แนะทางออกบทบาทกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรงจุด เสนอแก้ไขที่มากรรมการสรรหา

แนะทางออกบทบาทกรรมการสิทธิมนุษยชนให้ตรงจุด เสนอแก้ไขที่มากรรมการสรรหา

“สุนี”ชี้ปมควบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่อเจตนายุบ ยันสองหน่วยงานอำนาจหน้าที่ต่างกัน แนะแก้ให้ตรงจุด เสนอทางออกแก้ไขที่มากรรมการสรรหาโดยยึดโยงสัดส่วนจากประชาชน ด้าน  45 องค์กรภาคประชาชนเข้าพบ “บวรศักดิ์”พรุ่งนี้ ค้านยุบรวม  

 นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมายและอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญมีมติเห็นชอบให้ยกสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)และผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชนว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีทางเลือก เพราะบทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชนแตกต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะบทบาทในการตรวจสอบนโยบายของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน  รวมถึงการทำงานในเชิงรณรงค์ และการป้องกันซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับประชาชนอย่างใกล้ชิด อีกทั้งกรรมการสิทธิมนุษยชนยังมีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทดังกล่าว 

“แม้ว่าทั้งสององค์กรจะมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียน  แต่เป้าหมายในการตรวจสอบหรือการวินิจฉัยตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละองค์กรยังมีความแตกต่างกัน เริ่มเห็นปฏิกิริยาที่ชัดเจนของประชาชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยหลังจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ เราพบว่า ประชาชนรวมถึงภาคประชาสังคมที่เกาะติดเรื่องนี้ได้คุยกันเพื่อเคลื่อนไหวคัดค้านการยุบรวมกสม. คาดว่าจะมีการจัดเวทีถกเถียงกันในเรื่องนี้ด้วย”

อย่างไรก็ตาม  หากจะต้องปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิรูปองค์กรอิสระโดยเฉพาะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น  นางสุนี เห็นว่า สิ่งที่ควรดำเนินการคือควรปรับปรุงแก้ไขใน3 ส่วนคือ 

1.แก้ไขที่มาของคณะกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้มีความยึดโยงกับประชาชน เนื่องจากเดิมทีเคยกำหนดสัดส่วนของภาคประชาสังคมในคณะกรรมการสรรหาแต่ปัจจุบันกำหนดไว้ 7 คนประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือก กสม. จำนวนเจ็ดคน ทำให้เจตนารมณ์เดิมถูกบิดเบือนไปและมีแนวโน้มว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคงหลักการเรื่องที่มาของคณะกรรมการสรรหาไว้เช่นเดิม 

2.ควรแก้ไขอำนาจหน้าที่ให้กสม.ตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงาน โดยเรื่องใดที่กสม.เสนอไปยังหน่วยงานนั้นๆต้องพิจารณาดำเนินการ ไม่ใช่รายงานเพื่อรับทราบเท่านั้น

และ3.ควรแก้ไขให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเป็นอิสระด้วย

นางสุนี กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถจำแนกกลุ่มบุคคลเป็น 3 กลุ่มคือ1.มีคนบางส่วนเจตนาต้องการไม่ให้มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแม้จะใช้คำว่าควบรวมหรือยกสถานะก็ตามซึ่งเป็นตัวตั้งตัวตีให้มีการควบรวมสองหน่วยงานนี้ 2.กลุ่มคนที่ไม่เข้าใจบทบาทของกรรมการสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเห็นว่าในต่างประเทศมักจะรวมกสม.เข้าไว้ด้วยกันกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งเป็นความไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์กสม.อย่างชัดเจน 3.กลุ่มคนที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ จึงพิจารณาผลการดำเนินงานของกรรมการสิทธิมนุษยชนในเชิงปริมาณ ทั้งที่ในความเป็นจริงการดำเนินการของกสม.บางเรื่องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพันธะกรณีระหว่างประเทศ ฉะนั้นหลายเรื่องจึงต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นบทบาทที่สำคัญของกสม.อย่างหนึ่งคือการเจรจาเพื่อให้เรื่องนั้นๆได้ข้อยุติ หรือเยียวยาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆซึ่งแตกต่างไปจากบทบาทของผู้ตรวจการแผ่นดิน

มีรายงานว่าในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนจำนวน 45 องค์กรจะเข้าพบนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการควบรวมกสม.เข้ากับผู้ตรวจการแผ่นดิน บริเวณหน้าอาคารรัฐสภา  

 

  

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ