Like toy soldiers: ทหารเป็นแค่ของเล่น

Like toy soldiers: ทหารเป็นแค่ของเล่น

5toysol

 แปลและเรียบเรียง : ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ภาพถ่ายสงคราม (War Photography) ดูจะเป็นสาขาการถ่ายภาพที่เหมาะควรในการนำเสนอเชิงคอนเซ็ปต์ที่สุดแล้ว แต่สำหรับศิลปินแหวกแนวอย่าง Sophie Ristelhueber, Adam Broomberg และ Oilver Chanarin พวกเขากลับแหกกฏการนำเสนอภาพถ่ายสงครามในรูปแบบซ้ำซาก ด้วยการตกตะกอน และสื่อสารออกมาใหม่ได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2534 สายตาของ Ristelhueber บังเอิญไปหยุดอยู่กับภาพภาพหนึ่งในนิตยสาร Time มันคือภาพความเสียหายของทะเลทรายคูเวต (Kuwait) หลังโดนระเบิดจากฝรั่งเศส ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้าย ภาพรอยแผลบอบช้ำของทะเลทรายเริ่มวนเวียนอยู่ในสมองของเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนต้องเดินทางไปที่นั่นเพื่อหยุดเสียงรบเร้าในหัวเสียที

“ฉันไปถึงหลังจากที่สงครามจบสิ้นแล้ว ตอนนั้นบ่อน้ำมันยังมีควันโขมงอยู่เลย ถึงแม้ว่ามันจะเป็นภาพที่เศร้าอย่างงดงาม แต่ฉันก็ถ่ายรูปมาสองสามรูป สุดท้ายมันกลายมาเป็นจุดกำเนิดของ ซีรี่ย์ภาพ Fait (Fact : ความจริง) ภาพถ่ายขาวดำ 71 ภาพที่ฉายให้เห็นแผลเป็นของพื้นผิวทะเลทรายในคูเวตหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย (Gulf War) ครั้งแรก ฉันถ่ายรูปแผลเป็นในทะเลทรายจากเครื่องบิน, เฮลิคอปเตอร์ แต่ก็มีช็อตที่ถ่ายจากพื้นดินด้วย

ปรากฏเป็นปล่องภูเขาไฟ รอยยางรถยนต์ ชิ้นส่วนของอาวุธ และเศษเสื้อผ้าที่ขาดวิ่นจากแรงระเบิดตามแนวถนนสุดลูกหูลูกตา รวมถึงส่วนเสี้ยวของสงครามที่กระจัดกระจายอยู่ตามสถานีประจำการที่ถูกทิ้งร้าง

ภาพขาวดำของเธอให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอยู่บนดาวเวิ้งว้างที่ไม่เหลือชีวิตอยู่แล้วหลังจากหายนะครั้งใหญ่ในวันสิ้นโลก

“ภาพสงครามเซ็ตนี้ไม่ใช่ภาพสงครามคูเวตอย่างที่มันควรป็น ฉันเก็บภาพโดยระวังไม่ให้มีสัญลักษณ์อะไรที่บอกว่านี่คือคูเวต กระทั่งตอนที่ฉันไปแสดงงานภาพถ่ายในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) คนส่วนใหญ่คิดว่าที่นี่คือแอฟริกาด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาจำเม็ดทราย, เกราะอาวุธ และร่องรอยของความรุนแรงได้แม่นยำ ฉันชอบการสื่อสารที่เปิดกว้าง มันทำให้ผู้คนเอาไปคิดต่อเองได้”

ในขณะที่ศิลปินคู่หูชาวอังกฤษ Adam Broomberg และ Oilver Chanarin คิดค้นการถ่ายภาพเชิงคอนเซ็ปต์อีกแนวทางหนึ่ง ยามที่ฝังตัวอยู่กับกองกำลังอังกฤษในปี 2551 พวกเขาจะเปลือยฟิล์มให้สัมผัสแสงทุกครั้งที่มีใครสักคนจากไปในอัฟกานิสถาน

ลำแสงจ้าที่ปรากฏในภาพอาจเป็นการตอบโต้ที่โง่เง่าที่สุดต่อความกราดเกรี้ยวของสงครามและการกระหน่ำรายงานภาพถ่ายเชิงข่าว(Photojournalism) ในรูปแบบซ้ำๆ ซากๆ

Like toy soliders

ยังไม่น่าใจหาย เพราะไม่ใช่แค่ศิลปินสองสามคนนี้ที่เดือดดาลกับการสื่อสารภาพข่าวสงครามแบบบิดเบือนและเอียงข้าง Simon Brann Thorpe ช่างภาพชาวอังกฤษก็ออกหนังสือภาพ Toy Soldiers ออกมาเหมือนกัน โดยไอเดียของเขาคือถ่ายภาพเหล่าทหารตัวจริงโพสต์ในท่าทางที่เหมือนตุ๊กตาทหารของเล่นท่ามกลางผืนทรายในซาฮาราตะวันตก (Western Sahara)

แต่ผลงานของเขาไม่ได้ดูโง่เง่าไร้สาระ Thorpe ตั้งใจสร้างภาพให้ดูกึ่งๆ เรียลและเซอร์เรียลในเวลาเดียวกัน มองแล้วเข้าใจว่าภาพต้องการสื่อสารลางร้ายอะไรบางอย่างออกมา มันมีกลิ่นของความเสมือนตายอาศัยอยู่ในภาพพอร์ตเทรตที่เขาถ่าย

นายทหารหนุ่มยืนนิ่งอยู่ตรงนั้น ปิดเปลือกตาเหมือนอยู่ในห้วงนิทราหรือโดนสะกดจิต อีกนายหนึ่งชูมือและปืนไรเฟิลขึ้นฟ้า ตัวลอยกระเด็นเล็กน้อยเหมือนโดนลอบยิงท่ามกลางเวิ้งทะเลทรายและท้องฟ้าที่เป็นพื้นหลัง เสริมความไม่แท้จริงเข้าไปอีก

ข้อความที่ Toy Soldiers ต้องการสื่อสารคือความขัดแย้งที่ถูกมองข้ามและมีมายาวนานในแถบซาฮาราตะวันตก กลุ่มโปลิซาลิโอ (Polisario Front) ต่อสู้กับโมร็อกโก (Morocco) เพื่ออิสรภาพของพวกเขามากว่า 40 ปี จากการที่โมร็อกโกวางอำนาจในภูมิภาคของสเปนมาตั้งแต่ปี 2518

ช่างภาพชางอังกฤษพยายามหว่านล้อมให้หัวหน้ากองทหารของโปลิซาลิโออนุญาตให้นายทหารในหน่วยงานของเขามาเป็นแบบ Thorpe ใช้เวลาร่วม 2 ปีในการวางแผน และอีกหลายเดือนในการส่งอีเมล์หาหัวหน้ากองกำลังทหารเพื่อจัดหาสถานที่ถ่ายภาพ

อุณหภูมิเดือด อาหารดาษๆ และการลากขาปะทะฝุ่นทรายที่ลามฟุ้งทั่วใบหน้า

การจัดฉากท่ามกลางทะเลทรายนั้นโหดร้ายและเหนื่อยยาก ช่างภาพผู้อดทนเลือกพื้นที่ถ่ายภาพในจุดที่มีความหมายกับความขัดแย้ง เขาใช้กล้องวิว (Large format camera) และเลนส์มุมกว้างเพื่อเก็บแนวขอบฟ้าที่ไม่สิ้นสุด

Polisario Soldiers stand posed as toy soldiers in a bomb crater from the conflict

เหล่าทหารกล้าสวมใส่ยูนิฟอร์มของพวกเขาเองและยืนอยู่บนถังน้ำมันที่ถูกบีบอัดให้เป็นแผ่นเหล็ก ล้อกับตุ๊กตาทหารที่ชอบยืนอยู่บนฐาน พวกเขาเหมือนตุ๊กตาตัวเล็กๆ ที่ยืนกระจัดกระจายอยู่ในกล่องทะเลทรายขนาดใหญ่ แต่ด้วยความที่ทหารไม่ใช่นายแบบ การถ่ายภาพจึงค่อนข้างทุลักทุเล ไม่ได้สมบูรณ์แบบเหมือนนายแบบในสตูดิโอ

“ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual art) ไม่เคยอยู่ในวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของพวกเขาเลย แต่ทหารเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัย ตัวตนของเขาเองจึงสามารถสื่อสารประสบการณ์และถ่ายทอดความเป็นจริงได้ดีอยู่แล้ว” Thorpe กล่าว

โปรเจ็กต์นี้ลึกๆ แล้วก็เล่าถึงกลยุทธ์ของตะวันตกในยุคหลังอาณานิคม คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN security council) คอยระวังหลังให้โมร็อกโก อเมริกาและฝรั่งเศสเพราะพื้นที่นี้เป็นเหมือน “ทางผ่านของผลประโยชน์ที่แอตแลนติกเหนือ (North Atlantic interests) มีส่วนได้ส่วนเสีย”

เหล่าทหารจึงเหมือนโดนปิดหูปิดตา พวกเขาป้องกันทุกอย่างยกเว้นตัวเอง อยู่ท่ามกลางความผากแห้งของทะเลทราย ไม่รับรู้ว่าโลกข้างนอกประโคมข่าวกันอย่างบ้าคลั่ง ไม่รู้เลยว่าความขัดแย้งนี้ไปไกลจนเกิดเป็นหายนะฉับพลันและรุนแรง

ในภาพของ Thorpe เหล่าทหารจึงถูกย่อส่วนให้เล็กเกินจริงท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของทะเลทรายแห้งแล้ง บางรูปมองเห็นพวกเขาได้จากที่ไกลๆ คุกเข่า เป็นเงาลางๆ หรือบางครั้งก็เรียงแถวกันเพื่อเดินทางไปที่สำนักงานสักแห่ง

ขาทั้ง 2 ข้างของพวกเขาเชื่อมติดอยู่กับฐานขนาดเล็กเหมือนกับตุ๊กตาทหาร ต่างกันแค่ฐานที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการถ่ายภาพทำมาจากเหล็ก

ท่าทางในการโพสต์ที่นิ่งงันก็เป็นการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงการไม่ก้าวหน้าไปไหนเลยของการเมืองและประวัติศาสตร์

ผลลัพธ์ของภาพเชิงแนวคิดเหล่านี้ไม่ได้ถ่ายทอดแค่ความน่าขันของสงคราม แต่เป็นการถูกกักบริเวณที่ไม่สิ้นสุดของเหล่าทหาร พวกเขาถูกจองจำอยู่ในความขัดแย้งอันไม่มีที่สิ้นสุด

Jacob Mundy นักประวัติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอลเกต (Colgate University) เขียนเอาไว้ว่า

“เวลาที่ดูภาพ Toy Soldiers ของ Simon Brann Thorpe เราจะอดคิดในเชิงเปรียบเทียบไม่ได้เลยว่าเขาพยายามจะเล่นกับภาพทับซ้อนของอะไร นักต่อสู้เพื่ออิสรภาพในซาฮาราตะวันตกกลายเป็นแค่ของเล่น คำถามคือพวกเขาเป็นของเล่นของใครล่ะ แล้วเขากำลังเล่นเกมอะไรอยู่”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมและสั่งซื้อหนังสือภาพได้ที่ : http://www.dewilewis.com/products/toy-soldiers

ที่มา+ภาพ : http://www.theguardian.com/artanddesign/2015/jun/28/toy-soldiers-simon-brann-thorpe-photography-book-month-review

http://www.theguardian.com/artanddesign/2010/apr/28/photography-sophie-ristelhueber-best-shot

http://www.wired.com/2015/05/simon-brann-thorpe-toy-soldiers/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ