมื่อทรัพยากรถดถอยจึงเกิดการย้ายถิ่นมายังประเทศไทย
ส่วนในด้านการศึกษา ซึ่งตามแนวคิดของบูดิเยอร์เชื่อว่าจะทำให้คนสามารถเลื่อนขั้นทางสังคม และเศรษฐกิจ แต่ด้วยปัญหาความยากจนที่สะสมมานาน รวมถึงสงครามในเมือง ไม่เอื้อต่อการศึกษา จึงได้เรียนเพียงประถมหรือมัธยมต้น และสุดท้ายในด้านวิถีชีวิต เป้าหมายเพื่อเก็บเงินซื้ออุปกรณ์ทำไร่ทำนา และยังคงเลือกแต่งงานและสร้างครอบครัวกับคนเชื้อสายพม่าด้วยกัน
ด้าน อดิศร เกิดมงคล Migrant Working Group (MWG) นำเสนอพลวัตรของกลุ่มชาติพันธุ์ “ปะโอ” ซึ่งเข้ามาจากประเทศพม่า เกิดเป็นชุมชนข้ามพรมแดนในประเทศไทย ซึ่งชุมชนในลักษณะนี้อาจเกิดจากสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติ หรือกลุ่มเพื่อน มีการยึดโยงกันด้วยลักษณะทางชาติพันธ์ ผ่านกิจกรรม พิธีกรรม หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ตลอดจนมีการยึดโยงกันด้วยประสบการณ์การเป็นแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้กลุ่มแรงงานข้ามชาติได้มีการสร้างครอบครัวข้ามพรมแดน แต่งงานและสร้างครอบครัวในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการขยายชุมชน และส่งผลต่อเศรษฐกิจของครอบครัว เช่น การส่งเงินกลับไปยังบ้านเกิด
อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเด็นเรื่องแรงงานข้ามชาติยังคงไม่ได้ถูกให้ความสำคัญ
“จะเห็นว่าอาชีพที่สามารถเคลื่อนย้ายเสรีได้ 7 อาชีพ ต้องรวย และมีการศึกษาที่ดี เช่น หมอ วิศวะ สิ่งที่ตัวรัฐบาลอาเซียนจะเริ่มทำมากขึ้นในอนาคต คือการสร้างกำแพงกั้น เริ่มเข้มงวดกับแรงงานกลุ่มไร้ฝีมือมากขึ้น ล่าสุดที่เห็นได้ชัด คือ มาเลเซียเริ่มประกาศมาตรการเก็บภาษีกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นการกดดันให้นายจ้างไม่จ้างแรงงานกลุ่มนี้” อดิศร เกิดมงคล อธิบายถึงแนวคิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี
ทั้งนี้ อดิศรทิ้งท้ายถึงสถานการณ์สังคมท่ามกลางการไหลเวียนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นว่า เราจะก้าวข้ามกรอบคิดอำนาจอธิปไตย และชาตินิยมแบบเดิมได้อย่างไร เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น